ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อความงาม
อาจารย์กิตติ ลี้สยาม
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อความงามอาจจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อการประทินโฉม และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
นอกจาก การใช้สมุนไพรไทยในแง่ของอาหารและยารักษาโรคแล้ว ยังมีการนำสมุนไพรที่เคยใช้บำบัดโรคหลายชนิดมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในด้านอื่น ได้แก่ กานพลู มีสรรพคุณลดอาการปวดท้อง เปปเปอร์มินท์และสะระแหน่ มีสรรพคุณแก้อาการเมาค้าง กลิ่นมะลิ มีสรรพคุณช่วยลดอาการเศร้าหมองในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ไม้จันทน์มีสรรพคุณสร้างสมาธิช่วยผ่อนคลาย ถ้านำไปผสมกับมะลิแล้วจะเป็นการกระตุ้นเสน่ห์ กุหลาบมีสรรพคุณสมานผิว หรือมะนาวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ทำให้สมานผิวและผ่อนคลาย สมุนไพรไทยนอกจากให้กลิ่นหอมแล้ว ยังมีประโยชน์ในการบำรุงผิวพรรณ เป็นต้น
สมุนไพรไทยยังมีสรรพคุณด้านคันธบำบัดหรืออโรมาเทอราปี หมายถึง การใช้กลิ่นหอมบำบัดโรค เช่น โรคปวดท้อง อาการวิตกกังวลนอนไม่หลับ คลายเครียด ผ่อนคลายความอ่อนล้า ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อตึง เส้นตึง มีผลกระตุ้นการทำงานของสรีระร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดความสมดุลและสดชื่นรื่นรมย์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในสปา
ภาพที่ 1 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ความหมายและคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่องามถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง นอกเหนือไปจากอาหารและยา ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วต้องมีความปลอดภัย และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในอดีตการผลิตเครื่องสำอางในประเทศไทยมีทั้งโรงงานเล็กที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โรงงานขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เข้มงวดเรื่องมาตรฐานในการผลิตมากนัก เมื่อปี พ.ศ. 2535 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทย ให้สามารถผลิตเครื่องสำอางที่มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก การผลิตเครื่องสำอางทุกระดับต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานที่ดี
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 หมายถึง
1. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับการทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อม หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประเทินผิวต่างๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
2. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะหรือ
3. วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อความงาม อาจจำแนกตามประเภทความปลอดภัยและการวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นชนิดเครื่องสำอางทั่วไป ได้แก่ เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของสารควบคุมพิเศษ หรือสารควบคุมและไม่มีส่วนผสมของวัตถุที่ห้ามใช้ ดังนั้น เครื่องสำอางที่ดีต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องมีกลิ่นหอม ชวนดม ซึ่งผู้บริโภคต้องขอดมกลิ่นก่อนตัดสินใจซื้อ
- มีลักษณะสวยงาม การบรรจุหีบห่อมีความสวยงาม ประณีตบรรจง ต้องให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ ทำให้ดู น่าใช้ และเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้
- มีรูปแบบที่พกพาสะดวก และวิธีการใช้ที่ง่าย
- มีความคงตัวดีทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ
ครีมขัดผิวหน้า
ส่วนประกอบ
1. รำข้าว 3 ช้อนโต๊ะ
2. โยเกิร์ตนมสด 4 ช้อนโต๊ะ
3. เกลือแกง 2 ช้อนชา
4. เปลือกมะนาว 1 ซีก
|
|
วิธีการ
- ตวงโยเกิร์ตใส่ถ้วยเล็กๆ ให้ได้ปริมาณตามต้องการ
- ใส่เกลือแกงลงไป จากนั้นคนให้เกลือแกงละลาย ใส่รำข้าวตามลงไปผสม คนให้เข้ากัน แล้วคนอีกครั้งจนเป็นเนื้อเดียวกันกับโยเกิร์ต
- นำครีมที่ได้ใส่ในภาชนะ แล้วเก็บแช่เย็น เพื่อเมื่อนำไปใช้เสร็จแล้ว สามารถนำออกมาใช้ได้อีกคราวต่อ ๆ ไป
วิธีใช้
ล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น เช็ดให้แห้ง จากนั้นใช้ปลายนิ้วนางและนิ้วกลางแตะครีมมาพอกให้ทั่วใบหน้า ยกเว้น รอบดวงตาและริมฝีปาก จากนั้นนวดคลึงเบาๆ ไล่ลงมาจากหน้าผากถึงลำคอ ประมาณ 5 นาที ให้ปล่อยพักไว้ประมาณ 15-20 นาที ครบตามเวลาให้นำเปลือกมะนาวมาถูเบาๆ ให้ทั่วบริเวณที่พอกไว้อีก 2-3 นาที จากนั้นล้างเอาครีมออกให้หมดด้วนน้ำอุ่นตามด้วยน้ำเย็น และเช็ดหน้าให้แห้ง
ประโยชน์
ช่วยขจัดริ้วรอยจุดด่างดำบนใบหน้า ทำให้ผิวพรรณเกลี้ยงเกลาขึ้น
คำแนะนำ
สูตรนี้ผู้ที่มีสภาพผิวมันสามารถใช้เป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่เหมาะกับสภาพผิวแห้ง บอบบาง หรือแพ้ง่าย ถ้าต้องการใช้ควรลดขั้นตอนการขัดผิวด้วยมะนาวออก และลดปริมาณโยเกิร์ตและนมสดตามสัดส่วนให้พอเหมาะกับสภาพผิวนั้นๆ
ครีมว่านหางจระเข้
ส่วนประกอบ
1. ว่านหางจระเข้ 1 ก้าน
2. ไข่แดง 1 ฟอง
3. น้ำมันมะกอก 2 ช้อนชา
วิธีการ
- ตัดว่านหางจระเข้แช่น้ำ ปอกเปลือกล้างให้หมดยาง แล้วนำไปปั่นให้ละเอียด
- นำวุ้นที่ได้มาตีรวมกันกับไข่แดงและน้ำมันมะกอกผสมคนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน
- ใส่ภาชนะเก็บแช่เย็นเมื่อใช้เสร็จสามารถนำออกมาใช้ได้อีกคราวต่อๆ ไป
วิธีใช้
ล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น เช็ดให้แห้ง นำเจลที่ได้พอกให้ทั่วใบหน้า ยกเว้น รอบดวงตาและริมฝีปาก ให้ปล่อยพักไว้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นล้างเอาครีมออกให้หมดด้วยน้ำอุ่นตามด้วยน้ำเย็น และเช็ดหน้าให้แห้ง
ประโยชน์
บำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื่นนุ่มนวล ลบเลือนจุดด่างดำ รักษาสิว และลอกฝ้า
คำแนะนำ
สูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสภาพแห้ง ควรใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
สูตรเครื่องหอมไทย :
แป้งร่ำ
ส่วนประกอบ
1. น้ำอบไทยประมาณ 1/4 ถ้วยตวง
2. น้ำดอกไม้สด 1/4 ถ้วยตวง
3. แป้งหินประมาณ 2 ถ้วยตวง
4. พิมเสน 2 ช้อนชา
5. ผิวมะกรูดขูดฝอย 1-2 ช้อนชา
6. น้ำมันลำเจียก 1/2 ช้อนชา
7. น้ำมันไฮซิน 1/2 ช้อนชา
8. น้ำมันจันทน์ 1/2 ช้อนชา
9. น้ำมันชะมด 1/2 ช้อนชา
10. หญ้าฝรั่น 1-2 ช้อนชา
11. กำยาน 1/4 ถ้วยตวง
12. น้ำตาลทรายแดง 1/4 ถ้วยตวง
อุปกรณ์
โถ โกร่ง ใบตอง ผ้าขาวบาง เทียนอบ มีด ไม้กลัด ทวน ตะคันจำนวน 2 ตัว (สำหรับเผาสลับกัน)
วิธีการ
- การเตรียมแป้งหิน นำแป้งหินออกผึ่งแดด จากนั้นเก็บไว้ในโถ
- การร่ำ
- นำกำยานป่นเคล้ากับน้ำตาลและผิวมะกรูด
- ทำความสะอาดทวนด้วยผ้าชุบน้ำๆ ผึ่งให้แห้ง วางลงในโถแป้ง
- จุดเตาเผาจนได้ถ่านแดงทั่วทั้งก้อน นำตะคันเผาไฟจนร้อน ตักเนื้อกำยานที่ผสมแล้วในข้อ 1 ประมาณ 1 ช้อนชา โรยบนตะคัน ปิดฝาโถให้สนิท รอจนควันจาง นำตะคันที่เผาอีกตัวทำวิธีการเดียวกัน (ทำซ้ำ 8-9 ครั้ง) แล้วปิดฝาโถให้สนิททิ้งไว้ 1 คืน
- การอบเทียน นำเทียนอบวางลงบนแผ่นตะคัน จุดไฟให้ลุกช่วง จากนั้นดับไฟ ปิดฝาให้สนิท เพื่อให้ควันเทียนอบแป้ง รอจนควันจาง ให้เริ่มจุดไฟอีกครั้ง (ทำซ้ำประมาณ 3 ครั้ง)
- การปรุงแป้งร่ำ
- บดพิมเสน หญ้าฝรั่นด้วยโกร่งผสมจนละเอียด เก็บพักไว้
- นำแป้งที่อบไว้ลงโกร่งเหยาะน้ำดอกไม้สด และหัวน้ำมันหอมต่างๆ และน้ำมันชะมด ผสมให้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นให้นำไปผสมกับพิมเสนในข้อที่ 1 นำใบตองมาพับเป็นกรวย
- ตักเนื้อแป้งใส่กรวย หยดลงบนผ้าขาวให้เม็ดสูงๆ เป็นยอดแหลม ผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นให้นำไปเก็บไว้ในโหลหรือโถ ถ้าจะให้หอมทนนาน ควรนำแป้งไปอบและร่ำตามวิธีการขั้นต้นอีกครั้ง
4.4 ใช้สำลีชุบน้ำมันหอมที่ชอบวางในโถ จะได้แป้งร่ำหอมทน แป้งร่ำจะเป็นชนิดเม็ดหรือผงก็ได้เช่นกัน
ประโยชน์
ใช้ปรุงน้ำอบไทยทาตัว เจิมพิธีศิริมงคลต่าง ๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เจิมคู่บ่าวสาว เป็นต้น
น้ำอบไทย
ส่วนประกอบ
1. ใบเตยหอมหั่นเป็นท่อน 3 ถ้วยตวง
2. กำยาน 1/2 ถ้วยตวง
3. เถาชะลูด 1 มัด
4. น้ำตาลทรายขาว 1/4 ถ้วยตวง
5. ขี้ผึ้งแข็งขูดละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
6. พิมเสนอย่างดี 1/4 ถ้วยตวง
7. ผิวมะกรูดขูดฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำมันชะมด 1 ช้อนชา
9. แก่นจันทน์เทศบดหยาบ ๆ 1/2 ถ้วยตวง
10. แป้งร่ำ
อุปกรณ์
โถหรือขวดโหล เทียนอบ โกร่ง ทวน ตะคันจำนวน 2 ตัว ผ้าสำรับปิดโถ
วิธีการ
ขั้นตอนที่ 1 ต้มน้ำและลอยน้ำดอกไม้
