![]() |
|
---|---|
ฉบับ ประจำเดือน กันยายน 2549 เรื่อง การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
โดย ปาลีรัตน์ การดี* ศริศักดิ์ สุนทรไชย** นภัสวรรณ เพชรคอน และพิยะดา มะลา
จากการวิจัยเรื่อง การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินการและปัญหาอุปสรรค รวมทั้งศึกษาหาแนวทางการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เน้นเฉพาะสปาในปี 2548 โดยทำการศึกษาในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยมีผู้ให้ข้อมูล 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มผู้บริหารภาครัฐและเอกชน 2) กลุ่มบริษัทนำเที่ยว 3) กลุ่มผู้ประกอบการสปา และ4) กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสปา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและทดลองใช้ในสถานบริการสปา 2 แห่ง ในอำเภอหัวหิน และกิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณลักษณะใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์ใช้สถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคะแนนแบบถ่วงน้ำหนัก
ผลการวิจัย สรุปได้ ดังนี้ สภาพการดำเนินการและปัญหาอุปสรรคของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 1.1 กลุ่มผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการสปาได้มาขอขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสปาจำนวนมาก และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานสถานประกอบการสปา ปัญหาอุปสรรคของสปา คือ จำนวนบุคลากรที่ทำการตรวจสอบมาตรฐานมีจำนวนไม่เพียงพอ การเก็บภาษีซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน ขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การใช้ภาษาสื่อสารกับนักท่องเที่ยวยังไม่มีประสิทธิภาพ ขาดมาตรฐานการให้บริการสปา การตลาดและประชาสัมพันธ์ยังไม่เป็นที่รู้จัก รูปแบบการบริการมีน้อย ขาดงบประมาณการลงทุน มีการแอบอ้างใช้ชื่อ สปา รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายไม่ให้ความร่วมมือให้ข้อมูลในเรื่องรายได้และจำนวนลูกค้า 1.2 กลุ่มบริษัทนำเที่ยว ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวเห็นว่า สถานการณ์สปาในขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะผลักดันให้เป็นตัวหลักที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศได้ เนื่องจากกลุ่มที่ใช้บริการสปาเป็นคนเฉพาะกลุ่ม และมีอัตราค่าบริการสูง สปาจึงเป็นตัวเสริมและเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวของประเทศเท่านั้น ปัญหาอุปสรรคของสปา คือ นโยบายของรัฐขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ภาครัฐเปลี่ยนบุคลากรที่รับผิดชอบบ่อย ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านโยคะ ไทชิ และสมาธิ บุคลากรขาดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ การให้บริการขาดคุณภาพ มีบริการอื่นแอบแฝง การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง การตลาดมีการแข่งขันกันสูง การเก็บภาษีซ้ำซ้อน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบสถานบริการยังขาดความรู้ในเรื่องสปา ใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ อัตราค่าบริการสูงสำหรับคนไทย ชุมชนและคนในท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสปา รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกา 1.3 กลุ่มผู้ประกอบการสปา ผู้เข้ารับบริการสปาเฉลี่ยเดือนละ 463.7 คน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเดินทางมาด้วยตนเองเป็นชาวไทยและชาวเอเชียมากที่สุด ค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,001-3,000 บาท รองลงมาได้แก่ 500-1,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ปัญหาอุปสรรคของสปา คือ ขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไม่ทราบข้อดีข้อเสียในการดำเนินธุรกิจสปา มีจำนวนสถานบริการมากเกินไป การนำมาตรฐานสปาสากลมาใช้ควรคำนึงถึงสถานที่ตั้ง ขนาดผู้ใช้บริการ รวมถึงสภาวะแวดล้อมและเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ การเก็บภาษีซ้ำซ้อน ขาดโรงเรียนฝึกวิชาชีพและฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน บุคลากรขาดทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานบริการสปา รวมทั้งขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1.4 กลุ่มนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจทางด้านสภาพแวดล้อมของสปาอยู่ในระดับมาก