ฉบับประจำเดือน มิถุนายน 2550
จิตใจแจ่มใส
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงอากาศร้อน พาให้หลายคนรู้สึกไม่สบายตัว อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์เสียได้ง่ายๆ การเก็บอารมณ์ได้น้อยลง เมื่อเผชิญกับปัญหาที่รุมเร้าคนไทย ทั้งเรื่องการเมืองที่มีความน่าเป็นห่วงในเหตุการณ์บ้านเมืองที่ต่างฝ่ายต่างพูดและวิจารณ์ ที่เรียกว่า Talk only. No action. ที่ทำให้บ้านเมืองวิกฤตหนัก โดยไม่ได้นึกถึงผลเสียของประเทศ หรือการที่จะรวมตัวกันช่วยรัฐบาลในการแก้วิกฤติของประเทศ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่ขโมยชุกชุมมากขึ้นเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำมันแพง ปัญหาภัยธรรมชาติและปัญหาอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยไปหลายร้อยชีวิต และปัญหาสังคมที่ศีลธรรมของคนตกต่ำลง ที่ทำให้เกิดการทำร้ายกันจนถึงขั้นเสียชีวิต และปัญหาครอบครัวที่กำลังขยายวงกว้างออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยว้าวุ่นใจ เครียด และวิตกกังวลใจ ประกอบกับปัญหาส่วนตัวของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทำงาน สุขภาพ และการดำเนินชีวิตของตนเอง ที่เผชิญชีวิตอยู่กับความเร่งรีบและการแข่งขัน ความขัดแย้งในงาน ความขัดแย้งกับคนอื่น ความขัดแย้งในครอบครัว และความคับข้องใจในตนเองที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ ทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง จนทำให้รอยยิ้มและความแจ่มใสของจิตใจหายไป ที่เป็นผลจากความรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยหน่าย หดหู่ หมดกำลังใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ลดลง หน้าตาเศร้าหมองหรือขึงเครียดเหมือนคนอัดอั้นตันใจ และไม่มีความสุขในชีวิต สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ครอบครัว สัมพันธภาพกับบุคคลคนอื่น สุขภาพกายที่เกิดการเจ็บป่วยขึ้น และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
การทำจิตใจให้แจ่มใส จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในจิตใจเราได้ ด้วยการที่เราต้องหันมาดูแลจิตใจ รัก และให้กำลังใจตนเองให้มากขึ้น หลายครั้งที่เรามัวกังวลใจหรือวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ ยกเว้นจิตใจหรือสุขภาพของตนเอง ลืมที่จะรักตนเอง จึงทำให้เรามีชีวิตอยู่ในวังวนของปัญหาและความเครียดที่แก้ไม่ตก การที่เราจะแก้ตก ก็ต้องหันมาพิจารณาตนเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา พิจารณาอย่างเป็นกลาง เราก็จะได้คำตอบที่ทำให้ทราบว่า เราต้องปรับตัวอย่างไร ที่จะทำให้ให้จิตใจเราแจ่มใส
การทำจิตใจให้แจ่มใส จะทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นสุข มองอะไรดูสวยงาม สบายตา สบายใจ ทำให้เราทำอะไรได้อย่างมีสติ เกิดกำลังใจในการทำงานและการดำเนินชีวิต และสุขภาพดีขึ้น ดังคำโบราณที่ได้กล่าวไว้ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตมีอิทธิพลต่อร่างกายของเราอย่างมาก เพราะเมื่อจิตป่วย กายก็ป่วยด้วย และกายจะทำอะไรได้ดี ถ้ามีสุขภาพจิตดี ซึ่งการที่จะบ่งบอกว่ามีสุขภาพจิตดี ก็คือ จะต้องมีจิตใจที่แจ่มใส ไม่ขุ่นมัว สามารถปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ก็เป็นการยากที่จะทำให้คนเรามีจิตใจที่แจ่มใสได้ตลอดเวลา แต่ก็ต้องพยายามเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นการลดความตึงเครียดของชีวิตลงบ้าง
แนวปฏิบัติในการทำจิตใจให้แจ่มใสเมื่อเผชิญสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ ทำให้จิตใจไม่สบาย หรือคับข้องในจิตใจนั้น มีดังนี้
