มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกในคน

ด้วยโรคไข้หวัดนกกลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นของประเทศไทย รวมทั้งในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลี จีน อียิปต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า เมื่อเกิดโรคไข้หวัดนกขึ้นได้ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลกับประเทศทั้งชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจ ในส่วนของการดูแลป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกในคน นับเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในทุกพื้น ซึ่งต้องเข้าใจและดำเนินการตาม มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ บทความนี้จึงนำเสนอมาตรการดังกล่าว ตามแนวทางของกรมควบคุมโรค

ความสำคัญ

•  องค์การอนามัยโลกและนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไข้หวัดนก มีความเห็นตรงกันว่าการระบาดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียเมื่อต้นปี 2547 นี้ จะไม่สามารถกวาดล้างให้หมดไปได้ และมีโอกาสเกิดการระบาดซ้ำได้อยู่ตลอดเวลา

•  ทุกครั้งที่มีการระบาดในสัตว์ปีกจะทำให้เกิดการป่วยในคน โดยล่าสุดในประเทศไทยมีการป่วยที่ยืนยัน 12 ราย และเสียชีวิต 8 ราย

•  การป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกในคนจึงอยู่ที่การเฝ้าระวังสอบสวนโรค การให้ สุขศึกษาแก่ประชาชน การตรวจวินิจฉัยรักษา การป้องกันในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้เกี่ยวข้องกับการทำลายสัตว์ปีกที่ป่วย และการบริหารจัดการ เป็นต้น

มาตรการที่สำคัญ 5 ด้าน

1. ด้านการสั่งการและกำกับดูแล

1.1 ควรมีคำสั่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้รับผิดชอบจากกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และส่วนอื่นๆตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร ให้มี Surveillance and Rapid Response Team (SRRT) และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติภารกิจฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมงในเรื่องการรับแจ้งเหตุที่สงสัยว่าสัตว์ติดเชื้อ การสอบสวนผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนก การให้คำแนะนำในการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยที่สงสัย

1.2 จัดเตรียมงบประมาณ วัสดุ สิ่งสนับสนุนสำหรับกิจกรรมการสอบสวนและควบคุมโรคในผู้ป่วยและในชุมชน เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน ยารักษา และชุดตรวจคัดกรอง ฯลฯ

2. ด้านการเฝ้าระวังสอบสวนโรค

2. 1 เฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่อย่างเต็มที่ โดยผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่ามีอาการปอดบวม หรือไข้หวัดใหญ่ ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ขอให้ซักถามประวัติ

•  การอาศัยอยู่ในบ้านหรือหมู่บ้านที่มีสัตว์ปีกที่ป่วย/ตายในรอบ 2 สัปดาห์

•  การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วยหรือตาย ในรอบหนึ่งสัปดาห์

•  การสัมผัสกับผู้ป่วยปอดบวมรายอื่น ในรอบหนึ่งสัปดาห์

หากมีประวัติดังกล่าวให้รายงานและมีการสอบสวนโรคและควบคุมโรคในชุมชนทันทีโดยไม่ต้องรอผลทางห้องปฏิบัติการ และให้การดูแลรักษาตามแนวทางที่กระทรวงกำหนดไว้

2.2 ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากปอดบวมทุกรายให้ส่งตรวจหาการติดเชื้อไข้หวัดนก

2.3 เมื่อมีผู้ป่วยสงสัยให้มีการสอบสวนโรคและควบคุมโรคในชุมชน ซึ่งประกอบด้วย

•  ตรวจสอบและประสานองค์กรทั้งรัฐและเอกชนว่า มีการตายของสัตว์ปีกมากน้อยเพียงใด

•  มีผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก แต่ยังไม่ได้ไปรับการรักษาอีกหรือไม่

•  ติดตามสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยที่รับการรักษาไว้ทุกคนทุกวันอย่างน้อย 7 วันนับจากวันที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวันสุดท้าย หากมีอาการไข้ให้รีบตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรายงานสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต กรมควบคุมโรคทราบ เพื่อตรวจสอบว่ามีการแพร่ระบาดจากคนสู่คนหรือไม่

2. 4 เก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยเพื่อตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย

•  Throat swab หรือ Nasopharyngeal swab ใส่ไว้ใน viral transport media นำส่งในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งหรือ Ice pack เพื่อรักษาอุณหภูมิให้ได้ 2-4 องศาเซลเซียส และให้ส่งถึงห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง

•  Clotted blood 5 มิลลิลิตร ( cc.) เก็บ 2 ครั้ง ครั้งแรกเก็บเมื่อพบผู้ป่วย ครั้งที่สองเก็บห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 14 วันขึ้นไป

โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสามารถขอรับการสนับสนุน Viral transport media ได้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือกรมวิทยาศาสตร์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. 5 ในพื้นที่ซึ่งมีการยืนยันว่ามีการระบาดของไข้หวัดนก ให้มีการสำรวจและสรุปสถานการณ์ผู้ป่วยปอดบวมที่เข้าข่ายไข้หวัดนกรายใหม่ทุกวันในพื้นที่ พร้อมผลการรักษาให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ซึ่งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จะตรวจสอบกับผลทางห้องปฏิบัติการและสรุปสถานการณ์ในภาพรวมเสนอผู้บริหารต่อไป อนึ่ง หากมีการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ผิดสังเกต ก็ขอให้รายงานให้ทราบด้วย

3. ด้านสุขศึกษา

•  ให้ความรู้กับประชาชนทุกหมู่บ้านในเรื่องการติดต่อของโรค โดยในระยะนี้หากมีการป่วยการตายของไก่หรือสัตว์ปีกอื่นๆ ในจำนวนผิดปกติ ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า สัตว์เหล่านั้นตายจากโรคไข้หวัดนก โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และห้ามมิให้ชาวบ้านไปสัมผัส ตลอดจนจับสัตว์ปีกในฝูงนั้นมาชำแหละเป็นอาหาร โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนหรือก่อนวัยเรียนนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องย้ำเตือนเป็นพิเศษ

•  ในกรณีที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ หรือต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ให้มีการป้องกันตนเองด้วย การใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือ สวมแว่นที่สามารถป้องกันมิให้ของเหลวจากสัตว์กระเด็นเข้าตา ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ล้างมือให้บ่อย อาบน้ำหลังเสร็จภารกิจ และไม่ใช้มือที่ไม่ได้ล้างมาแคะจมูกหรือมาเปื้อนใบหน้า

•  ชาวบ้านที่มีประวัติสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายหรือสงสัยว่าป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องมีหน้าที่ฆ่าหรือชำแหละสัตว์ปีก หากมีไข้เกิดขึ้นภายในสิบวันหลังสัมผัส แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

•  ขอให้ประชาชนอย่าได้นำสัตว์ที่ป่วยหรือสงสัยว่าติดเชื้อมาชำแหละเพื่อปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากขั้นตอนการปรุงอาหารอาจทำให้ผู้ชำแหละติดเชื้อได้

•  ให้ผู้ปกครองเด็กในพื้นที่ที่มีการระบาดกำกับดูแลไม่ให้เด็กเล่นดินทรายที่ปนเปื้อนมูลสัตว์หรือเล่นในบริเวณที่มีการชำแหละสัตว์ และดูแลให้เด็กล้างมือทุกครั้งหลังการละเล่นบนพื้นที่อาจมีเชื้อโรค

4. ด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ให้มีการแยกผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดนก และใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อที่กรมการแพทย์เสนอไว้ที่เว็บไซต์ของกรมการแพทย์

http://www.dms.moph.go.th/avian_influenza_a/h5n1/h5n1.html

พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตามแนวทางที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ใน ดังรูป