สวัสดีค่ะคิดว่าช่วงนี้ก็คงเป็นช่วงที่ใกล้สอบอีกแล้วแต่ก็พบว่าคำถามยอดฮิตน่าจะเป็นเรื่องการได้รับเอกสารการสอนในบางชุดวิชาอาจยังได้ไม่ครบทุกคน ทุกชุดวิชาซึ่งน่าจะเป็นคำถามที่ตอบยากมากสำหรับอาจารย์เอาเป็นในแต่ละชุดวิชาที่กำลังผลิตทางคณะกรรมการกลุ่มผลิตก็กำลังเร่งแบบสุดหัวใจเช่นกัน ขอให้นักศึกษาใจเย็นๆแล้วกัน แต่ละชุดวิชาที่เสร็จช้าเขาแจ้งมาว่าจะมีการทะยอยส่งให้นักศึกษาค่ะ ดังนั้น สำหรับวันนี้ขอไขข้อข้องใจในเรื่องทั่วๆ ไปซัก 2 คำถามค่ะ คำถามแรกสำหรับผู้ที่ขะมักขะเม้นอ่านหนังสือคงมีอาการปวดศรีษะกันแน่ ลองมาดูว่าเราจะป้องกันอาการปวดศรีษะได้อย่างไรกัน และคำถามที่สองที่น่าจะมีคำตอบเช่นกันคือทำอย่างไรให้ความจำดี เชิญไขข้อข้องใจได้เลยค่ะ
1. ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะเป็นอาการป่วยที่พบในรายงานแพทย์มากที่สุด น้อยมากที่พบว่าอาการปวดศีรษะส่อเค้าถึงการเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง อาการปวดศีรษะประมาณร้อยละ 95 เป็นอาการปวดที่ไม่พบโรคอะไรผิดปกติ ลักษณะนี้เรียกว่า อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ ซึ่งมีหลายลักษณะแตกต่างกันไป นักวิจัยเองยังไม่แน่ใจว่า อาการปวดศีรษะเกิดจากอะไร และเรากำลังเฝ้าคอยคำตอบนั้นอยู่ การปวดศีรษะประเภทต่าง ๆ เราสามารถแบ่งลักษณะอาการปวดศีรษะปฐมภูมิออกได้เป็น 3 ประเภท แต่หลายคนอาจปวดศีรษะหลาย ๆ ประเภทพร้อมกันได้ 1) การปวดศีรษะเหตุความเครียด - พบในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะปฐมภูมิทั้งหมด 9 ใน 10 ราย - พบในผู้หญิงและผู้ชายเท่า ๆ กัน - มีอาการค่อย ๆ ปวด ปวดตื้อ ๆ เหมือนถูกกดหรือรัดอยู่ที่คอ หน้าผาก หรือศีรษะ 2) การปวดศีรษะไมเกรน - พบในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะปฐมภูมิประมาณร้อยละ 6 - พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสามเท่า - อาการมักจะเริ่มปรากฏในวัยรุ่นมากกว่าในคนที่อายุเกิน 40 ปีไปแล้ว - อาการนำ คือ การมองเห็นผิดปกติ มีอาการปวดแปลบที่ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง เจ็บแปลบตามร่างกาย หรือมีความอยากอาหารบางชนิดอย่างรุนแรง 3) การปวดศีรษะเฉพาะที่ - มีอาการปวดบริเวณรอบดวงตามข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา มักจะเกิดเป็นช่วง ๆ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันเสมอในแต่ละวัน - ตาแดง น้ำตาไหล และมีอาการคัดจมูกข้างเดียวกัน - เป็นอาการที่เกิดขึ้น ตามเวลา และสัมพันธ์กับอากาศและแสงสว่างที่เปลี่ยนไป - พบบ่อยในผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดและดื่มจัด - แพทย์อาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นการติดเชื้อในโพรงอากาศหรือเป็นโรคฟัน
ทฤษฎีปวดศีรษะแนวใหม่ นักวิจัยกำลังมุ่งความสนใจไปที่วิถีของเส้นประสาทไทรเจมินัลและสารเคมีในสมองชื่อซีโรโตนิน ที่พวกเขาคิดว่าเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง การปวดศีรษะอาจเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง กล่าวคือ เมื่อปวดศีรษะระดับซีโรโตนินในสมองจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไทรเจมินัลไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจนบวมและอักเสบ เมื่อสมองรับสัญญาณ เจ็บปวด ผลก็คือ อาการ ปวดศีรษะ นั่นเอง อาการปวดศีรษะเหตุความเครียดเป็นครั้งคราว อันดับแรกลองใช้วิธีนวด ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น อาบน้ำอุ่น พักผ่อนหรือใช้วิธีผ่อนคลาย ถ้ายังไม่ได้ผล ให้กินแอสไพริน (สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น) หรืออะเซตามิโนแฟน หรือไอบูโปรแฟน การออกกำลังกายเบา ๆ ปริมาณต่ำอาจทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น อาการปวดศีรษะซ้ำซาก 1 ) บันทึกการปวดศีรษะทีเกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยระบุรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ - ความรุนแรง ทำอะไรไม่ได้เลย หรือแค่น่ารำคาญ - ความถี่และระยะเวลาที่ปวด เริ่มปวดศีรษะเมื่อไร ปวดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือปวดทันที ปวดเวลาเดียวกันทุกวัน ปวดทุกเดือนหรือเฉพาะบางฤดู เป็นอยู่นานเท่าไร และต้องทำอย่างไรถึงจะหาย - อาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีอาการเตือนหรือไม่ คลื่นไส้หรือเวียนศีรษะหรือเปล่ามองเห็นภาพเป็นสีวูบวาบหรือเป็นจุดดำ หรืออยากอาหารบางอย่างก่อนปวดศีรษะหรือไม่ - ตำแหน่งที่ปวด ปวดศีรษะข้างเดียว ปวดที่กล้ามเนื้อคอ หรือปวดรอบๆ ดวงตา - ประวัติครอบครัว สมาชิกคนอื่นปวดเหมือน ๆ กันหรือเปล่า - สิ่งกระตุ้นเร้า ปวดศีรษะเพราะกินอาหารบางชนิด หรือทำกิจกรรมบางอย่างหรือไม่ สภาพภูมิอากาศ เวลา หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มีผลอย่างไรหรือไม่ 2) หลีกเลียงสิ่งกระตุ้นเร้าให้มากทีสุด อาจต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตบางอย่าง 3) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายพอสมควร 4) กินยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ( สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น) อะเซตามิโนเฟน ไอบูโปรเฟน อาการปวดศีรษะไมเกรนโดยเฉพาะ คนที่ปวดศีรษะไมเกรน ถ้ารีบรักษาจะหายเร็ว กินยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน ไอบูโปรเฟน หรือแอสไพริน ( สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น) ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ บางคนอาจเลือกบำบัดด้วยการนอนในห้องมืดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (อาทิ กาแฟหรือโคลา)
ข้อควรระวัง อย่างมองข้ามอาการปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบไปแพทย์ทันที ถ้าอาการปวดศีรษะ - เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในทันที - เกิดพร้อมอาการไข้ คอแข็ง เป็นผื่น สับสน ชัก เห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย ชา หรือพูดลำบาก - เกิดจากการเจ็บคอ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ - รุนแรงขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หกล้ม หรือถูกกระแทก - ไม่เคยเป็นมาก่อน และผู้ป่วยอายุมากว่า 55 ปี การกิน การดื่ม หรือการทำกิจกรรมบางอย่างมีส่วนทำให้คุณปวดศีรษะหรือเปล่า คนที่ไม่อยากปวดศีรษะควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเร้าเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน ที่พบบ่อย คือ - แอลกอฮอล์ ไวน์แดง - การสูบบุหรี่ - ความเครียด หรืออาการอ่อนเพลีย - สายตาล้า - การมีกิจกรรมทางเพศหรือการออกำลังกายต่าง ๆ - การวางท่าทางของร่างกายที่ไม่ถูกต้อง - เปลี่ยนเวลานอน หรือเปลี่ยนเวลาอาหาร - อาหารบางชนิด เช่น อาหารหมักดอง กล้วย กาเฟอีน เนยแข็งที่ทิ้งไว้นาน ช็อกโกแลต ผลไม้ประเภทส้มและมะนาว สารปรุงแต่งอาหาร (โซเดียมไนไตรต์ในฮ็อตด็อก ไส้กรอก เนื้อวัว ผงชูรสในอาหารสำเร็จรูป) และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ถั่วและเนยถั่ว พิซซ่า ลูกเกด ขนมปังที่ใส่เชื้อหมักให้ฟู - สภาพภูมิอากาศ ระดับความสูงของภูมิประเทศ หรือการเดินทางข้ามเขตเวลาที่ต่างกันมาก ๆ - การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในรอบประจำเดือนหรือการหมดประจำเดือน การกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน - แสงจ้าหรือแสงกะพริบ - กลิ่นจากน้ำหอม ดอกไม้ หรือน้ำมันรถ - มลภาวะในอากาศ หรือห้องที่อยู่กันอย่างแออัด - เสียงที่ดังมากเกินไป
ฤทธิ์กาแฟทำให้หลายคนปวดศีรษะในตอนเช้าจริง โดยเฉพาะคนที่ดื่มกาแฟมากกว่า 4 ถ้วยต่อวันเป็นประจำ และถ้าหยุดไปหนึ่งวันจะมีอาการถอน (ปวดศีรษะ) ทันที การปวดศีรษะบางอย่างจะทุเลาลงได้ถ้าดื่มกาแฟ เพราะฤทธิ์ของกาแฟจะทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวอยู่หดลงชั่วคราว เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ใหญ่ถ้ากินแอสไพรินหรืออะเซตามิโนเฟนแล้วยังไม่หายปวดศีรษะ ให้ลองกินยาที่มีส่วนผสมของกาเฟอีนแทน แต่ไม่ควรมากเกินไป การได้รับกาแฟอีนมาก ๆ จะทำให้กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก และแน่นอนจะกลับมาปวดศีรษะอีกเพราะอาการ ถอน นั่นเอง
ที่มา http://www.vibhavadi.com/web/health_detail.php?id=24
2. สมองกับความเสื่อม
สมองกับพัฒนาการ สมองเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ที่สุดของคนเรา สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยทุก ๆ นาทีที่เราอยู่ในครรภ์มารดาจะมีการเพิ่มขึ้นของเซลล์ระบบประสาทสมองถึง 200,000-300,000 เซลล์ จนเมื่อเราคลอดออกมา จะมีเซลล์สมองแทบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี สมองยังคงมีการเติบโตได้อีกมากในช่วงแรกของชีวิต ประมาณกันว่าเมื่อเราอายุได้ 2-3 ขวบ สมองของเราจะมีขนาดประมาณ 80% ของผู้ใหญ่ แต่ในช่วงหลังจากนี้แม้ว่าสมองอาจจะมีการเติบโตได้อีก แต่ส่วนของสมองที่โตขึ้นนั้นหาใช่เซลล์ประสาทเป็นส่วนใหญ่ไม่ แต่กลับเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เราเรียกกันว่า Glial cells Glial cells นี้ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับโครงข่ายของเซลล์สมอง ซึ่งจะมีการแบ่งตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเราโตเต็มวัย (ประมาณกันว่าถึงอายุ 3 ขวบ สมองจะมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์สมองเก็บเต็มที่ประมาณ หนึ่งร้อยพันล้านเซลล์ โดยสมองจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กก. ในขณะที่เมื่อเราโตเต็มวัย สมองจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเพียงประมาณ 500 กรัม) จะเห็นได้ว่าเมื่อเราอายุได้เพียง 3 ขวบ เซลล์สมองก็มีการแบ่งตัวเพิ่มจนเกือบเต็มที่แล้ว หลังจากนี้จะมีเซลล์สมองเกิดขึ้นมาเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ แสดงว่าหลังจากเริ่มเข้าโรงเรียน สมองของเราก็เริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอยอย่างช้า ๆ และเริ่มเสื่อมเร็วขึ้นเมื่อเราพ้นวัยหนุ่มสาวไปแล้ว โดยหลังจากผ่านช่วงนี้ไปแล้ว จะไม่มีการสร้างเซลล์สมองขึ้นมาทดแทนใหม่อีก ดังนั้น หากมีการตายของเซลล์สมองไปมากเท่าไร (เช่น อุบัติเหตุที่ทำให้สมองกระทบกระเทือนรุนแรง) สมองของเราก็จะสูญเสียความสามารถในการทำงานไปมากเท่านั้น แม้ว่าร่างกายอาจมีการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ แต่เซลล์ที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนเซลล์สมองที่ตายไป หาใช่เซลล์สมองไม่ แต่เป็นเซลล์ที่เรียกว่า Glial cells นั่นเอง การบำรุงรักษาแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ 1) ช่วงอยู่ในครรภ์มารดา 2) ช่วงตั้งแต่แรกคลอดจนถึงวัยก่อนเข้าเรียน 3) ช่วงหลังเข้าเรียนจนถึงโตเต็มวัยเป็นหนุ่มเป็นสาว 4) ช่วงหลังจากวัยหนุ่มวัยสาวจนกระทั่งแก่ รายละเอียดข้างต้นนี้จะเป็นได้ว่า ช่วงแรกที่อยู่ในครรภ์มารดาและช่วงวัยก่อนเข้าเรียน เป็นช่วงที่ไม่อาจดูแลสมองเองได้ ต้องพึ่งพาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นหลัก สมองจะพัฒนาดีมากแค่ไหนขึ้นกับบุญกรรมของเราเองว่าได้รับการบำรุงรักษาจากคนแวดล้อมดีแค่ไหน ส่วนช่วงที่สาม เป็นช่วงที่เราพอจะบำรุงรักษาสมองเราได้บ้างแต่ก็ยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่อยู่บ้าง ส่วนช่วงสุดท้าย เป็นช่วงที่สมองต้องการดูแลรักษาจากเจ้าของเป็นอันมาก และคงไม่มีใครที่จะมาดูแลรักษาสมองของเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ช่วงสุดท้ายนี้เองที่จะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า เกิดความเสื่อมของสมองขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้วเราจะเสียมันไปตลอดกาล เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเซลล์สมองจะไม่มีการสร้างเพิ่มขึ้นมาอีกแล้วในช่วงนี้
เกิดอะไรขึ้นเมื่อสมองเริ่มเสื่อมลง ? เซลล์สมองตายลงและไม่มีการทดแทนขึ้นมาใหม่ Glial cells เพิ่มจำนวนมากขึ้น (แต่ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง Glial cells นี้ก็เหมือนขี้เลื่อยดี ๆ นี่เอง ซึ่งถ้ามีจำนวนพอดีพอเหมาะ ก็จะเสริมการทำงานของเซลล์สมอง แต่ถ้ามีมากเกินไป คน ๆ นั้นก็อาจถูกเรียกว่า หัวขี้เลื่อย !!!!) ร่องสมอง ( Sulci) กว้างขึ้น เนื้อสมอง ( Gyri) แคบลง น้ำหนักสมองลดลงอันเนื่องมาจากเซลล์สมองลดลง โพรงสมองใหญ่ขึ้น เกิดโรคที่เรียกว่า โรคความเสื่อมของสมอง เช่น พาร์กินสัน ( Parkinson) สมองเสื่อมก่อนวัยอันควร ( Presenile dementia) สมองเสื่อมรุนแรงหรือที่เรารู้จักกันดีคือ อัลไซเมอร์ ( Alzheimer's disease)
ความเสื่อมของระบบประสาทส่วนอื่น ๆ นอกจากสมอง ระบบประสาทของคนเราไม่ได้มีเฉพาะสมอง แต่ยังมีส่วนอื่น ๆ อีกที่สามารถเสื่อมได้พร้อม ๆ กับการเสื่อมของสมอง เช่น ตา ( มีการเสื่อมของจอประสาทตา เส้นประสาทตา ร่วมกับการเสื่อมของเลนส์ตา) ประสาทการรับกลิ่น (ทำให้เรากินอาหารไม่อร่อย และไม่ได้กลิ่น ที่น่ากลัว คือ ไม่ได้กลิ่นควันไฟ ไม่ได้กลิ่นแก๊สหุงต้ม) ประสาทการรับรส (ทำให้กินอาหารไม่รู้รส ไม่อร่อย) ประสาทการสัมผัส (ทำให้แปลผลการสัมผัสได้ช้าลง น้อยลง เห็นได้ชัดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีพอ ทำให้เส้นประสาทเสื่อมลง)
ทำอย่างไรให้สมองพัฒนาได้ดีที่สุด เริ่มแรก ต้องภาวนาให้ได้พ่อและแม่ที่ดีพอ ที่มีความรู้และเห็นความสำคัญของการบำรุงรักษาสมองของลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นี่เป็นที่มาของการห้ามมารดาสูบบุหรี่ หรือกินยาอื่นใด โดยไม่จำเป็นในระหว่างตั้งครรภ์ ความเครียดของมารดาก็จะมีผลต่อพัฒนาการของลูกในครรภ์ ปัจจุบันนี้จะเห็นว่า มีการส่งเสริมให้แม่คุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รวมทั้งการทำจิตใจให้สดใสเบิกบาน รวมไปถึงการเปิดเพลงให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังจากคลอดออกจากครรภ์มารดา การบำรุงก็ไปเน้นที่อาหารและสภาพแวดล้อม ( Food and environment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ขวบแรก เป็นช่วงวิกฤติอีกช่วงหนึ่งที่เด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับการบำรุงอย่างดีจากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู การขาดสารอาหารโปรตีน และพลังงานจะมีผลยับยั้งการเติบโตของสมองอย่างรุนแรง ทำให้เด็กมี IQ ต่ำ ผลการเรียนในวัยเข้าโรงเรียนจะไม่ดีเท่าที่ควร
สมองกับความจำ หน้าที่สำคัญอันหนึ่งของสมอง คือ ความทรงจำ ( Memory) ความทรงจำทำให้เราเป็นปัจเจกบุคคล แม้แต่สิ่งมีชีวิตนักวิทยาศาสตร์สามารถทำพันธุกรรมเลียนแบบขึ้นมาได้ ( Cloning) ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกันทุกระเบียดนิ้ว แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันตรงที่สมอง นาย A และนาย B อาจมีหน้าตาเหมือนกัน แต่ถ้าคุยกับนาย A และนาย B ก็จะพบความแตกต่างกันตรงที่สมองซึ่งมีความจำไม่เหมือนกันนั่นเอง สมองเป็นอวัยวะที่มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนมากที่สุดของร่างกายคนเรา ทุกวันนี้ไม่ว่าจะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ไปมากแล้ว แต่จะพบว่าคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่สามารถทำงานเทียบเท่าสมองของคนเรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สมองก็คือคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกในเวลานี้ ( แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Nanotechnology และชีวกลศาสตร์ (Bioengineer) ก็ตาม แต่คาดว่าคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษที่จะพัฒนาจักรกลชีวะที่มีความสามารถทัดเทียมกับสมองมนุษย์ได้) การทำให้สมองสามารถบันทึกเหตุการณ์ที่เราได้เห็น ได้ยินได้สัมผัสผ่านทางระบบประสาทการรับรู้ต่าง ๆ นั้น เป็นกระบวนการที่น่ามหัศจรรย์ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ เป็นระบบที่ทราบแต่เพียงว่าสมองมีความสามารถในการเข้ารหัส ( Encode) ความทรงจำต่าง ๆ โดยการสร้างทางเชื่อมต่อ ( Connection) ระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์เข้าด้วยกัน เมื่อได้ระบบการเชื่อมต่อของแต่ละความทรงจำแล้วก็จะเก็บไว้เป็นหมวดหมู่เรียกว่า Engram สิ่งที่เราเรียกว่า Engram นี้จะถูกนำไปเก็บไว้ตามกลีบสมองเหมือนกับการจำศีล จนเมื่อมีการกระตุ้นที่เหมาะสมเราก็จะระลึกได้ว่าเคยผ่านประสบการณ์อันนี้มาแล้ว กระบวนการระลึกนี้ก็เป็นอีกส่วนที่มีความมหัศจรรย์ของตัวมันเอง เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าสมองทำได้อย่างไรในการนำความจำที่มีจำนวนมากมายออกมาใช้ และทำไมบางครั้งสมองถึงไม่สามารถค้นหา Engram เจอ (ซึ่งหมายความว่าเรา ลืม นั่นเอง) การลืมตามกระบวนการต่าง ๆ ข้างต้นเป็นการลืมในบางครั้งเป็นเพียงชั่วคราว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้คุณคงเคยพบมาไม่มากก็น้อย เช่น เบอร์โทรศัพท์คุณสมชาย เบอร์ 123-4567 หรือ 123-4657 หรือ 123-7654 แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะอาจเป็น 2-3 วัน เราอาจมีความคิดแวบขึ้นมาในสมองว่า เบอร์ที่ถูกต้องน่าจะเป็น 123-4567 ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจก็ได้ การลืมอีกแบบที่น่ากลัวกว่าก็คือ การลืมอย่างถาวร การลืมแบบนี้ต่างกับกระบวนการข้างต้นในลักษณะที่ว่าการลืมแบบชั่วคราวนั้น Engram ยังอยู่แต่สมองเราไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ชั่วคราว ในขณะที่การลืมแบบหลังอาจเกิดจากการที่เซลล์ประสาทและวงจรเชื่อมต่อที่สมองสร้างขึ้นเพื่อเก็บความจำ ถูกทำลายไป ( Engram ถูกทำลายอย่างถาวร) กระบวนการนี้ก็คือการเสื่อมของสมองนั่นเอง ถ้าเป็นมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัย จะทำให้คน ๆ นั้นสูญเสียความสามารถในการจำ และอาจรวมทั้งความสามารถในการตัดสินใจ การคิด และความสามารถของสมองอื่น ๆ อีกมากมาย
ทำอย่างไรให้สมองเสื่อมช้าที่สุด เมื่อผ่านพ้นวัยที่โตเต็มวัยไปแล้ว สมองเราก็เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงของการเสื่อมตามธรรมชาติในแต่ละวันจะมีเซลล์สมองตายไปวันละนับแสนล้านเซลล์ ดังนั้น แนวทางการดูแลสมองก็จะเปลี่ยนจากการบำรุงสมองให้พัฒนาเต็มที่ในช่วงที่เราอยู่ในวัยเด็ก ก็เปลี่ยนเป็นการดูแลรักษาให้สมองเสื่อมช้าที่สุดในวัยผู้ใหญ่ ทุกวันนี้จะเห็นแต่โฆษณาว่าทำอย่างไรให้ผิวของเราสวยที่สุด กระชับที่สุด เนียนที่สุด ผิวขาวเต่งตึงเหมือนวัยเด็ก แต่ความเป็นจริงที่น่ากลัวกว่าทุกวันนี้คนเราจะมีอายุขัยที่มากขึ้น นั่นหมายความว่า เรามีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะเจอกับโรคความเสื่อมของสมองมากขึ้น หลายท่านคงเคยได้ยินข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีโรแนล นับถอยหลังไปประมาณ 20 ปี อดีตประธานาธิบดีท่านนี้ได้บอกกล่าวแก่สาธารณชนว่าท่านกำลังป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ซึ่งเป็นโรคความเสื่อมของสมองแบบหนึ่ง เหตุที่ท่านต้องออกมาประกาศแก่สาธารณชนก็เพราะท่านต้องการให้ทุกคนทราบว่าท่านกำลังป่วยด้วยโรคที่หลาย ๆ คนอาจดูไม่ออกว่าท่านป่วย และในเวลาอันใกล้ท่านจะสูญเสียความทรงจำไปเรื่อย ๆ นับแต่เริ่มจำไม่ได้ว่าเมื่อวานทำอะไรไป ไล่มาจนถึงเมื่อ 5 นาทีที่ผ่านไปท่านทำอะไรไป จนในที่สุดไม่สามารถจำญาติพี่น้องแม้แต่ภรรยาที่รักมาก และท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเสมือนคนพิการที่ช่วยตนเองไม่ได้ เพียงแต่ท่านพิการทางสมอง ไม่ใช่พิการทางกาย และสมองที่พิการก็ไม่ได้เป็นเนื่องจากอุบัติเหตุ แต่เป็นจากโรคที่ท่านไม่สามารถหยุดยั้งมันได้นั่นเอง ( ความรู้ทางการแพทย์ในขณะนี้ยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้) จากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ พบว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการทำงานและเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสมอง เช่น สารเคมีเหล่านี้ ได้แก่ serotonin, tryptophan, melatonin, dopamine, GABA, melatonin เป็นต้น สารเคมีบางตัวถ้ามีมากเกินไปก็มีผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ บางตัวถ้ามีน้อยเกินไปก็ทำให้สมองทำงานผิดปกติหรือเสื่อมก่อนเวลาอันควรได้เช่นกัน นอกจากสารเคมีแล้ว ฮอร์โมนก็มีผลต่อการเสื่อมของสมองเช่นกัน เช่น ฮอร์โมนที่ช่วงเร่งการเจริญเติบโตในเด็กที่เรียกว่า Growth hormone (GH) ซึ่งลดลงมากเมื่อเราโตเต็มวัย จากการศึกษาในระยะหลังพบว่า ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับ GH ในขนาดที่เหมาะสมจะมีการทำงานของสมองดีขึ้น ความจำดีขึ้น อาหารที่เราได้รับในแต่ละวัน บางชนิดก็มีผลช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของสมองเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Ginko