1. การควบคุมอารมณ์ตนเอง โดยต้องพยายามควบคุมอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจของตนให้ได้ และพยายามไม่แสดงพฤติกรรมหรือสิ่งที่ไม่เหมาะสมออกมา เพราะจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็น จะทำให้การแก้ปัญหาได้ยากขึ้น ดังนั้น จึงต้องเข้าใจอารมณ์โกรธว่า เป็นภาวะหนึ่งที่แสดงขึ้นได้เมื่อผิดหวัง หรือถูกยั่ว ถูกกระตุ้นให้เกิดความด้อย เกิดการเปรียบเทียบไม่ยอมรับ ดังนั้น ทุกคนอาจจะแสดงภาวะนี้ได้ เมื่อแสดงภาวะนี้เราต้องรู้ตัวว่า กำลังโกรธ แต่เราจะไม่เป็นทาสความโกรธ และต้องรู้ว่า การโกรธมีผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งเสียบุคลิกภาพ และเสียประโยชน์ ( สุรพงศ์ อำพันวงษ์ : 2550, หน้า 6) ถ้าควบคุมอารมณ์ไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น และถ้ายังอยู่ในสถานการณ์นั้น จะยิ่งถูกยั่วยุ ทำให้ความโกรธมากยิ่งขึ้น ก็ต้องหาทางออกจากสถานการณ์นั้นอย่างเหมาะสม เช่น ขอตัวออกไปเข้าห้องน้ำ ขอตัวออกไปทำธุระ เป็นต้น เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาการแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา
2. การระบายอารมณ์ออกมาในทางที่เหมาะสม ถ้าเราระบายอารมณ์ออกมาไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือทำลายสิ่งของ หรือทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น สิ่งที่ตามมาก็เป็นโทษแก่ตนเองทั้งสิ้น บางครั้งอาจทำลายชีวิตหรืออนาคตของเราได้ ฉะนั้น การระบายอารมณ์ออกมา ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมและช่วยตนเองได้จริงๆ ไม่เป็นผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การออกกำลังกาย หรือออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ หรือร้องเพลง หรือหาคนที่จะพูดคุยเพื่อระบายความรู้สึกของตนออกมา แต่ต้องเลือกคนให้ดี ต้องเป็นคนที่เราไว้ใจได้ สามารถเก็บความลับได้ ไม่นำสิ่งที่เราพูดไปพูดทำให้เสีย ไม่มีผลได้ผลเสียกับสิ่งที่กำลังจะระบาย และข้อสำคัญ คือ มีความจริงใจกับเรา แต่ถ้าหาใครไม่ได้ อาจเขียนระบายความรู้สึกลงในกระดาษแล้วฉีกทิ้ง หรือเขียนลงในบันทึกประจำวันของเรา แต่ต้องเก็บบันทึกนี้ไว้ให้ดี ก็อาจช่วยลดความอัดอั้นตันใจ ความขุ่นมัว อารมณ์ที่พลุ่งพล่านลงได้ในระดับหนึ่ง
3. การหลีกเลี่ยงภาวะหรือสิ่งที่กระตุ้นหรือส่งเสริมที่ทำให้เกิดความโกรธมากขึ้น เช่น การหลี่กเลี่ยงการพูดคุยหรือระบายอารมณ์กับคนที่ชอบยุแหย่ คนเจ้าอารมณ์มากๆ หรือคนที่จิตใจอ่อนไหวและมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากๆ เพราะเขาอาจพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่กระตุ้นหรือส่งเสริมที่ทำให้เราเกิดความโกรธหรือความขุ่นมัวยิ่งขึ้น หรืออาจกระทำให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตมากขึ้น ที่ทำให้แก้ยาก หรือทำให้ปัญหาเดิมที่ไม่มีอะไรมาก กลับให้เป็นปัญหามากขึ้น หรือรับรู้สิ่งที่โกรธนั้นว่าเป็นจริงแน่ๆ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เป็นจริงตามที่รับรู้นั้น ก็จะทำให้เกิดความโกรธมากขึ้น ที่อาจทำให้พูด หรือทำพฤติกรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมออกมา ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นเสีย จะทำให้เราจัดการกับความโกรธหรือความขุ่นมัวในจิตใจเราได้ง่ายขึ้น
4. การคิดทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้นและทำใจ โดยต้องคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นกลางตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ต้องไม่เข้าข้างตนเองหรือคนใกล้ชิดจนเกินไป จะทำให้เรามีสติและรู้ว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ทำไมถึงเกิด สาเหตุมาจากอะไร แล้วจะทำการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ หรือยังไม่สามารถแก้ได้ในช่วงเวลานั้น อาจให้เวลาเป็นตัวแก้ไข แต่ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหานั้น จะต้องทำใจตัวเองให้ได้ ที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า ปลง คำนี้พูดง่าย แต่ทำยาก แต่ก็ไม่เหนือความสามารถที่มนุษย์เราจะทำได้ และถ้าใครทำได้ จะทำให้จิตใจเราสบายขึ้น ความสุขใจก็จะตามมา เพราะในหลายเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ไม่สามารถที่จะจัดการด้วยตนเอง หรือไม่สามารถที่จะให้ใครเชื่อเราได้ทุกคน ถ้าคนเรานั้นมีข้อมูลไม่พอ หรือมีอคติในจิตใจ ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ ทำใจตนเองที่จะให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยวาง เพราะทุกสิ่งไม่มีความแน่นอน มีความผันแปรตลอด วันนี้มีทุกข์ พรุ่งนี้อาจมีสุข แล้วก็อาจกลับมาทุกข์ได้อีก วนเวียนกันไป ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง แม้ชีวิตของเราเองก็ตาม ถ้าเราคิดได้ ก็จะทำให้เราทำใจได้ มองอะไรได้กว้างขึ้น ไม่วนเวียนกับสิ่งที่เกิดขึ้น
5. การคิดในทางบวกหรือสร้างสรรค์ การคิดในลักษณะนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเราเบิกบานมากยิ่งขึ้น จากที่เรารู้สึกอับเฉา ท้อแท้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หมดกำลังใจที่จะทำอะไรต่อ เพราะการคิดภาพลบมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดภาพลบมากยิ่งขึ้นเท่านั้น อย่างน้อยคนอื่นไม่รู้สึกถึงสิ่งที่เราคิด แต่ตัวเรารู้ว่า เราคิดอะไรอยู่ มันก็จะบันทอนชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น เพราะการคิดในทางลบจะยิ่งทำให้จิตใจเราไม่สบายมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น เราต้องหันมาหาความคิดทางบวกหรือสร้างสรรค์ ที่จะช่วยผันเปลี่ยนชีวิตที่ท้อแท้ เศร้าใจของเราให้สดใสขึ้น เช่น คิดถึงส่วนที่ดีของคู่กรณี หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เราโกรธ ไม่สบายใจ เป็นต้น อย่างน้อยก็จะช่วยลดความรุนแรงของการตอบโต้ลงได้ และยังทำให้เราลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ได้ต่อไป จากประสบการณ์ในชีวิตของผู้เขียนที่พบเห็นเหตุการณ์ในหลายเรื่อง ก็พบว่า บางครั้งคนที่ถูกกระทำแสดงออกถึงการมีความสุขมากกว่าคนที่กระทำเขาเสียอีก ในขณะที่คนที่กระทำได้ทำร้ายคนอื่นและได้ชัยชนะในเหตุการณ์นั้น กลับแสดงออกถึงความขึงเครียดเหมือนคนอัดอั้นตันใจ หรือที่เราเรียกภาษาชาวบ้านว่า เหมือนคนจะอกแตกตาย เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ก็คือ คนถูกกระทำรู้ว่า ไม่ใช่ความเป็นจริงที่ถูกกล่าวหา วันหนึ่งความจริงก็จะปรากฎไม่ช้าก็เร็ว และทำใจได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสกับตน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับตนเอง คิดในทางบวกให้กับตนเองว่า ตนเองก็มีดีในตนเอง สามารถทำสิ่งดีๆ ได้ด้วยตนเอง สามารถยืนบนขาของตนเองได้ และลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตตนเอง ในขณะที่คนที่กระทำไม่ดีกับคนอื่นกลับไม่มีความสุขที่แท้จริง แม้กระทั่งยิ้มหรือหัวเราะออกมา ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าจิตใจยิ้มหรือหัวเราะด้วยจริงๆ ดูฝืนๆ สีหน้าที่แสดงออกมาเหมือนคนที่ไม่มีความสุข ถึงแม้จะคิดว่าตนเองชนะในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ในจิตใจก็จะฟ้องตนเองอยู่เสมอว่า ตนเองทำร้ายคนอื่น หรือทำไม่ดีไว้ หรือไม่ได้เป็นจริงอย่างที่ตนเองบอก ถึงแม้คนรอบข้างจะเชื่อใจตนหรือเข้าข้างตนก็ตาม และประกอบกับความไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ อยากได้ของคนอื่นไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ตามมา คือ จิตใจขุ่นมัว ไม่แจ่มใส ไม่มีความสุขที่แท้จริง เพราะมัวคิดทางลบกับตนเองและกับคนอื่น ฉะนั้น สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นไฟผลาญตนเองให้รุ่มร้อน ไม่เป็นสุข ดังนั้น การคิดสิ่งต่างๆ ในทางบวกและสร้างสรรค์จะทำให้เรามีการชำระล้างจิตใจเรา เปรียบเหมือนน้ำในแม่น้ำเน่า เมื่อเอาน้ำดีมาไล่หรือทำให้ความเน่านั้นเจือจาง ก็ทำให้น้ำนั้นกลับมาดีได้ จิตใจคนเราก็เช่นกัน เมื่อขุ่นมัว ไม่สบายใจ ก็ต้องเอาความคิดดีๆ ความคิดที่สร้างสรรค์มาไล่สิ่งที่ไม่ดีในจิตใจเราออกไป ก็จะทำให้จิตใจเราดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสง่างาม เพราะมีความสวยงามในจิตใจ
6. การทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเอง โดยการให้กำลังใจและรักตนเองให้มากขึ้น การที่เรารู้จักให้กำลังใจตนเองในสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เราสามารถยืนหยัดในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยไม่หวั่นไหวมากนัก เหมือนกับการที่เติมพลังให้กับตนเองให้แข็งแรงขึ้น เช่น การซื้อของขวัญหรือเสื้อผ้าสวยๆ ให้กับตนเอง ไปเที่ยว ดูหนัง หรือไปรับประทานอาหารอร่อยๆ เมื่อทำงานเสร็จ หรือในการทำสิ่งต่างๆ ที่ดีในชีวิต ของตน หรือทำสิ่งเหล่านั้นเสร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็จะทำให้เราทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเอง เป็นการแสดงออกถึงการรักตนเองด้วยวิธีการที่เหมาะสม หลายครั้งที่เราทำสิ่งที่ดีๆ เพื่อคนอื่น ลืมนึกถึงตนเอง ยอมให้คนอื่นเอาเปรียบตนเองอยู่ร่ำไป และลืมที่จะทำให้ตนเองมีความสุข คงต้องหันมารักตนเอง ดูแลตนเอง และให้กำลังใจตนเองมากขึ้น ก็จะทำให้เรามีพลังใจมากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ ได้อย่างดี
7. การสร้างอารมณ์ขันให้กับตนเอง เป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยลดความเครียดให้กับตนเอง เพราะการที่เราได้หัวเราะมาอย่างจริงๆ อย่างน้อยวันละครั้ง จะช่วยทำให้สารแห่งความสุขถูกหลั่งออกมาจากร่างกายเรา ทำให้เรามีความสุข ก็จะช่วยลดภาวะกดดันต่างๆ ในจิตใจเรา ซึ่งหลายครั้งที่ผู้เขียนได้ทดลองใช้แล้วรู้สึกดีขึ้น และยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนรอบข้างและคนอื่นมีความสุขมากขึ้นด้วย
8. การให้อภัยคนอื่นและตนเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำยาก แต่ถ้าทำได้แล้วจะทำให้จิตใจเราดีขึ้น ไม่เกิดความคิดที่จะแก้แค้นเพื่อเอาชนะ และยังช่วยทำให้จิตใจของเราอ่อนโยนขึ้น การที่เราพูดว่าให้อภัย บางครั้งไม่ดีเท่าการที่จิตใจให้อภัย เพราะความสุขที่ได้จะแตกต่างกัน การพูดแต่ไม่ได้เกิดจากจิตใจที่แท้จริง ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่การให้อภัยในจิตใจ ถึงแม้ไม่ได้พูดออกมาให้ใครรู้ ก็ยังมีความสุขมากกว่า แต่ถ้าสามารถทำได้ทั้งพูดและจิตใจ ก็จะยิ่งทำให้เราเป็นสุขมากยิ่งขึ้น เป็นการล้างจิตใจเราให้ใสสะอาด ไม่ติดคากับสิ่งที่ไม่ดีในจิตใจ ก็ทำให้จิตใจเราแจ่มใส พร้อมที่จะยิ้มและหัวเราะได้อย่างจริงใจ ก็ทำให้เรามีความสุข
ดังนั้น จิตใจแจ่มใสจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราสามารถทำได้ทั้งแปดประการที่กล่าวข้างต้น แรกๆ อาจดูขัดเขิน หรือฝืนใจที่จะต้องทำ หรือยากที่จะทำได้ เพราะใจไม่ยอมรับ แต่ถ้าตั้งใจจริงที่จะทำ ก็จะทำให้เราทำได้ ผู้เขียนเชื่อว่า จิตใจที่แจ่มใส จะเป็นตัวที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรามีความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องเสแสร้งที่จะยิ้มหรือมีความสุข เพราะความสุขจะมีได้ ก็มาจากใจเราเท่านั้น และไม่มีใครสามารถแย่งชิงจากเราไปได้ แล้วเราจะมัวทำอะไรกันอยู่ค่ะ รีบมาทำจิตใจเราให้แจ่มใสกันเถอะค่ะ อย่างน้อยก็เพื่อตัวเราเองจะได้มีความสุข มีสุขภาพดี และมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่น
เอกสารอ้างอิง
สุรพงศ์ อำพันวงษ์ . (2549). คอลัมภ์ ชีวิตและสุขภาพ : จิตแจ่มใสกายสวยงาม . เดลินิวส์ , วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม 2549, หน้า 6.