จุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ฉบับที่ 1ปี 2552

ความไว้วางใจนั้นสำคัญไฉน

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

คนเราทุกคนต้องการมีคนที่ไว้วางใจได้ เพื่อเป็นเพื่อนที่คอยปรับทุกข์ เพื่อนคู่คิด เพื่อนที่เดินเคียงข้างไปตลอดทั้งยามสุขและยามทุกข์ เพื่อนที่คอยช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา และ/ หรือเป็นผู้ที่จะช่วยให้การทำงานหรือการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ และขณะเดียวกันคนเราก็ต้องการให้คนไว้ใจ หรือเชื่อใจในตนเอง หลายคนพยายามที่จะสร้างหรือทำตนให้เป็นที่ไว้ใจหรือไว้เนื้อเชื่อใจของคนรอบข้าง โดยมีจุดประสงค์ที่ต่างกัน บางคนต้องการผลประโยชน์จากคนรอบข้าง ที่ออกมาในรูปของความสำเร็จในงาน ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆ หรือบางคนไม่ได้ต้องการผลประโยชน์ เพียงแต่ต้องการความรัก ความเป็นมิตร ความอบอุ่น การยกย่องจากคนรอบข้าง หรือเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นสมาชิกของกลุ่มเท่านั้น จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “ ความไว้วางใจ ” และเป็นที่มาของคำถามว่า “ ความไว้วางใจที่พยายามแสวงหากันนั้นคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างไร ”

คำว่า “ ความไว้วางใจ ” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Trust” ซึ่ง Voice of America ได้ให้คำแปลว่า “to believe that someone is honest and will not cause harm.” และ NECTEC's Lexitron Dictionary ได้แปลคำนี้ว่า ความเชื่อใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้วางใจ (http://dictionary.kapook.com/trust.html) ซึ่งคำ “ ความไว้วางใจ ” นี้ตรงข้ามกับคำว่า “ ความระแวง หรือความ แคลงใจ หรือความระแวงสงสัย หรือ Suspicion” ที่เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง และการทำร้ายกัน ในขณะที่ความไว้วางใจนั้น เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างคนๆ นั้นกับบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก คนรัก เพื่อน หัวหน้า หรือ ลูกน้อง ( http://www.bbznet.com/scripts/view.php?

user=nakkam 2003 &board= 3 &id= 32 &c= 1 &order=numtopic ) ที่ ออกมาในรูปของสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

ผู้เขียนได้อ่านบทความในเว็บไซต์ต่างๆ เกี่ยวกับความไว้วางใจและให้ข้อคิดที่ดีในหลายด้าน จึงขอนำมาแบ่งปัน เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เร่งรัดให้คนเราเอาเปรียบกันมากขึ้น สร้างความไว้วางใจจอมปลอมเพื่อหลอกกันหวังผลประโยชน์ ดังที่เรามักพูดกันว่า “ คนพวกนั้น เป็นคนโพลิติก ( Politic)” ซึ่งก็คือ ทำทุกอย่างเป็นแบบการเมือง ไม่ได้จริงใจในสิ่งที่ทำหรือซื่อสัตย์กับงานหรือกับคนที่เกี่ยวข้อง บรรยากาศของความไว้วางใจจึงเริ่มลดลง กลายเป็นความหวาดระแวงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวันหรือการทำงานก็ตาม ผู้เขียนจึงได้นำข้อความหรือบทความที่มีผู้กล่าวถึงความไว้วางใจที่หลากหลายมาให้ผู้อ่านได้พิจารณา เพื่อหวังว่า บรรยากาศของความไว้วางใจจะกลับมาสู่สังคมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ของเราอีกครั้ง ดังนี้

  พสุ เดชะรินทร์ (http://www.nidambe 11. net/ekonomiz/ 2004 q 4/ article 2004 nov 23 p 1. htm ) ได้ให้ความหมายของความไว้วางใจว่า หมายถึง ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เรามีต่อบุคคลอื่นว่า เขาจะปฏิบัติต่อเราด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต สามารถพึ่งพิงได้ รวมถึงการไม่เอารัดเอาเปรียบเรา

