“น้ำมะตูม” เครื่องดื่มสมุนไพรในหน้าร้อน
รองศาสตราจารย์ปีติ พูนไชยศรี
มะตูม (Bengal Quince ,Bilok,Boel/Bael Fruit) มีชื่ออื่นๆ คือ ตูม ตุ่มตัง มะปิน(เหนือ) และกะทันตาเถร(ปัตตานี) มะตูมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos Carr. อยู่ในวงศ์ RUTACEAE
มะตูมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 8-12 เมตร
- ลำต้น มีกิ่งก้านมีหนามที่แข็งและตรง
- ใบ ออกเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือเรียงสลับกันมีใบฝอย 3 ใบนั้น เป็นรูปไข่มีปลายแหลม
- lดอก เป็นช่อสีขาว ออกที่ซอกใบและปลายกิ่งมีกลิ่นหอม
- ผล มีลักษณะกลมรี คล้ายรูปไข่ยาวหรือไข่กลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-10 ซม. ยาวประมาณ 10-14 ซม. เปลือกแข็งผิวเรียบเกลี้ยง เนื้อใบนิ่ม ผลอ่อนสีเขียว ผลที่สุกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวออกเหลือง เนื้อในเมือสุกมีสีส้มปนเหลือง นิ่มมีกลิ่นหอม และมีรสหวานหอม ภายในเนื้อมีเมล็ดจำนวนมาก ส่วนที่ใช้ของมะตูมมีเกือบทุกส่วน คือ ราก ใบ ผลอ่อน ผลสุก และผลแก่
ตามตำนานชาวฮินดูเชื่อว่า มะตูมเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระอิศวร ดังนั้น การบูชาพระอิศวรจึงต้องมีใบมะตูมมาใช้ประกอบในพิธีกรรมนั้นๆ ด้วย ประเทศไทยได้ซึมซับเอาความเชื่อเหล่านี้มาด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า เวลามีบุคคลเข้ากราบบังคมลาพระเจ้าแผ่นดินไปรับราชการหรือศึกษาต่อต่างประเทศ ก็จะได้รับพระราชทานใบมะตูมเป็นศิริมงคล งานสมรสพระราชทาน คู่บ่าวสาวก็จะมีใบมะตูมทัดหูเป็นศิริมงคลเช่นกัน
คุณค่าทางอาหารของมะตูม
มะตูมไม่ใช่ผักที่จะหารับประทานได้ง่ายๆ จะไม่วางขายในท้องตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่จะปลูกกันไว้เป็นไม้มงคล ส่วนที่นำมาเป็นอาหาร คือ
- ยอดใบอ่อน นำมาเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือกินกับลาบได้มีรสหอม
- ใบมะตูม นำมาคั้นน้ำใช้แกงโบราณของไทยที่เรียกว่า แกงบวน ซึ่งถือว่าเป็นแกงของพิธีมงคลต่างๆ
- ผลมะตูม นำมาเชื่อมเก็บไว้รับประทานเป็นอาหารหวาน
- ผลมะตูมอ่อน นำมาผ่านตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปต้มดื่มเช่นเดียวกับน้ำชา เมื่อมีอาการกระหายน้ำ
การทำมะตูม
- ใช้มะตูมอ่อนที่ฝานเป็นแผ่นๆ ตากแดดแห้งแล้วบรรจุถุงขาย ใช้สัก 10-15 แผ่น หรือจะใช้ผลมะตูมแก่จัดที่แม่ค้า/ พ่อค้าหาบมาขาย ใช้ 1-2 ผล ล้างน้ำให้สะอาด ใช้สันมีดทุบให้พอแตก เป็นรอยร้าวทั้งลูก
- ต้มน้ำประมาณ 2 ลิตร ให้เดือด ใช้มะตูมแผ่นๆ ล้างน้ำ ปิ้งไฟพอหอมๆ หรือมะตูมลูกที่ทุบให้แตกร้าวใส่ลงหม้อต้มสัก 10-15 นาที ใช้ไฟปานกลางให้เดือดปุดๆ พอ
- ใส่น้ำตาลทราย (ชนิดไม่ฟอกสี) ประมาณ 300 กรัม (หรือมากกว่า ถ้าต้องการหวานมาก) ต้มต่อไปจนน้ำตาลละลายดี ปิดไฟตั้งทิ้งไว้ให้เย็น เทใส่ขวดน้ำพลาสติกที่ล้างสะอาดแช่เย็นเก็บไว้ดื่มได้
- เวลาดื่มใช้ผสมในน้ำแข็ง โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่มีอากาศร้อนจัด จะทำให้สดชื่น แก้ร้อนในกระหายน้ำได้ดี
- บางคนอาจชอบต้มกับน้ำเปล่าๆ โดยไม่ใส่น้ำตาล ก็เหมือนดื่มน้ำชาสมุนไพรนั้นเอง ซึ่งสามารถดื่มได้ทั้งขณะอุ่นๆ หรือผสมน้ำแข็งดื่มได้เช่นกัน
ปัจจุบันมีมะตูมผงสำเร็จบรรจุซองจำหน่ายทำให้สะดวกในการบริโภค ฉีกซองละลายในน้ำร้อนก็ใช้ดื่มได้เลย ทั้งร้อนและเย็น แต่ถ้าทำเองดังกล่าวจะให้รสกลิ่นที่เข้มข้นกว่า
สรรพคุณทางยาสมุนไพรของมะตูม
มะตูมนับว่าเป็นสมุนไพรที่ดีอย่างหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จะเห็นว่า มีลูกมะตูมอ่อนที่หั่นเป็นแว่นๆ ตากแห้งขายอยู่ตามร้านขายยาแผนโบราณ หรือตามตลาดและสถานที่อื่น (ที่นำมาใช้ต้มเป็นน้ำมะตูมนั้นเอง)
สรรพคุณทางยาของมะตูมนั้น สามารถขับลมได้ แก้ท้องผูก แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ลม จุกเสียด
สำหรับผลมะตูม ผลสุกหรือผลแห้ง นำมาต้มดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ร้อนใน แก้โรคลำไส้เรื้อรังได้ และมีวิตามินบี 1 บี 2 อยู่ ช่วยให้ปลายมือเท้าไม่ชา ไม่เป็นโรคปากนกกระจอก
ใบมะตูมนำมารับประทานทำให้เจริญอาหาร เป็นยาแก้โรคลำไส้ได้ และยังให้เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารช่วยป้องกันโรคมะเร็งด้วย
ดังนั้น ในหน้าร้อนนี้มาดื่มน้ำมะตูมกันดีกว่า
-------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
Lifestyle Kingsolder.com
|