![]() |
||
จุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ฉบัีบที่ 3 ปี 2552 | ||
มาตรฐานงานสุขศึกษาของศูนย์สุขภาพชุมชน รองศาสตราจารย์ ดร.นิตยา เพ็ญศิรินภา บทนำ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2540 สืบเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2550 ได้กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชน ชุมชนมีส่วนในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารสุขโดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าว ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับจึงจำเป็นต้องจัดการให้บริการมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้บริการด้านการพัฒนาพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม ต้องใช้มาตรการการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ มีทัศนคติที่เหมาะสม ซึ่งเอื้อให้บุคคล กลุ่มบุคคล และประชาชนมีพฤติกรรมที่มีผลต่อการเสริมสร้างและปกป้องสุขภาพ ตลอดจนแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างเหมาะสมให้แก่ตนเอง กลุ่มบุคคล และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการมีสุขภาพดีต่อไป หากสถานบริการสาธารณสุข มีการดำเนินงานสุขศึกษาหรือบริการสุขศึกษาที่มีคุณภาพแก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยการสร้างทักษะให้มีความสามารถในการปฏิบัติพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค จะส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมสุขภาพที่ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคก่อนวัยอันควร หรือไม่ป่วยเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และหากเจ็บป่วยก็สามารถมีพฤติกรรมการดูแลรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อป้องกันการป่วยซ้ำ การให้บริการสุขศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชาชนจึงมีความสำคัญต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา การดำเนินงานสุขศึกษายังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในเรื่องสุขภาพ เจ้าหน้าที่ขาดแรงจูงใจ ทำให้เห็นความสำคัญน้อยกว่างานอื่น ๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานสุขศึกษามีหลากหลายในสาขาวิชาชีพ เช่น นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ซึ่งมิได้ผ่านหลักสูตรการเรียนหรืออบรมด้านสุขศึกษาหรือการพัฒนาพฤติกรรมแต่อย่างใด แต่ต้องมารับผิดชอบงานสุขศึกษาตามหน้าที่ และไม่มีการประชุมหรืออบรมเกี่ยวกับงานสุขศึกษาโดยตรง นับว่าผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษายังขาดความรู้และทักษะในการดำเนินงาน (สุจิตรา ก่อกิจไพศาล และคณะ, 2548: 54-56) กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับมีการพัฒนาคุณภาพบริการตามมาตรฐานบริการด้านต่าง ๆ รวมถึงกองสุขศึกษาได้พัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุขเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพงานสุขศึกษา โดยมุ่งหวังให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน มาตรฐานงานสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุขนับเป็นเครื่องมือ และแนวทางการพัฒนาคุณภาพบริการสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งกองสุขศึกษาได้สร้างและพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาจนกระทั่งมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ถ้าสถานบริการสาธารณสุขนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพงานสุขศึกษาแล้ว จะส่งผลให้ประชาชนมีความพึงพอใจต่อบริการสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุขนั้น ๆ รวมทั้งผู้รับบริการสุขศึกษาจากสถานบริการที่ผ่านการรับรองคุณภาพงานสุขศึกษา จะมีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นด้านสุขภาพ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ส่วนประชาชนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข (กองสุขศึกษา, 2546 ข) มาตรฐานงานสุขศึกษา คือ สิ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานและวัดความสำเร็จของงานสุขศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ 20 ดัชนีชี้วัด โดยสถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ มีเกณฑ์ 66 เกณฑ์ และสถานบริการสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิมีเกณฑ์ 75 เกณฑ์ (กองสุขศึกษา, 2546 ก) ดังนี้องค์ประกอบที่ 1 นโยบายการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 1.2 ลักษณะของนโยบายการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 2 ทรัพยากรการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 2.1 บุคลากรที่รับผิดชอบการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 2.2 คุณสมบัติของบุคลากรที่รับผิดชอบการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 2.3 งบประมาณเพื่อการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 3 การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 3.2 ฐานข้อมูลด้านสื่อสุขศึกษา ดัชนีชี้วัด 3.3 ฐานข้อมูลด้านเครือข่ายการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 4 แผนการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 4.2 ลักษณะของแผนการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 5 กิจกรรมสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 5.1 การมีกิจกรรมสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 5.2 ลักษณะของการจัดกิจกรรมสุขศึกษา ดัชนีชี้วัด 5.3 การควบคุม กำกับกิจกรรมสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 6 การนิเทศงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 6.2 กลไกการนิเทศงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 7 การประเมินผลการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 7.1ระบบการประเมินผลการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 7.2 กลไกการประเมินผลการดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติดรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 8 การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 8.1ระบบการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ดัชนีชี้วัด 8.2 กลไกการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ องค์ประกอบที่ 9 การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขศึกษาและพฤติกรรมสุขภาพ เนื่องจากกองสุขศึกษาได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุขใน 50 จังหวัดเป้าหมายในปี 2551 หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและเอกสารคู่มือให้แก่จังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งผู้เขียนในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยในการฝึกอบรมพัฒนาเรื่องมาตรฐานงานสุขศึกษาให้แก่สถานบริการสาธารณสุขในหลายจังหวัด ได้พบว่า ศสช. มีการมอบหมายบุคลากรให้รับผิดชอบดำเนินการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาที่มีคุณลักษณะที่หลากหลาย ระดับของการได้รับปัจจัยนำเข้า และกระบวนการดำเนินการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาในแต่ละหน่วยงานและจังหวัดมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ที่รับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษา ปัจจัยด้านหน่วยงาน ปัจจัยนำเข้า และกระบวนการ ว่ามีความสัมพันธ์กับผลการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. หรือไม่ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะที่พบ เพื่อที่จะได้นำผลการศึกษาไปใช้ในการเสนอแนะแนวทางการสนับสนุน และพัฒนา ศสช.ให้มีการดำเนินงานสุขศึกษาได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และส่งผลให้สถานบริการสามารถส่งเข้าประเมินรับรองมาตรฐานได้ตามเป้าหมายต่อไป ผลการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของศูนย์สุขภาพชุมชน จากศึกษาด้วยการวิจัยเชิงสำรวจกับตัวอย่าง ศสช. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเก็บข้อมูลกับผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษาของ ศสช. ใน 50 จังหวัดเป้าหมายของกองสุขศึกษา ในปีงบประมาณ 2551 ที่ยังไม่ผ่านการประเมินและรับรองมาตรฐานงานสุขศึกษา เลือก ศสช. ตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย 3 แห่ง ต่อ 1 จังหวัด รวม 150 แห่ง เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงแล้วโดยส่งทางไปรษณีย์ ระหว่างเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม 2551 ได้รับการตอบกลับ 133 แห่ง แบบสอบถามที่ตอบสมบูรณ์ มี 108 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 72 ของแบบสอบถามที่ส่งทั้งหมด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และการทดสอบไค-สแควร์ผลการศึกษา พบว่า ผู้รับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 37 ปี สมรสแล้ว จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเป็นวิชาเอกสาธารณสุขศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนและนักวิชาการสาธารณสุขในสัดส่วนใกล้เคียงกัน มีเพียงร้อยละ 6.5 ที่จบวิชาเอกสุขศึกษาโดยตรง ผู้รับผิดชอบมีประสบการณ์ในงานสุขศึกษาเฉลี่ย 9.86 ปี เคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับงานสุขศึกษา ร้อยละ 85.2 และรับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. ในปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปี หรือมากกว่า สำหรับปัจจัยด้านหน่วยงาน พบว่า ศสช. ส่วนใหญ่มีการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือมากกว่า และครึ่งหนึ่งของ ศสช. มีผู้รับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานสุขศึกษาเพียง 1 คน ปัจจัยนำเข้าและกระบวนการในการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 53.8 และ 63.8 ตามลำดับ ส่วนผลการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาจากการประเมินตนเองอยู่ในระดับดีมากร้อยละ 39.8 ระดับดี ร้อยละ 37.0 ระดับพอใช้และไม่เข้าระดับ ร้อยละ 17.6 และ 5.6 ตามลำดับ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษา ได้แก่ ประสบการณ์ในงานสุขศึกษา การได้รับการอบรม และระยะเวลาที่รับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษา ปัจจัยด้านหน่วยงาน ได้แก่ ระยะเวลาการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษา และจำนวนสมาชิกในคณะทำงานพัฒนามาตรฐานฯ รวมทั้งปัจจัยนำเข้า และกระบวนการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษา มีความสัมพันธ์กับผลของการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนปัญหาอุปสรรคที่สำคัญที่ผู้รับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่พบมาก ได้แก่ 1) เจ้าหน้าที่ของ ศสช.มีน้อย แต่ภาระงานมีมาก จึงมักมอบหมายเจ้าหน้าที่ 1 คน รับผิดชอบงานสุขศึกษา ซึ่งต้องรับผิดชอบงานอื่น ๆ ด้วย (ร้อยละ 37.0) จึงเสนอแนะว่า ควรเพิ่มทีมรับผิดชอบงานสุขศึกษาเป็น 2-3 คน หรือให้เจ้าหน้าที่ทุกคนใน ศสช.ร่วมเป็นทีมรับผิดชอบ หรือให้เครือข่ายอำเภอมาช่วยเป็นทีมพี่เลี้ยง (ร้อยละ 12.0) 2) การฝึกอบรมผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษายังไม่เพียงพอ บางแห่งเปลี่ยนคนรับผิดชอบบ่อยทำให้คนใหม่ยังไม่ได้รับการอบรม (ร้อยละ 15.7) จึงเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเรื่องงานสุขศึกษาและมาตรฐานงานสุขศึกษาเพิ่มสำหรับคนใหม่ และมีการอบรมฟื้นฟูเป็นประจำต่อเนื่อง 1-2 ครั้งต่อปี (ร้อยละ 34.3) 3) ด้านการได้รับการสนับสนุนนโยบาย ทรัพยากร และวิชาการ มีการระบุว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) ยังขาดนโยบายที่ชัดเจน (ร้อยละ 15.7) และการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานสุขศึกษาไม่เพียงพอ (ร้อยละ13.9) จึงเสนอแนะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลแม่ข่ายมีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง โดยอาจบรรจุเป็นตัวชี้วัดของงาน ศสช. (ร้อยละ 10.2) รวมทั้งเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณสุขศึกษา โดยควรแยกออกจากงบประมาณอื่น ๆ (ร้อยละ 21.3) สำหรับการสนับสนุนเอกสารคู่มือการพัฒนามาตรฐานฯ ที่ระบุว่า ได้รับการสนับสนุนน้อยหรือล่าช้า (ร้อยละ 13.9) จึงเสนอแนะให้มีการสนับสนุนเอกสารคู่มือเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และควรปรับรูปแบบให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยมีการยกตัวอย่างให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ (ร้อยละ 10.2) และควรเพิ่มการนิเทศของจังหวัดและกองสุขศึกษาเป็นประจำปีละ 1-2 ครั้ง (ร้อยละ 9.3) 4) ด้านกระบวนการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ การจัดเตรียมเอกสารหลักฐานที่พบว่าเน้นเอกสารมากเกินไป ซ้ำซ้อนในบางองค์ประกอบ ทำให้ผู้ปฏิบัติยุ่งยากเสียเวลา (ร้อยละ 16.6) จึงเสนอแนะให้ปรับปรุงให้ง่ายขึ้น (ร้อยละ 13.0) เช่น