Thomas L.Friedman ที่ได้กล่าวถึง “ ความไว้วางใจ ” ไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ The World is Flat ในลักษณะเปรียบเปรยว่า “ ถ้าคุณกระโดดออกจากพื้นทราย ในขณะที่อีกคนหนึ่งกระโดดออกจากพื้นคอนกรีต ใครจะกระโดดได้สูงกว่ากัน แน่นอนคนที่กระโดดจากพื้นคอนกรีตย่อมจะต้องกระโดดได้สูงกว่า ความไว้วางใจก็คือพื้นคอนกรีตนั่นเอง ความไว้วางใจช่วยให้คุณคาดเดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ผลที่ตามมา คือ คุณกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ...แต่ถ้าปราศจากความไว้วางใจ ก็จะไม่มีใครกล้าเสี่ยง ถ้าไม่มีใครกล้าเสี่ยง ก็จะไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ สังคมที่ปราศจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืนได้ นอกจากนั้น ความไว้วางใจเป็นหัวใจสำคัญแห่งการร่วมมือกันทำงาน เพราะยิ่งผู้คนไว้วางใจกันมากเท่าไหร่ หรือไว้วางใจผู้นำเท่าไหร่ พวกเขาจะทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้นและบรรลุเป้าแห่งความสำเร็จได้ ” (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=kanomtan&date=16-01-2008&group=5&gblog=11)

พจนารถ ซีบังเกิด ได้กล่าวถึง " ความไว้วางใจ" ว่า สามารถใช้เป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวผู้บริหารเอง และเป็นรากฐานในการสร้างความสำเร็จทั้งปวง "ความไว้วางใจ" ไม่สามารถสร้างได้ภายในวันเดียว ไม่มีเส้นทางลัด สร้างยาก และต้องสร้างอย่างต่อเนื่องยาวนาน และตลอดเวลา และถ้าผู้บริหารเป็นผู้ทำลาย " ความไว้วางใจ" เสียเอง อาจเรียกคืนได้ยาก หรืออาจสร้างคืนไม่ได้อีก

ใน www.samutsongkhram.go.th/KM%2051/km1.doc ได้มีผู้เขียนไว้ว่า “ ความไว้วางใจ ” เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีม สมาชิกทุกคนในทีมควรไว้วางใจซึ่งกัน และกันได้ ซื่อสัตย์ต่อกัน สื่อสารกันอย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน

ใน http://blog.weblog.in.th/node/221 ได้มีผู้เขียนไว้ ว่า ความไว้วางใจหากหายไป ยากที่จะนำกลับคืนมา

คนึงนิจ ( 2006) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับความไว้วางใจกับการประยุกต์ใช้ในการทำงานว่า “ ความเชื่อถือและความไว้วางใจ ( Trust) เป็นปัจจัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน โดยจะยังคงอยู่ก็ต่อเมื่อบุคคลมีความมั่นใจ ความไว้ใจจะช่วยลดความไม่แน่นอน ลดความเสี่ยงและเพิ่มความระมัดระวังของกระบวนการความคิดในการตอบสนองอย่างทันทีทันใดที่มีต่อผู้นำหรือองค์การ หรืออาจหมายถึงการที่พนักงานมีความเชื่อถือต่อผู้บังคับบัญชาว่า เป็นคนที่น่าเชื่อถือและมีความน่าไว้วางใจ ซึ่งจะนำมาซึ่งความไว้วางใจในองค์การเพื่อผลของความสำเร็จในงานนั้นร่วมกัน

" ความเชื่อมั่น" ในตัวบุคคลหรือองค์การไม่ได้เกิดขึ้นและตั้งอยู่อย่างเลื่อนลอย หากแต่ต้องมี "ฐาน" รองรับ นั่นก็คือ ผลงานการกระทำและพฤติกรรมของบุคคลและองค์การ หากต้องการให้คนเชื่อมั่น เชื่อถือควรเริ่มที่ "การกระทำ" ที่น่าเชื่อถือ ถ้าการกระทำน่าเชื่อถือจะเกิดการเชื่อถือขึ้น ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้เชื่อถือ การรับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์และประวัติขององค์การ ผู้นำหรือผู้บังคับบัญชามีผลกระทบต่อความตั้งใจ ความภักดี และความไว้วางใจด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้รวมถึงปัจจัยที่เกิดจากการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารภายในองค์การและความเชื่อจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ในพนักงานใหม่เมื่อเห็นผู้นำประพฤติปฏิบัติตน เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นก็มีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมดังกล่าวด้วย

