|แนะแนวการศึกษา|| ข่าวสำหรับนักศึกษา ||กลับหน้าแรก|   

แนวทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ
แลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาไทย กับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ประจำปีงบประมาณ 2550

 

เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทาง ในการเสนอคำขอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงกำหนดแนวทางการสมัครเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาไทยกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประจำปีงบประมาณ 2550 ดังนี้

  1. ลักษณะของโครงการ
    1. โครงการที่มหาวิทยาลัย/สถาบันเสนอจะต้องเป็นโครงการที่เน้นการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ได้แก่ กัมพูชา จีน(เฉพาะมณฑลยูนนานเท่านั้น) พม่า ลาว และเวียดนาม โดยมีแผนงาน/กิจกรรมของการแลกเปลี่ยน ชัดเจน
    2. ประเภทของกิจกรรมแลกเปลี่ยนบุคลากรและระยะเวลา
      1. ให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน ปฏิบัติงานร่วมกับผู้รับผิดชอบ ในสาขาวิชานั้นๆ รวมถึงการสร้างและสานต่อความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันในประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
      2. การทำวิจัยหรือร่วมวิจัยในมหาวิทยาลัย/สถาบันประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
      3. การสอนและบรรยายในมหาวิทยาลัย/สถาบันประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
      4. ระยะเวลาการแลกเปลี่ยนบุคลากรไม่น้อยกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน
    3. ประเภทของกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาและระยะเวลา
      1. การศึกษาหรือการฝึกงานหรือการวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในมหาวิทยาลัย/สถาบันประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยต้องมีการลงทะเบียนเรียน (และต้องไม่ใช่การฝึกอบรมหรือดูงาน)
      2. ระยะเวลาแลกเปลี่ยนนักศึกษา 1 ภาคการศึกษาแต่ไม่เกิน 4 เดือน ทั้งนี้ หากสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยกับสถาบันอุดมศึกษา ต่างประเทศได้ จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญสูง
  2. คุณสมบัติของผู้สมัคร
    1. คุณสมบัติของบุคลากร
      1. มีสัญชาติไทยและมีสุขภาพแข็งแรง
      2. เป็นอาจารย์/บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถาบันต้นสังกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
      3. อายุไม่เกิน 58 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 (เกิดหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2491)
      4. มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาของประเทศที่สมัครไปแลกเปลี่ยนได้ดี ในกรณีภาษาอังกฤษจะต้องมีผลสอบ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 คะแนน หรือการทดสอบอื่นที่มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน หรือมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่แสดงว่ามีความสามารถทางภาษาเทียบเคียงกันได้ โดยต้องแนบหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
      5. ได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด
    2. อนึ่ง การกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของบุคลากรเพิ่มเติมจากที่กำหนดนี้ให้อยู่ใน ดุลยพินิจของสถาบัน แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับคุณสมบัติต่างๆ ที่กำหนดไว้

    3. คุณสมบัติของนักศึกษา
      1. มีสัญชาติไทยและมีสุขภาพแข็งแรง
      2. กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี (ชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป) หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก
      3. มีคะแนนเฉลี่ยสะสมจนถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนวันสมัคร สำหรับปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า 2.50 สำหรับปริญญาโทและเอกไม่ต่ำกว่า 3.25
      4. มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาของประเทศที่สมัครไปแลกเปลี่ยนได้ดี
      5. มีความประพฤติดีและเคยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวมของมหาวิทยาลัย
      6. สามารถเข้าร่วมโครงการได้ตลอดภาคการศึกษาตามระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่สมัครไปแลกเปลี่ยน (อาจจะเป็น Semester, Trimester, หรือ Quarter)
      7. ได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด
    4. อนึ่ง การกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของนักศึกษาเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้นี้ให้อยู่ใน ดุลยพินิจของสถาบัน แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับคุณสมบัติต่างๆ ที่กำหนดไว้

