จุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ฉบับที่ 2 ปี 2552

ลูกประคบ

อาจารย์ กิตติ ลี้สยาม

ในปัจจุบันการประคบสมุนไพรนอกจากใช้ในกรณีหลังคลอดแล้ว ยังนิยมใช้ควบคู่กับการนวดไทย โดยมากจะใช้หลังการนวดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลของการประคบเกิดจากความร้อนที่ไหลจากการประคบ และจากตัวยาสมุนไพรที่ซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย สูตรการทำลูกประคบมากมายหลายสูตรตามแต่ละท้องถิ่นจะนิยมใช้ เช่น ภาคอีสานนิยมใช้เปลือกไม้แดง ใบเปล้า แถบภาคกลางนิยมใช้เถาเอ็นอ่อน โคคลาน ไพล ขมิ้น หรือแถบภาคใต้นิยมใช้ไพล ขมิ้น ขิง เป็นสมุนไพรหลักในลูกประคบ แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำลูกประคบที่สถาบันการแพทย์แผนไทยส่งเสริมให้เป็นสูตรกลาง ๆ สามารถใช้ได้ทั้งกรณีหลังคลอดและกับการนวดได้และสูตรการทำลูกประคบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ รายละเอียดดังนี้

 

อุปกรณ์การทำลูกประคบ

 

ผ้าสำหรับการห่อลูกประคบ เชือก ตัวยาที่ใช้ทำลูกประคบ หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ จานรองลูกประคบ และเตา

 

ตัวยาที่นิยมใช้ทำลูกประคบ (ตัวยาที่นิยมโดยทั่วไป)

 

1. ไพล แก้ปวดเมื่อยลดอาการอักเสบ

2. ผิวมะกรูด ถ้าไม่มีให้ใช้ใบแทนได้ มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน

3. ตะไคร้บ้าน แต่งกลิ่น

4. ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว

5. ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง

6. ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง

7. ขมิ้นอ้อย ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง

8. เกลือ ช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น

9. การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ

10. พิมเสน แต่งรส แก้ พ ุพอง แก้หวัด

 

วิธีทำลูกประคบ

 

•  หั่นหัวไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ต้นตะไคร้ ผิวมะกรูด ตำพอหยาบ ๆ

•  นำใบมะขาม ใบส้มป่อย ผสมเข้ากับข้อ 1 เสร็จแล้วใส่เกลือ การบูร พิมเสน คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ

•  แบ่งตัวยาที่ทำเรียบร้อยเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยใช้ผ้าขาวห่อเป็นลูกประคบรัดด้วยเชือกให้แน่น

•  นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

•  นำลูกประคบที่ร้อนได้ที่แล้วมาประคบผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ โดยสับเปลี่ยนลูกประคบ

 

ตัวอย่างสูตรลูกประคบสมุนไพรชาววัง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ 4 ขนาน

 

สูตรที่ 1

 

•  รากดีปลีแห้ง 100 กรัม

•  รากดองดึงแห้ง 100 กรัม

•  รากเจตมูลเพลิงแดงแห้ง 100 กรัม

•  หญ้างวงช้างแห้ง 100 กรัม

•  ต้นตะไคร้แห้ง 100 กรัม

•  การบูรเกล็ด 2 กรัม

 

สูตรที่ 2

 

•  แก่นฝางแห้ง 100 กรัม

•  ใบผักบุ้งแดงแห้ง 100 กรัม

•  ใบน้ำเต้าแห้ง 100 กรัม

•  ทองพันชั่งแห้ง 100 กรัม

•  เหง้าว่านไฟแห้ง 100 กรัม

•  การบูร 2 กรัม

 

สูตรที่ 3

 

•  ขมิ้นชันแห้ง 100 กรัม

•  เหง้ากระชายแห้ง 100 กรัม

•  เปลือกกระโดนแห้ง 100 กรัม

•  ว่านไฟแห้ง 100 กรัม

•  การบูรเกล็ด 2 กรัม

 

สูตรที่ 4

 

