1. ประวัติความเป็นมาของฤาษีดัดตน
ในสมัยโบราณการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย นอกจากจะมียาสมุนไพรแล้ว ยังมีการนวดการดัดตนประกอบ ในสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถมีปรากฏกรมหมอนวด มีศักดินาเทียบเท่ากรมหมอยา ประกอบด้วย กรมหมอนวดขวา เจ้ากรม คือ หลวงราชรักษา กรมหมอนวดซ้าย เจ้ากรม คือ หลวงราโช ในสมัยอยุธยาเรื่องของการดัดตนหรือฤาษีดัดตนไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เข้าใจว่าน่าจะมีอยู่ควบคู่กับตำนานเรื่องฤาษีของไทย และมาปรากฏหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม ( วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ) เมื่อ พ.ศ. 2331 ได้โปรดให้มีการจารึกตำรายาและฤาษีดัดตนไว้ตามศาลาราย เพื่อให้ประโยชน์แก่สาธารณชน โดยแลเห็นความสำคัญของการแพทย์ ประสงค์จะให้ราษฎรได้รู้จักรักษาตนเองยามเจ็บไข้ รูปฤาษีดัดตนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด และวัสดุในการปั้น แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นการปั้นด้วยดินหรือปูน
ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ และโปรดให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ( พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายดวงจักร ) ซึ่งทรงกำกับกรมชั่งหล่อปั้น ปั้นฤาษีดัดตนท่าต่าง ๆ 80 ท่า แล้วหล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุก เรียกว่า ชิน และมีโคลงสี่อธิบายประกอบครบทุกรูปตามศาลาราย โดยนักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื้อหาในโคลงภาพฤาษีประกอบด้วย ชื่อฤาษี วิธีการดัด และสรรพคุณในการดัด และพระองค์เองก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงไว้ถึง 6 บทด้วยกัน รวมทั้งสิ้น 80 บท และยังมีการวาดภาพสมุดไทยดำและมีโคลงกำกับไว้เช่นกัน เพื่อเก็บรักษาไว้ เป็นต้นตำรับสำหรับตรวจทานถือว่าเป็นสมบัติของชาติ นับว่าเป็นการรอบคอบที่ได้มีการวาดภาพและเขียนโคลงลงในสมุดไทยดำ เพราะต่อมาโคลงที่จารึกไว้ตามผนังศาลารายรอบวัดปรากฏว่าชำรุดสูญหาย เหลือเพียงชื่อแต่ละบทเท่านั้น อีกทั้งยังมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้น ทำให้เกิดความสับสนระหว่างโคลงที่กำกับรูปปั้น และยังมีการขโมยรูปปั้นฤาษีดัดตน เช่น มีการจับได้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ขโมยรูปปั้นไปถึง 16 ตน นับเป็นการสูญเสียในแง่ภูมิปัญญาของชาติ ซึ่งในปัจจุบันรูปปั้นฤาษีดัดตนที่เหลืออยู่ นำมารวมไว้บริเวณเขามอด้านทิศใต้ของวิหารทิศปัจจวัคคีย์ วัดพระเชตุพน ฯ
นอกจากรูปปั้นฤาษีดัดตนที่วัดพระเชตุพน ฯ แล้ว ยังปรากฏมีภาพเขียนในรัชกาลที่ 4 ที่วัดมัชฌิมาวาส ( วัดกลาง ) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 40 ท่า เข้าใจว่าคงคัดลอกมาจากวัดพระเชตุพน ฯ และยังพบการปั้นฤาษีดัดตนที่วัดนายโรงอีก 10 กว่าท่า เข้าใจว่าคงเลียนแบบมาจากวัดพระเชตุพน ฯ เช่นกัน จะเห็นว่าทั้งรูปปั้นฤาษีดัดตน โคลงภาพฤาษีดัดตน ภาพฤาษีดัดตนในสมุดไทยดำ และภาพเขียนฤาษีที่วัดกลาง จังหวัดสงขลานั้น ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นสมบัติของชาติที่เปี่ยมด้วยคุณค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์
2. ตำนานฤาษี
