แนวคิดและแนวทางการสร้างสุขภาพสู่เมืองไทยแข็งแรง

จากฉบับก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง ในฉบับนี้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการสร้างสุขภาพ ซึ่งนำเสนอโดย นายแพทย์อมร นนทสุต ที่ได้น้อมเกล้าอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นมงคลเครื่องนำทาง

“ ในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองนั้น ให้ยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา ”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี กุมภาพันธ์ 2547

ทั้งนี้นายแพทย์อมร นนทสุต ได้เสนอกระบวนทัศน์ใหม่ของการสร้างสุขภาพ และแนวคิดในการทำงานสร้างสุขภาพที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

 

1. กระบวนทัศน์ของการสร้างสุขภาพ

ในปัจจุบัน รูปแบบของยุทธศาสตร์การสร้างสุขภาพได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เน้นจุดเริ่มต้นของโครงการสุขภาพที่เกิดจากบุคลากรหรือนักวิชาการแล้วส่งต่อไปยังประชาชน ทำให้เกิดการพึ่งพาเจ้าหน้าที่ มาเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มจากการกำหนดบทบาทของบุคคล ชุมชน โดยใช้กระบวนทัศน์ที่ว่า เราสามารถสร้าง ชุมชน สังคมให้มีความรู้ ตลอดจนทักษะต่างๆ ในการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วยตนเองในระดับที่น่าพอใจ เมื่อได้รูปแบบของบทบาท ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีของชุมชนแล้ว เราจึงพิจารณาวางรูปแบบองค์กรที่จะสนับสนุน รวมทั้งวางบทบาทของบุคลากรให้สอดรับกัน

เมื่อเป็นดังนี้ ในการพัฒนาบุคลากร จึงจำเป็นต้องทราบว่า บุคลากรเหล่านั้นจะต้องไปแสดงบทบาทสนับสนุนสังคม ชุมชน ในการสร้างสุขภาพอย่างไร โดยบุคลากรมีงานหลักที่จะต้องสร้างบุคคล ชุมชนให้สามารถและมีความปรารถนาที่จะลุกขึ้นทำกิจกรรมสุขภาพด้วยตนเอง บุคลากรดังกล่าวจะต้องมีคุณภาพ วิสัยทัศน์ มีความรู้ ทักษะทางสังคมใหม่ๆ ไม่เฉพาะแต่เทคโนโลยีทางสุขภาพเท่านั้น นอกจากนั้น บุคลากรจะต้องเข้าใจปรัชญา แนวคิดของการสร้างสุขภาพในแนวทางใหม่ด้วย มิฉะนั้น การทำงานจะเป็นเพียงให้เป็นไปตามคำสั่งโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ทำงานแล้วไม่เกิดปัญญา เป็นการทำงานที่ไม่มี ” ไฟ ” นอกจากงานที่ได้จะขาดคุณภาพแล้ว ก็ยังไม่ได้รับความสุขจากการทำงานด้วย

 

2. แนวคิดการทำงานสร้างสุขภาพ

นายแพทย์อมร นนทสุต ได้อัญเชิญแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการทำงานกับสังคมมาเป็นพื้นฐานของการเสนอแนวคิด ดังนี้

 

แนวคิดที่ 1 การเข้าใจ

สิ่งที่บุคลากรจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นมีอยู่อย่างน้อย 3 ประการ

1.  ทำความเข้าใจในปรัชญา แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังงานที่ทำ อันจะนำไปสู่การเกิดปัญญา จากนั้น จะทำให้เกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำว่าจะยังประโยชน์ให้แก่สังคมชุมชนอย่างแท้จริง

2.  ทำความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมายให้ละเอียด อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างบทบาทอันพึงประสงค์ของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

3.  ทำความเข้าใจถึงสภาวะแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง อันจะนำไปสู่การวางมาตรการทางสังคมต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นมากสำหรับการแก้ปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน

1.   ทำความเข้าใจกับปรัชญา ยุทธศาสตร์สาธารณสุขมีที่มาจากปรัชญา 4 ประการ ได้แก่

1.1  ความเสมอภาค

1.2  คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

1.3  การพัฒนาที่ยั่งยืน

1.4  ประสิทธิผลคุ้มค่า

2.    ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ลึกซึ้ง ในการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคนั้น การเข้าถึงย่อมหมายความว่า ให้เข้าถึงผู้ที่มี หรือเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางสุขภาพก่อน เนื่องจากประชาชนทุกคนไม่ได้มีสุขภาพดีหรือไม่ดีเท่าๆ กันหมดทุกคน

ดังนั้น จึงต้องทำให้แจ้งชัดว่า “ ปัญหาอยู่ที่ใด หรือใครเป็นผู้มีปัญหา ” วิธีการหนึ่งที่แนะนำ คือ ให้จัดแบ่งผู้คนในความรับผิดชอบออกเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นเบื้องต้น เงื่อนไขในการจัดกลุ่มอาจจะใช้เงื่อนไขทางสังคม เพิ่มเติมจากการแบ่งตามเพศ ตามวัย หรือตามสภาพร่างกาย อย่างที่เรียนรู้หรือถือปฏิบัติมาแต่เดิม เงื่อนไขทางสังคม เช่น ลักษณะความด้อยโอกาส หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจจะนำมาใช้จัดกลุ่มคนได้ เช่น ลักษณะอาชีพ ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ความไม่รู้หนังสือ ต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้สามารถจัดหาวิธีการหรือกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาให้ถูกจุดได้

เพื่อให้เกิดปัญญาที่ได้จากการเห็นภาพของจริง จึงขอแนะนำให้ศึกษาว่า รัฐบาลใช้หลักการในการซอยกลุ่มที่มีปัญหาต้องการความช่วยเหลืออย่างไรในโครงการขจัดปัญหาความยากจน ( ใช้วิธีการจัดกลุ่มด้วยเงื่อนไข 7 ข้อ โดยให้มีการลงทะเบียน )

เมื่อตัดสินใจเรื่องกลุ่มเป้าหมายแล้ว ต้องเข้าใจคนที่เป็นเป้าหมายให้ลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ กระบวนทัศน์ หลักการ ตลอดไปจนถึงจิตสำนึก และศรัทธาต่อเรื่องของสุขภาพ การสำรวจตรวจตราในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจที่จะจัดการกับเป้าหมายได้ถูกต้อง

จากการศึกษา เราทราบว่า คนในชุมชนมีจิตสำนึกทางสุขภาพที่แตกต่างกัน ในหมู่ผู้นำของชุมชนด้วยกันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีจิตสำนึกทางสุขภาพ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขเองก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ผูกขาดการมีจิตสำนึกทางสุขภาพที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า จิตสำนึกทางสุขภาพมีอยู่สูงสุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่เราก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับคนเหล่านั้นในการที่จะดึงเข้าร่วมรับผิดชอบ หรือให้มีกิจกรรมสังคมอย่างเข้มแข็ง เพียงเมื่อเร็วๆ นี้เองที่ทุกคนเริ่มให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางชั่วเริ่มปรากฏชัดเจนจากการที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวและสังคมอย่างเพียงพอ

การทำความเข้าใจนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องทางจิตใจดังกล่าว แต่รวมไปถึงเรื่องปัญหา ตลอดจนกรณีแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้คนมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

การสร้างจิตสำนึกและศรัทธานั้น มีอยู่หลายวิธี วิธีที่นิยมทำอยู่ในปัจจุบัน คือ ใช้การรณรงค์ โดยตั้งหัวข้อขึ้นเป็นการแน่นอน และให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้คนเกิดจิตสำนึกและศรัทธาได้ แต่อย่างไรก็ดี การรณรงค์ก็ไม่สามารถทำได้กับทุกหัวข้อปัญหา ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่ช่วยให้แก้ปัญหาในเชิงบูรณาการได้