•  เหง้าข่าแก่แห้ง 100 กรัม

•  ใบลำโพงกาสลัก 100 กรัม

•  เปลือกต้นคงคาเดือดแห้ง 100 กรัม

•  ดอกคำไทยแห้ง 100 กรัม

•  ว่านไฟแห้ง 100 กรัม

•  การบูรเกล็ด 2 กรัม

 

วิธีผสมสมุนไพร ( ลูกประคบ)

 

นำส่วนผสมต่าง ๆ ข้างต้น คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน จัดการห่อเป็นรูปทรงตามอย่างโบราณ ด้วยผ้าดิบ 2 ชั้น แบ่งเป็น 2 ลูก ลูกละเท่า ๆ กัน ให้มีชายผ้าที่ห่อรวบเอาขึ้นข้างบนรวบให้เสมอกัน ผูกมัดชายผ้าที่ห่อให้รวมเข้าหากัน มัดเอาไว้ด้วยเชือก หรือด้ายให้เป็นเงื่อนกระตุก เวลานำไปใช้ก็เอามาอังความร้อน เพื่อทำการประคบตามต้องการ

 

ขั้นตอนการประคบ

 

•  จัดท่าผู้รับบริการให้เหมาะสม เช่น นอนหงาย นั่ง นอนตะแคงขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบ

•  นำลูกประคบที่ร้อนได้ที่แล้วมาประคบบริเวณที่อวัยวะต้องการ (ก่อนประคบควรทดสอบความร้อนของลูกประคบ คือ แตะที่ท้องแขนหรือฝ่ามือก่อนทำการประคบ) ในมารดาหลังคลอดให้ประคบที่บริเวณหน้าท้อง บริเวณหัวเหน่าและหลัง เป็นต้น

•  ในการวางลูกประคบบนผิวหนังโดยตรงในช่วงแรก ต้องทำด้วยความเร็วไม่แช่ไว้นาน ๆ เพราะคนไข้จะทนความร้อนไม่ได้

•  เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลง ก็สามารถสับเปลี่ยนลูกประคบอีกลูกได้ (นำลูกเดิมไปนึ่งต่อ) ทำซ้ำตามข้อ 2 , 3 และ 4

 

 

ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)

 

•  ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

•  ลดไขมันหน้าท้อง หน้าท้องยุบ

•  ทำให้โลหิตไหลเวียนดี

•  ทำให้น้ำคาวปลาไหลเวียนสะดวก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

•  บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการปวด

•  ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก

•  ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

 

ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร

 

•  ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับบริเวณผิวหนังอ่อน หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ถ้าต้องประคบควรต้องมีผ้าขนหนูรองก่อน หรือรอจนกว่าลูกประคบคลายความร้อนลงจากเดิม

•  ควรระวังเป็นพิเศษในมารดาหลังคลอดที่ป่วยเป็นป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมีความรู้สึกต่อการตอบสนองต่อความร้อนช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พุพองได้ง่าย ถ้าต้องใช้ควรใช้ลูกประคบอุ่น ๆ

•  ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ในช่วง 24 ชั่งโมงแรก อาจทำให้บวมมากขึ้น

•  หลังจากการประคบสมุนไพรแล้วไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนังและร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน (ปรับตัวความร้อนเย็นทันทีทันใด)

 

การเก็บรักษาลูกประคบ

 

•  ลูกประคบสมุนไพรครั้งหนึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน 3-5 วัน

•  ควรเก็บลูกประคบไว้ในตู้เย็น จะทำให้เก็บได้นาน (ควรตรวจสอบตัวยาในห่อลูกประคบด้วย ถ้ามีกลิ่นบูดไม่ควรเก็บไว้)

•  ถ้าลูกประคบแห้ง ก่อนใช้ควรพรหมด้วยน้ำหรือเหล้าขาว

•  ถ้าลูกประคบที่ใช้ไม่มีสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน แสดงว่ายาที่ใช้จืดแล้ว (คุณภาพน้อยลง) จะใช้ไม่ได้ผล

 

...................................................