เป็นนักศึกษาทั้งทีต้องมีเป้าหมาย

ความหมาย-ความสำคัญ

เป้าหมาย (Goal) เป็นสิ่งที่มีค่าที่เราต้องการ จึงทำให้เรามีความพยายามที่จะทำเพื่อได้รับสิ่งนั้น การได้รับก็ถือว่าบรรลุผลสำเร็จ นักศึกษาที่มีระบบการศึกษาดีจะเป็นผู้ที่มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายในการเรียน รู้เหตุผลว่าทำไมต้องศึกษา ทำไมจึงสมัครเรียนเป็นนักศึกษา มสธ. อะไรคือสิ่งที่นักศึกษาต้องการ คำตอบหรือเป้าหมาย เช่น


เมื่อมีเป้าหมายในการเรียนก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจ มีความขยันขันแข็ง ตั้งใจ พยายามที่จะเรียนให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้นอกจากในเรื่องของการเรียน ไม่ว่านักศึกษาจะทำสิ่งใดก็จะต้องตั้งเป้าหมายในการทำสิ่งนั้น ๆ ไว้ล่วงหน้าก่อน เพราะการมีเป้าหมายจะเป็นเสมือนแสงสว่างหรือเข็มทิศ ช่วยนำทางจนถึงความสำเร็จ

วิธีการตั้งเป้าหมายที่ดี

ในการที่จะตั้ง หรือกำหนดนำสิ่งใดมาเป็นเป้าหมายในการกระทำของเราแต่ละด้านนั้น คงจะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบสำรวจตนเอง ถามตนเองว่าต้องการอะไร เรามีสติปัญญา ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ฐานะ สุขภาพอย่างไร สิ่งที่เราต้องการนั้นตรงกับความต้องการที่แท้จริง และเหมาะสมกับเราหรือไม่เพียงใด นอกเหนือจากการรู้จักตนเอง มองตนเองแล้ว ยังมีหลักการที่ควรคำนึงถึงดังนี้

1. ความเป็นไปได้

เป้าหมายที่ต้องการนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ สามารถบรรลุผลได้จริง เราสามารถทำได้และทำได้ด้วยตัวของเราเอง

2. เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

ให้เขียนเป้าหมายความต้องการของเราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นสิ่งยืนยันหรือย้ำเตือนให้ระลึกถึงเป้าหมายนั้นและสามารถย้อนกลับมาอ่านในสิ่งที่เขียนไว้ได้เป็นคล้ายสัญญาที่เราทำกับตนเอง

3. มีความเฉพาะ ชัดเจน

เป้าหมายที่เราเขียนหรือกำหนดขึ้นนั้น ต้องไม่เขียนให้กว้างจนเกินไป ควรจะเขียนให้ชัดเจน มีความเฉพาะเจาะจงลงไป เช่น


4. มีประโยชน์

เป้าหมายที่เราตั้งความปรารถนาไว้นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทำให้พึ่งตนเองได้หรือช่วยเหลือบุคคลรอบข้างและสังคมได้

การตั้งเป้าหมายจะต้องกำหนดไว้ให้พอดี เหมาะสมกับตัวเราคำนึงถึงขีดจำกัดของเราด้วย ไม่ตั้งไว้จนสูงเกินไป เมื่อทำไม่ได้ ไม่สำเร็จก็จะทำให้ผิดหวัง ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไรอีก เป็นผู้ไร้ความสำเร็จแต่ถ้าตั้งไว้ต่ำจนเกินไปก็จะทำให้ไม่มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่มีความกระตือรือร้น ขาดความอดทน ไม่สู้กับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ

ประเภทของการวางเป้าหมาย


ในแต่ละช่วงชีวิตของคนเราควรจะต้องมีการตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน การวาง เป้าหมายอาจแบ่งออกได้ตามระยะเวลาที่กำหนดเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. เป้าหมายระยะสั้นที่สุด (Micro goals)

เป็นการกำหนดเป้าหมายในช่วงเวลา 15 นาทีจนถึง 60 นาที เป้าหมายนี้เราสามารถทำได้ตามที่กำหนดและควบคุมให้เป็นไปได้มากที่สุด หากทำไม่ได้ก็เป็นความล้มเหลวที่จะมีผลต่อเป้าหมายในระยะอื่น ๆ ด้วย
2. เป้าหมายระยะสั้นมาก (Mini goals)

เป็นการวางเป้าหมายในช่วง 1 วันจนถึง 1 เดือน ว่าจะทำอะไรให้เสร็จเช่น อ่านเอกสารการสอนชุดวิชาไทยศึกษา และทำบันทึกย่อได้ครบ 5 หน่วยในเดือนสิงหาคมนี้
3. เป้าหมายระยะสั้น (Short range goals)

เป็นการวางเป้าหมายตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 1 ปี ว่าในเวลาหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปีที่จะมาถึงเราจะต้องทำสิ่งใดให้สำเร็จ เช่น สอบผ่านทั้ง 3 ชุดวิชาในภาคเรียนนี้
4. เป้าหมายระยะกลาง (Medium range goals)

เป็นการวางเป้าหมายในช่วงระยะเวลา 5-6 ปีข้างหน้า ว่าในอนาคตของเราจะต้องการอะไรมีสิ่งใดที่จะต้องทำให้ได้ในช่วงเวลา 5 ปี ตัวอย่างนักศึกษาอาจจะกำหนดเป็นเป้าหมายไว้ว่า สำเร็จหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต มสธ. ในปีการศึกษา 2546
5. เป้าหมายระยะยาว (Long-range goals)

เป็นการกำหนดวางเป้าหมายของชีวิต อาจใช้เวลาตั้งแต่ 10 ปี หรือมากกว่า ให้นักศึกษาคิดว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต เป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในชีวิต มีอะไรเป็นอุดมคติของชีวิต หาคำตอบของชีวิตให้ได้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร

สิ่งที่นำมากำหนดเป็นเป้าหมายของชีวิตจะต้องเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เราต้องการสิ่งนั้นเพราะตัวสิ่งนั้นเอง มิใช่ต้องการเพื่อนำไปสู่สิ่งอื่น นักศึกษาคงจะต้องลองคิดพิจารณาตั้งเป้าหมายที่มีคุณค่า เหมาะสมแก่ตัวเราเอง และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติด้วย เพื่อมิให้เสียทีที่เป็นนักศึกษา ปัญญาชน

แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มสธ