กลับหน้าแรก มสธ.
| STOU | Home |
About STOU
| แนะนำ มสธ. | การบริหาร | บุคลากรและการติดต่อ |
Administrator
ความเป็นมา
ความเป็นมา

 

 

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัย

แนวคิดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเปิด เป็นความพยายามที่รัฐบาลจะขยายโอกาส เพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษา แก่ประชาชนให้มากที่สุด แนวคิดนี้ได้เคยนำมาใช้แล้วในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ได้จัดการศึกษาระบบ "ตลาดวิชา" รับนักศึกษาโดยไม่มีการสอบคัดเลือก ไม่บังคับให้เข้าฟังบรรยาย แต่ยังคงใช้วิธีการจัดการศึกษา ในลักษณะเดียวกับ มหาวิทยาลัยทั่วไป คือใช้ชั้นเรียนเป็นหลัก นักศึกษาอาจศึกษาได้ด้วยตนเอง หรืออาจเข้าฟังบรรยาย หรือไปพบอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยได้ ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เปลี่ยนมาเป็นระบบจำกัดการรับนักศึกษาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

ในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเปิดหลักสูตรการศึกษามากกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ์ในระยะที่เปิดสอนในระบบตลาดวิชา และสามารถรับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงจัดการศึกษาโดยอาศัยชั้นเรียนเป็นหลัก เช่นเดียวกันทำให้มากวิทยาลัย รามคำแหงประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาคารสถานที่เรียน ไม่สามารถขยายให้เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

หากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะขายการจัดการศึกษาที่ดำเนินการอยู่นี้ให้เพียงพอกับความต้องการ ของผู้เรียนแล้ว รัฐบาลและมหาวิทยาลัยจะต้องรับภาระหนักในด้านการลงทุนซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ีไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อเป็นการขยายและกระจายโอกาส ทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชน ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นอีกแห่งหนึ่ง มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด รัฐบาลจึงดำเนินการดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช" ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" และพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยจึงกำหนดวันที่ 5 กันยายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย

ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีอำนาจให้ปริญญา และประกาศนียบัตรที่มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยของรัฐอื่น ๆ ทุกประการ

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดแรก รวมทั้งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก

หลังจากได้ใช้เวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมที่จะเปิดสอนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2523 สาขาวิชาที่เปิดสอน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ

ต่อมาในปี พ.ศ.2525 มหาวิทยาลัยได้ขยายการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นในสาขาวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ และสาขาวิชา ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ ปีการศึกษา 2526 มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนสาขาวิชารัฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2527 เปิดสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ในปีการศึกษา 2538 มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในปี พ.ศ.2544 ได้เปิดสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เพิ่มขึ้นอีกสาขาวิชาหนึ่ง ซึ่งรวมเป็น 12 สาขาวิชา



ปณิธานและวัตถุประสงค์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตมุ่งพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป เพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาต่อสำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา เพื่อสนองความต้องการของบุคคลและสังคม ด้วยการจัดระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งใช้สื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิธีการอื่นที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ

ด้วยปณิธานดังกล่าว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงมีจุดมุ่งหมายดังนี้

  • ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเพิ่มพูนวิทยฐานะตามความต้องการของบุคคลและสังคม ทำการวิจัย ค้นคว้า
  • เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
  • ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมในรูปของการเผยแพร่ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพของประชาชนโดยทั่วไป
  • ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและเสริมสร้างทัศนคติที่ดีงาม เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย

 
สัญลักษณ์

ตราประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรใน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์เรียงกัน ภายใต้พระมหามงกุฏ
นำมาประกอบกับส่วนยอดของเจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

สีประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยกำหนดให้ สีเขียว และ สีทอง เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย
สีเขียว เป็นสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สีทอง เป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ ต้นปาริชาตหรือต้นทองหลางลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
เนื่องจากมีใบเป็นสีเขียวและเส้นใบเป็นสีทอง ตรงกับสีเขียวทองซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย

 
รางวัล

รางวัลความเป็นเลิศ
ปี 2538 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับรางวัล AWARD OF EXCELLENCE จาก THE INTERNATIONAL COUNCIL FOR DISTANCE EDUCATION และ THE COMMONWEALTH OF LEARNING ในประเภทสถาบันที่มีความเป็นเลิศในด้านการจัดการศึกษาทางไกล โดยคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาที่ ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลทั้งหมด 79 ประเทศทั่วโลก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นสถาบันเดียวที่ได้รับ รางวัลนี้ ในฐานะที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติภารกิจเป็นเลิศ ในด้านการขยายโอกาสทางการศึกษาการ พัฒนาเทคนิคด้านการเรียน การสอนทางไกล และการสนับสนุนการศึกษาทางไกลในระดับ ประเทศและระดับภูมิภาค
รูปของรางวัลความเป็นเลิศ
รูปของรางวัลการบริหารดีเด่นแห่งเอเชีย
รางวัลการบริหารดีเด่นแห่งเอเชีย
THE ASIAN MANAGEMENT AWARD ปี 2536 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับรางวัล THE ASIAN MANAGEMENT AWARD สาขาการพัฒนาการบริหารดีเด่น จาก THE ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT รางวัลนี้เป็นรางวัลสำหรับองค์การ หรือบริษัทที่มีผลงานการบริหารดีเด่น ในด้าน ต่าง ๆ จาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย การคัดเลือกหน่วยงานที่จะได้รับรางวัล การพัฒนาการบริหารดีเด่นนี้ จะพิจารณาหน่วยงานหรือ องค์การ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร และมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชาชน โดยผ่านขั้นตอนการพิจารณาทั้งจากการ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน และการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ทางการบริหาร
รางวัลสังข์เงิน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับรางวัลสังข์เงิน ประจำปี 2527 จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการประชาสัมพันธ์ สาขาการศึกษา โดยที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการสอนทางไกลสมบูรณ์แบบแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ประยุกต์เทคโนโลยีทางสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ มาใช้ในการจัดการศึกษาถึงบ้าน และบริการถึงตัว เป็นผลให้เกิดความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษา ในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกท้องถิ่นในประเทศไทย
รูปของรางวัลสังข์เงิน
รูปของรางวัลเมขลา รางวัลเมขลา
รายการกฎหมายเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์เพื่อบริการสังคม ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ได้รับรางวัลเมขลา ประจำปี 2535 ประเภทรายการส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมาย จากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่ง ประเทศไทย

 
 
 
footer

ควรใช้ความละเอียดหน้าจอที่ 1024 by 768 pixels และ Internet Explorer version 5.5 + ขึ้นไป
จัดทำโดย คณะทำงานเผยแพร่สารสนเทศในระบบอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
Copyright © STOU Sukhothai Thammathirat OpenUniversity. All rights reserved.