  3. ค่าใช้จ่ายที่จะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
    1. บุคลากรจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าที่พักแบบเหมาจ่าย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือน ค่า VISA ค่าภาษีสนามบิน ค่าพาหนะรับจ้างไป-กลับระหว่างที่พัก-สนามบิน (ในประเทศไทย) ค่ารักษาพยาบาล และค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับระหว่างประเทศ (อัตราตั๋วราชการชั้นประหยัด) ซึ่งออกโดยบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จากสถาบันต้นสังกัดในประเทศไทยไปจนถึงสถาบันเจ้าภาพในประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และจากสถาบันต้นสังกัดในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถึงสถาบันเจ้าภาพในประเทศไทย หากมีค่าใช้จ่ายที่เกินจากอัตราค่าโดยสารที่กำหนดให้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่น หรือประสงค์ จะซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านตัวแทนจำหน่ายก็สามารถดำเนินการได้ โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0408.2/ว 112 ลงวันที่ 30 กันยายน 2546 ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายได้ไม่เกินราคาที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินจากอัตราค่าโดยสารที่กำหนดให้ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น อาทิ ค่าธรรมเนียมการใช้ห้องสมุด ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง
    2. นักศึกษาจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง/ที่พักแบบเหมาจ่าย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือน ค่า VISA ค่าภาษีสนามบิน ค่าพาหนะรับจ้างไป-กลับระหว่างที่พัก-สนามบิน (ในประเทศไทย) ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ค่ารักษาพยาบาล และค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับระหว่างประเทศ (อัตราตั๋วราชการ ชั้นประหยัด) ซึ่งออกโดยบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จากสถาบันต้นสังกัดในประเทศไทยไปยังสถาบันเจ้าภาพในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และจากสถาบันต้นสังกัดในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถึงสถาบันเจ้าภาพในประเทศไทย หากมีค่าใช้จ่ายที่เกินจากอัตราค่าโดยสารที่กำหนดให้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่น หรือประสงค์จะซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านตัวแทนจำหน่ายก็สามารถดำเนินการได้ โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0408.2/ว112 ลงวันที่ 30 กันยายน 2546 ทั้งนี้ ให้เบิกจ่าย ได้ไม่เกินราคาที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินจากอัตราค่าโดยสารที่กำหนดให้ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง สำหรับค่าลงทะเบียนเรียนนั้น นักศึกษาจะลงทะเบียนกับสถาบันอุดมศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และ ขอยกเว้นค่าลงทะเบียนจากมหาวิทยาลัยเจ้าภาพในต่างประเทศ
  4. การพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการ
    1. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะพิจารณามหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรในระดับสถาบัน หรือในระดับคณะกับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือได้มีการร่วมกิจกรรมวิชาการ หรือการติดต่อสื่อสารกับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง
    2. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะพิจารณาผู้สมัครที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาของประเทศที่สมัครไปแลกเปลี่ยน โดยจะพิจารณาจากผลการทดสอบภาษาอังกฤษ/ภาษาของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรับรองโดยสถาบันที่จัดให้มีการทดสอบภาษาที่มีมาตรฐาน หรือการจัดสอบภาษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดอยู่
    3. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะพิจารณาผู้สมัครที่มีหนังสือตอบรับให้เข้าร่วมโครงการจากสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเข้าร่วมโครงการและมีแผนการร่วม กิจกรรมที่ชัดเจน
    4. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาขอสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาผู้สมัครที่กรอกรายละเอียด ในใบสมัครเข้าร่วมโครงการและแนบหลักฐานประกอบครบถ้วนเท่านั้น
    5. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะพิจารณาผู้สมัครที่ประสงค์จะแลกเปลี่ยนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพียงประเทศเดียวต่อหนึ่งคำขอ โดยผู้สมัครสามารถดำเนินกิจกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัย/สถาบันในประเทศนั้นๆ มากกว่า 1 แห่งได้ ทั้งนี้จะต้องเป็นกิจกรรมในสาขาวิชาเดียวกันและมีมหาวิทยาลัย/สถาบันของไทยเพียง 1 แห่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลาง และจัดส่ง ใบสมัครฉบับสมบูรณ์ให้ โดยที่มหาวิทยาลัย/สถาบันทั้งสองประเทศต้องมีการประสานกันเป็นการภายในแล้ว ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการในแต่ละสถาบันไม่น้อยกว่า 1 เดือน
    6. ผู้สมัครที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว จะได้รับการพิจารณาในลำดับความสำคัญที่ต่ำกว่า
  5. การติดตามประเมินผลการเข้าร่วมโครงการ

    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะทำการติดตามประเมินผลการเข้าร่วมโครงการเพื่อนำผลที่ได้รับมาปรับปรุงการดำเนินงานทุนแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาไทยกับประเทศอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขงโดยจะดำเนินการดังต่อไปนี้