ในปัจจุบันบริษัทหรือองค์การที่มีชื่อเสียงหลายแห่งกำลังหาวิธีการต่างๆ ในการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทหรือองค์การ รวมถึงภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ เพราะการเป็นบริษัทหรือองค์การที่น่าเชื่อถือนั้น ความไว้วางใจนับเป็นส่วนสำคัญและควรปลูกฝังในใจของพนักงานทุกๆ คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของผู้บริหารองค์การแล้วนั้น ล้วนแล้วแต่มีความเข้าใจเป็นอย่างดี โดยพวกเขาต้องสื่อสารกับผู้ลงทุน พนักงาน และลูกค้าตลอดจนสาธารณชนทั่วไป

ความไว้วางใจ TRUST จะเกิดขึ้นได้โดยมีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ

1. ความรู้ความสามารถ หรือ Competence หมายความว่า บุคคลจะต้องมีความรู้ความสามารถในเนื้องานสูง มีความรู้ในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งหรือหลายๆ สาขาเป็นอย่างดี

2. ความเป็นคนดี มีคุณลักษณะดีโดยเนื้อแท้ หรือ Credibility หรือ Character หมายความว่า บุคคลจะต้องเป็นคนดี ที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความมีวุฒิภาวะ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

การเป็นผู้บริหารหรือผู้นำย่อมต้องอาศัยลูกน้องในการทำงานตามแผนงานที่วางไว้ คนที่รับมอบหมายงานไปย่อมพอใจที่จะได้รับความไว้วางใจในการทำงานด้วยความภูมิใจ แต่ในฐานะผู้มอบหมายงาน การไว้ใจให้ลูกน้องทำงานเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมี หากไม่ไว้ใจก็ไม่ควรมอบหมายงานให้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไม่ควรวางใจในทุกเรื่องที่มอบหมาย เพราะการวางใจมักจะทำให้ผู้มอบหมายขาดความสนใจในการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและตายใจ บางครั้งอาจเกิดผลเสียหายที่ร้ายแรงเมื่อรับรู้ภายหลังและอาจแก้ไขไม่ทันการ ผู้นำที่ชอบวางใจลูกน้องให้ทำงานมักเป็นพวกไม่มีความรู้ในงานและอ่อนแอ ซึ่งมักจะหงุดหงิดและโทษลูกน้องเมื่อผลงานล้มเหลว นักบริหารหรือผู้นำที่ดีควรตัดสินใจคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพให้ตรงกับความสามารถและมอบหมายงานให้โดยต้องแสดงความไว้ใจ เชื่อมั่นในตัวเขาเพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำงาน ควรที่จะติดตาม รับทราบรายงาน ประเมินผลเป็นระยะ หากไม่เป็นไปตามแผน จำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขอย่างทันการ เพื่อให้บรรลุถึงจุดเป้าหมายที่ต้องการ

แต่การทำงานร่วมกันในองค์การ มีระบบการแข่งขันเพื่อแสดงออกซึ่งความสามารถมีส่วนในการหล่อหลอมให้องค์การส่งเสริมคนเก่งมากกว่าคนดี ทำให้ในองค์การเกิดปัญหาเรื่องไม่ไว้วางใจกัน ไม่ศรัทธากันในทีมงาน ซึ่งเป็นบ่อนทำลายการเติบโตขององค์การ การสร้างความไว้วางใจทำได้ไม่ยาก ถ้าองค์การต้องการผลักดันอย่างจริงจัง สิ่งที่ควรได้รับการพัฒนาปรับแก้ คือ เรื่อง “ ภาวะผู้นำ ” เพราะพนักงานจะมองมาที่ผู้บริหารระดับสูงกว่าตน และมักมีคำพูดที่จะตอบหรือแก้ตัว หากงานไม่ประสบผลตามที่คาดว่า “ ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็จะไม่ขยับ ” ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำต้องทำให้เกิดความน่าไว้วางใจ แล้วลูกน้องหรือคนรอบข้างที่มีปฏิสัมพันธ์ก็จะไว้วางใจในผู้นำและไว้วางใจในองค์การ

การสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบที่ผู้นำจะต้องสร้างเท่านั้น ในขณะเดียวกันพนักงานก็ควรปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ใช่รอให้ผู้นำเปลี่ยนหรือกล่าวโทษที่ผู้นำ ตัวเรามีอิทธิพลต่อตัวเราเต็มที่ที่จะเปลี่ยน ถ้าไม่ลงมือพัฒนาให้เรามีคุณสมบัติหรือมีคุณลักษณะที่ดี คนอื่นที่จะมาปฏิสัมพันธ์กับเราจะไม่ไว้วางใจเรา ทั้งนี้หากคนในองค์การส่วนใหญ่ตระหนักและให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้แล้ว องค์การจะไม่มีปัญหาเรื่องการไว้วางใจกัน ถ้ามีไว้วางใจกันทั่วทั้งองค์การจะทำให้เกิดความสุข สามารถช่วยลดต้นทุนได้เป็นอันมาก ผู้บริหารหรือผู้นำองค์การไม่ต้องออกระเบียบต่างๆ ขึ้นมาควบคุมพนักงานมากมาย ทำให้เกิดการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายมหาศาล สามารถเพิ่มผลประโยชน์เกื้อกูลแก่พนักงาน หรือพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือได้ว่า " ความไว้วางใจเป็นทุนของการพัฒนาที่ใหญ่หลวง"

