มุมสุขภาพ
 

เห็ดกับสุขภาพ

โดย  รองศาสตราจารย์ปีติ พูนไชยศรี

 

          มุมสุขภาพครั้งนี้ต่อจากฉบับที่แล้ว เรื่อง “เห็ดกับสุขภาพ” จากครั้งที่แล้วจะเห็นได้ว่า เห็ดมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย  นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณทางยา  ซึ่งชาวจีนเรียกว่า  เป็นยาเย็น  มีสรรพคุณช่วยลดไข้  แก้ร้อนใน เพิ่มพลังชีวิต ทำให้หายหงุดหงิด บำรุงเซลล์ประสาท  รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์  และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ด้วย สำหรับรสชาติก็คล้ายเนื้อสัตว์  แต่ไม่ทำให้อ้วน  จึงสามารถบริโภคเห็ดเป็นประจำ จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า  “รับประทานเห็ดใน 1 มื้ออาหารให้ได้  8 ชนิด  จะทำให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  และมีอายุยืนยาว”

เห็ดสามารถนำมาปรุงอาหารให้อร่อยได้หลากหลายวิธี ทั้งทำแกง ผัด ยำ  ย่าง  หรือทอดได้ทั้งนั้น และเห็ดที่พบโดยทั่วไปในบ้านเรามี  ดังนี้

  1. เห็ดนางรม  เห็ดนางฟ้า  และเห็ดเป๋าอื้อ  เห็ดทั้ง 3 ชนิดนี้อยู่ในตระกูลเดียวกัน  มีลักษณะการเจริญเติบโตเป็นช่อคล้ายพัด เห็ดนางรมมีสีขาวอมเทา เห็ดนางฟ้ามีสีขาวอมน้ำตาล  ส่วนเห็ดป๋าฮื้อจะมีสีคล้ำกว่า และเนื้อเหนียวกว่า  เห็ดทั้ง 3 ชนิดมีเนื้อนุ่มรสชาติอร่อยคล้ายเนื้อสัตว์ ประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด  ทั้งผัด แกง  ต้ม  ชุบแป้งทอด หรือย่าง แล้วนำมายำก็ให้รสชาติดี     มีสรรพคุณสามารถป้องกันโรคหวัด ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดี  ป้องกันโรคกระเพาะอาหาร
  2. เห็ดหูหนูดำและเห็ดหูหนูขาว  มีลักษณะคล้ายหูหนู  เนื้อของเห็ดรสชาติกรุบ ๆ  ส่วนมากมักนำมาผัดกับขิง แล้วใส่เนื้อสัตว์เล็กน้อย  หรือใส่เต้าฮู้ทอด  เป็นผัดขิงแบบมังสวิรัติ  ร้านอาหารมักนำมาใช้แทนแมงกะพรุนโดยเฉพาะเห็ดหูหนูขาว  หรือใส่ในสุกี้หม้อร้อน หรือทำยำรวมมิตร ก็ทำให้รสชาติดียิ่งขึ้น
  3. เห็ดหอม  ใช้รับประทานมานาน  สมัยก่อนต้องสั่งมาจากประเทศจีน เป็นเห็ดหอมแห้ง ก่อนใช้รับประทานอาหารต้องแช่น้ำให้นิ่มดีเสียก่อน ปัจจุบันสามารถผลิตเห็ดหอมสดได้โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศ แบบแห้งจะทำให้กลิ่นหอมมากกว่าแบบสด  และน้ำแช่เห็ดหอมก็นำมาทำน้ำแกงได้ ที่เรียกว่า “เห็ดหอม” ก็เพราะว่ามีกลิ่นหอมชวนรับประทาน  ชาวจีนยกให้เห็ดหอมเป็นอาหารชั้นยอด เป็นอาหารตำรับอมตะ เพราะเป็นยาบำรุงกำลัง  บรรเทาอาการไข้หวัด บรรเทาอาการอ่อนเพลีย ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น  เห็ดหอมมีโปรตีนมากกว่าเห็ดแชมปิญองถึง 2 เท่า และอุดมด้วยวิตามินเอ วิตามิน บี  แร่ธาตุพวกเซเลเนียม และธาตุอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์ ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง มีคุณสมบัติต้านคลอเรสโตรอล นั่นก็คือ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ดี
  4. เห็ดฟาง  เป็นเห็ดที่นิยมบริโภคในบ้านเรามาเป็นเวลาช้านานสามารถเพาะเลี้ยงเห็ดฟางได้บนกองฟางได้  บนกองฟางข้าวชื้น ๆ  ถ้าปรุงอาหารประเภทต้ำยำต่าง ๆ มักจะใส่เห็ดฟางลงไปด้วยเสมอ ลักษณะที่พบเห็นได้โดยทั้วไปคือจะมีหมวกสีน้ำตาลอมเทา  ก้านมีสีขาวหาซื้อได้ง่ายตามตลาดทั่วไป  หรือตามซุปเปอร์มาร์เก็ต  ฤดูร้อนจะมีเห็ดชนิดนี้มากกว่าฤดูอื่น ในท้องตลาด เห็ดฟางมีกรดอมิโนหลายชนิด  และมีวิตามินซีสูง มีความเชื่อว่าถ้าบริโภคเห็ดฟางเป็นประจำจะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดี  แต่ห้ามรับประทานสด ๆ  เพราะมีสารที่ยับยั้งการ  ดูดซึมอาหาร  นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน  โรคเหงือก และลดอาการผื่นคันตามผิวหนังได้ด้วย
  5. เห็ดเข็มทอง  เป็นเห็ดสีขาวเล็ก ๆ  ขึ้นติดกันเป็นแพ  มีรสชาติเหนียวนุ่ม  เมื่อนำมาใส่แกงจืด หรือสุกี้ หม้อไฟ ช่วยทำให้น้ำแกงมีรสชาติดีขึ้น  หรืออาจนำไปย่างไฟ แล้วนำมาประกอบอาหารพวกยำต่าง ๆ  ก็จะมีคุณสมบัติคล้ายเนื้อสัตว์  หรือเอามารับประทานสด ๆ  เป็นพวกสลัดก็ได้เช่นเดียวกัน
  6. เห็ดกระดุม  หรือเห็ดแชมปิญอง เป็นเห็ดที่มีคุณสมบัติในการรักษาป้องกันการเกิด  มะเร็งเต้านมได้เป็นอย่างดี  มีให้เลือกบริโภคได้ทั้งสด ๆ  และแบบบรรจุเป็นเห็ดกระป๋อง
  7. เห็ดโคน  หรือชาวบ้านเรียกว่า  เห็ดปลวก  เป็นเห็ดที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง 1 ปี จะมีฤดูกาลของเห็ดโคนเพียง 1 ครั้ง  ในช่วงปลายปี นั่นคือ ช่วงฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว พบโดยทั่วไปโดยเฉพาะภาคกลาง  ได้แก่  จังหวัดกาญจบุรี  ที่มีชื่อเสียงเรื่องเห็ดโคนราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท  ต้องนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน เพราะเห็ดที่ชาวบ้านเก็บมาขาย มักจะมีดิน – ทราย ติดมาด้วยต้องนำมาแช่น้ำในกาลมังใหญ่ ๆ  ล้างน้ำหลายครั้ง เพื่อให้เศษดินหลุดออกให้หมดก่อนนำไปประกอบอาหาร  เห็ดโคนเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย  ใช้ทำแกงจืด  ต้มยำ  ก็มีรสชาติ อร่อย  ใช้ทำแกงจืด  ต้มยำ  หรือยำ  ก็มีรสชาติดี  บางครั้งถ้าพบมาก ชาวบ้าน จะต้มกับเกลือบรรจุขวดจำหน่าย
  8. เห็ดหลินจือ  เป็นเห็ดที่มีชื่อเสียงจากประเทศจีน  มีคุณสมบัติพิเศษช่วยต้านอนุมูลอิสระจึงป้องกันโรคมะเร็งได้ดี ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลมะเร็ง  กระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสชนิดต่าง ๆ  ช่วยลดความดันโลหิต  แก้ปวดศีรษะ ลดไขมันในเส้นเลือด  และมีฤทธิ์แก้การอักเสบต่าง ๆ  ส่วนมากจะใช้เห็ดหลินจือนี่หั่นตากแดดเป็นชิ้น ๆ  มาชงน้ำดื่ม คล้ายน้ำชาเป้นยาอยุวัฒนะ  และยังมีการนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางด้วย

          จะเห็นได้ว่า เห็ดที่รู้จักกันส่วนมากก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค  ยกเว้น  ผู้ที่เข้าไปหาเห็ดต้องรู้จักว่าเห็ดชนิดไหนบริโภคได้  หรือเห็ดชนิดไหนเป็นเห็ดมีพิษ บริโภคไม่ได้บางชนิดมีพิษมากบริโภคเข้าไปอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ และการบริโภคเห็ดก็ควรบริโภคอาหารอย่างอื่นประกอบด้วยเพื่อให้ได้สารอาหารครบทั้ง  5 หมู่   ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น มุมสุขภาพครั้งนี้จึงขอเสนอ รายการอาหารเห็ดสัก 1 รายการ  นั่นคือ   “ยำเห็ดเพื่อสุขภาพ”  ดังนี้

