การใช้รสของอาหารเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย
เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพ
โดย อาจารย์อดิศักดิ์ สุมาลี
การใช้รสของอาหารเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยปรับสมดุลของร่างกายอันเนื่องมาจากภาวะธาตุ 4 เสียสมดุล หากร่างกายเกิดภาวะเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 บุคคลนั้นจะมีปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายด้วยอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับธาตุนั้นๆ โดยอาการเจ็บป่วยที่ปรากฏจะแสดงอาการให้เห็นตามธาตุต่างๆ ดังนี้
1. ธาตุดิน มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุดิน 3 ประการ ด้วยกัน คือ
1.1 หทยัง หรือหทัยวัตถุ (หัวใจ) หมายถึง ความสมบูรณ์ของหัวใจ การทำงาน การเต้น ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น โรคที่เกิดมักเกิดจากการทำงานของหัวใจ
1.2 อุทริยัง (อาหารใหม่) หมายถึง อาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่ๆ โรคที่เกิดมักเกิดจากการกินอาหารที่ผิดปกติเรียกว่า “กินผิด” คือ กินไม่ถูกกับธาตุ กินอาหารไม่สะอาด กินอาหารแสลงโรค เป็นต้น
1.3 กรีสัง (อาหารเก่า) หมายถึง กากอาหารในลำไส้ใหญ่ที่จะออกมาเป็นอุจจาระ ลักษณะหรือกลิ่นของอุจจาระเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพ อุจจาระหยาบ ละเอียด แข็ง เหลว กลิ่นเหมือนปลาเน่า ธาตุน้ำ เป็นเหตุ กลิ่นเหมือนหญ้าเน่า ธาตุไฟเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนข้าวบูด ธาตุลมเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนซากศพ ธาตุดินเป็นเหตุ เป็นต้น
2. ธาตุน้ำ มักจะเจ็บป่วยด้วยของเหลว หรือน้ำภายในร่างกาย โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุน้ำ 3 ประการ ด้วยกัน คือ
2.1 ศอเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณลำคอ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน เมือกในจมูก ลำคอ หลอดลมตอนต้น เช่น มีเสมหะ ไซนัส ไข้หวัด เป็นต้น
2.2 อุระเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณทรวงอก และช่องท้องส่วนบน ได้แก่ เสมหะ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับทรวงอกและปอด เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคกระเพาะ เป็นต้น
2.3 คูถเสมหะ หมายถึง ของเหลวที่อยู่ในช่องท้องส่วนล่างหรือ ระบบขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ โรคที่เกิดมักเกี่ยวข้องกับ ระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย เมือกมูกในลำไส้ น้ำในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ท้องเสีย บิดมูกเลือด ริดสีดวงทวาร กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น
3. ธาตุลม มักจะเจ็บป่วยด้วยระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบประสาทโดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุลม 3 ประการ ด้วยกัน คือ
3.1 หทัยวาตะ หมายถึง ภาวะจิตใจ โรคที่เกิดมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ ความหวั่นไหว ความกังวล ทำให้เกิดการแปรปรวนด้านอารมณ์ได้
3.2 สัตถกะวาตะ หมายถึง ลมในร่างกายที่แหลมคมเหมือนศัสตราวุธ ซึ่งเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ และเส้นเลือดฝอย ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคที่เกิดมักจะเกี่ยวกับเส้นเลือดฝอยแตก ตีบตัน หรือเป็นอัมพาต อาการปวด อาการชา เป็นต้น
3.3 สุมนาวาตะ หมายถึง การไหลเวียนของโลหิตและระบบการทำงานของประสาท สมอง ไขสันหลัง โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับการเจ็บหลัง การชัก การกระตุก ความดันโลหิต ลมจากหัวใจ และหลอดเลือดใหญ่กลางลำตัว
4. ธาตุไฟ มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากขบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุไฟ 3 ประการ คือ
4.1 พัทธปิตตะ (ดีในฝัก) หมายถึง ขบวนการผลิตน้ำดีของตับ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับระบบน้ำดีภายในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุตตัน ภาวะการผลิตน้ำดีของตับผิดปกติ ตับอักเสบเกิดอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดน้ำดีอักเสบ เป็นนิ่ว เป็นต้น
4.2 อพัทธปิตตะ (ดีนอกฝัก) หมายถึง ขบวนการย่อยอาหารโดยน้ำดีหรือน้ำดีในลำไส้ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับการทำงานของน้ำดีในลำไส้ ระบบการย่อยอาหาร อาการ คือ จุกเสียด อืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เหลืองทั้งตัว ถ่ายเป็นสีเขียว เป็นต้น
4.3 กำเดา หมายถึง ความร้อนที่เกิดจากขบวนการเผาผลาญ การทำงานของร่างกาย โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับอาการตัวร้อน เป็นไข้ ร้อนใน ติดเชื้อ อักเสบ เป็นต้น
เมื่อทราบถึงรายละเอียดของการเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 แล้วนั้น การเลือกรับประทานพืชผัก ผลไม้ อาหารรสต่างๆ ให้เหมาะกับธาตุเจ้าเรือน หรือธาตุที่เจ็บป่วยหรือที่เสียสมดุลของบุคคลนั้นๆ จะช่วยทำให้บุคคลนั้นปรับธาตุเข้าสู่ภาวะที่สมดุล ซึ่งสามารถเลือกได้ ดังนี้
1. ธาตุดิน ควรรับประทานรสฝาด หวาน มัน เค็ม เช่น ฝรั่งดิบ หัวปลี กล้วย มะละกอ เผือก มัน กระหล่ำปลี ผักกะเฉด มังคุด ฟักทอง ถั่วต่างๆ เงาะ หัวมันเทศ เป็นต้น ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุดิน เช่น ผัดสะตอ ยำหัวปลี น้ำพริก ผักจิ้มที่มีรสฝาด รสมัน ฯลฯ อาหารว่าง เช่น เต้าส่วน วุ้นกะทิ กล้วยบวชชี ตะโก้เผือก ฯลฯ เครื่องดื่ม เช่น นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว น้ำฝรั่ง เป็นต้น
2. ธาตุน้ำ ควรรับประทานรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะยม มะกอก มะดัน กระท้อน ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุน้ำ เช่น แกงส้มดอกแค ลาบ หรือยำที่มีรสเปรี้ยว ผัดเปรี้ยวหวาน ฯลฯ อาหารว่าง เช่น มะยมเชื่อม สับปะรดกวน กระท้อนลอยแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวาน มะม่วงกวน ฯลฯ เครื่องดื่ม เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น
3. ธาตุลม ควรรับประทานรสเผ็ดร้อน เช่น กระเพรา โหระพา กระเทียม ขึ้นฉ่าย ยี่หร่า ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย ขมิ้นชัน ผักคราด ช้าพลู พริกขี้หนู ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุลม เช่น ผัดกะเพรา ผัดขิง คั่วกลิ้ง แกงเผ็ด หรืออาหารที่มีรสเผ็ด ฯลฯ อาหารว่าง เช่น บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวย เต้าทึง มันต้มขิง ถั่วเขียวต้มขิง เมี่ยงคำ ฯลฯ เครื่องดื่ม เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำมะตูม เป็นต้น
4. ธาตุไฟ ควรรับประทานรสขม เย็น จืด เช่น บัวบก มะระ มะรุม สะเดา ผักบุ้ง ตำลึง สายบัว แตงกวา คะน้า บวบ มะเขือ ผักกาดจีน ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุไฟ เช่น แกงจืดตำลึง ผัดบวบ มะระผัดไข่ ผัดผักบุ้ง หรืออาหารที่มีรสจืด ฯลฯ อาหารว่าง ซาหริ่ม ไอศกรีม น้ำแข็งไส ฯลฯ เครื่องดื่ม เช่น น้ำแตงโมปั่น น้ำใบเตย น้ำเก็กฮวย เป็นต้น
การรับประทานอาหารควรรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทุกรสทั้ง 4 ธาตุ ไม่ควรเลือกรับประทานเฉพาะรสใดรสหนึ่งตามธาตุเจ้าเรือนของตนเอง หรือธาตุที่เจ็บป่วย (เสียสมดุล) เท่านั้น เนื่องจากร่างกายต้องการอาหารบำรุงธาตุทั้ง 4 ด้วย หากธาตุหนึ่งธาตุใดขาดการบำรุงจะเจ็บป่วยได้ การรับประทานอาหารที่เหมาะกับธาตุเจ้าเรือนของตนเอง หรือธาตุที่เจ็บป่วย (เสียสมดุล) ควรรับประทานให้มากกว่าธาตุอื่นๆ ที่สมดุลอยู่แล้ว พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้การปรับสมดุลได้ผลดี
.....................................................................
เอกสารอ้างอิง
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. (๑๔ December ๒๐๑๑). คู่มือการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (online) ค้นคืนจาก:
http://www.dtam.moph.go.th
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ. เอกสารการสอนชุดวิชาเวชกรรมแผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4, นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
|