พูดจาภาษารื่นรมย์

 

มุมสุขภาพวันนี้จะได้คุยกันถึงเรื่อง การพูด หรือการใช้วาจา ใช้ภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ทั้งที่ทำงานและสังคมรอบตัว การพูดนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังที่บรมครูท่านสุนทรภู่ได้กล่าวไว้เป็นคำกลอนในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ความว่า

“ เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา

แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงวิเคราะห์ให้เหมาะความ ”

และในนิราศภูเขาทองฯ ก็เช่นเดียวกัน

“ ถึงบทพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยชิด

แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะถูกผิดในมนุษย์ เพราะพูดจา ”

ดังนั้น เพื่อให้เป็นการพูดจาภาษาดอกไม้ พูดแล้วเกิดความรื่นรมย์ทั้งผู้พูดและผู้ฟังเกิดความรื่นรมย์ ไม่เกิดความเคลียด จึงควรมีลักษณะดังนี้

1. คำพูดที่สุภาพเรียบร้อย ใช้ทักทายกันตามโอกาสต่างๆ คำว่าสวัสดีครับ/ค่ะ ขอบคุณ ขออภัย ไม่เป็นไร ขอแสดงความยินดี ขอโทษ ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ควรเป็นคำพูดที่พูดจนเคยชิน ติดปาก เพื่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานร่วมกันหรืออยู่ร่วมกันในสังคมที่ดี นอกจากคำพูดแล้ว น้ำเสียงและกิริยาอาการที่แสดง ประกอบคำพูดก็ต้องสุภาพด้วย แสดงถึงความจริงใจของผู้พูดนั่นเอง ไม่มีใครต้องการฟังคำพูดที่หยาบคายไม่สุภาพหรือพูดเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย

2. คำพูดที่เหมาะสมกับวัย เพศ และตำแหน่งหน้าที่การงาน

คนไทยมีคำพูดมากมายที่เป็นสรรพนามแทนตัวผู้พูด เช่น กระผม ดิฉัน พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ ไม่ใช่แค่มี I หรือ WE ของภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกัน สรรพนามแทนตัวผู้ฟัง คือ คุณ ท่าน ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ฯลฯ ไม่ใช่แค่ You คำเดียว ดังนั้น จึงสามารถเลือกใช้คำแทนตัวเหล่านี้ตามความเหมาะสม เกิดความสนิทสนมคุ้นเคย และให้เกียรติตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ จึงควรใช้คำสรรพนามแทนตัวผู้พูด – ผู้ฟังให้เหมาะสม

3. คำพูดที่เป็นวาทศิลป์และอารมณ์ขัน เป็นคำพูดที่ผู้ฟังรู้สึกว่าให้เกียรติ ให้กำลังใจ เกิดแรงจูงใจในการที่จะทำงานร่วมกัน การมีอารมณ์ขันในการพูด จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลายและไม่เครียด เกิดขวัญและกำลังใจ ไม่พูดจาส่อเสียด เยะเย้ย ถากถาง ฯลฯ เมื่อคนทำผิดพลาด

4. คำพูดที่เหมาะสมตามกาลเทศะ คือ คำพูดที่เหมาะสมกับเวลาและสถานที่ เช่น กำลังรับประทานอาหาร ควรพูดคุยเรื่องรสชาติอาหาร สิ่งเพลิดเพลิน รื่นรมย์ ทำให้เจริญอาหาร ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่น่าเกลียด หรือโรคภัยต่างๆ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดการพูดจาภาษารื่นรมย์เหล่านี้ได้ ก็คือวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ จิตใจและสติปัญญาของแต่ละบุคคล ที่ได้สะสมมาจากการขัดเกลาทางสังคม นั่นเอง ที่จะก่อให้เกิด “ ปากเป็นเอก เลขเป็นโท โบราณว่า............................... ”