คือ ความปลอดภัย ความสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวก ความสะดวกในการเดินทาง ความสวยงาม บรรยากาศของสถานที่ ความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ และทำเลที่ตั้ง ทางด้านการบริการ พบว่านักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คือ ความประทับใจในบริการ ความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการ รูปแบบการบริการ เวลาเปิด-ปิดสถานบริการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และระยะเวลาในการให้บริการ ส่วนที่นักท่องเที่ยวพึงพอใจในระดับปานกลาง คือ อัตราค่าบริการ ทางด้านบุคลากร พบว่า นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คือ อัธยาศัยไมตรีของพนักงาน ความสะอาดของพนักงาน ความสามารถในการให้บริการ การมีจิตสำนึกในการให้บริการ ความเพียงพอของพนักงาน ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการ เครื่องแบบการแต่งกายของพนักงาน และการตอบปัญหาหรือข้อสงสัยของพนักงาน ปัญหาอุปสรรคของสปา คือ การสร้างกระแสความนิยมโดยไม่มีความรู้ในเรื่องสปาอย่างแท้จริง และสปายังขาดมาตรฐานแบบสากล
แนวทางในการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 2.1 กลุ่มผู้บริหารภาครัฐและเอกชน สถานบริการสปาควรผ่านมาตรฐานทั้งทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีการแข่งขันกันทั้งด้านรูปแบบและการให้บริการ รูปแบบการให้บริการได้มาตรฐาน สะอาด สะดวก และปลอดภัย การให้บริการมีความหลากหลาย เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่มีมาตรฐานระดับสากล การตลาดควรเพิ่มมากขึ้น มีการแข่งขันกันอย่างเสรี พัฒนาการตลาดเชิงรุกและเจาะกลุ่มเป้าหมาย มีศูนย์บริการครบถ้วนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เน้นการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ โดยการจัดแสดงและมีการออกงาน ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ในวงกว้าง ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ บุคลากรทุกตำแหน่งในสถานบริการสปาควรได้รับการอบรม และผ่านการสอบที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข 2.2 กลุ่มบริษัทนำเที่ยว แนวโน้มของสปาในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาใช้ บริการสปาเพิ่มมากขึ้นและจะมีบทบาทสูงมากในอนาคต แต่ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น มีการนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ในสปา ได้แก่ การตกแต่งสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ และวิธีการนวดที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยและของท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปาควรเป็นของธรรมชาติปราศจากมลภาวะ 2.3 กลุ่มผู้ประกอบการสปา สปาควรมีคุณภาพและมาตรฐานด้านสถานที่ ด้านการบริการ และด้านบุคลากร รูปแบบการให้บริการสปาในอนาคตควรเป็นสถานบริการสปาแบบครบวงจรที่หลากหลายทั้งชีวจิตและฟิตเนส ให้การบริการแบบไทยๆ มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยเฉพาะตามท้องถิ่น ใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย มีบริการด้านสุขภาพกายและจิตควบคู่กัน อัตราค่าบริการควรมีมาตรฐานราคากลาง ตามความเหมาะสมกับคุณภาพของการบริการ ควรอยู่ระหว่าง 500-5,000 บาท อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นตามมาตรฐานและคุณภาพ และราคายุติธรรมต่อลูกค้า 2.4 กลุ่มนักท่องเที่ยว สปามีคุณภาพและมาตรฐานด้านสถานที่ ด้านบุคลากร และด้านการบริการ รูปแบบการให้บริการในอนาคตควรมีการบริการแบบครบวงจร และมีบริการหลากหลาย ให้เลือกทั้งอาหารและที่พักเพื่อสุขภาพ มีบริการโยคะและฟิตเนส และเปิดบริการตลอดวัน ควรพัฒนารูปแบบการให้บริการอยู่ตลอดเวลา เพิ่มความแปลกใหม่ในแต่ละทรีตเมนต์ มีเครื่องมือทันสมัย มีผู้เชี่ยวชาญการนวด พนักงานเป็นมืออาชีพ เพิ่มลีลาการนวดมากขึ้น มีความสะดวก สบาย สะอาด และปลอดภัย เน้นความเป็นไทย มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้บริการ ให้บริการด้วยวัสดุธรรมชาติมากกว่าสารเคมี อัตราค่าบริการควรมีความเหมาะสม และเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ควรแสดงอัตราค่าบริการในแต่ละรายการที่มีราคามาตรฐานทั้งคนไทยและต่างชาติ และควรอยู่ในระหว่าง 500-4,000 บาท
----------------------------------- *สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี **สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี |