สำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลแห่งยุคในศตวรรษที่ 20 อีกสำนักหนึ่งคือ สำนักคิดทาง เศรษฐศาสตร์เคนส์ (Keynesian Economics) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและประสบกับปัญหาการว่างงานอย่างกว้างขวาง การรื้อฟื้นระบบมาตรฐานทองคำ โดยรัฐบาลอังกฤษทำให้ปัญหาการผลิตถดถอย การว่างงานสูง และการขาดดุลการชำระเงินเรื้อรัง ประกอบกับการ
ล้มครืนของตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาในปลายทศวรรษ 1920 ภาวะการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในทศวรรษ 1930 แม้ว่ารัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจะพยายาม แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
ที่เกิดขึ้นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำการว่างงานอย่างแพร่หลาย และธุรกิจเป็นจำนวนมากได้ปิดกิจการลงในที่สุดในระยะเวลาดังกล่าว ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes)
Sir John Maynard Keynes ( ค.ศ.1883 - 1946 )
ได้เสนอทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในหนังสือชื่อทฤษฎีเกี่ยวกับการจ้างงาน ดอกเบี้ย และเงินตรา (The General Theory of Employment, Interest, and Money) หนังสือเล่มดังกล่าว
มีเพียงแต่เป็นผลงานที่ก่อให้เกิด เศรษฐศาสตร์ของเคนส์ (Keynesian Economics) หรือสำนักเศรษฐศาสตร์เคนส์ แต่ทว่ายังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สำคัญคือได้ปฏิรูปทฤษฎีเงินตรา บทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวหรือแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างแบบจำลองสภาวะสมดุลทั้งระบบในลักษณะที่เรียบง่าย รวมข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดอ่อนของสำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิก ซึ่งมีจุดอ่อนในการอธิบายปัญหาการปรับตัวทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมที่นำไปสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ เป็นต้น เคนส์ได้วิจารณ์และโจมตีแนวคิดของสำนักคลาสิก (รวมทั้งสำนักนีโอคลาสสิก) อย่างรุนแรง โดยทฤษฎีการจ้างงานแบบเดิมที่เสนอว่าระดับการจ้างงานในตลาดแรงงานถูกกำหนดโดยดุลยภาพระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยสมมุติว่าทั้งตลาดสินค้าและตลาด แรงงานเป็นตลาดแข่งขันตลอดจนราคาสินค้าและอัตรา ค่าจ้างสามารถปรับตัวขึ้นลงได้อย่างยืดหยุ่น ฉะนั้น การจ้างงานดุลยภาพที่เกิดขึ้น จะเป็นระดับการจ้างงานเต็มที่ และอัตราค่าจ้างในตลาดแรงงานจะเป็นอัตราค่าจ้างดุลยภาพ ถ้าหากยังมีการว่างงานอยู่ก็เป็นการว่างงานโดยสมัครใจ (voluntary unemployment) เพราะผู้ว่างงานเรียกร้องค่าจ้างสูงเกินไปและปฏิเสธที่จะทำงานระดับค่าจ้างดุลยภาพ เคนส์มีความเห็นว่า คนงานสามารถต่อรองกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงินได้แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนราคาสินค้าได้ ทำให้คนงานไม่ยอมรับการลดอัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงินของตน เพื่อที่จะรักษาระดับมาตรฐานการครองชีพของตนเองไม่ให้เลวลงเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ฉะนั้นอัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงินในระบบเศรษฐกิจ จึงมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น และมีผลทำให้เกิดการว่างงานโดยไม่สมัครใจได้ เคนส์ได้เสนอว่าอุปสงค์มีผล ( effective demand ) อันประกอบไปด้วยการใช้จ่ายบริโภคของครัวเรือน การใช้จ่ายการลงทุนของภาคธุรกิจและรัฐบาล รวมทั้งรายได้จากการส่งออกสุทธิ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดการจ้างงานผลผลิตและรายได้ประชาชาติระยะสั้น โดยผ่านการทำงานของตัวทวีคูณ ทำให้เกิดดุลยภาพในระบบเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีการจ้างงานเต็มที่ แต่อาจมีการว่างงานแบบไม่สมัครใจเกิดขึ้นได้
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของเคนส์เน้นคำว่า ทฤษฎีทั่วไป เพราะเขาเชื่อว่าทฤษฎีสามารถใช้ได้กับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจมหภาคโดยทั่วไป โดยเฉพาะการกำหนดผลผลิตรายได้ประชาชาติดุลยภาพทั้งที่มีการจ้างงานเต็มที่ ( full employment equilibrium ) และที่มีการว่างงานแบบไม่สมัครใจ ( unemployment equilibrium ) ในขณะที่ทฤษฎีคลาสสิกและนีโอคลาสสิกมีลักษณะเป็น ทฤษฎีเฉพาะ (special theory) เพราะใช้อธิบายได้เพียงกรณีเดียวคือ ดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มที่ และไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ การว่างงานโดยสมัครใจ ได้ผลงานของเคนส์ ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการจ้างงานอัตราดอกเบี้ยและเงินตรา ได้ส่งผลให้แนวคิดของเคนส์ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและมีผู้เปรียบเทียบว่าเป็นเสมือนการปฏิวัติ หรือที่เรียกว่า การปฏิวัติของเคนส์(Keynesian Revolution) และเคนส์เองก็ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคและเป็นคนอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนรุ่นเดียวกัน (ค.ศ. 1883 - 1946) และนับแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา เศรษฐศาสตร์ของเคนส์ได้มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนวิชาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกอีกทั้งได้เข้าไปมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญคือ การใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล ( budgetary deficits ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค ในขณะที่การวิเคราะห์เกี่ยวกับรายได้ประชาชาติได้ถูกใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาวะทางเศรษฐกิจ และการบริหารนโยบายเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
พัฒนาการทางแนวคิดและทฤษฎีของเคนส์ก็ส่งผลและมีอิทธิพลต่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนานับแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการวางนโยบายเศรษฐกิจ
มหภาค โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ทางด้านอุปสงค์มวลรวมที่ให้ความสำคัญแก่การใช้นโยบายการลงทุนของเอกชนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ การใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลทางการคลัง
และการขยายตัวของการส่งออก เป็นนโยบายและเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง
-- กลับสู่หน้าหลัก | หน้าถัดไป --
|