การเตรียมตัวสอบ

การเตรียมตัวสำหรับการสอบ ก็คือ การเรียนอย่างมีระบบมาตั้งแต่ต้น ได้แก่ การที่นักศึกษารู้จักวิธีการที่จะศึกษาเอกสาร การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการควบคุม หรือกำกับตนเองให้ศึกษาตามตารางเวลาเรียนและแผนกการเรียนของตนเองอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีการทบทวนก่อนการสอบจนกระทั่งมีความเข้าใจที่ชัดเจนในเนื้อหาวิชาที่ศึกษา เป็นต้น
นอกจากการเตรียมพร้อมทางด้านวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดภาคการศึกษาแล้ว นักศึกษาควรจะดูแลร่างกายและจิตใจ ให้พร้อมสำหรับการสอบอีกด้วย เพราะความพร้อมทางด้านร่างกาย และจิตใจมีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมด้านวิชาการ ด้วยเช่นกัน

การเตรียมตัวก่อนการสอบ
ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้นักศึกษามีความสำเร็จในการสอบ คือ การที่นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดสอบ และมีข้อมูลการสอบของตนเองที่ถูกต้อง ชัดเจน
ตรวจสอบสถานที่สอบ
ตรวจสอบรายละเอียดของกำหนดการสอบ
ตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าสอบ
เตรียมอุปกรณ์และหลักฐานแสดงตนเพื่อเข้าสอบ

ตรวจสอบสถานที่สอบ
นักศึกษาสามารถตรวจสอบว่าตนจะต้องไปสอบที่สนามสอบใด จาก

  • ใบแจ้งกำหนดการสอบที่มหาวิทยาลัยจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
  • บริการสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ 982-9633 หรือ 0 2504 7799
  • ศูนย์สารสนเทศ โทร. 0 2982 9700 หรือ 0 2504 7777

ในกรณีที่นักศึกษามีความจำเป็นไม่สามารถเข้าสอบในสนามสอบที่มหาวิทยาลัยจัดให้ (ตามจังหวัดหรือเขตที่นักศึกษาอยู่) ขอให้นักศึกษายื่นคำร้องไปยังสำนักทะเบียนและวัดผลก่อนวันสอบอย่างน้อย 45 วัน เพื่อขอย้ายสนามสอบเฉพาะครั้งนั้น

ตรวจสอบรายละเอียดของกำหนดการสอบ
นักศึกษาควรตรวจสอบรายละเอียดของกำหนดการสอบของตนเองในใบแจ้งกำหนดการสอบให้ชัดเจน นักศึกษาจะมีสิทธิเข้าสอบตามข้อมูลดังกล่าวได้ต่อเมื่อนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนในชุดวิชาดังกล่าวในภาคการศึกษาที่สอบนั้น

ตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าสอบ
นักศึกษาควรไปถึงสนามสอบก่อนเวลาสอบประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าสอบที่ติดไว้หน้าห้องสอบ ณ สนามสอบนั้นว่า มีรายชื่อของตนหรือไม่ ถ้ามีปัญหาจะได้แก้ไขทันก่อนถึงกำหนดเวลาสอบ และในกรณีที่มีปัญหาให้นักศึกษา ไปติดต่อที่กองกลางของสนามสอบ

เตรียมอุปกรณ์และหลักฐานแสดงตนเพื่อเข้าสอบ
  • อุปกรณ์ที่ใช้สอบ ได้แก่ ปากกา ดินสอดำที่มีความเข้มอย่างน้อยเบอร์ 2 หรือ 2 B, BB ดินสอดำ (ไม่ควรใช้ดินสอดำที่มีไส้แข็งหรืออ่อนกว่าที่กำหนด) ยางลบ และที่เหลาดินสอ
  • หลักฐานแสดงตนเพื่อเข้าสอบ คือ บัตรประจำตัวนักศึกษาและบัตรประจำตัวประชาชน (หรือบัตรข้าราชการ) ครบทั้งสองบัตร เพื่อแสดงตนต่อกรรมการคุมสอบ
    ในกรณีที่ขาดบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือขาดทั้งสองบัตร ให้นำรูปถ่ายหน้าตรงซึ่งถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป มาติดต่อที่กองกลางสนามสอบ เพื่อขอทำบัตรเข้าสอบ นักศึกษาที่มีบัตรไม่ครบ และไม่มีรูปมาทำบัตรเข้าสอบ ถึงแม้ว่าทางสนามสอบจะอนุญาตให้เข้าสอบ มหาวิทยาลัยฯ จะปรับตกในชุดวิชาที่เข้าสอบ
  • หลักฐานอื่นๆ เช่น หลักฐานการลงทะเบียนเรียน ใบเสร็จรับเงินค่าลงทะเบียนเรียน เพื่อตรวจสอบเมื่อมีปัญหา

