การเผยแพร่วิทยานิพนธ์ และดุษฎีนิพนธ์
ตอนที่ 2 การนำเสนอด้วยวาจา
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จันทร์คง
บทความฉบับนี้เป็นการเขียนต่อจากฉบับที่แล้วที่เขียนเรื่อง การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ นะคะ ซึ่งการนำเสนอด้วยวาจา (Oral Presentation) ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักศึกษาระดับ ปริญญาโท จุลสารฉบับนี้จึงขอแนะนำเทคนิคการนำเสนอด้วยวาจา (Oral Presentation) ดังนี้
การเตรียมการ
มีการเตรียมการ ดังนี้
1. ค้นหาแหล่ง/การจัดประชุมที่จะไปนำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จากจดหมายประชาสัมพันธ์ หรือการประชาสัมพันธ์ทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยต้องตรวจสอบว่าที่ประชุมวิชาการนั้นมีรายงานการประชุม (Proceeding) ด้วย
2. สมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงาน โดยระบุวิธีการนำเสนอด้วยวาจา ศึกษาวิธีการลงทะเบียนให้ละเอียด เช่น ลงทะเบียนด้วยจดหมายราชการ โทรสาร ทาง e-mail การจ่ายค่าลงทะเบียน และต้องการให้ส่งเอกสารอะไรประกอบการสมัครบ้าง (ถ้าต่างประเทศให้ดูที่ Call for Abstract) ฯลฯ
3. ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอจากผู้จัด ระหว่างรอผลการตอบรับควรเตรียมเนื้อหาสำหรับการนำเสนอไปพร้อมกันด้วย
4. เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ศึกษารายละเอียดของวิธีการนำเสนอให้ดี ผู้จัดจะแจ้งเวลาและขั้นตอนการนำเสนอมาให้ว่าใช้เวลาคนละกี่นาที ภาษาที่ใช้นำเสนอ สถานที่/ห้องประชุม สื่อประกอบการพูด เช่น power point ผู้จัดให้นำสื่อไปเตรียมลงเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนเวลาพูดเมื่อไร ที่ใด เพื่อจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้ทันตามกำหนดเวลา
การเตรียมเอกสารผลงานประกอบการเสนอ
โดยทั่วไปในปัจจุบันการนำเสนอด้วยวาจาจะมีเวลาค่อนข้างจำกัด ประมาณ 10-15 นาทีสำหรับนำเสนอ และ 5-10 นาทีสำหรับการซักถาม การนำเสนอด้วยวาจาจะแตกต่างจากการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ ตรงที่นักวิจัยต้องนำเสนอผลงานวิจัยต่อที่ประชุม ซึ่งมีคนนั่งฟังอยู่หลายคน ดังนั้น จึงต้องเตรียมทั้งเอกสารและความพร้อมของนักวิจัยในการนำเสนอผลงาน ทั้งนี้ในปัจจุบันสื่อที่ใช้ในการนำเสนอผลงานส่วนใหญ่ใช้สไลด์ หรือ Power point โดยนักวิจัยจะต้องเตรียม ดังนี้
1. การวางแผน นักวิจัยต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่นำเสนอ ขนาดห้องและเวที ตำแหน่งเครื่องฉาย ตำแหน่งของผู้นำเสนอ ขนาดจอ ข้อกำหนดในการนำเสนอด้วยวาจา ลักษณะและจำนวนผู้เข้าประชุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนว่าจะเสนอรูปแบบใด รวมทั้งกำหนดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเตรียมสไลด์ด้วย
2. การออกแบบ นักวิจัยต้องต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเนื้อหาสาระส่วนใดจากรายงานการวิจัยทั้งฉบับไปนำเสนอด้วยวาจา โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการนำเสนอด้วยวาจาก่อนว่า ต้องการให้เกิดผลประโยชน์อันใดต่อผู้ชม หรือต้องการเสนอนวัตกรรม เพราะวัตถุประสงค์ที่ต่างกันทำให้การเตรียมการนำเสนอด้วยวาจาต่างกันด้วย เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์แล้วจึงออกแบบสไลด์ โดยมีแนวทาง ดังนี้
2.1 เลือกพื้นหลังของสไลด์ที่เหมาะกับผู้ประชุม ทั้งนี้สไลด์ทางวิชาการไม่นิยมมีรูปการ์ตูนหรือภาพ animation
2.2 กำหนดจำนวนสไลด์ โดยปกติหากใช้เวลานำเสนอ 10-15 นาที สไลด์ไม่ควรเกิน 10 แผ่น ซึ่งประกอบด้วย 1) ชื่อเรื่องและชื่อผู้วิจัย 2) ความเป็นมาหรือปัญหาการวิจัย 3) ความสำคัญและประโยชน์ของการวิจัย 4) วัตถุประสงค์การวิจัย 5) กรอบแนวคิดการวิจัย 6) รูปแบบการวิจัยและกลุ่มตัวอย่าง 7) การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล 8) ผลการวิจัยที่สำคัญ 9) สรุปอภิปรายผล และ 10) ข้อแสนอแนะจากการวิจัย
2.3 ใช้ลูกเล่น เช่น ภาพในบางสไลด์ เพื่อดึงดูดความสนใจ แต่ไม่ควรใช้ทุกสไลด์ เพราะจะทำให้น่าเบื่อ และควรเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
2.4 เลือกชนิดและขนาดตัวอักษรให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ผู้เข้าประชุมจะเห็นได้ชัด หากใช้ภาษาอังกฤษไม่ควรใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด เพราะทำให้อ่านยาก และอย่าใช้ชนิดของตัวอักษรมากกว่าสองชนิด หากต้องการเน้นคำให้ใช้ตัวหนาดีกว่าการใช้สีตัวอักษรที่แตกต่างกัน ควรใช้สัญลักษณ์ให้น้อยที่สุด และควรพิสูจน์อักษรอย่าให้มีคำผิด
2.5 ใช้สีพอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป และใช้โทนสีไม่ขัดกัน สีพื้นหลังไม่ควรใช้สีจัดจ้านจนทำให้ตัวอักษรหรือภาพไม่เด่น
2.6 จำนวนข้อความต่อหนึ่งสไลด์ไม่ควรมีเกิน 7 บรรทัด และหลีกเลี่ยงการ copy ตารางหรือข้อความจากบทความวิจัยมาวางบนสไลด์
2.7 ควรมีการตรวจทานการสะกดคำในทุกสไลด์
การนำเสนอด้วยวาจา
การนำเสนอด้วยวาจานั้นผู้นำเสนอจะต้องเตรียมตัวมากกว่าการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ ทั้งนี้เนื่องจากจะมีผู้ฟังจำนวนมากกว่าในเวลาและพื้นที่ที่กำหนดไว้ ดังนั้น ในการเตรียมตัวนำเสนอจะต้องเตรียมตัวก่อนนำเสนอ ระหว่างนำเสนอและหลังนำเสนอ โดยมีแนวทางกว้างๆ สำหรับผู้นำเสนอ จะต้องเตรียมการ ดังนี้
1. ก่อนนำเสนอ มีดังนี้
1.1 ต้องมีการซ้อมนำเสนอโดยทำเสมือนจริง ได้แก่นำเสนอพร้อมกับการแสดงสไลด์ และลักษณะการวางตัว เช่น ยืนหรือนั่ง ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายการสบตาผู้ฟังขณะนำเสนอ นอกจากนี้ จะต้องนำเสนอตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจนำเสนอให้เพื่อนช่วยวิจารณ์
1.2 เตรียมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ รวมถึงการแต่งหน้าของสุภาพสตรี และรองเท้าของสุภาพสตรีควรเป็นรองเท้าที่ใส่ถนัดเดินแล้วไม่มีเสียงดัง
