ตามพงษ์ วงษ์จันทร์
นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ
รู้ตน หมายถึง การรู้จักและเข้าใจตนเอง
ช่วยคนพัฒนา หมายถึง การให้ความช่วยเหลือให้คนมีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ดีขึ้น
“รู้ตน ช่วยคนพัฒนา” หมายถึง การรับรู้ความสามารถของตนช่วยให้คนตัดสินใจ ในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ หรือ การกระทำใดการกระทำหนึ่งของบุคคลโดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับทักษะที่แต่ละบุคคลนั้นมีอยู่หรือไม่มีก็ได้
บุคคลที่มีการรับรู้ความสามารถของตนสูง มักจะเป็นคนที่มีความตั้งใจ ความสนใจในการเรียน หรือการทำงานสูง มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นที่จะเรียนหรือทำงานให้เสร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย โดยมีความพยายามและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก สำหรับบุคคลที่มีการรับรู้ความสามารถต่ำ มักจะเป็นคนที่ขาดความตั้งใจในการเรียนและการทำงาน ไม่มีความกระตือรือร้น มักจะหลบเลี่ยง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ซึ่งการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล ถ้ามีคุณลักษณะต่างๆเหล่านี้จะส่งผลให้ท่านสามารถเรียนในระบบนี้ได้อย่างมีความสุข เนื่องจากท่านจะได้แนวทางในการเลือกสาขาวิชาหรือแขนงวิชาที่ที่เหมาะสมกับตัวท่าน แนวทางในการวางแผนการเรียนได้แนวทางในการลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียน
Bandura (1977) กล่าวว่า การรับรู้ความสามารถของตนของบุคคลนั้นมีพื้นฐานมาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ คือ
1. ความสำเร็จจากการกระทำด้วยตนเอง เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ความสามารถของบุคคลมากที่สุด เนื่องจากเป็นประสบการณ์ที่บุคคลได้รับโดยตรง และเป็นข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงสูง บุคคลจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่มากน้อยเพียงใด ขึ้นกับธรรมชาติและความเข้มข้นของการรับรู้ความสามารถเดิมที่มีอยู่ด้วย การที่บุคคลทำงานแล้วประสบความสำเร็จซ้ำๆ กันหลายครั้ง จะทำให้บุคคลมีการรับรู้ความสามารถของตนเพิ่มมากขึ้น
2. การได้เห็นประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของผู้อื่น การประเมินการรับรู้ความสามารถของตนนั้น ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการได้เห็นประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของผู้อื่น การที่บุคคลได้เห็นผู้อื่นกระทำพฤติกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้บุคคลรับรู้เกี่ยวกับความสามารถของตนเพิ่มขึ้นได้
3. การชักชวนด้วยวาจา เป็น การใช้ความพยายามในการพูดกับบุคคล เพื่อให้เขาเชื่อว่า เขามีความสามารถที่จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้ประสบความสำเร็จได้ การชักชวน ด้วยวาจาจะเป็นสิ่งที่มีส่วนช่วยให้บุคคล มีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บุคคลเกิดความพยายามแสดงพฤติกรรมต่างๆ ให้สำเร็จ มีการรับรู้ความสามารถของตนเพิ่มขึ้น
4. สภาวะทางอารมณ์ การรับรู้ความสามารถของบุคคลจะสูงหรือต่ำนั้น ส่วนหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะทางอารมณ์ของบุคคลนั้นด้วย ในสภาวะอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นหรือไม่สงบ มีความตื่นตัว เช่น เกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรืออยู่ในสภาพการณ์ที่ถูกกดดัน มักจะทำให้บุคคลกระทำพฤติกรรมได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจะทำให้บุคคลมีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำ
จะเห็นได้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนนั้น เกิดได้จากปัจจัยหลัก 4 ประการ สำหรับบางบุคคลจะเกิดการรับรู้ความสามารถจากปัจจัยหลักเพียงประการเดียวหรือหลายประการผสมผสานกันก็ได้
วิธีการสำรวจการรับรู้ความสามารถของตนเอง