การที่บุคลากรมีความไว้วางใจในองค์การในระดับสูง ผู้บริหารจะต้องมีนโยบายของโครงสร้างองค์การแบนราบ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จำเป็นต้องมีทีมใหม่ ๆ ซึ่งให้อิสระในการทำงาน และความร่วมมือมากขึ้น รูปแบบเก่าของการควบคุมถูกแทนที่ด้วยการนำนวัตกรรมที่ให้บุคคลมีอำนาจมากขึ้นกว่าในอดีตมาใช้ องค์การจะต้องมีรูปแบบ “ การสั่งและควบคุม ” ที่น้อยลงในการบริหารจัดการ องค์การต้องมีการตอบสนองเพื่อเน้นให้มีการเสริมสร้างพลังอำนาจให้มากขึ้น โดยผู้บริหารจะต้องมีความเต็มใจที่จะเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ปฏิบัติงานต้องยอมรับการเสริมสร้างพลังอำนาจนี้และทำตามข้อผูกพัน เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย และการที่ผู้บริหารเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งความเข้าใจในความต้องการและความสามารถของผู้ปฏิบัติงานนั้น ทำให้องค์การมีความไว้วางใจสูง และความไว้วางใจต้องได้รับการผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์การที่เหมาะสมต่อไป

สรุปได้ว่า ความไว้วางใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการบริหาร และเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และจากสภาพความเป็นจริง ในสภาพสังคมปัจจุบันความไว้วางใจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม การที่บุคลากรมีความไว้วางใจในองค์การหรือไว้วางใจในผู้นำ จะทำให้ทีมสามารถปรับตัวต่อสถานะการณ์ที่มากระทบได้ดี โดยการรักษาความไว้วางใจให้คงเส้นคงวาระหว่างคำพูดและการกระทำ ตลอดจนการแสดงออกซึ่งความเอื้ออาทร เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ผู้บริหารหรือผู้นำขององค์กรจะต้องบริหารจัดการให้โครงสร้างและวัฒนธรรมขององค์การมีความสอดคล้องกัน โดยองค์การจะต้องเรียนรู้ที่จะทำให้บุคลากรร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจ ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันกับความพึงพอใจในงาน และความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ เพราะในปัจจุบันคุณภาพของพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่องค์การสามารถคัดสรรได้ แต่การรักษาพนักงานคุณภาพเพื่อให้อยู่กับองค์การนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า ”

นอกจากนี้ พจนารถ ซีบังเกิด ยังได้กล่าวว่า “ สิ่งที่ผู้บริหารต้องการที่สุด คือ ความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัว และอาชีพการงาน ผู้บริหารไม่ได้ทำงานคนเดียว การมีทีมงานที่เป็นหนึ่งเดียว มีเพื่อนที่คอยช่วยเหลือ มีครอบครัวที่เข้าใจ และมีความสุข และได้รับการสนับสนุนจากบุคคลทั่วไป จะนำไปสู่ความสำเร็จในเส้นทางสายตรง ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นจาก ความไว้วางใจ ”

จากข้อความและบทความต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ก็สามารถตอบคำถามได้ว่า

ความไว้วางใจคืออะไร

ความไว้วางใจ คือ ความเชื่อที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มีให้กับบุคคลอื่น ว่าบุคคลนั้นจะซื่อสัตย์ต่อเขาไม่ทำร้ายหรือเอาเปรียบเขา เป็นปัจจัยพื้นฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกันเกิด ความตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กัน ให้ความร่วมมือในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยใจจริง และเกิดความภักดีต่อกัน

