หน้าแรก
ตรวจสอบรายชื่อฝึกปฏิบัติ
ดาวน์โหลดเอกสาร
ติดต่อเรา
สำหรับเจ้าหน้าที่
จำนวนผู้เยี่ยมชม ::
60864
:: คน
แนวคิดการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
ในระบบการสอนทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งผู้เรียนผู้สอนอยู่ห่างกัน จำเป็นต้องมีวิธีการเพิ่มความรู้และประสบการณ์แก่นักศึกษา เพื่อให้สามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองได้มากที่สุดนอกเหนือจากสื่อหลัก ได้แก่เอกสารการสอนและสารสื่อเสริมประเภทเทปเสียง เทปภาพ ฯลฯ
การฝึกปฎิบัติเสริมทักษะ จึงเป็นสื่อเสริมประเภทหนึ่งที่จะทำให้นักศึกษาได้รับความรู้และเพิ่มพูนทักษะ พร้อมประสบการณ์ตามมาตราฐานของแต่ละวิชาชีพ โดยมหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนชุดวิชาที่มีการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะต้องเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะทุกคนตามวันเวลาและสถานที่กำหนด
ความหมายของการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
การฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ หมายถึง กิจกรรมปฏิสัมพันธ์ทางวิชาการที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้รับการเสริมหรือเพิ่มเติมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาความรู้ ความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือจากสื่อเอกสารการสอนหรือสื่ออื่นๆ ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเสริมในรายละเอียดและวิธีการเรียนรู้เฉพาะด้านให้มีคุณภาพตามมาตราฐานวิชาชีพต่อไป
วัตถุประสงค์ของการจัดฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
1. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และได้ตามมาตราฐานวิชาชีพ
2. เพื่อส่งเสริมและเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและประสบการณ์ ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินการจัดการ ตลอดจนสามารถวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับสภาพการปฏิบัติงานที่แท้จริง
3. เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา นักศึกษากับนักศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางความคิด ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
รูปแบบของการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
มหาวิทยาลัยได้กำหนดรูปแบบของการฝึกปฏิบัติให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของแต่ละชุดวิชา (สาขาวิชาเป็นผู้กำหนด) ดังนี้
1. การรับฟังการบรรยาย โดยนักศึกษาจะเข้ารับฟังการบรรยายและการอภิปรายจากผู้ทรงคุณวุฒิภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
2. การศึกษาดูงาน โดยสำนักบริการการศึกษาและคณาจารย์ จะนำนักศึกษาไปศึกษาดูงาน
3. การเก็บข้อมูลภาคสนาม นักศึกษาจะมีโอกาสได้สัมผัสกับผู้ผลิตและสถานประกอบการโดยตรง สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึก เพื่อเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ของ นักศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
4. การฝึกปฏิบัติการใช้คอมพิวเตอร์ ในบางชุดวิชานักศึกษาต้องเข้าฝึกปฏิบัติการในห้องคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ได้ดียิ่งขึ้น
กำหนดการฝึกปฏิบัติประจำภาคการศึกษา
มหาวิทยาลัย กำหนดให้มีการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะแต่ละชุดวิชาของแต่ละสาขาวิชาออกเป็น 2 ภาคการศึกษา คือ
ภาคการศึกษาที่ 1 ระหว่างเดือน กันยายน - มกราคม และ
ภาคการศึกษาที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม - กรกฎาคม ของทุกปี
กำหนดการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะแต่ละชุดวิชา สาขาวิชาจะเป็นผู้กำหนดตารางการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะให้นักศึกษาเข้าฝึกฯเพียงรุ่นเดียวหรือครั้งเดียวเท่านั้น หรือ บางสาขาวิชาจะจัดฝึกปฏิบัติเสริมทักษะเฉพาะภาคการศึกษาใดภาคการศึกษาหนึ่งที่นักศึกษาลงทะเบียนชุดวิชานั้นๆ โดยกำหนดวันฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ ของชุดวิชาจะแตกต่างกัน เช่น 2 วัน 3 วัน หรือ 4 วัน ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ สถานที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
การตรวจสอบรายชื่อนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะและการตอบรับการเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
ในภาคการศึกษาที่
