จะเลือกเรื่องทำวิจัยอย่างไรดี ?

การที่จะเริ่มต้นทำวิจัย มักมีคำถามในใจว่า “ เราจะทำเรื่องอะไรดี ” ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่า ให้ถามตนเองว่า “ เราสนใจเรื่องอะไร ” เป็นคำถามแรกก่อน ทั้งนี้ในการเลือกเรื่องที่ทำการวิจัยนั้น เป็นการหาปัญหาในลักษณะกว้าง ๆ ที่เห็นว่า มีความสำคัญน่าสนใจที่จะศึกษา ซึ่งจะต้องพิจารณาจาก

1. ความสนใจของตัวผู้วิจัย โดยผู้วิจัยต้องถามตนเองว่า “ ตนเองสนใจเรื่องอะไร ” ที่คิดว่าตนเองสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าหาคำตอบหรือหาความจริง ที่มีข้อสงสัยและยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจนในการถามจากผู้รู้หรือค้นคว้าเอกสารต่างๆ เช่น สนใจเรื่อง “ ผู้สูงอายุ ” หรือ สนใจ เรื่อง “ ภาวะผู้นำของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน ” ฯลฯ ก็ต้องถามตนเองต่อว่า “ สนใจในประเด็นไหน ” เช่น “ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ” หรือ “ สมรรถนะด้านภาวะผู้นำของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน ” ฯลฯ จากนั้นก็ต้องถามตนเองต่อไปในข้อที่ 2

2. ความสำคัญของเรื่องที่ทำวิจัย ผู้วิจัยต้องพิจารณาว่า เรื่อง/ประเด็นที่สนใจนั้นมีความสำคัญที่จะทำวิจัยหรือไม่ ตรงนี้ผู้วิจัยต้องไปค้นคว้าข้อมูล เอกสาร ตำรา หนังสือ และงานวิจัยในเรื่องที่สนใจจะทำวิจัยและที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สนใจจะทำวิจัยในห้องสมุด อินเทอร์เน็ท อินตร้าเน็ท ผู้รู้/ผู้เชี่ยวชาญ หรือสื่อหรือสถานที่ต่างๆ ที่คิดว่ามีข้อมูลในเรื่องที่สนใจ ที่เรียกขั้นตอนการสืบค้นนี้ว่า “ การทบทวนวรรณกรรม ” หรือ “ การทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ” หรือ “ การสืบค้นวรรณกรรม ” ที่แล้วแต่ว่าใครจะเรียกอย่างไร การพิจารณาความสำคัญของเรื่องที่ทำวิจัยนี้ ผู้วิจัยต้องถามตนเองให้ได้คำตอบว่า เรื่อง/ประเด็นที่ทำวิจัยนั้นมีลักษณะดังนี้หรือไม่

2.1 ให้ความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการ

2.2 สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในหน่วยงาน ชุมชน สังคม ประเทศ หรือโลก เป็นต้น

เรื่องที่สนใจทำวิจัยนั้น ถ้าให้ประโยชน์ในข้อใดข้อหนึ่ง ก็ถือว่ามีความสำคัญที่จะทำวิจัย เพราะการวิจัยไม่ใช่การแสวงหาคำตอบที่เราต้องการทราบเท่านั้น แต่ต้องเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย ถึงจะคุ้มค่าที่จะทำวิจัย เพราะการทำวิจัยอย่างน้อยต้องใช้เวลา แรงกาย แรงใจ ความคิด และเงินในการทำ ถ้าคิดว่าเรื่องที่สนใจนั้นสำคัญที่จะทำวิจัย ก็ต้องถามตนเองในข้อที่ 3 ต่อไป

3. ความเป็นไปได้ในการวิจัย ผู้วิจัยต้องพิจารณาว่า เรื่อง/ประเด็นที่สนใจนั้นมีความเป็นไปได้ในการทำวิจัยหรือไม่ โดยพิจารณาเกี่ยวกับ

3.1 ความรู้ความสามารถ ความถนัดของผู้วิจัย เพื่อดูว่า ผู้วิจัยมีความรู้ความสามารถในเรื่องที่สนใจทำวิจัยนั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะการทำวิจัยต้องอาศัยความรู้ความสามารถจากตัวผู้วิจัยเป็นอย่างดี ในการกำหนดระเบียบวิธีวิจัย การสร้างหรือการพัฒนาเครื่องมือ การเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำวิจัยที่จะตอบปัญหาการวิจัยได้อย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ

3.2 การไม่มีปัญหาในด้านจริยธรรมหรือศีลธรรม ที่อาจส่งผลกระทบกับผู้ถูกวิจัย หรือตัวอย่างที่ศึกษา ถ้าเรื่องนั้นส่งผลกระทบไม่ดีต่อผู้ถูกวิจัย หรือตัวอย่างที่ศึกษาก็ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

3.3 การใช้งบประมาณ พิจารณาว่า เรื่องที่สนใจทำวิจัยนั้น ใช้งบประมาณมากน้อย แค่ ไหน และงบประมาณมีหรือไม่มี งบประมาณสามารถขอได้จากแหล่งไหนบ้าง และโอกาสที่จะได้งบประมาณมาทำวิจัยมากน้อยแค่ไหน

3.4 ระยะเวลา ช่วงเวลาในการทำวิจัย ว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือสามารถทำวิจัยได้สำเร็จตามระยะเวลาหรือช่วงเวลาที่กำหนดหรือไม่

3.5 การวัดตัวแปร พิจารณาว่า ตัวแปรที่ศึกษานั้นสามารถวัดได้หรือไม่ในเชิงรูปธรรม หรือมีเครื่องมือในการวัดหรือไม่ โดยเฉพาะตัวแปรที่เป็นเชิงนามธรรมที่วัดยากมาก

3.6 การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล สามารถทำได้หรือไม่ มีปัญหา อุปสรรคอะไรในการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลหรือไม่ และปัญหา อุปสรรคนั้นสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ที่จะทำให้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยได้สำเร็จ

3.7 การไม่มีปัญหาหรือมีผลกระทบต่อระบบการบริหารงานและการเมือง พิจารณาว่าการวิจัยหรือผลการวิจัยนั้นส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของหน่วยงานโดยรวม การเมืองหรือความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศหรือไม่ เพราะถ้าส่งผลกระทบอาจมีปัญหาในการเก็บข้อมูล หรือการนำเสนอและการเผยแพร่ผลการวิจัย

4. การไม่มีความซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว เรื่องที่สนใจทำวิจัยไม่ควรมีความซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของผู้อื่น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะทำวิจัย เพราะสามารถนำผลการวิจัยของผู้อื่นมาประยุกต์ใช้ได้ ยกเว้น วิจัยที่ทำนั้น เคยทำมานานแล้ว ล้าสมัย และข้อมูลหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็อาจทำได้ แต่ถ้าไม่มีประเด็นที่แน่ชัดว่า น่าจะทำวิจัยเรื่องนั้นอีก ก็ไม่ควรทำ หรือถ้าจะทำต้องหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในประเด็นเหล่านี้

4.1 ชื่อเรื่องและปัญหาการวิจัย

4.2 สถานที่ทำการวิจัย

4.3 ระยะเวลาที่ทำการวิจัย

4.4 วิธีการหรือระเบียบวิธีการวิจัย

ถ้าซ้ำกันมากกว่า 2 ประการ ที่กล่าวข้างต้นก็ไม่ควรทำ

5.หลักเกณฑ์การสนับสนุนการวิจัยของแหล่งทุนที่ขอสนับสนุน การเลือกเรื่องที่ทำการวิจัยนั้น สามารถค้นหาหรือเลือกได้จากหลักเกณฑ์การสนับสนุนการวิจัยของแหล่งทุนต่างๆ ที่สนับสนุนว่า หัวเรื่องหรือประเด็นที่แหล่งทุนจะให้ทุนอุดหนุนการวิจัยในเรื่องหรือประเด็นใด ก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีความสำคัญ และมีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งก็น่าสนใจที่จะทำวิจัยในเรื่องนั้น

ดังนั้น จากประเด็นที่กล่าวทั้งหมดนี้ คงไม่ยากเกินความสามารถของผู้สนใจทำวิจัย ที่จะเลือกเรื่องที่ทำวิจัย ลองฝึกหัดคิดหัวข้อเรื่องที่ทำวิจัย แล้วลองทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และลองพิจารณาดูว่า เรื่องที่สนใจนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ในการทำวิจัย มีความซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของคนอื่นหรือไม่ และมีแหล่งทุนที่สนับสนุนทุดอุดหนุนการวิจัยเรื่องนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็ลงมือทำวิจัยได้เลย

…………………………………….

บรรณานุกรม

 

ธวัชชัย วรพงศธร . ( 2536). หลักการวิจัยทั่วไป พร้อมตัวอย่างทางสาธารณสุขศาสตร์ . กทม. :

สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.