7 วิธีเบื้องต้น
สำหรับ "เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส"

จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2540 มาจนขณะนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายในตลาดแรงงาน ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับสภาวะการถูกพักงาน การถูกเลิกจ้าง หรืออย่างเบาหน่อยก็คือการลดอัตราเงินเดือนหรือลดรายได้ประจำ 1 ปี ผ่านไปหลายคนปรับตัวและค้นหาทางเดินใหม่ได้ แต่ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่อยู่ในภาวะ "สับสน" โดยไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับอนาคตของตนเอง บริษัทก็ปิดไปจำนวนไม่น้อย นายจ้างทั้งหลายก็ยังไม่ฟื้นตัว การจ้างงานใหม่คงต้องรออีกสักระยะ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเวลานานเท่าใด
ถึงตรงนี้จะพึ่งคนอื่นคงไม่ดีเท่ากับ "พึ่งตนเองก่อน" เป็นอันดับแรกพยายามทำใจให้สงบตั้ง "สติ" ให้ดี และใช้ช่วงเวลานี้ "เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส" กันดีกว่า
"การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส" เป็นเรื่องไม่ยาก สามารถเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  1. คิดใน "แง่บวก" หรือ "แง่ดี" อยู่เสมอ พยายามเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมองหาข้อดีและคิดแต่สิ่งดีนั้นไว้เสมอ เช่น คิดว่า "ความทุกข์ที่เราทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ยังมีคนที่ทุกข์ยิ่งกว่าเราอีกหลายคน" หรือ "โชคดีนะที่เขาให้เราหยุด เราก็ทำมานานแล้ว พักเสียบ้างจะได้หายเหนื่อยหรือไม่บางทีอาจได้งานที่ดีกว่าเก่าทำก็เป็นไปได้" หรือ "ดีนะที่เขาลดเงินเดือนเราดีกว่าเลิกจ้าง" เป็นต้น
  2. ให้ "กำลังใจ" ซึ่งกันและกัน กำลังใจเป็นโอสถทิพย์ที่ใครได้รับแล้วชื่นใจ เป็นยาที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ ยิ่งให้ก็ยิ่งมีมากขึ้น ทุกคนควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อนฝูง พี่น้อง สามี ภรรยา พยายามปลอบใจและให้กำลังใจ ถ้ามีโอกาสก็ไปเยี่ยมไปคุยกัน แต่ถ้าการเดินทางไปหากันไม่สะดวกก็โทรศัพท์ หรือจดหมายก็ได้ ในบางครั้งคำพูดที่แสดงความรู้สึกเห็นใจ เข้าใจเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าเงินทองทรัพย์สินมากมาย ได้กำลังใจนิดเดียวอาจทำให้เขายืนขึ้นและเดินต่อไปได้เองอีกยาวไกล
  3. ค้นหา "จุดเด่น" ของตนเอง คนเราทุกคนจะมี "จุดเด่น" หรือความสามารถพิเศษที่เพื่อน ๆ ยอมรับ ลองถามเพื่อน ๆ หรือคนใกล้ชิดดูแล้วนำ "จุดเด่น" หรือความใกล้ชิดดูแล้วนำ "จุดเด่น" หรือความสามารถพิเศษนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น บางคนทำกับข้าวอร่อยมากเปิดร้านอาหารได้เลย หรือจัดดอกไม้สวย ทำเป็นของชำร่วยขายวันเทศกาลต่าง ๆ ได้สบาย เป็นต้น
  4. ปรับปรุง "จุดอ่อน" มองหา "จุดอ่อน" ของตนเอง แล้วปรับปรุงเพิ่มเติมเสีย เช่น บางคนความรู้น้อย เพราะสมัยก่อนอยากเรียนแต่ไม่มีเวลา ตอนนี้มีเวลาแล้วมองหาที่เรียนเพิ่มเติมเสีย
    ถ้าไม่สะดวกไปนั่งเรียนในห้องเรียน ก็เรียนด้วยตนเองที่บ้านกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ที่สำคัญประหยัดอีกด้วย
    "ทำงาน" ที่หาได้ไปก่อน ในช่วงนี้ไม่ควรเลือกงาน ถ้ามีงานอะไรที่พอทำได้ ถึงแม้จะเดินทางลำบากขึ้น ตำแหน่งกับรายได้ลดลงก็ทำไปก่อน และหันมาใช้วิธีประหยัดรายจ่ายทดแทน เพราะการใช้วิถีชีวิต "รายได้มากจ่ายมาก เงินเหลือเก็บน้อย" กับการที่รายได้น้อยใช้จ่ายสมเหตุผล มีเงินเหลือเก็บมาก" วิถีชีวิตแบบไหนน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมกับปัจจุบันมากกว่ากัน
    ที่สำคัญงานใหม่อาจดีกว่างานเก่าก็เป็นได้ ขอให้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่าง "ผู้มีความรับผิดชอบ และทำให้ดีที่สุด"
  5. ทำงาน "เสริม" เพิ่มรายได้ หลายคนจะมีเวลาเหลือจากงานประจำ ไม่ตอนเย็นหลังเลิกงาน ก็วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ จัดสรรเวลาที่เหลือหางานทำเสริมเป็นการเพิ่มรายได้ เช่น ทำขนมส่งขายร้านประจำใกล้บ้าน หรือนำของที่ไม่เป็นประโยชน์สำหรับเราแต่สภาพดีมาขายราคาพิเศษในตตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น
    ที่สำคัญงานเสริมทีทำไม่ควรใช้เวลามากจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือใช้เวลางานประจำไปทำงานเสริมจนทำให้งานประจำเสียหาย
  6. "ทำงานที่ฝัน" ให้เป็นจริง เริ่มต้นลงมือทำสิ่งที่ฝันไว้เสียทันที ไม่ต้องรอเช่นหลาย ๆ คนเคยมีความฝันว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้าจะหยุดทำงานประจำเมื่ออายุ 50 ปี แล้วไปปลูกผัก ทำสวน ทำไร่ในต่างจังหวัด หรือพักผ่อนเสียที" ถึงวันนี้แล้วทำฝันให้เป็นจริงได้เลย ลงมือศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องเสียเป็นการเตรียมพร้อมก่อนไปลงมือจริงจัง เพราะความรู้บางอย่างต้องใช้เวลา และต้องลงมือทำถึงจะรู้จริง หรือถ้าไม่รู้ก็ควรเข้าไปหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เช่น ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย เป็นต้น หรือเข้าไปในพื้นที่เพื่อหาความรู้จากผู้รู้ในท้องถิ่น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า "7 วิธีเบื้องต้น สำหรับเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส" เป็นวิธีการที่เริ่มต้นที่ " ตนเอง " สามารถดำเนินการได้ทันที ที่สำคัญขอให้ "ลงมือทำทันที" เพราะลำพัง" การคิดเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เกิดผลถ้าไม่มีการกระทำ" และเมื่อได้ลงมือปฏิบัติแล้ว หากยังไม่ประสบผลสำเร็จ ขออย่าเพิ่ง" ท้อถอย" ขอให้มีความอดทน เพียรพยายาม ค้นหาวิธีการใหม่เพื่อต่อสู้ต่อไปแล้วชัยชนะก็จะเป็นของเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า
"ชัยชนะย่อมอยู่กับผู้ไม่ยอมแพ้"

วรชาติ อำไพ -ข่าว มสธ.

แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มสธ. ฝ่ายแนะแนวการศึกษา index

back