การรับรู้ความสามารถของตนเองว่าสูงหรือต่ำ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การประเมินด้วยตนเอง การให้บุคคลรอบข้างประเมินตัวเรา ขอเสนอแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองเป็นทางเลือกให้ท่านลองทำดู ก่อนทำแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเอง ท่านต้องวางตัวท่านเองให้เป็นกลางและตอบตามความเป็นจริงที่เป็นอยู่ จะทำให้ได้มาซึ่งผลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
ลองมาสำรวจตนเองกันดีกว่า
คำชี้แจง กรุณาทำเครื่องหมาย P ลงในช่องที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุด
รายการการประเมิน |
จริง |
เท็จ |
1. ฉันสามารถจัดการปัญหาต่างๆที่เข้ามาในชีวิตของฉันได้ |
|
|
2. เมื่อฉันตั้งเป้าหมายใดไว้ ฉันจะดำเนินการจนบรรลุเป้าหมายนั้น |
|
|
3. ฉันสามารถเรียนในวิชาที่ต้องเรียนให้สำเร็จลงได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นวิชาที่ฉัน ไม่ชอบก็ตาม |
|
|
4. เมื่อฉันพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฉันจะไม่เลิกเรียนรู้แม้ว่าในระยะแรก จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม |
|
|
5. ฉันไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งใดใดโดยง่าย |
|
|
6. ฉันสามารถพึ่งตนเองได้ |
|
|
7. การสอบซ่อมที่ผ่านมาทำให้ฉันมีความพยายามและตั้งใจเรียนมากขึ้น |
|
|
8. ฉันสามารถสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนๆในกลุ่มของฉันได้ |
|
|
9. เมื่อมีปัญหาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับการเรียนของฉัน ฉันก็สามารถจัดการ กับปัญหานั้นได้ |
|
|
10. แม้วิชาที่ลงเรียนจะดูยากและเป็นวิชาใหม่สำหรับฉัน ฉันก็จะเรียนดูก่อน |
|
|
เมื่อท่านทำแบบวัดเสร็จแล้ว หากตรวจพบว่าตอบ “จริง” มากกว่า 5 ข้อ แสดงว่าท่านมีเกณฑ์การรับรู้ความสามารถของตนเองสูง ถ้าตอบ “จริง” น้อยกว่า 5 ข้อ แสดงว่าท่านมีเกณฑ์การรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำ เมื่อท่านทราบเกณฑ์การรับรู้ความสามารถของตัวท่านเองแล้ว ถ้าท่าน ต้องการปรับปรุงให้มีเกณฑ์ที่สูงขึ้นกว่าเดิมให้ลองปฏิบัติดังนี้
1. ฝึกกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองบ่อยๆ จะทำให้มีประสบการณ์ตรงและมีความชำนาญ
2. นำเอาบุคคลที่ประสบผลสำเร็จมาเป็นแบบอย่างและเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ
3.สร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง ให้กำลังใจตนเองอย่างสม่ำเสมอ และอย่าย่อท้อ เชื่อในความรู้ความสามารถของตนเองที่มีอยู่
4.มีสมาธิ มีสติ ควบคุมภาวะอารมณ์ให้คงที่ อย่าตื่นเต้น ตื่นกลัว เครียด และวิตกกังวลกับสิ่ง ที่เกิดขึ้น หันหน้าสู้กับปัญหา อย่าวิ่งหนีปัญหา
การรับรู้ความสามารถของตนจะช่วยส่งผลให้ท่านเข้าใจและรู้จักตัวท่านเองมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้แนวทางในการดำเนินชีวิต และแนวทางในการพัฒนาตนเองทั้งด้านแนวคิด การตัดสินใจ และด้านการปฏิบัติตน จากประสบการณ์และมีความชำนาญในสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้มาซึ่งคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่จะช่วยให้ท่านได้นำไปวางแผนการเรียนในระบบทางไกล พร้อมยังได้แนวทางในการเลือกลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียน และจะทำให้ท่านสามารถเรียนในระบบทางไกลกับมสธ.ได้อย่างมีความสุขและจบอย่างมีคุณภาพ ตามเกณฑ์ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
เอกสารอ้างอิง
Bandur, A. (1977). Self-efficacy : Toward a Unifying theory Behavioral change. Psychological Review. 84 : 191
อมรรัตน์ บุบผโชติ (2546) “ผลของการใช้บันทึกการเรียนรู้ในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่มีต่อการรับรู้ความสามารถของตนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐในกรุงเทพมหานคร” วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |