ระบบการเรียนการสอนทางไกล

     มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ ระบบการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนที่ไม่มีชั้นเรียน ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกัน แต่สามารถมีกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันได้โดยอาศัยสื่อประสม ได้แก่ สื่อทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ การสอนเสริม และผู้เรียนผู้สอนมีโอกาสพบกันอยู่บ้าง ณ ศูนย์บริการการศึกษาเท่าที่จำเป็น ผู้เรียนจะใช้วิธีการเรียนด้วยตนเองในเวลาและสถานที่ที่สะดวก
     ในระยะแรก ระบบการเรียนการสอนทางไกลที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชใช้เป็นระบบสื่อประสม โดยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์ ในรูปของเอกสารการสอน แบบฝึกปฏิบัติ และเทปเสียงที่ส่งให้นักศึกษาทางไปรษณีย์เป็นสื่อแกนกลาง มีรายการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ การสอนเสริม ณ ศูนย์บริการการศึกษาทุกจังหวัด และการศึกษาค้นคว้าจากแหล่ง วิทยาการในชุมชนที่มหาวิทยาลัยจัดให้เป็นสื่อประกอบ (วิจิตร ศรีสอ้าน 2529 : 5 - 7)
     ต่อมา ในปี 2542 มหาวิทยาลัยได้พัฒนาระบบการสอนทางไกล โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบและสื่อการสอนทางไกล และสภามหาวิทยาลัยได้ประกาศใช้ “ ระบบการสอนทางไกลตามแผน มสธ.2543” ในการประชุมครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่14 มีนาคม 2544 โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 9 องค์ประกอบดังนี้

 
1.ปรัชญาและวิสัยทัศน์
     เป็นแนวทางกว้างๆ สำหรับการดำเนินงานของหลักสูตรต่างๆ ที่สอดคล้องกับปรัชญาการเรียนการสอนทางไกล และเน้นการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง จากแหล่งความรู้และวิทยาการที่จัดในรูปฐานความรู้ผ่านสื่อประสมประเภท ต่างๆ รวมถึงแหล่งวิทยาการในชุมชนและสังคม
2.สภาพ ปัญหา และความต้องการของสังคม
     เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพสังคม (โครงสร้างพื้นฐานของสังคม และของนักศึกษา/ผู้เรียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางกายภาพ จิตภาพ และสังคมที่มีผลกระทบต่อวิถีการศึกษาของนักศึกษา/ผู้เรียน) ปัญหาสังคม (จุดอ่อน สภาพบีบคั้น และข้อจำกัด ที่เกี่ยวกับหรือเป็นผลมาจากการด้อยคุณภาพด้านกำลังคน) และความต้องการของสังคม (ข้อมูลที่สะท้อนสิ่งที่สังคมคาดหวังเพื่อให้ได้กำลังคนที่มีคุลักษณะความรู้ และประสบการณ์) เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา/ฝึกอบรม
3.ธรรมชาตินักศึกษาและมาตรฐานบัณฑิต
     ธรรมชาตินักศึกษา เป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษา อายุ อาชีพ สถานภาพทางสังคม และความพร้อมในการรับสื่อ และความคาดหวังของนักศึกษา/ผู้เรียน ส่วนมาตรฐานบัณฑิตครอบคลุมมาตรฐานด้านประสบการณ์มาตรฐานด้านองค์ความรู้ มาตรฐานด้านคุณธรรม และมาตรฐานด้านทักษะชีวิตเพื่อการดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
4.บริบทการเรียนรู้
     บริบทการเรียนรู้ครอบคลุมสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ที่เป็นตัวแทนของสถานการณ์ และสภาพแวดล้อม ที่บัณฑิต/ผู้สำเร็จการศึกษาจะออกไปเผชิญชีวิตและการงานอย่างแท้จริง
5.หลักสูตร
     เป็นมวลประสบการณ์ที่มุ่งจะถ่ายทอดไปสู่นักศึกษา/ผู้เรียน เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เป็นหลักสูตรที่อิงประสบการณ์ ที่จัดเนื้อหาสาระของแต่ละหลักสูตรในลักษณะบูรณาการเพื่อให้ประสารสัมพันธ์ กันอย่างเหมาะสมในรูปของชุดวิชา
6.ชุดการสอนทางไกล
     เป็นชุดสื่อประสมที่เป็นแหล่งความรู้สำหรับการเผชิญประสบการณ์ จำแนกตามโครงสร้างสื่อการสอนทางไกล เป็นชุดการสอนทางไกลอิงสื่อสิ่งพิมพ์ และชุดการสอนทางไกลอิงสื่อคอมพิวเตอร์
7.การถ่ายทอดและเผชิญมวลประสบการณ์
     เป็นวิธีการและช่องทางการถ่ายทอดเนื้อหาสาระและมวลประสบการณ์ และแหล่งเผชิญมวลประสบการณ์ ที่สอดคล้องกับชุดการสอนทางไกลอิงสื่อพิมพ์และชุดการสอนทางไกลอิงสื่อคอมพิวเตอร์
8.การประเมิน
     เป็นการตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพขั้นสุดท้าย ทั้งการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา/ผู้เรียนอย่างครบวงจร การประเมินเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการสอนทางไกลของมหาวิทยาลัยทั้งระบบ
9.การประกันคุณภาพ
     เป็นกระบวนการควบคุม ตรวจสอบ และประเมินคุณภาพ ทั้งในส่วนกระบวนการและผลลัพธ์ของระบบการสอน ทางไกล

แผนภูมิแสดงแบบจำลองระบบการสอนทางไกลมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แผน มสธ. 2543


(ระบบการสอนทางไกล STOU PLAN 2000 คณะกรรมการพัฒนาระบบและสื่อการสอนทางไกล : 4-7)

     ปัจจุบันมหาวิทยาลัยใช้ระบบการสอนทางไกลตามแผนมสธ.2543 เป็นแนวทางการจัดทำแผนบริหาร แผนวิจัย แผนวิชาการ แผนบริการทางวิชาการ แผนอนุรักษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม การปรับการจัดองค์กรสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมืออุปกรณ์ และบุคลากร


   

 

Last updated : 28-Aug-2012 4:25 PM
© 2002-2012 Sukhothai Thammathirat Open University. All rights reserved.