คติความเชื่อเรื่องฤาษีมาจากศาสนาฮินดู มีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนไทยในเรื่องพิธีกรรมควบคู่มากับพระพุทธศาสนา ดังเช่น ที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) กล่าวในตอนหนึ่งว่า ศาสนาฮินดูเปรียบเป็นแม่ ศาสนาพุทธเปรียบได้เป็นพ่อ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งสองศาสนาที่มีบทบาทต่อคติความเชื่อของคนไทย
มีตำนานกล่าวว่า ฤาษีเกิดจากลมหายใจของพระอินทร์ ฤาษีเป็นผู้แต่งคัมภีร์พระเวท เพื่อบูชาพระอินทร์ ได้แก่
ฤคเวท เป็นคำสวดอ้อนวอนสรรเสริญพระเจ้าด้วยคำฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นการแสดงออกถึงจิตใจมนุษย์ที่มีต่อความงาม ยชุรเวท เป็นคำสวดร้อยแก้วในระหว่างบูชาบวงสรวงเทพเจ้า สามเวท เป็นคำฉันท์สวดในพิธีถวายน้ำโสม อถรรพเวท เป็นคำสวดมนต์คาถาอาคม เรียกร้องให้ภูตผีคุ้มครองให้พ้นภัย
นักพรตของอินเดียโดยมากมักจะมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันตามแนวทางที่ยึดถือของตน มีการบำเพ็ญเพียรด้วยจิตตั้งมั่น อย่างที่เรียกว่า บำเพ็ญตบะ คือ ให้ร้อนถึงพระอินทร์ การเรียกขานนักพรตก็จะแตกต่างกันไปตามวัตรปฏิบัติ ดังเช่น
ดาบส คือ ผู้บำเพ็ญด้วยการเผากิเลส ชฎิล คือ นักพรตผู้มุ่นผมอย่างชฎา เป็นเหล่าฤาษีที่ปล่อยปละร่างกายให้หนวดเครารุงรัง มุ่นมวยผมไว้กลางศีรษะ โยคี คือ นักพรตผู้มีความเพียรใฝ่ธรรม บำเพ็ญโดยหลักโยคศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการดัดตน
นอกจากนี้ ยังมีศัพท์ใช้เรียกฤาษีหรือนักพรตอีกมาก เช่น มุนี นักสิทธิ์ ปริพาชก นารท สิทธา เป็นต้น โดยวิถีของนักพรตล้วนมีวัตรปฏิบัติเพื่อการชำระกาย ใจให้บริสุทธิ์ เพื่อบรรลุถึงสัจจะคุณค่าของชีวิต
3. ความสำคัญของกายบริหารท่าฤาษีดัดตน
กายบริหารท่าฤาษีดัดตนนับว่าเป็นการบริหารร่างกายของคนไทยที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับศาสตร์อื่น ๆ ในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น เราควรตระหนักถึงคุณค่าภูมิปัญญา เพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่สั่งสมสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนไทย การเกษตรกรรม วัฒนธรรม และศิลปกรรมไทย เป็นต้น ซึ่งกายบริหารท่าฤาษีดัดตนนับเป็นภูมิปัญญาของชาติในแง่ของการดูแลรักษาสุขภาพและบำบัดรักษาโรคด้วยตนเอง
โดยสรุปสามารถกำหนดขอบเขตของความสำคัญของกายบริหารท่าฤาษีดัดตนได้ ดังนี้
3.1 การอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาติ กายบริหารท่าฤาษีดัดตนที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเองยามเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวไทย ตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 1 และ 3 ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ฯ เพื่อเป็นแหล่งความรู้แขนงต่าง ๆ สำหรับมหาชน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เพื่อสาธารณะประโยชน์ ดังนั้น ถ้าปวงชนชาวไทยหันมาดูแลสุขภาพร่างกายตนเอง โดยหมั่นออกกำลังกายหรือออกกำลังด้วยกายบริหารท่าฤาษีดัดตนด้วยท่าที่เหมาะสมกับตนเอง ถือว่าเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาของชาวไทย
3.2 คุณค่าต่อความสำคัญทางสังคม กายบริหารท่าฤาษีดัดตนเพื่อการรักษาความเจ็บป่วย บรรเทาอาการ และลดลดความปวดเมื่อยของร่างกาย เมื่อเกิดขึ้นในครอบครัว หรือในสถานบริการสาธรณสุข อันประกอบด้วยผู้ฝึกปฏิบัติ ได้แก่ แพทย์แผนไทย นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น หรือภายในครอบครัวที่มีการฝึกท่าฤาษีดัดตนกันทั้งครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ และลูก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจ การยอมรับ และความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน บางครั้งในระหว่างฝึกท่าฤาษีดัดตน อาจมีการสนทนาปรับความเข้าใจในเรื่องที่ผ่านมา นับเป็นการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและสังคมอีกทางหนึ่ง
3.3 คุณค่าต่อสุขภาพ กายบริหารท่าฤาษีดัดตนเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม คือ การฝึกกาย และจิต ย่อมก่อให้เกิดพลังแห่งชีวิต ที่ช่วยในการบำบัดรักษาโรค บรรเทาอาการ ฟื้นฟูสมรรถภาพและส่งเสริมสุขภาพ กล่าวโดยสรุปพื้นฐานสุขภาพอยู่ที่จิตใจ ดังนั้น การฝึกใดๆ ก็ตาม ถ้าทำให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีแล้ว ย่อมก่อให้เกิดพลังหรือปราณ ก็จะช่วยให้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ จิตเป็นสมาธิ และมีพลังชีวิตที่ช่วยในการรักษา
4. ประโยชน์ของกายบริหารฤาษีดัดตน
กายบริหารฤาษีดัดตนมีประโยชน์ ดังนี้
4.1 ทำให้ร่างกายมีสุขภาพสมบูรณ์ การบริหารร่างกายท่าฤาษีดัดตน ถ้าปฏิบัติได้ทุกวัน ทำให้มีสุขภาพพลามัยที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เฉกเช่นเดียวกับการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ เช่น แอโรบิค ไทเก็ก ชีกง โยคะ เป็นต้น ก็จะทำให้ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย ทำการประกอบอาชีพและการงานอื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4.2 ช่วยในการบำบัดรักษาโรคและอาการ นอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์แล้ว ท่าฤาษีดัดตนยังสามารถช่วยบำบัดโรคและอาการหลายๆ กรณี เช่น การดัดตนแก้ปวดเข่า การดัดตนแก้ลมปลายปัตฆาต การดัดตนแก้กล่อน เป็นต้น
4.3 ขจัดความปวดเมื่อย เมื่อยล้าของร่างกาย ท่าฤาษีดัดตนถือว่าเป็นท่าที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย ใช้สำหรับกายบริหารร่างกาย เพื่อขจัดความปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ หรือสามารถแก้โรคบางอย่างโดยไม่ต้องพึ่งหมอยา หรือหมอนวด และถ้าปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเชื่อแน่ว่าร่างกายจะแข็งแรงสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีผลต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูก ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ
4.4 สามารถฟื้นฟูและรักษาสุขภาพ ฤาษีดัดตนเป็นกายบริหารร่างกายที่ใช้การดัดส่วนต่างๆ ของร่างกายและบริหารระบบลมหายใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะสรรถภาพทางการแพทย์ในวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในส่วนของการบริหารระบบการหายใจด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อและระบบกระบังลม ซึ่งเป็นหลักในการปฏิบัติของฤาษีดัดตน ก็เป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดี
4.5 ทำให้เกิดสมาธิ มีหลายท่าของฤาษีดัดตน ถ้าปฏิบัติร่วมกับการกำหนดลมหายใจตามหลักของพระพุทธศาสนา นอกจากจะได้ร่างกายที่สุขภาพดีแล้ว จะได้การปฏิบัติสมาธิควบคู่ไปด้วย ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ทำให้จิตใจเข็มแข็งมีสมาธิเป็นการยกระดับจิตใจให้พ้นจากอารมณ์ขุ่นมัวทั้งหลาย .................................. |