วิตามินอี กรดไขมัน โอเมก้า 3 ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เราได้รับเข้าไปในร่างกายบางอย่างก็ทำให้เซลล์สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น นิโคติน (จากบุหรี่) คาเฟอีน (จากกาแฟ) น้ำมันดิน (จากบุหรี่) นอกเหนือจากการดูแลร่างกายและบำรุงสมองด้วยอาหารดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่คลับคล้ายกับนิยายวิทยาศาสตร์ หรือหนังฮอล์ลีวู้ดเข้าไปทุกที ในอันที่จะช่วยรักษาสมองของผู้ที่เป็นโรคการเสื่อมของสมองอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยพาร์กินสันในระยะท้าย ( นักมวยจะเป็นกันมากเพราะได้รับการกระทบกระเทือนศีรษะรุนแรงและต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น โมฮัมหมัดอาลี) ที่ไม่ตอบสนองต่อยา หรือการผ่าตัดกระตุ้นสมอง ( Deep brain stimulation, DBS) แพทย์อาจรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ลงในสมองในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระยะหลังนี้ ก็มีรายงานการปลูกถ่ายเซลล์ที่เรียกว่า stem cell ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้ของร่างกายเราถ้าได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมจาก Enzyme และ DNA ( ตัวอย่างเช่น ถ้านำ stem cell ไปปลูกถ่ายไว้กับกล้ามเนื้อหัวใจเราก็อาจจะได้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมาใหม่ทดแทนกล้ามเนื้อหัวใจเดิมที่ตายไปเนื่องจากขาดเลือด ถ้าศาสตร์ด้านนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจคงเป็นเรื่องล้าสมัยไปแน่นอน) หากเอา stem cell ที่ว่านี้ปลูกถ่ายลงในสมองก็จะทำให้สมองสามารถสร้างเซลล์ประสาทของเราเองขึ้นมาใหม่เหมือนกับว่าเรายังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ทำได้ถึงระดับนี้ มนุษย์คงไม่รู้จักคำว่าตายเป็นแน่ (ทุกวันนี้ เราสามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้เกือบทุกส่วน ยกเว้นสมอง) ดังนั้นหากมีขีดความสามารถในการสร้างเซลล์สมองได้เรื่อย ๆ เราจะไม่รู้จักคำว่าตาย เพราะเราสามารถหาอวัยวะอื่น ๆ มาทดแทนได้ ( organ transplantation) ยกเว้นสมองที่ไม่สามารถเอาของคนอื่นมาเปลี่ยนแทนได้ จะมีก็แต่ในหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง คนเปลี่ยนหัวคน เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้) เมื่อนั้นช่องว่างระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์คงเขยิบเข้ามาใกล้กันมากขึ้นเป็นแน่แท้ ปัจจุบันนี้ มีศาสตร์ใหม่ ๆ ในเรื่องของการต่อสู้กับความเสื่อมของร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องสมองเสื่อม เรียกว่า Antiaging medicine ซึ่งถ้าเป็นการต่อสู้กับความเสื่อมของสมองเราก็จะเรียกว่า Antiaging brain โดยนำเอาความรู้ทางการแพทย์ในหลากหลายสาขามาประมวลเข้ากับการศึกษาในเรื่องปัจจัยที่ทำให้สมองเสื่อม และปัจจัยที่ช่วยในการต่อสู้กับความเสื่อมของสมอง เพื่อใช้ในการรักษาผู้ประสบปัญหากับเรื่องความเสื่อมของสมอง ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคพาร์กินสันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณทุกคนที่กำลังอ่านเรื่องนี้ เพราะเราทุกคนกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย หรือความเสื่อมของสมองโดยไม่รู้ตัว
ที่มา : นิตยสาร Health today ฉบับเดือนมกราคม 2548 อ้างถึงใน http://www.vibhavadi.com/web/health_detail.php?id=32
. |