ลดองค์ประกอบหรือลดความซ้ำซ้อน เน้นการวัดที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนมากขึ้น รวมทั้งมีการเสนอตัวอย่างหรือแบบฟอร์มการนำเสนอหลักฐานที่เป็นแนวทางกับผู้ปฏิบัติอย่างชัดเจน และนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้ สำหรับกองสุขศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลแม่ข่ายควรเพิ่มความครอบคลุมและความต่อเนื่องในการจัดฝึกอบรมเรื่องสุขศึกษาและการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาให้กับผู้รับผิดชอบในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปีละ 1-2 ครั้ง ควรเพิ่มการสนับสนุนด้านนโยบาย โดยให้เป้าหมายการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาเป็นตัวชี้วัดในงาน ศสช. มีการกำหนดเป้าหมายการเข้ารับการประเมินและรับรองมาตรฐานฯ ของ ศสช. ในเครือข่ายและในจังหวัดที่ชัดเจน เพิ่มการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานสุขศึกษาที่แยกจากงบประมาณอื่น ๆ รวมทั้งเพิ่มการนิเทศสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานใน ศสช. อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กองสุขศึกษาควรปรับปรุงตัวมาตรฐานให้มีความกระชับ ลดความซ้ำซ้อนขององค์ประกอบ เพิ่มการสนับสนุนเอกสาร/คู่มือ ที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย เข้าใจง่ายและเพิ่มตัวอย่างที่ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการจัดเตรียมหลักฐานเพื่อขอรับการประเมินให้กระชับ ไม่ซ้ำซ้อน และง่ายต่อผู้ปฏิบัติ โดยอาจจัดทำแบบฟอร์ม และตัวอย่างการจัดเตรียมหลักฐานเผยแพร่ในเว็บไซต์ ควรเน้นหลักฐานที่ผลลัพธ์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเป้าหมายมากขึ้น การศึกษานี้มีข้อจำกัดที่จำนวนตัวอย่างน้อย และวิธีการสุ่มที่แบ่งชั้นจาก 2 กลุ่ม คือ ศสช.ที่ส่งเข้ารับการประเมินและรับรองในปี 2551 และที่ยังไม่ขอรับการประเมินและรับรองฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลจาก ศสช. ที่มีผลการประเมินตนเองฯ ที่มีมีระดับต่าง ๆ กันใกล้เคียงกันเพียงพอที่จะศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยกับผลของการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาจากการประเมินตนเองฯ ดังนั้น ปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งผลของการประเมินตนเองในการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาที่ได้จากการวิจัยจึงไม่ได้เป็นตัวแทนหรือสะท้อนสถานการณ์ของการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาทำให้ทราบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลของการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช. ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของ ศสช.ให้ผ่านการประเมินและรับรองในอนาคต ------------------------ กิตติกรรมประกาศ ขอขอบคุณกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนงบประมาณการวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเก็บรวบรวมข้อมูลประเมินผลโครงการส่งเสริมพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาปีงบประมาณ 2551 ขอบคุณผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษาของสำนักงานสาธารณสุขในการประสานงานการเก็บข้อมูล และผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษาของศูนย์สุขภาพชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม ----------------------- เอกสารอ้างอิง กองสุขศึกษา (2546 ก) มาตรฐานงานสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุข โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กองสุขศึกษา (2546 ข) การพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ปีงบประมาณ 2546 กองสุขศึกษา (2550) ทำเนียบสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับการรับรองมาตรฐานงานสุขศึกษาในปีงบประมาณ 2547-2550 กองสุขศึกษา (2551 ก) การอบรมผู้ตรวจสอบประเมินมาตรฐานงานสุขศึกษา 15-17 มกราคม ณ โรงแรมห้วยขาแข้ง เชษฐ์ศิลป์ จังหวัดอุทัยธานี 2551 สุจิตรา ก่อกิจไพศาลและคณะ (2548) การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการดำเนินงานสุขศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานงานสุขศึกษาของสถานบริการสาธารณสุข จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
||