จึงเห็นว่า หากสามารถจัดเวทีให้มีการประชุมเสวนากันเป็นการประจำ ไม่เฉพาะแต่เรื่องสุขภาพ แต่รวมทั้งปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย ทั้งนี้โดยอาศัยศรัทธาร่วมที่มีอยู่แล้ว เช่น ศรัทธาในศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวชุมชนเข้าไว้ด้วยกันเป็นเบื้องต้น ก็น่าจะเป็นผลดีในการสร้างจิตสำนึกและศรัทธาอย่างยั่งยืน และในกรณีเช่นนี้ วัดน่าจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนกลาง

จิตสำนึกทางสุขภาพนั้น ถึงแม้บุคคลใดจะมีอยู่ในภาพรวม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะมีจิตสำนึกดีในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น การสร้างจิตสำนึกจึงต้องกำหนดให้ชัดเจนเป็นเรื่องๆ ไปว่า สิ่งที่ต้องการเห็นบุคคลแสดงออกทางพฤติกรรมนั้นคืออะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ( เพราะพฤติกรรม คือ สิ่งที่สะท้อนจิตสำนึกของบุคคลนั้น )

พฤติกรรมย่อมแสดงออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พฤติกรรมที่ไม่พึงกระทำ ( เปรียบได้กับ ” ศีล ” ในศาสนา ) และพฤติกรรมที่พึงกระทำ ( คือ “ ธรรม ” ในศาสนา ) พฤติกรรมทั้งสองประเภทนี้ ต้องกำหนดให้ชัดแจ้งโดยนักวิชาการ ต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายโดยคนทั่วไป และต้องมีความ ” นิ่ง ” คือ ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย

แนวคิดที่ 2 การเข้าถึง

การเข้าถึงต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ประชากรของเรามีลักษณะแตกต่างเฉพาะกลุ่มย่อยๆ อย่างไร แต่ละกลุ่มมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่ต้องค้นหาให้พบ นั่นคือ คนที่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเราในการแก้ปัญหา ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องมีทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจ หรือที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องมีจิตสำนึก และศรัทธา ที่จะร่วมมือกับเรา ถ้าจะให้ดีแล้ว คนเหล่านี้ควรจะมีอยู่ในทุกหลังคาเรือน ไม่ว่าในครอบครัวของคนเหล่านั้นจะมีปัญหาทางสุขภาพหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากว่า เราไม่ควรรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข แต่ควรป้องกันปัญหาเสียก่อนที่จะเกิดขึ้น ปัญหาก็คือ เราจะหาคนเหล่านี้ได้ที่ไหนอย่างไร ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการที่จะค้นหาคนที่มีจิตสำนึกทางสุขภาพที่มีอยู่ในชุมชนว่าเป็นใครบ้าง และเราจะสามารถสร้างคนเหล่านี้ขึ้นให้มีครบทุกหลังคาเรือนได้อย่างไร

สรุปได้ว่า บุคคลเป้าหมายมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่ต้องทำความชัดเจนก่อน คือ กลุ่มที่มีปัญหากับกลุ่มที่ช่วยแก้ปัญหา สำหรับคนอื่นๆ ในชุมชนก็เป็นเป้าหมายอีกประเภทหนึ่งที่ต้องสร้างช่องทางการเข้าถึงด้วยสื่อสาธารณะต่างๆ หรือด้วยเทคนิคสารสนเทศสมัยใหม่

แต่การเข้าถึงยังต้องการเนื้อเรื่อง หรือข้อมูลข่าวสารที่จะส่งผ่านถึงกันอีกด้วย ซึ่งในโลกยุคข้อมูลข่าวสารนี้ การได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว จะทำให้บุคคลสามารถตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำอะไรได้ดีกว่าและเร็วกว่าคนที่ไม่มี

บุคลากร รวมทั้งแกนนำสุขภาพ เช่น อสม. ควรจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลที่กว้างขวาง รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอรับถ่ายทอดข้อมูลมาตามลำดับชั้นเช่นในอดีต วิสัยทัศน์นี้จะเป็นไปได้เมื่อมีการใช้ระบบอินเตอร์เนตในการถ่ายทอดข้อมูล อันเป็นการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความมีอิสระทางความคิดและการตัดสินใจที่จะดำเนินงานด้านสุขภาพโดยเฉพาะทางภาคประชาชน

เมื่อเกิดศูนย์ข้อมูลทางภาคประชาชนขึ้นแล้ว คำถามที่ตามมา คือ จะกระจายข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ทุกหลังคาเรือนได้อย่างไร แน่นอนว่า คำตอบ คือ ผ่านไปทางเครือข่ายของแกนนำสร้างสุขภาพ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างบนแล้ว ไม่ว่าคนกลุ่มนี้จะเรียกว่า แกนนำสุขภาพประจำครอบครัว หรือจะเรียกอย่างไรก็ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เส้นทางเดียวที่จะเข้าถึงได้ ทั้งนี้ ให้ระลึกไว้เสมอว่า ในการวางแผนกลยุทธ์ไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม ต้องวางทางเลือกไว้มากกว่าหนึ่งหนทางเสมอ ดังที่มีคำกล่าวว่า “ อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว ”

ดังนั้น ในกรณีของเส้นทางข้อมูลข่าวสารนี้ ให้ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากเสียงตามสาย หรือหอกระจายข่าว ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย หรือถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะคิดสร้างวิทยุชุมชนขึ้น ดังที่มีหลายท้องถิ่นในชนบทได้ดำเนินการไปแล้ว

 

แนวคิดที่ 3 มุ่งการพัฒนา

นักพัฒนาบุคลากรต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหลักและวิธีการพัฒนาแนวใหม่ หมายถึง การพัฒนาบทบาททั้งในส่วนของบุคคลและชุมชน ตลอดจนบทบาทของบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบ

ในส่วนของบุคคลนั้น คำถามจะแบ่งเป็น 4 ลักษณะ คือ (1) จะส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างไรในยามปกติ (2) ในยามที่เจ็บป่วย จะดูแลรักษาพยาบาลกันอย่างไร (3) ตัวผู้ป่วยเองควรจะปฏิบัติตนอย่างไร และ (4 ) หากมีปัญหาที่จะกระทบต่อสุขภาพส่วนรวมเกิดขึ้น ทุกคนควรมีส่วนร่วมกันป้องกันแก้ไขอย่างไร คำถามเหล่านี้ ชี้ไปยังคำตอบชุดเดียวกัน คือ ทุกคนต้องสามารถแสดงบทบาทในฐานะบุคคลในสังคมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

โดยสรุป บทบาทของบุคคลในสังคม มีดังนี้

1.  ดูแลสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัวได้

2.   ดูแลสภาวะแวดล้อมให้อยู่ในสภาพดีได้

3.   ให้ความร่วมมือ แสดงบทบาททางสังคม เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันได้

บทบาทหลักของบุคลากร อาสาสมัคร องค์กรส่วนท้องถิ่นหรือเอกชน ก็คือ การสร้างบรรยากาศหรือปัจจัยที่เอื้อให้บุคคลแสดงบทบาททั้งสามได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องช่วยให้บุคคลสามารถสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ โดย จัดให้มีบรรยากาศ หรือสร้างปัจจัยสนับสนุน ที่เหมาะสม ได้แก่

1.  การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ คือ จิตสำนึก ศรัทธา ความรัก ความสามัคคี ข้อนี้ได้อภิปรายแล้วในตอนที่ว่าด้วยความเข้าใจ

2.    การให้โอกาสในการได้รับ และเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ข้อนี้ได้อภิปรายแล้วในตอนที่ว่าด้วยการเข้าถึง

3.  การให้โอกาสในการเพิ่มทักษะ การอบรม ฝึกสอนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง การให้ได้รับประสบการณ์ตรง

4.   การสร้างกลุ่ม เครือข่ายเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน

5.   การสร้างความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับรากหญ้า รวมทั้งในระดับอื่นๆ

6.   การรณรงค์วิถีการดำเนินชีวิตต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน ฯลฯ

7.   การสร้างระบบสนับสนุนที่เหมาะสม เช่น เครือข่ายการสื่อสาร การให้โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนทางเศรษฐกิจและทางสังคม การเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อสุขภาพ ( เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพ ) โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ การสร้างหรือทำความเข้มแข็งให้องค์กรที่สนับสนุน รวมทั้งการมอบอำนาจ เป็นต้น

8.   การสร้างข้อสัญญา ข้อตกลงที่ยึดถือร่วมกัน รวมทั้งการติดตาม สนับสนุนการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันนั้น

9.   การสร้างข้อบังคับ ระเบียบชุมชน รวมไปถึงการออกกฎหมายเมื่อมีความจำเป็น

ทั้ง 9 ข้อนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น “ มาตรการทางสังคม ” ซึ่งย่อมบ่งบอกความหมายในตัว จะเห็นว่า มาตรการทางสังคม เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องมีส่วนร่วมจัดให้มีและถือปฏิบัติ อาจจะสร้างเป็นระเบียบหรือข้อบังคับ เช่น ข้อบังคับของตำบล ออกโดย อบต. หรือในระดับประเทศ เราก็มีเช่นเดียวกัน เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะฯลฯ

ดังนั้น บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของบุคลากร คือ ความสามารถในการประสานบทบาทกับองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

โดยในรายละเอียด หมายถึงความสามารถเหล่านี้

1.  สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งเชิงบริหารจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่น

2.  สนับสนุน แลกเปลี่ยน เผยแพร่ ข้อมูลสุขภาพ

3.  วางแผนดำเนินงานหลักประกันสุขภาพ

4.  สร้างเครือข่ายสุขภาพภายในและระหว่างชุมชน

5.   สร้างและใช้มาตรการ ข้อบังคับทางสังคมต่างๆ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อม

 

การประสานงานที่ดีนั้น ต้องถือหลักว่า องค์กรที่จะร่วมมือกันนั้น ต่างต้องได้รับประโยชน์จากความร่วมมือนั้นๆ นั่นคือ ต้องสร้างบรรยากาศแบบ ” หุ้นส่วน ” (win-win situation) ให้เกิดขึ้น องค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานของสัมพันธภาพแบบหุ้นส่วนจะมีอยู่ 5 ประการ คือ

1.   บุคลิกภาพของผู้ที่จะร่วมมือกันต้องเหมาะสม มีความจริงใจต่อกัน

2.   สัมพันธภาพต้องก่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ระบุไว้ ( เช่น การสร้างเป้าหมายร่วมกัน    ฯลฯ ) อย่างชัดเจน

3.  มีการทำข้อตกลงถึงบทบาทของแต่ละฝ่าย หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องตกลงกันใหม่ (key performance indicator ของแต่ละฝ่ายควรสร้างมาจากเป้าหมายร่วม )

4.  องค์กรที่แต่ละฝ่ายสังกัดต้องสนับสนุนให้มีความร่วมมือ

5.   มีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ

 

สำหรับการวางเป้าหมายจะมีอยู่ 2 ระบบที่เป็นพื้นฐาน คือ

1.  ระบบที่ให้น้ำหนักกับผลงานมากกว่ากระบวนการ เช่นที่ใช้อยู่ในราชการปัจจุบันในเรื่องการบริหารจัดการที่ดี (good governance)

เป้าหมายจะระบุเป็นการครอบคลุมโดย แสดง ( ก ) อัตราการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ( ข ) กิจกรรมหรือผลงานที่จะทำได้ และ ( ค ) ระยะเวลาที่ต้องใช้

2.   ระบบที่ระบุการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ระบบนี้จะให้น้ำหนักกับกระบวนการที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในกรณีของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ( ในเรื่องการสร้างสุขภาพ ) เป้าหมายจะระบุเป็นระยะ แสดง ( ก ) ระยะสร้างความเข้มแข็ง ( ข ) ระยะเปลี่ยนผ่าน หรือมอบอำนาจให้มีบทบาท มีส่วนร่วม และ (3) ระยะชุมชนมีบทบาท ทั้งสามระยะแสดงกระบวนการที่ต้องสร้างและมีอยู่อย่างชัดเจน

แต่ระบบที่ดีกว่า คือ ระบบที่รวมแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน

 

นอกจากการพัฒนาในประเด็นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสิ่งที่บุคลากรต้องพัฒนาอีก คือ

การบริหารระบบสนับสนุน อย่างไรก็ดี การพัฒนาใดๆ หากจะให้ได้ผลและมีความยั่งยืน สิ่งที่จะขาดมิได้ คือ ระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ ระบบสนับสนุนประกอบด้วย

1.  ระบบงบประมาณและการเงิน ควรหาจากหลายแหล่ง ประสิทธิภาพขึ้นกับการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

2.  ระบบข้อมูลข่าวสาร จะแสวงหา กลั่นกรอง ใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารอย่างไร

3.   ระบบส่งต่อและถ่ายเททรัพยากร ระบบนี้เป็นหัวใจของการประกันสุขภาพ

4.  กฎ ระเบียบ มาตรฐาน คู่มือ ในภาคประชาชน กฎระเบียบเป็นหน้าที่ขององค์กรส่วนท้องถิ่น แต่มาตรฐานคู่มือ ยังต้องการการพัฒนาจากภาครัฐอีกมาก

5.   ระบบการควบคุม นิเทศ และติดตามผล การกำหนดหลักวัดความก้าวหน้า การวางระบบร่วมกับองค์กรที่เป็นหุ้นส่วนอื่นๆ

6.   การวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทของบุคคลและสังคม

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของบุคลากร ในยุคสมัยที่รัฐบาลกำลังผลักดันเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างขนานใหญ่นี้ บุคลากรต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่เราจะคาดล่วงหน้าได้

สิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้น คือ จะมีการมอบอำนาจกันตามลำดับชั้นลงไปจนถึงในระดับตำบลและท้องถิ่นในที่สุด ดังนั้น บุคลากรจะต้องมีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ คือ

1.   บุคลากรต้องพัฒนาตนเองก่อนที่จะพัฒนาผู้อื่น บุคลากรต้องมีข้อมูลที่ทันสมัย สามารถวิเคราะห์สถานการณ์รอบตัวได้ถูกต้องและปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

2.  บุคลากรต้องมีพื้นฐานทางจิตใจที่มั่นคง มีกระบวนทัศน์ หลักการ มีเหตุผลในการทำงาน การดำรงชีวิตที่ดี พร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้ในสิ่งที่เชื่อมั่น มีกำลังใจที่จะบุกเบิกด้วยการคิดเอง ทำเอง

3.   ทำงานแบบเบ็ดเสร็จ บุคลากรควรสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้ที่มีความสามารถแก้ปัญหาในแง่มุมต่างๆ และสร้างเวทีที่ให้ทุกคนมีส่วน มีการประชุมบ่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ที่สำคัญ คือ ปรับปรุงบุคลิกภาพของตนให้เหมาะสมกับการที่จะร่วมทำงานกับผู้อื่น

4.   สามารถวางแผนบริหารจัดการ เราสามารถพัฒนาทักษะทางด้านนี้ให้สูงขึ้นได้ด้วยการสร้างหลักสูตรที่มีการปฏิบัติจริง เช่น การสร้างโครงการเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนดังที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ แต่บุคลากรต้องได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากนักพัฒนาบุคลากรเมื่อจำเป็น

 

---------------------------------------------------------------------

ที่มา : ปรับ จากบทความ “ การสร้างสุขภาพ สู่ความยั่งยืน ” โดย นายแพทย์ อมร นนทสุต online ใน http://www.thaihed.com