เครื่องปรุง

  1. เห็ด  ชนิดต่าง ๆ  สัก 3 ชนิด  (เขาบอกให้กินเห็ด 3 อย่างจะดีต่อสุขภาพ)   ปริมาณมากน้อยตามชอบ
  2. น้ำปลา  มะนาว  น้ำตาล  พริกขี้หนูเขียวและแดง พริกป่น (คั่วใหม่ ๆ)
  3. ผักชีฝรั่ง  ต้นหอม  หัวหอมแดง  ใบสาระแหน่ (เล็กน้อย)

วิธีปรุง

  1. ผักทุกชนิดตัดราก  ดึงใบแก่ เสียออก แช่น้ำล้างให้สะอาด หั่นหยาบ ๆ ใบสาระแหน่เด็ดเป็นใบ ๆ
  2. ต้มน้ำในหม้อให้เดือด ใส่เกลือป่นเล็กน้อย หยิบมือ แล้วนำเห็ดแต่ละชนิดตักใส่กาละมัง หรือหม้อเคลือบ (หรือสเตนเลส) พักไว้
  3. ใส่น้ำปลา 1-2 ช้อนโต๊ะ  บีบมะนาว  สัก 2-3 ซีก  น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา  ถ้าใครชอบเครื่องปรุง รส อาหาร ก็ใส่ได้ ชิมรส  เปรี้ยว เค็ม หวานนิดเดียวตามชอบ (ถ้ารสยังไม่จัด ก็เติมมะนาว  น้ำปลา  ใส่หัวหอมซอย  คนให้เข้ากัน)
  4. ใส่พริกป่น (เผ็ดน้อย มากตามชอบ)  และพริกขี้หนูบุบทั้งสีเขียวสีแดง  ชิมรส เปรี้ยว  เค็ม  เผ็ดจนถูกใจ
  5. ใส่ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ ๆ  หัวหอมซอยหยาบ ๆ  คนให้เข้ากันตักใส่จานโรยด้วยใบสาระแหน่  พร้อมรับประทานได้

หมายเหตุ 
           สูตรดังกล่าวไม่ได้ใช้เนื้อสัตว์เลย แต่ถ้าต้องการใส่เนื้อหมู กุ้ง ไก่  ปลาหมึก ฯ  ก็สามารถลวกหรือรวนให้สุกแล้วใส่ลงในข้อ 3 ได้โดยอาจต้องเพิ่มน้ำปลา มะนาว พริกขี้หนู ฯลฯ เพื่อให้รสจัดจ้านขึ้น

           ถ้ายำรสจัดมากก็อาจมีผัก…… เช่น  ถั่วฝักยาวล้างสะอาด แตงร้านปอกเปลือกหั่นเป็นแว่น ๆ  กล่ำปลี  หรือใบโหรภา ฯลฯ  จะได้บริโภคผักได้มากขึ้น แต่ผักทุกชนิดต้องล้างให้สะอาดใช้น้ำยาล้างผัก เพื่อให้ปลาศจากสารพิษฆ่าแมลงทุกชนิด เพื่อสุขภาพและอนามัยที่ดี

............................................

เอกสารอ้างอิง

เส้นทางสุขภาพ. “ เห็ดอาหารมหัศจรรย์” ค้นคืนจาก http//www.yourhealth guide.com/ artcle/an mushroom.htm
อารีรัตน์  บุญเอก. “เรื่องของเห็ด”. ค้นคืนจาก http//www.tister- foodprocess.net /food health 1 .htm
รักสุขภาพเลือด. “เห็ด อาหารมหัศจรรย์”. ค้นคืนจาก http//www.thaihealth.or.th /healthcontent/Article/16369
“เห็ดบำบัดสุขภาพ”. ค้นคืนจาก http//www.horolive.com /astrdogy/health mushroom.htm
เห็ดอาหารเพื่อสุขภาพ. ค้นคืนจาก http//sisasehanalai.com /webboard/indexphp ? topic = 84.0
เห็ดอาหารเพื่อสุขภาพ.  “เมนูเห็ด”. ค้นคืนจาก http//www.bloggang.com /viewblog-php? Id= is sara &date = 18-05 – 20011 & group = 16 &gbl….

………………………………….