มุมสบายๆ โดย รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์
 

สองมาตรฐานใครว่าไม่สำคัญ

โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

        ความจริงแล้วสองมาตรฐานนั้นได้มีการปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้พูดกัน มาได้ยินหนาหูจนเป็นคำยอดนิยมก็ตอนที่บ้านเมืองวุ่นวาย จากนั้นมาหลายครั้งเรามักได้ยินคำว่า “สองมาตรฐาน” หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า “double standard”  อยู่บ่อยครั้ง คำว่า “สองมาตรฐาน” หมายถึง ประเด็นการเปรียบเทียบในการจัดการหรือใช้ระบบ แนวทาง หรือมาตรฐาน ในกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มอย่างแตกต่างกัน สองมาตรฐาน ถูกนิยมเรียกกับการแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยการจัดการปัญหาในเรื่องๆ เดียวกัน แต่ต่างเป้าหมาย ทำให้ได้รับผลลัพธ์ที่ต่างกัน เช่น การตอบรับของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มคนรวยและกลุ่มคนจน ซึ่งไม่เท่ากัน ก็จะเรียกว่า สองมาตรฐาน (http://forum.khonkaenlink.info, 2010) เป็นต้น  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เรื่องเดียวกัน หรือการกระทำเดียวกัน แต่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน (http://www.oknation.net, 2552)   การที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก ผลประโยชน์ ความไม่รู้หรือความหย่อนความสามารถของผู้ปฏิบัติ หรือความหลงลืมและจำไม่ได้ของผู้ปฏิบัติที่วันหนึ่งเคยใช้แบบหนึ่ง แต่พอนานไปเกิดการหลงลืมไป จึงใช้อีกแบบหนึ่งในการปฏิบัติ โดยไม่ได้เอาใจใส่ที่จะปฏิบัติในเรื่องเดียวกันให้เหมือนเดิม หรือไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในการปฏิบัติ จึงทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนที่ได้รับการปฏิบัติ ที่อาจเกิดความน้อยใจ ความเครียดแค้น การเอาคืน การทำร้ายกันเมื่อมีโอกาส การเกิดอคติ ความรู้สึกที่ไม่ดี ความขัดแย้ง และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน และยังส่งผลต่องานที่ทำและบรรยากาศของหน่วยงานและสังคมอีกด้วย

        ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนต้องยอมรับกันแล้วว่า การปฏิบัติแบบสองมาตรฐานนั้นเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ขึ้นอยู่กับผู้ถูกกระทำจะยอมรับกับเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็มักจะออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนและส่วนรวม  แต่บางคนไม่อยากให้มีเรื่องก็เงียบเฉย ได้แต่บน แต่ก็ไม่ทำอะไร บางคนก็กลัวภัยมาถึงตัวเนื่องด้วยกลัวอิทธิพลหรืออำนาจของคนที่เขาใช้สองมาตรฐาน ก็จะเงียบไม่กล้าแสดงอะไรออกมา หรือคนที่ได้รับประโยชน์ก็นิ่งเสียตำลึงทอง เพราะทักท้วงให้คนอื่น ตนเองก็จะต้องเสียผลประโยชน์ จึงทำให้ทุกวันนี้เกิดสองมาตรฐานขึ้นในทุกวงการ

        การที่จะให้สองมาตรฐานหมดไปหรือลดน้อยลง ก็ต้องแก้ที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากการหลงลืมหรือความไม่รู้ หรือไม่มีกฏ เกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติ และ/หรือมาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจน ก็ต้องแก้ไขโดยการกำหนดกฎ เกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติและ/หรือมาตรฐานการปฏิบัติให้ชัดเจน โดยยึดหลักการเป็นหลัก ไม่ยึดตามความชอบ-ไม่ชอบหรือค่านิยมมาเป็นตัวกำหนด เพราะคนเรามีความแตกต่างกันและมีค่านิยมที่แตกต่างกัน จะยึดเอามาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดไม่ได้ และการกำหนดจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทุกคนรับทราบกันทั่วไป ซึ่งการกำหนดสิ่งเหล่านี้อาจจัดทำขึ้นมาโดยคณะกรรมการ หรือให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและกำหนดขึ้นมา จะทำให้เกิดการยอมรับในกฎ เกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติ และ/หรือมาตรฐานการปฏิบัติที่กำหนดขึ้น และผู้ปฏิบัติต้องมีจิตสำนึกในการใช้สิ่งที่กำหนดมานั้นให้เหมือนกันทุกคนทุกกรณี ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม และผู้มีอำนาจ/ ผู้บริหารต้องกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมอย่างจริงจัง จึงจะเรียกได้ว่าผู้มีอำนาจ/ ผู้บริหารมีธรรมาภิบาลและโปร่งใส  บางครั้งผู้มีอำนาจ/ ผู้บริหารที่มีไหวพริบจะวางระบบด้วยเทคนิคที่เหนือชั้นในเป็นรูปของคณะกรรมการ แต่คนที่กำหนดนั้นส่วนใหญ่ คือ พวกของตน จึงทำให้สิ่งที่กำหนดออกมานั้นเอนเอียง ซึ่งทำให้ดูเหมือนไม่สองมาตรฐาน มีความโปร่งใส แต่บนความเป็นจริงมีนัยสองมาตรฐาน เพราะอาศัยกลไกที่มีอยู่ทำให้ดูว่าเป็นระบบที่โปร่งใส เพราะคนตามไม่ทันหรือไม่มีความกล้าพอที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ให้ตนเองและส่วนรวม ยกเว้น ใครตามทันและมีความกล้าพอลุกขึ้นมาคัดค้านและต่อต้านสิ่งที่กำหนดไว้ ก็จะเกิดความขัดแย้ง จึงทำให้วุ่นวาย บางครั้งคนส่วนใหญ่ที่ตามไม่ทันหรือมีบางคมมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็อาจมองคนที่ลุกขึ้นมาขัดแย้งในทางลบว่า เป็นผู้ทำให้วุ่นวาย ทั้งที่เขาช่วยเรียกร้องสิทธิ์แทนส่วนรวม ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของคนเราที่ไม่ชอบการวุ่นวาย ใครลุกขึ้นมาคัดค้านก็ไม่ชอบ ถึงแม้เขาจะมีเจตนาดีต่อส่วนร่วมหรือคนที่ว่าเขาก็ตาม

        ส่วนการแก้ไขสาเหตุของการปฏิบัติสองมาตรฐานที่เกิดจากการเล่นพรรคเล่นพวก และผลประโยชน์ ตรงนี้แก้ยาก เพราะเป็นเรื่องของการมีคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติ ถ้าประชาคม คนในสังคมหรือในกลุ่มไม่ลุกขึ้นมาร่วมมือในการจัดการเรื่องนี้ และผู้บริหาร/ ผู้ที่มีอำนาจในการปฏิบัติหรือผู้ที่ปฏิบัติมีคุณธรรมหย่อยยานหรือไม่มีจิตสำนึกที่ดีแล้ว ตอบคำเดียวว่ายากมาก ดังนั้น การแก้ไขไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่หรือผู้บริหาร/ผู้มีอำนาจเหนือกว่า ถ้าวางเฉย ปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ลุกขึ้นมาพัฒนาสังคมให้ดีงาม ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าลุกขึ้นมาแก้ไขด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย สังคมเราจะน่าอยู่ เพราะสองมาตรฐานจะหมดไปหรือลดน้อยลงจนไม่มีผลกระทบในทางลบกับสังคม 

        ดังนั้น สองมาตรฐานจะมีอยู่หรือหมดไป เกิดมาตรฐานเดียวกันนั้น ทุกคนไม่ว่าผู้ได้รับการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร/ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติหรือกำกับให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นธรรมนั้น จะต้องจับมือกันลบภาพสองมาตรฐานออกให้หมดจากหน่วยงานและสังคม คำว่า “ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส” ก็จะเกิดขึ้นในหน่วยงานและสังคมอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องกล้าที่ออกมาเผชิญกับความจริง รับฟังกันและกัน ช่วยกันคิดและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทุกคนในหน่วยงานและสังคมจึงจะอยู่กันอย่างมีความสุข หน่วยงานและสังคมจะมีความเจริญและอยู่เย็นเป็นสุข มาร่วมมือกันเถอะเพื่อหน่วยงานและสังคมของเรา รวมทั้งประเทศชาติของเราด้วย

...................................

เอกสารอ้างอิง
http://www.oknation.net. (2552).  “สองมาตรฐาน คืออะไร”. ค้นคืนวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=462407
http://forum.khonkaenlink.info. (2010). “สองมาตรฐาน คืออะไร ? ”. ค้นคืนวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จาก http://forum.khonkaenlink.info/index.php?topic=201417.0

ภาพประกอบ banner จาก http://after12.failblog.org/2011/12/01/party-fails-double-standard-at-its-best-bar-gender-issues-classic/