การที่คนเราจะไว้วางใจหรือเชื่อใจใครนั้น มีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ ความรู้ความสามารถในสิ่งที่ทำ และความเป็นคนดี มีคุณลักษณะดีโดยเนื้อแท้ มิใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะบางคนมีความรู้ความสามารถ แต่มีนิสัยที่ไม่ดี เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตนหรือพวกพ้องของตนเท่านั้น ไม่ได้มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ก็ไม่สามารถที่จะทำให้คนเชื่อใจได้อย่างแท้จริง หรือบางคนเป็นคนดี แต่ไม่มีความรู้ความสามารถในสิ่งที่ทำ ก็ทำให้คนไม่เชื่อถือในความสามารถของเขา ก็ทำให้คนนั้นรู้สึกมีปมด้อย และถ้าเขาไม่สามารถทำใจยอมรับได้ ก็จะเป็นที่มาของปัญหาสัมพันธภาพของกันและกัน หรือการทำงานในที่สุด

ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่สร้างได้ แต่ไม่สามารถสร้างได้ภายในวันเดียว ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการสร้าง อยู่ตลอดเวลา และต้องอาศัยความซื่อสัตย์และความจริงใจในการสร้างเป็นหลัก และความไว้วางใจนั้นสามารถถูกทำลายลงได้ ถ้าขาดความซื่อสัตย์ที่มีต่อกัน และเมื่อความไว้วางใจถูกทำลายลงแล้วยากที่จะเรียกกลับคืนมาได้ หรือถ้าจะสร้างคืนมาต้องใช้เวลาและความพยายามและพลังที่มากกว่าตอนเริ่มแรกที่สร้างอย่างมหาศาล

ความสำคัญของความไว้วางใจ มีดังนี้

1. ความไว้วางใจมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพหรือบทบาทไหน เมื่อคนมีความไว้วางใจกันก็เป็นที่มาของความสุขในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ที่ไม่ต้องหวาดระแวงกับคนรอบข้าง ว่าจะทำร้าย หรือเกิดสิ่งที่ไม่ดีกับตน ครอบครัว คนใกล้ชิด งาน หน่วยงาน สังคม หรือประเทศของเขา

  2. ความไว้วางใจเป็นหัวใจหรือรากฐานที่ทำให้เกิดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ที่ทำให้ครอบครัวและสังคมน่าอยู่มากขึ้น

  3. ความไว้วางใจยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลกล้าทำในสิ่งต่างๆ ทั้งที่สิ่งนั้นไม่เคยทำมาก่อน แต่เกิดความมั่นใจและเชื่อใจกับสิ่งที่ทำ คนรอบข้าง ผู้บังคับบัญชา ลูกน้อง และ/หรือระบบของหน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานหรือการทำสิ่งต่างๆ จึงทำให้คนนั้นประสบความสำเร็จ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในงานและในสังคม ที่คนอื่นสามารถนำมาต่อยอดและเกิดประโยชน์กับหน่วยงานและสังคมมากมายต่อไป แต่ถ้าปราศจากความไว้วางใจ ก็จะไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไร ก็ไม่เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตและสังคม

  4. ความไว้วางใจเป็นหัวใจหรือรากฐานในการทำงานเป็นทีม และ เป็นหัวใจสำคัญแห่งการร่วมมือกันทำงาน ที่หลายหน่วยงานพยายามที่จะสร้างทีมงานและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน

ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลใดจะอยู่ในสถานภาพไหน บทบาทอะไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับตนเองทั้งในส่วนที่ทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ และรู้จักที่จะไว้วางใจคนอื่น ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีความสุขและประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและในการทำงาน

มาเร่งสร้างความไว้วางใจกันดีกว่า จะสร้างอย่างไร โปรดติดตามในฉบับต่อไปค่ะ

  ……………………

  แหล่งที่มา

  คนึงนิจ ( กันยายน , 2006). “ ความไว้วางใจกับการประยุกต์ใช้ในการทำงาน ” ค้นคืนจาก http://xchange.teenee .

com/index.php?showtopic=69910

พสุ เดชะรินทร์ (2547 ). ค้นคืนจาก http://www.nidambe 11. net/ekonomiz/ 2004 q 4/ article 2004 nov 23 p 1. htm

http://www.bbznet.com/scripts/view.php?user=nakkam 2003 &board= 3 &id= 32 &c= 1 &order=numtopic

http://blog.weblog.in.th/node/221

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=kanomtan&date=16-01-2008&group=5&gblog=11

http://dictionary.kapook.com/trust.html

http://www. marketing.blogs.ie.edu http://www.pantown.com/board.php?id=21821&area=3&name=board4&topic=68&action=view

www.samutsongkhram.go.th/KM%2051/km1.doc