1/2562 สำนักบริการการศึกษา ศูนย์บริการการศึกษาประจำภูมิภาค ได้เพิ่มช่องทางการตรวจรายชื่อนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะและการตอบรับการเข้าฝึกโดยผ่านระบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซด์ (Web Site) ของสำนักบริการการศึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาและทันเวลาในการตอบรับการเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ โดยนักศึกษาสามารถตรวจสอบกำหนดการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ รายชื่อนักศึกษาที่จะเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะแต่ละรุ่น วันเวลา และสถานที่จัดฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ รวมทั้งนักศึกษาสามารถตอบรับการเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ หรือยืนยันการเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะให้กับสำนักบริการการศึกษาทราบ ทั้งนี้การยืนยันเข้าฝึกฯของนักศึกษา ดังกล่าวตอบรับการเข้าฝึกตามขั้นตอนดังนี้
1. เปิด www.stou.ac.th/Offices/Oes/OesPage/l_center/index.html ไปที่ศูนย์บริการการศึกษาประจำภูมิภาค
2. คลิกเมนู ระบบการตรวจสอบรายชื่อฝึกปฏิบัติเสริมทักษะและการตอบรับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
3. คลิกไปที่ตรวจสอบรายชื่อฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
4. ใส่รหัสประจำตัวนักศึกษาจำนวน 10 หลัก
5. นักศึกษาตรวจสอบความถูกต้องรายชื่อการเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะและคลิกเพื่อยืนยันการเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
6. กดบันทึกเพื่อเป็นการตอบรับเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ * การตอบรับนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด มหาวิทยาลัยจะไม่มีจดหมายแจ้งไปยังนักศึกษาอีก *
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฝึกปฎิบัติเสริมทักษะ
นักศึกษาควรเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ก่อนเข้ารับการฝึกปฏิบัติฯ ดังนี้
1. ศึกษาเอกสารการสอนในชุดวิชาที่จะเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะล่วงหน้า เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในเชิงแนวคิด ทฤษฎี และจัดทำแบบฝึกปฏิบัติตามที่รับมอบหมายเพื่อนำส่งในวันฝึกปฏิบัติ
2. เตรียมเอกสารการสอนหรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติของชุดวิชานั้น ๆ
3. เตรียมเอกสารที่สำคัญ ได้แก่ บัตรประจำตัวนักศึกษา บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือ บัตรประจำตัวประชาชน เพื่อใช้สำหรับแสดงตนในวันลงทะเบียนเข้ารับการฝึกปฏิบัติฯ
4. เตรียมค่าใช้จ่าย ได้แก่ค่าที่พักและค่าอาหาร ประมาณ 2,500 - 3,000 บาท หรือตามที่มหาวิทยาลัยจะมีจดหมายแจ้งให้นักศึกษาทราบ
5. เตรียมเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ฯลฯ พร้อมทั้งเสื้อหรือผ้ากันหนาว (ห้องที่ใช้ฝึกฯ และห้องพักเป็นห้องปรับอากาศ)
6. เตรียมยาประจำตัว (ถ้ามี) กรณีที่นักศึกษามีโรคประจำตัว โปรดเตรียมยาไปให้พร้อม และแจ้งให้ผู้ประสานงานทราบในวันลงทะเบียน
7. ศึกษาเส้นทางการเดินทางไปยัง มสธ. สถานที่ฝึกฯ เช่น สถานที่ตั้ง มสธ . อาคารที่ใช้ฝึกฯ (อาคารสัมมนา 1 หรือ อาคารสัมมนา 2) นักศึกษาสามารถดูรายละเอียดจากแผนที่แสดงที่ตั้งของ มสธ . ในส่วนท้ายภาคผนวกของคู่มือเข้ารับการฝึกฯ (สำนักบริการการศึกษา จัดส่งให้นักศึกษาทุกคนก่อนการฝึกฯ)
การปฏิบัติตนเมื่อไปถึงสถานที่ฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
เมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงสถานที่ฝึกฯ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) ขอให้นักศึกษาปฏิบัติดังนี้
1. ขอให้นักศึกษาติดต่อที่ศูนย์สัมมนา และฝึกอบรม (อาคารสัมมนา 1 หรือ 2) ตามที่ระบุไว้ในจดหมาย
2. ศึกษาขั้นตอนการลงทะเบียนและชำระเงินที่บอร์ดประชาสัมพันธ์การฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ ในชุดวิชานั้นๆ ที่บริเวณประตูทางเข้าอาคารสัมมนา
3. ตรวจสอบรายชื่อนักศึกษาที่ บอร์ดปิดประกาศและจำลำดับที่หน้าชื่อของนักศึกษาเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
4. เตรียมบัตรประจำตัวนักศึกษาและแจ้งลำดับทหน้าชื่อของนักศึกษาให้เจ้าหน้าที่ทราบที่โต๊ะรับลงทะเบียน
5. ลงลายมือชื่อเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะพร้อมรับเอกสาร และป้ายชื่อติดหน้าอก
6. ชำระค่าอาหารและที่พักกับเจ้าหน้าที่การเงินของศูนย์สัมมนาฯ
7. ลงลายมือชื่อเข้าพักที่แผนกต้อนรับพร้อมรับกุญแจห้องพัก
8. รับประทานอาหารเช้า (ห้องอาหารอาคารสัมมนา)
9. เข้าห้องประชุมตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้
สถานที่ฝึกปฎิบัติเสริมทักษะ
สถานที่ฝึกปฎิบัติเสริมทักษะภายใน มสธ.