1.3 เตรียมไฟล์สำรองโดยอาจบันทึกทั้งในแผ่นซีดี และแฮนดี้ไดรฟ์
1.4 สอบถาม version ของ power point ที่สถานที่ประชุมใช้
1.5 ควรไปถึงที่ประชุมก่อนเวลาเพื่อตรวจสอบไฟล์ข้อมูล เพราะบางครั้งอาจมีความคลาดเคลื่อนของสี ตัวอักษร และตรวจสอบห้องที่นำเสนอ
1.6 ควรพักผ่อนให้เต็มที่ในวันก่อนนำเสนอ
2. ระหว่างนำเสนอ มีดังนี้
2.1 ควรตั้งสติและสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง อย่าสร้างความกดดันให้ตนเอง หากรู้สึกตื่นเต้นให้หายใจเข้าอกลึกๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย
2.2 เริ่มต้นด้วยการทักทายผู้ฟัง ซึ่งไม่ควรเกินสามตำแหน่ง เช่น กรรมการ นักวิจัยและผู้มีเกียรติทุกท่าน แล้วต่อด้วยการแนะนำตนเองและเรื่องที่จะนำเสนอ
2.3 การนำเสนอควรเป็นในลักษณะของการเล่าเรื่อง ไม่ใช่การอ่านสไลด์ให้ฟัง หรือก้มหน้าอ่านจากข้อความที่เตรียมมาตลอดเวลา (อาจเหลือบดูได้บ้าง) ควรมีการสบตาผู้ฟังเป็นระยะ ควรพูดให้ชัดเจนตามหลักการออกเสียง พูดช้าๆ ชัดๆ หากมีผู้สอบถามอาจตอบคำถามทันทีหรือชี้แจงว่าขอตอบหลังนำเสนอเสร็จ และพยายามยิ้มให้ผู้ฟังไม่ควรทำหน้าตาเคร่งเครียดตลอดเวลาหรือทำท่าทางเหมือนไม่มั่นใจในผลงานของตนเอง ระวังเรื่องการใช้อวจนะภาษา โดยเฉพาะมือไม่ควรโบกมือหรือขยับมือไปมามากเกินไป
2.4 หากยืนนำเสนอ ระวังอย่ายืนบังสไลด์ และไม่ควรเดินไปมาบนเวทีมากเกินไป และควรยืนด้วยท่าทีที่สุภาพไม่แยกขาออกจากกันมากจนเกินไป
2.5 หลีกเลี่ยงการขนเอกสารหรือกระเป๋าขึ้นไปบนเวที เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำเสนอดูไม่มั่นใจด้วย
2.6 กรณีที่มีสัญญาณเตือนหมดเวลาจะต้องรวบรัดเนื้อหาให้จบตามเวลาที่กำหนดไว้
3. ช่วงหลังนำเสนอ มีดังนี้
3.1 ควรแสดงความของคุณผู้ดำเนินรายการผู้ประสานงาน
3.2 อย่ารีบปิดสไลด์ที่นำเสนอเพราะอาจมีผู้สนใจซักถาม หากมีผู้ซักถามควรตั้งใจฟังคำถาม และตอบคำถามด้วยความสุภาพ บางคำถามหากตอบไม่ได้ก็ไม่ควรฝืน หรือตอบแบบไม่ถูกต้อง ควรขอบคุณผู้ถามและบอกว่าประเด็นนี้จะนำไปหาข้อมูลเพิ่มเติม
3.3 บางครั้งอาจมีคนให้ข้อเสนอแนะ (แต่ไม่ใช่การถาม) ถ้าเป็นไปได้ควรน้อมรับข้อเสนอแนะนั้น ไม่ควรพยายามอธิบายหรือชี้แจง ซึ่งจะทำให้เหมือเป็นการโต้เถียง
3.4 ไม่ควรบอกแก่ผู้ฟังว่าหมดเวลานำเสนอหรือหมดเวลาซักถามแล้ว แต่ควรรอให้กรรมการหรือผู้ดำเนินรายการเป็นผู้บอก
3.5 เมื่อกรรมการหรือผู้ดำเนินรายการบอกหมดเวลา ควรขอบคุณอีกครั้งแล้วปิดสไลด์และลงจากเวทีนำเสนอ
...................................................................
ที่มา
การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย ค้นคืน 31 พฤศจิกายน 2555จาก http://km-bcns.blogspot.com/2011/07/blog-post_22.html
นงลักษณ์ วิรัชชัย เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัย ค้นคืน 31 พฤศจิกายน 2555จาก
http://business.east.spu.ac.th/depart/research_news.php
............................................. |