การปฏิบัติตนในการเข้าสอบ
  • แต่งกายให้สุภาพ นักศึกษาต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามประเพณีนิยม คือ
    สุภาพสตรี สวมเสื้อกระโปรง สวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น
    สุภาพบุรุษ สวมเสื้อ กางเกง โดยสอดชายเสื้อไว้ในกางเกง สวมรองเท้าหุ้มส้น
  • ประพฤติตนเป็นสุภาพชน ไม่สูบบุหรี่ และไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ และต้องปฏิบัติตนตามระเบียบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่าด้วยการสอบไล่ พ.ศ.2524 ที่ติดประกาศไว้หน้าห้องสอบอย่างเคร่งครัด
  • สำรวจข้อสอบเมื่อกรรมการคุมสอบให้สัญญาณลงมือสอบ ให้นักศึกษาแกะข้อสอบออก ตรวจดูชื่อ-รหัสชุดวิชา จำนวนหน้า และจำนวนข้อของข้อสอบ อ่านคำแนะนำและข้อปฏิบัติในการทำข้อสอบอย่างรอบคอบ หากแบบทดสอบหน้าใดพิมพ์ไม่ชัดเจนอ่านไม่ออก หรือนักศึกษามีปัญหาอื่น ๆ ให้รีบแจ้งกรรมการคุมสอบ ทันที
  • หากเกิดความวิตกกังวลในห้องสอบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในการสอบ ขอให้พยายามควบคุมลมหายใจของตนเองให้สม่ำเสมอ ละทิ้งความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบ หรือความคิดต่อตนเองด้านลบออกไป และพยายามมุ่งความสนใจไปที่ข้อสอบเพียงอย่างเดียว
  • กรอกข้อมูลของตนเองให้ชัดเจน
    สำหรับการตอบข้อสอบปรนัย กรอกรายละเอียดบนหัวกระดาษคำตอบและฝนรหัสประจำตัวนักศึกษาให้ถูกต้อง ชัดเจน
    สำหรับการตอบข้อสอบอัตนัย ควรกรอกรายละเอียดบนหัวแบบกรอกคะแนนอัตนัย และฝนรหัสเลขประจำตัวนักศึกษาให้เรียบร้อย ก่อนถึงเวลาสอบ และเขียนชื่อและรหัสเลขประจำตัวนักศึกษาในกระดาษคำตอบทุกแผ่น

การตอบข้อสอบปรนัย
ข้อสอบปรนัยของ มสธ. มี 5 ตัวเลือก โดยที่แต่ละข้อจะมีคำตอบที่ถูกต้อง ที่สุดเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น นักศึกษาจะต้องพิจารณาตัวเลือกต่างๆอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว
ข้อแนะนำสำหรับการตอบข้อสอบปรนัย
ข้อสอบปรนัยของ มสธ. มี 5 ตัวเลือก โดยที่ในแต่ละข้อจะมีคำตอบที่ถูกต้อง ที่สุดเพียงคำตอบเดียวเท่านั้นนักศึกษาจะต้องพิจารณาตัวเลือกต่างๆอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว
  1. กรอกรายละเอียดบนหัวกระดาษคำตอบและฝนรหัสประจำตัวนักศึกษาให้ถูกต้อง ชัดเจน
  2. อุปกรณ์ที่ใช้สอบ ได้แก่ ดินสอดำที่มีความเข้มอย่างน้อยเบอร์ 2 หรือ 2B ยางลบ และที่เหลาดินสอ
  3. สำรวจข้อสอบทั้งหมด เพื่อวางแผนในการใช้เวลาในการทำข้อสอบ และเพื่อเป็นการผ่อนคลายความวิตกกังวลในการสอบ อีกด้วย
  4. ควรอ่านคำสั่งและทำความเข้าใจกับข้อคำถามแต่ละข้ออย่างระมัดระวัง รอบคอบ พิจารณาตัวเลือกทุกตัวเลือก ก่อนตัดสินใจเลือกตัวเลือกใดเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
  5. ในการฝนคำตอบในกระดาษคำตอบสำหรับข้อสอบปรนัย ต้องฝนให้เข้มจนมองไม่เห็นตัวเลขที่พิมพ์ไว้ในวงของตัวเลือก และฝนให้ดำเข้มเต็มวงเพียง 1ตัวเลือกเท่านั้น เมื่อนักศึกษาเปลี่ยนคำตอบใหม่ ให้แก้ไขโดยใช้ยางลบลบคำตอบเก่าให้เกลี้ยงสะอาดแล้วจึงฝนคำตอบที่เลือกใหม่ เพราะการเลือกคำตอบ 2 คำตอบในข้อเดียวกัน เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจข้อสอบจะให้คะแนนข้อนั้นศูนย์ทันที
  6. ไม่ควรใช้เวลากับข้อคำถามข้อใด ข้อหนึ่ง นานเกินไป หากยังไม่แน่ใจคำตอบ ให้ข้ามไปทำข้ออื่นก่อน และทำเครื่องหมายไว้ เมื่อมีเวลาเหลือจึงกลับมาพิจารณาใหม่
  7. เมื่อใช้เวลาการสอบไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ควรตรวจสอบตนเองว่าได้ใช้เวลาไปตามแผนที่กำหนดหรือไม่ และอาจปรับแผนการใช้เวลาให้ยืดหยุ่นมากขึ้น
  8. ก่อนที่จะส่งแบบทดสอบและกระดาษคำตอบคืนกรรมการคุมสอบ ควรตรวจทานว่าทำข้อสอบได้ครบทุกข้อ และกรอกรายละเอียดได้ครบถ้วน ถูกต้อง

การตอบข้อสอบอัตนัย
ข้อสอบอัตนัยจะนิยมใช้วัดพฤติกรรมการเรียนรู้ในระดับสูง เช่น ความเข้าใจ การประยุกต์ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์หรือการสังเคราะห์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ในหลายๆ เรื่อง หลาย ๆ หน่วย แล้วนำมาบูรณาการเพื่อใช้ตอบปัญหาที่ถาม
ขัอแนะนำสำหรับการตอบข้อสอบอัตนัย
  1. กรอกรายละเอียดบนหัวแบบกรอกคะแนนอัตนัย และฝนรหัสเลขประจำตัวนักศึกษาให้เรียบร้อย ก่อนถึงเวลาลงมือสอบ
  2. เขียนตัวหนังสือให้ชัดเจน อ่านง่าย สะอาด และเป็นระเบียบเพื่อกรรมการตรวจข้อสอบจะได้อ่านออกและตรวจคำตอบได้ชัดเจน
  3. อุปกรณ์ที่ใช้สอบ ได้แก่ ปากกา (ในการทำข้อสอบอัตนัยให้ใช้ปากกาเขียนตอบ)
  4. แบ่งเวลาที่ใช้ตอบข้อสอบอัตนัยทั้งหมด โดยพิจารณาจากคะแนนข้อสอบแต่ละข้อ เช่น ถ้าคะแนนของข้อสอบส่วนที่เป็นอัตนัยเท่ากับ 50% ของคะแนนทั้งหมด ก็ควรใช้เวลาทำประมาณ 50% ของเวลาสอบ
  5. ทำตอบลงในกระดาษที่กำหนดให้ เมื่อขึ้นข้อใหม่ ต้องขึ้นกระดาษแผ่นใหม่
  6. ควรมีการวางโครงเรื่อง โดยกำหนดคำตอบที่เป็นหลักการสำคัญของทุกประเด็นก่อนแล้วค่อยลงมือเขียนคำตอบ และพยายามเรียบเรียงหัวเรื่องและตอบข้อสอบให้ถูกต้องครบทุกประเด็น เมื่อขึ้นประเด็นใหม่ควรย่อหน้าใหม่
  7. ควรใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย กระชับ และไม่เยิ่นเย้อ วกวน
  8. ถ้ามีเวลาเหลือ ควรอ่านทบทวนคำตอบ และตรวจสอบว่า ตนเองเขียนตอบได้ตรงกับที่ต้องการจะตอบหรือไม่ ถ้ามีประเด็นคำถามหรือคำตอบที่สำคัญตกหล่นไป จะได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ที่สุด
  9. เขียนชื่อและรหัสเลขประจำตัวนักศึกษาในกระดาษคำตอบทุกแผ่น

แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มสธ. ฝ่ายแนะแนวการศึกษา index

back