1. สถานที่บรรยายและห้องพัก คือ อาคารสัมมนาและฝึกอบรมภายใน มสธ. หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
2. สถานที่ฝึกปฏิบัติงาน คือ อาคารผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ (ตึก EBPC) อาคารศูนย์ฝึกการพิมพ์แห่งชาติ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละชุดวิชา
สถานที่ฝึกปฏิบัติเสริมทักษะภายนอก มสธ.
1. มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ตั้ง 1518 ถนนพิบูลสงคราม บางซื่่อ กรุงเทพฯ 10800
2. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ตั้ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ 1039 หมู่ 15 ถนนเทพารักษ์ ต.บางเสาธง สมุทรปราการ 10540
3. กรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่ตั้ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
4. หน่วยงานความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่
- สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จก. ที่ตั้ง 99 ม.10 ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี 18180
- บริษัทลุงเชาวน์ฟาร์ม จก. ที่ตั้ง 120/1 ต.หัวนา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี 72120
- แอร์ออคิด & แลป ที่ตั้ง 23/1 ม.3 ต.นราภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม 73130
- บริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร จก. ที่ตั้ง 97 ถ.เย็นจิตต์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ
- กลุ่มนาหญ้า บ้านสระ ที่ตั้ง 31/1 ม.9 ต.บ้านสระ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี 72130
ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรมจะให้บริการนักศึกษาเกี่ยวกับที่พักและอาหารสำหรับนักศึกษาที่เข้าฝึกปฏิบัติฯ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา ดังนี้
1. ที่พัก
นักศึกษาต้องพักรวมกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันโดยแยกห้องพักเป็นชายและหญิง ห้องละ 2 - 3 คน (เนื่องจากนักศึกษาแต่ละชุดวิชามีจำนวนมาก) ลักษณะและการจัดเตรียมเครื่องใช้ภายในห้องพัก เป็นห้องปรับอากาศ พร้อมห้องน้ำภายในห้องพัก ตู้เก็บเสื้อผ้าพร้อมไม้แขวนเสื้อ โต๊ะแต่งตัว เครื่องใช้ภายในห้องน้ำ ได้แก่ เครื่องทำน้ำอุ่น ผ้าเช็ดตัว สบู่ หมวกคลุมผม กระดาษทิชชู่ โดยนักศึกษาที่เข้าพักต้องปฏิบัติตามกฎ/ระเบียบ ดังนี้
- นักศึกษาต้องช่วยกันรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในห้องพักไม่ให้มีการแตกหัก สูญหาย (มีการคิดค่าใช้จ่ายการเสียหายของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นรายชิ้น)
- นักศึกษาไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนร่วมห้องและห้องใกล้เคียง
- นักศึกษาที่ออกจากห้องพักเป็นคนสุดท้าย ควรปิดสวิทช์ไฟและเครื่องปรับอากาศทุกครั้ง
- เมื่อนักศึกษาออกจากห้องพักต้องนำกุญแจห้องพักไปฝากไว้ที่แผนกต้อนรับของอาคารสัมมนาทุกครั้ง
- มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นำบุคคลภายนอกขึ้นไปบนห้องพักหากมีความจำเป็นต้องพบปะกับบุคคลภายนอกให้ใช้บริเวณห้องโถงชั้นล่างของอาคารสัมมนา
- กำหนดเวลาการคืนห้องพัก ณ อาคารสัมมนา (Check Out) ตั้งแต่เวลา 12.00 13.00 น.ให้นักศึกษาจัดเตรียมสัมภาระต่างๆ ลงไปฝากไว้ห้องเก็บสัมภาระชั้นล่างของอาคารสัมมนาในช่วงเช้าหรือในเวลาที่กำหนดคืนห้องพัก ทั้งนี้ในกรณีที่นักศึกษามีความจำเป็นไม่สมารถออกจากห้องพักในช่วงเช้าได้ ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม
2. อาหาร
- มหาวิทยาลัยจัดอาหารให้นักศึกษาทุกคนที่เข้าฝึกปฏิบัติฯ เริ่มตั้งแต่อาหารเช้าของวันแรกที่นักศึกษารายงานตัวเข้าฝึกปฏิบัติฯ
- มหาวิทยาลัยจัดอาหารไว้ทุกมื้อตั้งแต่ อาหารเช้า กลางวัน และเย็น รวมทั้งอาหารว่างเช้า บ่าย และดึก
- นักศึกษาที่ต้องการอาหารพิเศษ เช่น อาหารอิสลาม มังสะวิรัติหรืออาหารเจต้องแจ้งให้ผู้ประสานงานทราบในวันรายงานตัวเข้ารับการฝึกปฏิบัติฯ
3. ซัก-รีดเสื้อผ้า
นักศึกษาสามารถส่งเสื้อผ้าซักและรีดได้ โดยนำเสื้อผ้าใส่ถุงพลาสติกที่จัดไว้ให้ในห้องพักและ นำมาฝากซักได้ที่แผนกต้อนรับโดยส่งก่อนเวลา 09.00 น .
4. สื่ออิเล็กทรอนิกส์
ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม มีบริการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กับนักศึกษา และผู้มาใช้บริการเพื่อค้นคว้าและสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยขอให้ติดต่อที่แผนกต้อนรับของศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม โดยไม่เสียค่าบริการ
การชำระเงินค่าห้องพักและค่าอาหารล่วงหน้าก่อนเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ
ด้วยในภาคการศึกษาที่
1/2562 มหาวิทยาลัยได้เพิ่มช่องทางในการชำระเงินค่าอาหารและค่าที่พักของนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ ณ มสธ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาและเพื่อลดขั้นตอนในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์สัมมนาและฝึกอบรมในวันดังกล่าว โดยไม่ต้องมาชำระเงินในวันแรกที่เข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ ณ มสธ.
ขั้นตอนและแนวปฏิบัติการชำระเงินค่าอาหารและค่าที่พัก มีดังนี้
1. นักศึกษาชำระเงินค่าอาหารและค่าที่พักในการเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะล่วงหน้าก่อนการฝึกปฎิบัติเสริมทักษะอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (7 วัน)
2. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 147-1036-367 สาขาเมืองทองธานี จำนวนเงินตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด (จำนวนเงินค่าอาหารและที่พักระบุไว้ในจดหมายแจ้งนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ)
3. ส่งหลักฐานแบบโอนเงินชำระค่าอาหารและค่าที่พักของธนาคารมาให้ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม โดยขอให้ระบุรายละเอียด ดังนี้
3.1) ชื่อ - นามสกุล และรหัสนักศึกษาพร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก (เขียนตัวบรรจง อ่านง่าย)
3.2) ชุดวิชาและวันที่เข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ (รุ่นที่ / ครั้งที่)
3.3) ช่องทางการส่งหลักฐานการโอนเงิน ผ่านช่องทางดังนี้
- Facebook แฟนเพจ: ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม มสธ. ( โปรดแจ้งข้อความไว้ใน INBOX )
- Website: http://www.stou.ac.th/Seminar/index.html
- Line ID : stouplace หรือ QR Code
- Email : sc.proffice@stou.ac.th
- โทรศัพท์ 0-2504-8711, 0-2504-8713, 0-2504-8716 โทรสาร 02-503-3594
เงื่อนไข
1. นักศึกษาต้องนำสำเนาใบสำคัญรับเงินการโอนเงินของธนาคารมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ในวันแรกที่เข้ารับการ ฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ ณ ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม (ถ้านักศึกษาไม่นำใบสำคัญรับเงินมายืนยันในวันฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ และศูนย์สัมมนาไม่พบข้อมูลในการส่งหลักฐานดังกล่าวตามช่องทางที่ระบุไว้) นักศึกษาจะต้องเสียค่าอาหารและค่าที่พักใหม่ทั้งหมด