    1. การประเมินผลโดยสถาบันเจ้าภาพในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนการเดินทางผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทุกคนจะได้รับ “แบบฟอร์มรายงานผลการเข้าร่วมโครงการโดยสถาบันเจ้าภาพในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” และเมื่อเดินทางถึงให้นำแบบฟอร์มดังกล่าวส่งให้แก่สถาบันเจ้าภาพในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้กรอกแบบรายงานผล เมื่อใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาการแลกเปลี่ยนให้สถาบันเจ้าภาพในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนำส่งแบบฟอร์มที่จัดทำแล้วมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาโดยตรง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะไม่เปิดเผยผลของการรายงานให้ผู้ใดทราบ
    2. การติดตามผลหลังกลับจากเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทุกคนจะต้องเขียนรายงาน การเดินทางไปแลกเปลี่ยนกับสถาบันในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเขียนรายงานลงในแบบฟอร์มที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด และส่งคืนสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษาภายใน 30 วัน หากผู้เข้าร่วมโครงการจากสถาบันอุดมศึกษาใดมิได้นำส่งรายงานการติดตามผลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการของสถาบันนั้นๆ ในปีต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะพิจารณานำรายงานการติดตามผลการเข้าร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือระดับอุดมศึกษากับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะส่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปติดตามผล การแลกเปลี่ยนกับสถาบันในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นระยะๆ เพื่อสอบถามปัญหาและอุปสรรคและนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการทุนแลกเปลี่ยนในปีต่อไป
  6. หลักฐานการสมัคร
    1. ทุนแลกเปลี่ยนบุคลากร
      1. แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกข้อความครบถ้วน 1 ชุดพร้อมหลักฐาน ได้แก่
      2. หนังสือเสนอชื่อจากต้นสังกัดลงนามโดยอธิการบดี หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
      3. หนังสือตอบรับจากสถาบันในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ลงนามโดยอธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
      4. รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว 1 รูป
      5. หนังสือรับรองความสามารถทางภาษาอังกฤษหรือภาษาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ไปแลกเปลี่ยน จากสถาบันที่มีการจัดทดสอบภาษาที่มีมาตรฐาน หรือหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงว่า มีความสามารถทางภาษาเทียบเคียงกันได้ จำนวน 1 ชุด
    2. ทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษา
      1. แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกข้อความครบถ้วน จำนวน 1 ชุด พร้อมหลักฐานได้แก่
      2. หนังสือเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ลงนามโดยอธิการบดีหรือ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
      3. หนังสือตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ลงนามโดยอธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
      4. รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว 1 รูป
      5. สำเนาระเบียนผลการศึกษา (transcript of records) จนถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนวันสมัคร จำนวน 1 ชุด
      6. หนังสือรับรองความสามารถทางภาษาอังกฤษ หรือภาษาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ไปแลกเปลี่ยน จากสถาบันที่มีการจัดทดสอบภาษาที่มีมาตรฐาน หรือจากการจัดสอบภาษาของสถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาอยู่ จำนวน 1 ชุด
  7. . ระยะเวลาดำเนินโครงการ
    1. สถาบันอุดมศึกษาจัดลำดับผู้สมัคร และเสนอชื่อพร้อมใบสมัครและหลักฐานต่างๆ ภายใน.วันที่ 15 ธันวาคม 2549 เวลา 16.30 น ไปสำนักงานคณะกรรมการการอุดม ได้ไม่เกิน 6 คน (โดยมีหนังสือเสนอชื่อสถาบันละ 1 ฉบับ)

      การส่งใบสมัครทางไปรษณีย์จะถือวันที่ไปรษณีย์ต้นทางประทับตราเป็นสำคัญ เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ส่งหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2549 จะไม่ได้รับการพิจารณา ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับใบสมัครและหลักฐานทางโทรสาร

    2. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประมาณต้นเดือนมกราคม 2550 แจ้งผลการพิจารณาไปยังสถาบันอุดมศึกษา
    3. เริ่มดำเนินการเบิกจ่าย ประมาณต้นเดือนมกราคม 2550
    4. ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเดินทาง ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2550

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ผู้สนใจสามารถ Download รายละเอียดแนวทางการสมัครเข้าร่วมโครงการและใบสมัคร ได้จาก www.mua.go.th/users/inter