สุขภาพสายตากับนโยบายการประหยัดพลังงาน
อาจารย์อภิรดี ศรีโอภาส
ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็มีนโยบายรณรงค์ประหยัดพลังงาน เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้านพลังงานมีมูลค่าสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ประปา โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่มีราคาต่อหน่วยแพงขึ้น แต่ถึงอย่างไร พลังงานไฟฟ้าก็เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรในชีวิตประจำวันก็คงหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการนำอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้ามาใช้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรสาร เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องปรับอากาศ และยิ่งถ้าหน่วยงานใดตั้งอยู่บนอาคารสูงก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีลิฟท์เพื่อใช้ในการขึ้น-ลงอาคาร ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานให้เกิดกลไกการทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงแล้ว แต่ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเช่นเดียวกัน หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมีนโยบายรณรงค์ให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานประหยัดพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ การเดินขึ้น-ลงบันได แทนการใช้ลิฟท์ การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส และปิดในขณะพักกลางวัน การตั้งโปรแกรมพักหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานาน การปิดหลอดไฟในช่วงพักกลางวัน ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติงานก็จะปฏิบัติตามในช่วงแรกและกลับเข้าสู่สภาพเดิมในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้เกิดความคิดที่จะประหยัดพลังงานในส่วนที่หน่วยงานสามารถควบคุมได้โดยตรง ซึ่งก็คือ การประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากหลอดไฟ
การประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากหลอดไฟ สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลอดประหยัดไฟ การใช้แผ่นช่วยกระจายแสงติดใกล้หลอดไฟ หรือแม้กระทั่งการลดการติดตั้งหลอดไฟ ซึ่งหลายหน่วยงานได้ดำเนินการสองวิธีนี้ จากการสำรวจความเข้มของแสงสว่างในหน่วยงานแห่งหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้สายตาในการการทำงานด้านเอกสารและคอมพิวเตอร์ พบว่าได้มีการปรับเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าในห้องทำงานจากเดิม 2 หลอดเหลือเพียง 1 หลอดและเป็นหลอดประหยัดพลังงานซึ่งมีความเข้มของการส่องสว่างของแต่ละหลอดเท่าหลอดเดิมแต่ลดปริมาณลง 1 หลอดและติดตั้งแผ่นช่วยกระจายความสว่างใกล้หลอดไฟ พบว่า ความเข้มของแสงสว่างในห้องทำงานเหลือเพียง 113-213 ลักซ์ จากเดิมที่ได้สุ่มตรวจบางห้องที่ยังไม่ได้เปลี่ยนหลอดไฟโดยใช้หลอดไฟเดิม 2 หลอด ซึ่งก็ยังคงมีความเข้มของแสงสว่างไม่เพียงพอ คือ ประมาณ 260-300 ลักซ์ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง พ.ศ. 2549 ของกระทรวงแรงงาน ที่ได้ระบุว่า ถ้าเป็นงานพิมพ์ดีด การเขียน การอ่าน จะต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่า 400 ลักซ์ และสำหรับห้องคอมพิวเตอร์ งานบันทึกข้อมูลและบริเวณที่แสดงข้อมูล (จอภาพและเครื่องพิมพ์) จะต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่า 600 ลักซ์ และจากการสอบถามผู้ปฏิบัติงานในห้องหลังจากเปลี่ยนหลอดไฟและลดจำนวนลงทำให้ห้องทำงานมีความสว่างลดลง เมื่อนั่งทำงานเป็นเวลา 1 ชั่วโมงขึ้นไป จะเกิดความรู้สึกตาพร่า เวียนศีรษะ บางรายมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน และเมื่อได้แจ้งไปยังหน่วยงาน ก็ได้มีการดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ให้อีกครั้ง แต่จำนวนหลอดก็ยังคงเดิม คือ 1 หลอด และเมื่อทำการสำรวจหลังจากเปลี่ยนหลอดไฟใหม่อีกครั้งก็พบว่า มีความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 60 ลักซ์ จากเดิม 213 ลักซ์ เพิ่มเป็น 273 ลักซ์ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากการทำงานด้านเอกสารจะต้องใช้สายตาอย่างมาก เมื่อมีความเข้มของการส่องสว่างที่ไม่เพียงพอจะทำให้สายตาต้องปรับขยายรูม่านตาเพื่อเปิดรับแสงให้เข้ามามากขึ้น กล้ามเนื้อรอบดวงตาก็จะต้องทำงานหนัก ทำให้เกิดความเมื่อยล้าของสายตา เพราะการที่ต้องทำงานโดยใช้สายตาเป็นเวลานานก็มีผลต่อสุขภาพสายตาอยู่แล้ว หากมีปัจจัยอื่น เช่น แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การทำงานที่ต้องใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ยังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ไม่มีสมาธิในการทำงาน เกิดความเครียดในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานแห่งนี้ ผู้ปฏิบัติงานจึงได้ซื้อโคมไฟเฉพาะที่มาติดตั้งที่โต๊ะทำงานเอง เพื่อเป็นการเพิ่มความสว่างในการทำงานและป้องกันปัญหาที่จะเกิดต่อสายตา สุขภาพร่างกาย และสมาธิในการทำงาน
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการประหยัดพลังงานไฟฟ้าโดยการปรับเปลี่ยนชนิดหลอดไฟหลอดไฟ หรือการลดจำนวนหลอดไฟ ทางหน่วยงานควรจะต้องคำนึงถึงความเข้มของแสงสว่างที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะด้านสายตาหรือสุขภาพจิตใจในด้านสมาธิในการทำงาน โดยควรต้องมีการตรวจวัดความเข้มของแสงสว่างทั้งก่อนและหลังการปรับเปลี่ยนหลอดไฟ โดยทำการทดลองก่อนตัดสินใจนำมาตรการการปรับเปลี่ยนหลอดไฟไปใช้จริงกับทุกพื้นที่ในหน่วยงานว่า มีแสงสว่างเพียงพอกับลักษณะงานของผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ เพราะหากปรับเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดไปแล้ว พบว่า แสงสว่างไม่เพียงพอและผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถหาโคมไฟติดตั้งเฉพาะที่มาใช้เพื่อเพิ่มความสว่างในสถานที่ทำงานได้ ก็จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อันจะทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงานและผลผลิตของงานที่ได้ก็จะด้อยคุณภาพลงไป และหากผู้ปฏิบัติงานสามารถหาโคมไฟติดตั้งเฉพาะที่มาใช้ได้ ก็จะกลายเป็นว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า เพราะต้องใช้หลอดไฟอีก 1 หลอด จึงจะทำให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริงและไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยงาน
.........................................