2. กรณีนักศึกษาโอนเงินเข้าบัญชีมหาวิทยาลัยมาเรียบร้อยแล้ว แต่นักศึกษาไม่สามารถเข้ารับการฝึกปฏิบัติ เสริมทักษะได้ตามกำหนดวันที่แจ้งมาและนักศึกษามีความประสงค์ที่จะเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะรุ่นต่อไป นักศึกษาสามารถเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะในรุ่นหรือครั้งต่อไปได้ (กรณีชุดวิชานั้นมีจัดฝึกปฏิบัติเสริมทักษะหลายรุ่น) แต่ต้องอยู่ในภาคการศึกษาเดียวกันเท่านั้น เช่น ลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาที่ 1 จะต้องเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะในภาคการศึกษาที่ 1 เท่านั้น จะขอเข้าฝึกปฏิบัติเสริมทักษะในภาคการศึกษาที่ 2 ไม่ได้ (หรือภาคอื่นๆ ไม่ได้)
3. เมื่อนักศึกษายืนยันเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ และได้ชำระเงินดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้ว (โอนผ่านบัญชี) หากนักศึกษาไม่สามารถเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะได้ นักศึกษาไม่สามารถเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้สำรองที่พักและอาหารไว้ให้กับนักศึกษาล่วงหน้าแล้ว
4. นักศึกษายังคงสามารถชำระเงินค่าอาหารและที่พักเป็นเงินสดได้ในวันแรกของการลงทะเบียนเข้ารับการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะในแต่ละรุ่น ที่ มสธ.
สิ่งอำนวยความสะดวก/บริการภายในมหาวิทยาลัย
1. การพยาบาล
มหาวิทยาลัยมีห้องปฐมพยาบาลและพยาบาลที่ให้บริการประจำทุกวันในวันเวลาราชการ นอกจากนี้ยังมีแพทย์เฉพาะทางมาทำการตรวจรักษาทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ณ ชั้นล่าง อาคาพิทยพัฒน์ นักศึกษาสามารถใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าบริการ กรณีที่นักศึกษามีอาการป่วยกะทันหันหรือในช่วงที่ไม่มีแพทย์หรือพยาบาลประจำ นักศึกษาสามารถแจ้งให้ผู้ประสานงานของสำนักบริการการศึกษหรือวิทยากรทราบได้ตลอดเวลา เพื่อนำส่งสถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยในเบื้องต้น
2. สหกรณ์ร้านค้ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
มหาวิทยาลัยมีสหกรณ์ร้านค้าฯ จำหน่ายเครื่องใช้อุปโภคบริโภคไว้บริการ ณ ชั้นล่าง อาคารวิชาการ 2 โดยเปิดบริการในวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 07.30 - 18.00 น . และวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 09.00 - 15.00 น . นอกจากนี้มีบริการอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายด้านหน้าสหกรณ์ร้านค้า ด้วย
3. สโมสรมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สโมสรสุโขทัยฯ อยู่บริเวณอาคารสุโขสโมสร ด้านหลังของมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่เพื่อให้ข้าราชการและนักศึกษาใช้บริการ เช่น สระว่ายน้ำ สนามแบตมินตัน และอุปกรณ์การออกกำลังกายต่างๆ โดยเสียค่าบริการในอัตราที่สโมสรฯ กำหนด พร้อมทั้งมีอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์
4. บริการตู้เบิกเงินด่วน (ATM)
มหาวิทยาลัยมีบริการตู้เบิกเงินด่วน (ATM) สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยจัดตั้งที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย จำนวน 1 แห่ง (ธนาคารกรุงไทย) และบริเวณหน้าศูนย์บริการการครบวงจร (One stop service) อีก 2 แห่ง (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงเทพฯ)