รู้เท่าทันโพล
ในปัจจุบันนับว่าเป็นยุคทองของการสื่อสาร จะเห็นได้จากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ฉับไวและไร้พรมแดน ดังนั้น การรู้จักเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการเลือกเรื่องที่อ่านแล้วสิ่งที่สำคัญ คือ การตัดสินใจให้คุณค่าหรือเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อข่าวเหล่านั้น เรื่องที่จะเขียนในจุลสารฉบับนี้ จึงเปลี่ยนบรรยากาศจากการเขียนเรื่องวิจัยล้วนๆ มาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิจัย และมีกระแสมาแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ เรื่อง โพล คำว่า โพล ในหนังสือ An Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis แต่งโดยคณาจารย์จาก Ohio State University ปี ค.ศ. 1996 ระบุไว้ชัดเจนว่า การทำโพลเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ( Survey Research) ที่ครอบคลุมการสำรวจความคิดเห็น ( Opinion) ทัศนคติ ( Attitude) ความเชื่อ ( Belief) และพฤติกรรม ( Behavior) ของประชาชนต่อปรากฎการณ์ทางสังคมทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ นอกจากนี้ การทำโพลยังหมายรวมไปถึงการสำรวจข้อเท็จจริงทางสังคม ( Social Facts) ได้อีกด้วย ซึ่งการจัดทำโพลมีขั้นตอนที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เหมือนกับการทำวิจัย สำหรับในประเทศไทยมีการจัดทำและเผยแพร่การทำโพลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพ.ศ. 2518 โดย "นิด้าโพล" (อ้างในบทความของ เทวินทร์ ขอเหนี่ยวกลาง) และหลังจากนั้น มีการจัดทำโพลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทางการเมืองที่มีระบบการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มว่า ยุค "โพลฟีเวอร์" จะกลับมาอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างน้อยก็เห็นอาการ โพลฟีเวอร์" จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เพียงตัวเลขของโพลเท่านั้นที่แพร่หลาย ปัญหาและข้อสงสัยที่มีต่อโพลก็ลุกลามตามไปด้วย เช่น จะมีข้อสงสัยว่า การเลือกผู้ตอบโพลกระทำโดยวิธีใด โพลมีส่วนในการชี้นำผลการเลือกตั้งหรือไม่ ผลสรุปของโพลเป็นผลตามที่ผู้จ้างทำโพลต้องการหรือไม่ เป็นต้น แม้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส สั่งห้ามตีพิมพ์และเผยแพร่ผลของโพลก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน และลักเซมเบิร์กถือว่า การตีพิมพ์ผลของโพลไม่ว่า โพลเลือกตั้งหรือโพลความคิดเห็นทางการเมืองเป็นความผิดโดยไม่จำกัดกรอบเวลา ในส่วนของ ประเทศไทยไม่มีข้อกำหนดเช่นนั้น แต่สำนักโพลสองแห่ง คือ เอแบคโพลและสวนดุสิตโพลได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการเผยแพร่ผลการสำรวจในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง ทั้งยังเรียกร้องให้สำนักโพลอื่น ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ในปัจจุบันการทำโพลของประเทศไทยมีการทำอย่างแพร่หลายไม่เฉพาะในเรื่องของการเมืองและการเลือกตั้งเท่านั้นแต่ขยายไปถึงการสำรวจความคิดเห็นทั่วๆ ไป และมีการนำเสนอผ่านสื่อหลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์ ดังนั้น " ความรู้เท่าทันโพล" จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคผลสำรวจจากโพลควรมี ผลสำรวจจากโพล เป็นข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างของกลุ่มประชากรเป้าหมาย ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนในการทำโพล ตั้งแต่การตั้งหัวข้อเรื่องหรือประเด็นที่ทำสำรวจ การกำหนดวัตถุประสงค์ การสร้างแบบสอบถาม การกำหนดประชากรเป้าหมาย และขอบเขตในการศึกษา การกำหนดขนาดตัวอย่าง กระบวนการเลือกตัวอย่าง การเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประมวลผล การประมวลผลข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการตีความผลสำรวจเพื่อเขียนรายงานสรุป อย่างไรก็ตาม คงต้องการเวลาที่มากพอในการอธิบายรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ จึงขอสรุปประเด็นหลักๆ ที่ผู้อ่านผลโพลควรพิจารณาประกอบ ดังนี้ 1. พิจารณาแบบสอบถามในโพลว่าก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือไม่ โดยแบบสอบถามที่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน คือ แบบสอบถามที่มีอคติและชี้นำ โดยจำกัดให้คนตอบไปในทิศทางที่นักทำโพลต้องการ เช่น ถ้าถามว่า ท่านพอใจระดับใดต่อนโยบายของ พรรคการเมือง A โดยมีตัวเลือกให้ผู้ตอบว่า พอใจ ไม่ค่อยพอใจ ไม่พอใจ จะเห็นว่า ตัวเลือกจะเอนเอียงไปในทางลบต่อนโยบาย ของ พรรคการเมือง A ยิ่งไปกว่านั้น เวลาสรุป ถ้าสรุปผลโดยนำเอาไม่ค่อยพอใจ กับไม่พอใจไปรวมกันอีก ก็จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนอย่างมาก แบบสอบถามที่ดีต้องมีตัวเลือกที่สร้างความสมดุลในคำตอบอย่างไม่เอนเอียง โดยควรมีตัวเลือกใหม่ ดังนี้ คือ พอใจ ค่อนข้างพอใจ ไม่ค่อยพอใจ ไม่พอใจ และควรเพิ่มตัวเลือกไปอีกหนึ่งตัวเลือก คือ ไม่มีความเห็น ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ตอบพอใจมีตัวเลือกที่สมดุลและผู้ตอบบางคนไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตอบ จึงอาจเลือกระบุไปว่า ยังไม่มีความเห็น 2. ประเด็นสำคัญต่อมาที่ผู้อ่านผลโพลต้องพิจารณา คือ กระบวนการเลือกตัวอย่างและการกำหนดขนาดตัวอย่าง ซึ่งถือได้ว่าทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรืออคติในผลสำรวจ อาจส่งผลให้ผลสำรวจที่ได้ผิดพลาดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก โดยที่ขั้นตอนนี้ของการทำโพลต้องทำตามหลักระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากในกลุ่มคนที่อ่านผลโพล เพราะคนส่วนมากเชื่อว่า ต้องเก็บตัวอย่างเป็นจำนวนมากจึงจะน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะการกำหนดขนาดตัวอย่างจำเป็นต้องสอดคล้องกับกระบวนการเลือกตัวอย่าง ( Process of Sample Selection) ซึ่งจะได้มาก็ต้องอาศัยการคำนวนด้วยสูตรทางสถิติ และถ้าหากมีการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ( Multistage Sampling) ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงค่าผลกระทบ ( Design Effect) จากการเลือกตัวอย่างด้วย มิฉะนั้น ความคลาดเคลื่อนก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย 3. การเก็บรวบรวมข้อมูล ( Data Collection) ที่อาจมีปัญหาความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ถึงแม้ว่าที่นักสถิติจะออกแบบการเลือกตัวอย่างและกำหนดขนาดตัวอย่างได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าในกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลมีปัญหาต่อไปนี้ ก็จะทำให้ผลสำรวจนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ ได้แก่ พนักงานเก็บข้อมูลสร้างข้อมูลเท็จ หรือที่เรียกว่า นั่งเทียนเขียน ประชาชนผู้ตกเป็นตัวอย่างไม่ยอมตอบ และพนักงานเก็บข้อมูลไม่สามารถติดต่อกับกลุ่มตัวอย่างได้ ซึ่งผู้จัดทำโพลจะต้องนำปัญหาเหล่านี้มาพิจารณา และควบคุมมิให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของข้อมูลผลสำรวจได้ 4. ส่วนความผิดพลาดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เป็นการยากที่ผู้อ่านผลโพลจะทราบ คือ การลงรหัสข้อมูล การป้อนข้อมูล และการประมวลผลข้อมูลที่เกิดความผิดพลาดขึ้น และส่งผลทำให้ผลสำรวจผิดพลาดไปได้ จากข้อควรพิจารณาทั้ง 4 ข้อ ที่เสนอมา น่าจะเป็นแนวทางให้ผู้ที่อ่านโพลมีความรู้ที่เท่าทันพอที่จะเลือกอ่านผลสำรวจจากโพลอย่างมีคุณภาพ และสามารถรับฟังผลโพลไว้อย่างมีสติ โดยระลึกอยู่เสมอว่า ผลโพลไม่ใช่กรรมการตัดสินชี้ขาด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปฏิเสธหรือมองข้ามผลสำรวจจากโพลโดยสิ้นเชิง เพราะโพลเองก็มีประโยชน์ในฐานะที่สำรวจมาจากตัวอย่าง ซึ่งถ้ามีกระบวนการเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเป้าหมาย และมีการควบคุมคุณภาพของการสำรวจอย่างดี ผลสำรวจจากตัวอย่างก็จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามหาศาลต่อสังคมประเทศ เพราะถ้าผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินฟังผลสำรวจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนบ้าง ก็ยังดีกว่าตัดสินใจอะไรตามอารมณ์หรือความรู้สึกของคนเพียงไม่กี่คน สำหรับรายละเอียดของการดำเนินงานจัดทำโพล ที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไว้แล้ว ว่ามีขั้นตอนที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เหมือนกับการทำวิจัยผู้อ่านสามารถติดตามได้ใน มุมวิจัย ในฉบับต่อๆ ไปค่ะ
เอกสารอ้างอิง นพดล กรรณิกา บทสรุปทางวิชาการด้านการทำวิจัยของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ : โพลไม่ใช่มติมหาชน . Retrieved January, 2007, from http://www.abacpoll.au.edu/pollNot.html กุลธิดา สามะพุทธิ โพลการเมืองเครื่องมืออันตราย ? . Retrieved January, 2007, from http://www.sarakadee.net/feature/ 2000/08/ vote.shtml พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ ( 2543) โพลและสังคม พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์เสมาธรรม : กรุงเทพมหานคร |