มุมสบายๆ โดย รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์
 

 การรักษาสุขภาพตามฤดูกาลด้วยการแพทย์แผนไทย

โดย  อาจารย์วุฒิ  วุฒิธรรมเวช
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มสธ.

         การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอเป็นสิ่งที่ดี เพื่อป้องกันการเกิดโรค บรรเทาอาการของโรค ตลอดจนการมีชีวิตที่เป็นปกติสุข ทางการแพทย์แผนไทยถือว่า “การที่จะมีสุขภาพที่ดีได้ต้องประกอบกันทั้งสุขภาพกายและจิตใจ”

         ในด้านการดูแลสุขภาพกายนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรค ในหลักการแพทย์แผนไทยได้กล่าวถึง “มูลของโรค” คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค มี ๘ ประการ และ ๖ ประการ การที่พยายามหลีกห่างจากมูลของโรค ก็เป็นหนทางที่สามารถป้องกันไม่ให้ป่วยไข้ได้ ถ้าไม่ระวัง ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมอันเป็นสาเหตุที่ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจอ่อนแอ ประกอบกับอุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน และประเทศสมุฏฐานมากระทบ ก็อาจทำให้ธาตุสมุฏฐานกำเริบ หย่อน หรือพิการ ขาดความสมดุลเกิดความไม่สบายกายและไม่สบายใจขึ้นได้

มูลของโรค

         ตามหลักการแพทย์แผนไทยกล่าวถึง การประพฤติปฏิบัติตนอันเป็นมูลเหตุทำให้ธาตุขันธ์ร่างกายอ่อนแอ เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย แบ่งเป็นสองกลุ่ม แต่สรุปรวมแล้วมีความมุ่งหมายอันเดียวกัน ดังนี้

๑. มูลเหตุของการเกิดโรค ๘ ประการ

ความประพฤติของมนุษย์ที่จะทำให้โรคบังเกิดขึ้น จัดไว้ ๘ ประการ (ใช้เป็นหลักทั่วไป) คือ
๑.๑ อาหาร เช่น บริโภคอาหารมากหรือน้อยกว่าที่เคย บริโภคอาหารบูดเสีย อาหารรสแปลก อาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
๑.๒ อิริยาบถ การอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานเกินควร ควรผลัดเปลี่ยนอิริยาบถให้เหมาะสม
๑.๓ ความร้อนและเย็น เมื่อถูกความร้อนความเย็นมากเกินไป ทำให้ธาตุวิปริตแปรปรวนไป
๑.๔ อดนอน อดข้าว อดน้ำ ร่างกายควรได้รับการพักผ่อนหลับนอนที่พอเหมาะ รับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดื่มน้ำที่สะอาดให้เพียงพอ  
๑.๕ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ การกลั่นอุจจาระหรือปัสสาวะ จะทำให้ร่างกายได้รับของเสียที่ต้องขับถ่ายออกไป กลับเข้ามาในร่างกาย การหมักหมมของอุจจาระและปัสสาวะทำให้เกิดการขยายตัวของเชื้อโรคและพิษมากขึ้น พิษเหล่านี้จะกลับเข้าสู่กระแสเลือด และไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายประการ
๑.๖ ทำการเกินกำลัง การหักโหมทำงาน หรือใช้ร่างกายมากหรือนานเกินควร ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำร่างกายอ่อนแอง่ายต่อการเกิดโรค
๑.๗ ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมได้หลายทาง เช่น ทำให้นอนไม่หลับ เกิดภาวะความเครียด เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย การทำงานของประสาทและหัวใจผิดปกติ ไปจนถึงขั้นเบื่ออาหาร ขาดอาหาร ขาดการออกกำลังกาย ขาดการพักผ่อน หรือการทำร้ายตนเอง
๑.๘ โทสะ  ความผูกโกรธเป็นไฟเผากายและใจให้มอดไหม้ เกิดความทุกข์เหมือนไฟสุมอยู่ในดวงจิต สมองถูกทำลาย สติสัมปชัญญะขาดพร่อง ผิวพรรณเหี่ยวย่น อาจทำให้เกิดการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น หรือหาเหตุให้ถูกทำร้ายได้โดยง่าย  

๒. มูลเหตุของการเกิดโรค ๖ ประการ ตามคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ มีดังนี้

๒.๑ กินอาหารผิดเวลาและอิ่มนัก
๒.๒ เสพเมถุนมาก
๒.๓ กลางวันนอนมาก
๒.๔ กลางคืนนอนไม่หลับ
๒.๕ โทสะมาก
๒.๖ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ

มูลของโรค เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ อันเป็นเหตุทำให้เกิดโรคได้ในทุกฤดูกาล เมื่อหลีกเลี่ยงมูลของโรคแล้ว ต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวัย เวลา ฤดูกาล และสถานที่ภูมิประเทศตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วย (อายุสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน และประเทศสมุฏฐาน)

อุตุสมุฏฐาน

          อุตุสมุฏฐาน แปลว่า ฤดูเป็นที่ตั้ง ฤดูแปรไปย่อมให้เกิดไข้เจ็บได้ เรียกว่า อุตุปริณามชาอาพาธา”ไข้เจ็บเพราะฤดูแปรไป โดยแบ่งปีหนึ่งออกเป็นช่วงๆ เรียกว่า “ฤดู” มีหลายแบบ คือ ฤดู ๓ ฤดู ๔ และ ฤดู ๖ ในตอนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะฤดู ๓ คือ ใน ๑ ปี แบ่งเป็น ๓ ฤดู ฤดูละ ๔ เดือน ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ในประเทศไทย

ฤดู ๓          
๑. คิมหันตฤดู         คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ สมุฏฐานเตโช พิกัดสันตัปปัคคี
๒. วสันตฤดู  คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒         สมุฏฐานวาโย พิกัดกุจฉิสยาวาตา
๓. เหมันตฤดู  คือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔  สมุฏฐานอาโป พิกัดเสมหะโลหิต

รสยาประจำฤดู ๓ 
. คิมหันตฤดู  (ฤดูร้อน) โรคเกิดขึ้นเนื่องจากเตโชธาตุ น้ำดี โลหิตพิการ ควรใช้ยารสเย็น
.   วสันตฤดู  (ฤดูฝน) โรคเกิดขึ้นเนื่องจากวาโยธาตุกำเริบหรือพิการ ควรใช้ยารสเผ็ดร้อน
.    เหมันตฤดู     (ฤดูหนาว) โรคเกิดขึ้นเนื่องจากอาโปธาตุพิการ มีเสมหะกำเริบ             ควรใช้ยารสจืด เปรี้ยว สุขุม

รสยาแก้ตามวัย 
. ปฐมวัย  แรกเกิดถึงอายุ ๑๖ ปี สมุฏฐานเสมหะ ใช้ยารสเปรี้ยว ขม หวาน
.     มัชฌิมวัย  อายุ ๑๖-๓๒ ปี สมุฏฐานดีและโลหิต ใช้ยารสขม เปรี้ยว ฝาด เค็ม
. ปัจฉิมวัย อายุ ๓๒ ปี ถึง อายุขัย สมุฏฐานลมกำเริบเสมหะและเหงื่อแทรก ใช้ยารสเผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เค็ม ฝาด

รสยาแก้ตามกาล ๓
๑. กาลกลางวัน
เวลา  ๐๖.๐๐ น.   ถึง ๑๐.๐๐ น.    โรคเกิดเพื่อเสมหะ          ใช้ยารสเปรี้ยว
เวลา  ๑๐.๐๐ น.   ถึง ๑๔.๐๐ น.   โรคเกิดเพื่อดีและโลหิต   ใช้ยารสขม เปรี้ยว
เวลา  ๑๔.๐๐ น.  ถึง ๑๘.๐๐ น.   โรคเกิดเพื่อลม                 ใช้ยารสเผ็ดร้อน สุขุม

๒. กาลกลางคืน
เวลา  ๑๘.๐๐ น.  ถึง ๒๒.๐๐ น.  โรคเกิดเพื่อเสมหะ          ใช้ยารสเปรี้ยว
เวลา  ๒๒.๐๐ น. ถึง ๐๒.๐๐ น.   โรคเกิดเพื่อดีและโลหิต   ใช้ยารสขม เปรี้ยว
เวลา  ๐๒.๐๐ น.  ถึง ๐๖.๐๐ น.    โรคเกิดเพื่อลม                 ใช้ยารสเผ็ดร้อน สุขุม

ประเทศสมุฏฐาน

ประเทศเป็นที่ตั้งที่เกิดของโรค มี ๔ ประการ  คือ
. คนเกิดในประเทศที่สูง (น้ำเนินเขา) เช่น ชาวเขา ฯลฯ เรียกว่า “ประเทศร้อน” เป็นสมุฏฐานเตโช
. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำกรวดทราย เรียกว่า “ประเทศอุ่น” เป็นสมุฏฐานอาโปดี โลหิต
. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำฝนเปือกตม    เรียกว่า “ประเทศเย็น” เป็นสมุฏฐานวาโย
. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำเค็มเปือกตม   เรียกว่า “ประเทศหนาว” เป็นสมุฏฐานปัถวี

รสยาประจำธาตุ
. ถ้าปถวีธาตุ  (ธาตุดิน) พิการ ใช้ยาที่มีรสฝาด หวาน มัน เค็ม     
. ถ้าอาโปธาตุ  (ธาตุน้ำ) พิการ ใช้ยาที่มีรสเปรี้ยว ขม เมาเบื่อ
. ถ้าวาโยธาตุ (ธาตุลม)  พิการ ใช้ยาที่มีรสสุขุม เผ็ดร้อน
. ถ้าเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)  พิการ ใช้ยาที่มีรสจืด เย็น

การรักษาสุขภาพในคิมหันตฤดู (ฤดูร้อน)

          คิมหันตฤดู  หรือฤดูร้อน เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ รวมเวลา ๔ เดือน ในระยะนี้เป็นเวลาที่พื้นโลกมีความร้อนสูงขึ้น ร่างกายของคนเรากระทบกับความร้อน ทำให้สมุฏฐานเตโช (ธาตุไฟ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิกัดสันตัปปัคคี (ไฟสำหรับอบอุ่นร่างกาย) พลอยกำเริบมากขึ้น ถ้าจะเกิดโรค ก็มักเกิดเนื่องจากเตโชธาตุ น้ำดี โลหิตกำเริบหรือพิการ ดังนั้น การป้องกันและรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคหรืออาการที่ทำให้เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายจนถึงขั้นผิดปกติ เช่น
๑. หลีกเลี่ยงมูลเหตุที่ทำให้เกิดโรค เน้นหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ในที่ที่มีความร้อนสูงเป็นเวลานาน
๒. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสร้อนมากเกินไป และอาหารรสมัน
๓. ควรรับประทานอาหารที่มีรสเย็นและรสขม และควรนำอายุสมุฏฐานมาพิจารณาร่วมด้วย ดังนี้
๓.๑ ปฐมวัย  สมุฏฐานเสมหะ ควรให้อาหารรสเย็น เปรี้ยว ขม หวาน แต่ไม่ควรรับประทานอาหารรสเย็นจัดเกินไป เนื่องจากอาหารรสเย็นจะทำให้เสมหะกำเริบ ถ้าเด็กมีเสมหะกำเริบ ควรให้ยาหรืออาหารรสเผ็ดหอมร้อนได้เป็นบางครั้ง  อาหารรสเปรี้ยวก็ทำให้เกิดความร้อนได้เช่นกัน  จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
๓.๒ มัชฌิมวัย สมุฏฐานดีและโลหิต ควรให้อาหารรสเย็น ขม เปรี้ยว ฝาด เค็ม ไม่ควรให้อาหารหรือยาที่มีรสเผ็ดหอมร้อนในเวลากลางวัน เว้นแต่ในคนที่มีธาตุเย็น อาหารรสเปรี้ยวก็ทำให้เกิดความร้อนได้เช่นกัน ไม่ควรรับประทานมากเกินไป บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
. ๓ ปัจฉิมวัย สมุฏฐานลมกำเริบเสมหะและเหงื่อแทรก ควรให้อาหารรสหอมเย็น ขม เค็ม ทั้งนี้ อาหารหรือยารสเย็น รสฝาด รสจืด อาหารย่อยยาก อาหารที่มีแป้งมาก ควรให้ในเวลากลางวัน ไม่ควรให้ในมื้อเย็นหรือกลางคืน เนื่องจากปัจฉิมวัยไฟธาตุหย่อนระบบการย่อยอาหารไม่ดี อาจทำให้ลมกำเริบในตอนดึก  ในตอนเย็นควรให้อาหารหรือยาที่มีรสเผ็ดหอมร้อนหรือสุขุม แต่ไม่ควรมีรสเผ็ดร้อนมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ธาตุพิการได้อีก

อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูร้อน

          พืชผัก ได้แก่ ถั่วพู แตงกวา แตงร้าน แตงไทย ถัวฝักยาว ถั่วแขก ผักกาดขาว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ใบบัวบก กระเจี๊ยบมอญ สายบัว ผักกะเฉด ผักกูด ผักโขม ผักชีฝรั่ง ดอกแค ยอดแค ขี้เหล็ก สะเดา ตำลึง มะระ คื่นฉ่าย ผักกาด แครอท หัวผักกาด ฟัก น้ำเต้า ผักกะสัง ผักหวาน หัวปลี หยวกกล้วย เตยหอม กระถิน ชะอม ฟักทอง เหง้าหวาย หัวลูกตาลอ่อน ยอดอ่อนมะพร้าว ย่านาง ยอดฟักทอง ใบยอ ถั่วงอก มะเขือ มะเขือพวง ผักปลัง ดอกขจร หัวลูกมะพร้าวอ่อน ใบมะยม ฝักเพกา ใบกรุงเขมา (หมาน้อย) กระพังโหม ถั่วเขียว บวบ

ผลไม้ ได้แก่ แตงโม ชมพู่ มะละกอ แตงไทย ลูกตาลอ่อน สาลี่ แอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร รากบัวหลวง เม็ดบัว กระจับ มังคุด

การปรุงอาหารนั้น ควรปรุงให้ครบถ้วน หาใช่ใช้แต่รสใดรสหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เน้นส่วนปรุงหลักตามฤดูกาล

นอกจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ยังมีโรคที่มาพร้อมกับความแห้งแล้ง เช่น โรคท้องร่วง อหิวาตกโรค เป็นต้น

การรักษาสุขภาพในวสันตฤดู (ฤดูฝน)

วสันตฤดู หรือฤดูฝน เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ รวมเวลา ๔ เดือน เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว มีความชื้นสูง บางครั้งมีความหนาวเย็นผสมด้วย ทำให้ร่างกายมีความร้อนและความชื้นสะสมสูงขึ้น อากาศถูกแทรกด้วยไอน้ำมากขึ้น การหมุนเวียนของเลือดลมในร่างกายไม่เป็นปกติ ทำให้สมุฏฐานวาโย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิกัดกุจฉิสยาวาตา (ลมพัดในท้องแต่อยู่นอกลำไส้) พลอยหวั่นไหวกำเริบขึ้น การเกิดโรคมักเกิดเนื่องจากวาโยธาตุกำเริบ หรือพิการ ดังนั้น การป้องกันรักษาสุขภาพในหน้าฝนจึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น
๑. หลีกเลี่ยงมูลเหตุที่ทำให้เกิดโรค ๘ และ ๖ ประการ
๒.   ไม่ควรกรำแดดกรำฝน ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อับชื้น ที่มีละอองฝน ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
๓. เมื่อร่างกายเปียกชื้น ควรอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง อย่าสวมเสื้อผ้าเปียกชื้น หรือชุ่มเหงื่อ
๔. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสแสลงกับโรคลม เช่น รสเย็น รสเมาเบื่อ รสขม รสหอมเย็น และอาหารที่ย่อยยาก เป็นต้น
๕.   ควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน และควรนำรสยาตามอายุสมุฏฐานมาร่วมพิจารณาด้วย ดังนี้
๕.๑ ปฐมวัย  สมุฏฐานเสมหะ  ควรให้อาหารรสเผ็ดร้อน เปรี้ยว ขม หวาน และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสมัน มีแป้งมาก หรืออาหารที่ย่อยยาก สำหรับอาหารรสหวานนั้น ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เกิดลมได้ จึงควรให้พอประมาณ
๕.๒ มัชฌิมวัย สมุฏฐานดีและโลหิต ควรให้อาหารรสเผ็ดร้อน ขม เปรี้ยว ฝาด เค็ม ทั้งนี้ในวัยกลางคนเป็นวัยที่มีความร้อนสูง การใช้อาหารรสเผ็ดร้อน จึงไม่เหมาะสำหรับมื้อกลางวัน ในฤดูฝนอาจให้ในมื้อเช้าและในมื้อเย็น
๕.๓ ปัจฉิมวัย สมุฏฐานลมกำเริบเสมหะและเหงื่อแทรก ควรให้อาหารรสเผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เค็ม ฝาด ทั้งนี้ในผู้สูงอายุ อาหารหลักเกือบทุกมื้อในหน้าฝน ควรมีรสเผ็ด หอมร้อน ขม ร่วมด้วยเสมอ เพื่อช่วยการย่อยอาหารและการขับถ่าย ในมื้อเย็นไม่ควรให้อาหารพวกแป้งและไขมัน อาหารย่อยยาก อาหารที่มีรสเย็น หรือผลไม้บางชนิด เช่น กล้วยหอม ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น และอาหารรสหอมร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา ฯลฯ เป็นอาหารจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในมื้อเย็น เพื่อช่วยย่อยอาหาร ขับลม บำรุงธาตุ และทำให้เลือดลมเดินสะดวก

อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูฝน

พืชผัก ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ ช้าพลู ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีฝรั่ง ผักชีหอม ผักชีลาว โหระพา หอม กระเทียม ใบมะกรูด พริกไทย พริกหยวก พริกชีฟ้า ผักหูเสือ ผักแพรว หมุย (สมัด) ดอกกะทือ ดอกกระเจียว ใบมะตูม ผักไผ่ หน่อไม้ งา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เปราะหอม ผักแขยง กุยฉ่าย

ผลไม้ ได้แก่ ทะเรียน ละมุด ลำไย ลิ้นจี่

การปรุงอาหารควรปรุงให้ครบถ้วน ไม่ควรใช้แต่รสใดรสหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เน้นส่วนปรุงหลักตามฤดูกาล

นอกจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ยังมีโรคที่มักระบาดในฤดูฝน เช่น โรคฉี่หนู โรคทางเดินอาหาร ท้องอืด จุกเสียดแน่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย เป็นต้น

การรักษาสุขภาพในเหมันตฤดู (ฤดูหนาว)

เหมันตฤดู หรือฤดูหนาว นับเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ รวมเวลา ๔ เดือน ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างรวดเร็ว ความชุ่มชื่นในฤดูฝนที่เกิดจากลมใต้เปลี่ยนไป เมื่อลมเหนือพัดพาเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงอาจเกิดการเจ็บป่วยได้ ส่วนใหญ่มักทำให้สมุฏฐานอาโป (ธาตุน้ำ) พิกัดเสมหะ กำเริบหย่อนหรือพิการได้

ในหน้าหนาวเป็นเหตุทำให้เสมหะทั้ง ๓ ประการ คือ ศอเสมหะ อุระเสมหะ และคูถเสมหะ  เป็นไปได้ทั้งกำเริบ หย่อน และพิการ

๑. ศอเสมหะกำเริบ หมายถึง มีเสมหะมากขึ้น เช่น เกิดการอักเสบในคอ  อาจเกิดจากละอองเกสรดอกไม้ หรือขนของต้นไม้ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือมีพิษ หรือเกิดจากการปรับตัวของร่างกายไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือได้รับเชื้อโรคที่ปลิวมากับลม หรือที่มากับสัตว์ที่ย้ายถิ่น เช่น ไข้หวัดต่างๆ ไข้กำเดา ที่มากับนกเป็ดน้ำ หรือนกย้านถิ่นตามฤดูกาล เป็นต้น

๒. ศอเสมหะหย่อน หมายถึง เสมหะที่หล่อเลี้ยงในคอ ในโพรงจมูกแห้ง จากการสัมผัสอากาศที่แห้ง ทำให้น้ำเมือกในทางเดินหายใจที่คอยป้องกันหรือดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายแห้งลง อาจเกิดโรคได้ง่าย

๓. ศอเสมหะพิการ หมายถึง เสมหะในคอมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จนไม่สามารถทำหน้าที่ในการหล่อลื่น ป้องกัน หรือดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ อาจทำให้เกิดโรคในทางเดินหายใจที่รุนแรงได้

๔. อุระเสมหะ ก็อาจกำเริบหย่อนหรือพิการได้เช่นเดียวกันกับศอเสมหะ อาการของโรคมักต่อเนื่องกัน

๕. คูถเสมหะกำเริบ หมายถึง เสมหะที่หล่อลื่นในระบบทางเดินอาหารมากเกินไป หรือทำหน้าที่เกินกว่าที่ควร หรือเกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ท้องเสีย ท้องเดิน ลงท้อง เป็นต้น อาจเกิดจากการรับประทานอาหารผิดเวลา เนื่องจากหน้าหนาวเวลากลางวันและกลางคืนเปลี่ยนแปลงมาก อาจเกิดจากอาหารที่แปลก หรือรับประทานมากเกินไป เนื่องจากในหน้าหนาวมักมีพืชผลออกมามาก

๖. คูถเสมหะหย่อน หมายถึง เสมหะที่หล่อลื่นในระบบทางเดินอาหารน้อยลง หรือการทำหน้าที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ท้องผูก หรือทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือทำให้น้ำย่อยกัดกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น (เสมหะหรือน้ำเมือกในกระเพาะอาหารทำหน้าที่เปลี่ยนสภาวะความเป็นกรดของน้ำย่อยให้เป็นกลาง และกั้นไม่ให้น้ำย่อยซึ่งมีความเป็นกรดสูง สัมผัสกับกระเพาะอาหาร เสมหะหรือน้ำเมือกในลำไส้ทำหน้าที่หล่อลื่นให้การขับถ่ายสะดวกขึ้น) อาจเกิดจาก การรับประทานอาหารผิดเวลา การปรับตัวของร่างกายและจิตใจไม่ดี เกิดภาวะความเครียด เกิดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และหลอดเลือด เมื่อกระทบความหนาวเย็น ทำให้การไหลเวียนของเลือดและสารน้ำในร่างกายแปรปรวนไป

๗. คูถเสมหะพิการ หมายถึง เสมหะที่หล่อลื่นในระบบทางเดินอาหารมากหรือน้อยเกินไป จนทำให้เสียหน้าที่ไป อาการของโรคก็มีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากเสมหะแล้ว ธาตุน้ำอื่นๆ ในร่างกายก็อาจกำเริบ หย่อน หรือพิการได้เช่นกัน เช่น ไขข้อ มันเหลว มันข้น เลือด โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนังจะกระทบมากที่สุด จากการกระทบอาการที่หนาวเย็น เป็นต้น

ดังนั้น การป้องกันรักษาสุขภาพในหน้าหนาว จึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น
๑. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ๘ และ ๖ ประการ ควรเลี่ยงการสัมผัสความหนาวเย็นเป็นเวลานาน

๒. ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสม นอนในห้องที่ให้ความอบอุ่น ไม่ควรผึ่งลม

๓. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แสลงกับเสมหะ เช่น อาหารรสเย็น รสหวาน รสมัน และรสเค็ม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เสมหะกำเริบได้

๔. ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีร่างกายผอม ไขมันน้อย อาจมีปัญหาเรื่องผิวหนังแห้ง แตกระแหง ทำให้คันหรือติดเชื้อได้ง่าย  จึงควรใช้สบู่ ครีม หรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาผิว สมุนไพรที่ช่วยรักษาผิว ทำให้ผิวชุ่มชื่น เช่น ชะเอมเทศ ชะเอมไทย เปลือกกล้วยหอม ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ เป็นต้น ควรใช้สบู่อ่อนๆ เช่น สบู่สำหรับเด็ก เป็นต้น อาจใช้ครีมหรือโลชั่นทาผิวหลังอาบน้ำ น้ำมันสมุนไพรที่ใช้รักษาผิวได้ดี เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

๕. ควรใช้ยารสสุขุม รสจืด และรสเปรี้ยว และควรนำรสยาตามอายุสมุฏฐานมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น
๕.๑ ปฐมวัย สมุฏฐานเสมหะ ควรใช้อาหารรสสุขุม จืด เปรี้ยว ขม หวาน ทั้งนี้  อาหารรสหวานควรให้ลดน้อยลง ถ้ามีเสมหะกำเริบอยู่ด้วย ควรงดไว้ก่อน สำหรับอาหารรสเผ็ดหอมร้อน อาจให้บ้างเล็กน้อยในตอนเช้าและมื้อเย็น

๕.๒ มัชฌิมวัย สมุฏฐานดีและโลหิต ควรใช้อาหารรสสุขุม จืด ขม เปรี้ยว ฝาด เค็ม

๕.๓ ปัจฉิมวัย สมุฏฐานลมกำเริบ เสมหะและเหงื่อแทรก ควรใช้อาหารรสสุขุม จืด เปรี้ยว เผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เค็ม ฝาด  ในมื้อเช้าและมื้อเย็นควรลดอาหารรสเย็นและรสเค็มลง เนื่องจากเป็นอาหารแสลงกับเสมหะ ตอนเช้าเป็นสมุฏฐานเสมหะ ส่วนตอนเย็นเป็นสมุฏฐานวาตะที่เจือตามมาจากฤดูฝน ในผู้สูงอายุถ้าให้เสมหะและวาตะกำเริบร่วมกัน จะทำให้สุขภาพอ่อนแอ อาจทำให้ระบบหายใจ การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจติดขัดได้ อาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในฤดูนี้ ควรมีรสสุขุม เปรี้ยว เผ็ดร้อน หอมร้อน ขม เค็ม

อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูหนาว

ในฤดูหนาว สิ่งที่ควรทำคือการกระตุ้นให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ความจริงแล้วอาหารที่ใช้ในฤดูฝนส่วนใหญ่ที่มีรสเผ็ดหอมร้อน ก็สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารในฤดูหนาวได้ดี และควรเพิ่มอาหารดังนี้เข้าไปด้วย เช่น

พืชผัก ได้แก่ มะเขือเทศ ยอดมะกอก ยอดมะม่วงหิมพานต์ มะขามสด ยอดมะขาม ผักติ้ว ผักเม็ก ผักกระโดน ยอดกระเจี๊ยบแดง มะละกอ มะเขือขื่น มะอึก มะแว้ง มะเขือพวง ผักพาย สาหร่ายน้ำจืด สาหร่ายน้ำเค็ม ผักตบ แพงพวยน้ำ ผักแว่น ผักลิ้นปี่ แมงลัก สะระแหน่ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีฝรั่ง ผักชีหอม ผักชีลาว โหระพา ผักตั้งโอ๋ ตะลิงปลิง ลูกมะกอกชะมวง มะรุม

ผลไม้ ได้แก่ ส้มต่างๆ มะนาว มะเฟือง มะไฟ สับปะรด ลางสาด มะม่วงดิบ กระท้อน ระกำ มะยม มะเม่า

การปรุงอาหารนั้น ควรปรุงให้ครบถ้วน ไม่ควรใช้รสใดรสหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เน้นส่วนปรุงหลักตามฤดูกาล

นอกจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ยังมีโรคที่มากับลมหนาวตามนกที่ย้ายถิ่น หรือเกสรดอกไม้ที่ปลิวมา เช่น ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดนก ไข้ดอกสัก แพ้อากาศ ผื่นคัน ลมพิษ เป็นต้น

......................................