นำหม้อน้ำตั้งไฟให้เดือด ล้างใบเตยหอม ตัดเป็นท่อนๆ ใส่ลงในหม้อ ใส่ดอกกระดังงาลงในหม้อประมาณ 10 ดอก ต้มไปพอเป็นสีนวล ยกลงเอาใบเตยและผงตะกอนออกให้หมด พักไว้ให้เย็นรินใส่โถ (ควรจัดสถานที่ที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายโถอบน้ำดอกไม้ จะทำให้ดอกไม้ช้ำมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว)
ทั้งนี้ การเตรียมดอกไม้เพื่อลอยน้ำ ควรเตรียมดังนี้
- มะลิ นำดอกมะลิขณะแย้มใส่ในโถลอยเรียงเป็นดอกๆ เอาไว้
- กระดังงา จับตรงปลายกลีบลนควันเทียนตรงกะเปาะพอหอม
- ลำเจียก ฉีกฝอย
- ดอกไม้อื่นๆ มีกลีบบางให้ใส่ถ้วย หรือจานเล็ก ลอยตอนกลางคืนรุ่งเช้าให้รีบยกขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 การร่ำกำยาน
- ในตอนเช้านำดอกไม้ออกจากโถ รินน้ำอบใส่โถประมาณ 2 ถ้วยตวง
- กำยานบดในโกร่งให้ละเอียด โดยผสมกำยาน น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง ขี้ผึ้ง ผิวมะกรูด เคล้าให้เข้ากันพักไว้
- ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดเช็ดทำความสะอาดทวน นำทวนวางลงในโถอบน้ำดอกไม้
- เผาตะคันให้ร้อนจัด (อย่าให้แดงเพราะเครื่องอบกำยานจะไหม้ก่อนให้ควันหอม) วางบนทวน ตักผงกำยานที่ผสมในข้อ 2 ประมาณ 1 ช้อนชา โรยบนตะคัน ปิดฝาให้สนิท ใช้ผ้าขาวบางปิดทับเพื่อไม่ให้ควันออกมาประมาณ 15-20 นาทีก็ใช้ได้ รินใส่โถ พลบค่ำลอยน้ำดอกไม้อีก เปิดออกและร่ำกำยานอีกครั้ง (ทำซ้ำประมาณ 5-6 ครั้ง ) พอมีกลิ่นหอมและสีเหลืองอ่อน
ขั้นตอนที่ 3 การปรุงใส่น้ำมันหอม
- ในตอนเช้านำดอกไม้ขึ้นวางทวนในโถ ทานควันเทียนอบประมาณ 2-3 ครั้ง (การอบเทียนพอหมดควัน 2-3 ครั้ง) แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง
- บดพิมเสนให้ละเอียด ผสมน้ำมันชะมดลงไปพร้อมแป้งร่ำ หยดน้ำมันหอมทุกครั้ง ครั้งละประมาณ 1 หยดเล็กๆ คนให้เข้ากันดี แล้วตักใส่น้ำอบที่ละน้อยคนให้ละลาย ใส่ลงในขวด ลองทาดู ถ้ากลิ่นน้ำมันหอมและพิมเสนอ่อนเกินไป สามารถเพิ่มเติมได้ตามความชอบ (เวลาเติมต้องใช้น้ำมันบดกับแป้งร่ำให้เข้ากันก่อน ห้ามหยดเฉพาะน้ำมันหอมระเหย จะทำให้น้ำมันลอยตัว)
…………………………
บรรณานุกรม
กระทรวงสาธารณสุข กรมการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. (2547). คู่มือในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2545). คู่มือผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
นวลปราง ฉ่องใจ. (2537). สวยด้วยสมุนไพร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กำแก้ว.
นวลพรรณ พงศ์วุฒิ. (มมป.).พืชสมุนไพรกับการปรุงเครื่องหอมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิมพ์ทอง.
นันทวัน กลิ่นจำปา. (2545). เครื่องหอม ภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ฤดี เสาวคนธ์. (2548). “หลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง”. ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิวพรรณ.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.
…………………………………. |