การเรียนรู้ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์
นักศึกษาที่ศึกษาด้วยตนเองสามารถที่จะเลือกวิธีการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองได้ตามความถนัด ในที่นี้ ขอแนะนำวิธีการศึกษาแบบหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูง คือ วิธีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการในการศึกษาค้นคว้า หรือ การปฏิบัติที่เป็นระบบโดยอาศัยข้อมูลที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หรือ พิสูจน์ได้ เป็นข้อพิจารณาและตัดสินอย่างมีเหตุผล นักศึกษาจึงสามารถคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ เกี่ยวกับสาระที่ศึกษาได้ดียิ่ง
ขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์มีลำดับดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตั้งคำถาม
ขั้นตอนที่ 2 การตั้งสมมติฐาน
ขั้นตอนที่ 3 การหาข้อมูล
ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนที่ 5 การสรุปผล
ขั้นตอนที่ 1 การตั้งคำถาม
การตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เนื่องจากความสงสัยเป็นจุดที่นำพาไปสู่การหาคำตอบ การตั้งคำถามในการเรียนรู้ชุดวิชาสามารถกระทำได้จากการที่นักศึกษาเริ่มอ่าน สำรวจแผนการสอนประจำหน่วยและแผนการสอนประจำตอนในเอกสารการสอน โดยเฉพาะในส่วนของแนวคิด และ วัตถุประสงค์ ซึ่งนักศึกษาจะนำมาตั้งคำถามใน การศึกษาด้วยตนเองได้อย่างมากมาย เช่น
- อะไรเป็นสาเหตุของปัญหาโภชนาการในประเทศไทย" หรือ
- เทคโนโลยีชีวภาพคืออะไร" หรือ
- เหตุใดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจึงสามารถดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น หรือ
- ต้นไม้มีความสัมพันธ์อย่างไรในการรักษาสมดุลของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ในทางปฏิบัติอย่างง่าย นักศึกษาอาจตั้งคำถามย้อนรอยแนวคิดข้อละอย่างน้อย 1 คำถาม ลักษณะคำถามที่ตั้งขึ้น ควรเป็นคำถามที่ท้าทาย ในทำนองว่า แนวคิดที่เขียนไว้ในแผนการสอนนั้น ตนเองยังไม่เชื่อ จนกว่าจะได้มีการพิสูจน์ หรือแสดงข้อมูลให้ประจักษ์เสียก่อน การที่ยังไม่เชื่อ และต้องหาข้อมูลมายืนยันจะช่วยให้เกิดการใช้ปัญญาไตร่ตรองในข้อความรู้นั้น
ขั้นตอนที่ 2 การตั้งสมมติฐาน
การตั้งสมมติฐานเป็นเพียงการคาดคะเนคำตอบ ต่อคำถามที่ตั้งไว้อย่างมีเหตุมีผล เราสามารถนำขั้นตอนการตั้งสมมติฐานมาใช้ในการเรียนได้ สืบเนื่องจากขั้นตอนแรกที่ให้นักศึกษาลองตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาตาม แนวคิดและวัตถุประสงค์นั้น ให้นักศึกษาลองคิดหาคำตอบล่วงหน้าไว้ก่อนซึ่งอาจจะเป็นการใช้ประสบการณ์การเรียนรู้ในอดีตมาเป็นคำตอบได้ คำตอบที่ตั้งไว้ในสมมติฐานนี้อาจจะตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จที่ค้นพบในขั้นต่อไป ประโยชน์ของการตั้งสมมติฐาน จะช่วยให้นักศึกษาใช้ความคิดที่จะหาคำตอบล่วงหน้าเสียก่อน เป็นการทดสอบความคิดความรู้เดิมที่จะนำมาใช้คาดคะเนคำตอบ ซึ่งคำตอบที่ตั้งขึ้นมานั้น อาจถูกต้องหรือไม่ก็ได
ขั้นตอนที่ 3 การหาข้อมูล
การหาข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการนำข้อมูลมาเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ ข้อมูลในที่นี้คือ เนื้อหาในเอกสารการสอน เป็นการอ่านเอกสารการสอนทีละเรื่อง ที่ละตอน อย่างใคร่ครวญเพื่อที่จะนำไปตอบคำถามที่ได้ตั้งไว้ การอ่านอย่างใคร่ครวญเป็นการอ่านที่ทำให้คิดอย่างมีเหตุ มีผลจากการอ่านในเอกสารการสอน มิใช่การหาเหตุผลขึ้นมาจากสามัญสำนึก ณ จุดนี้ มักพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ที่นักศึกษาอ่านเนื้อหาโดยอาศัยเหตุผล หรือประสบการณ์ตามสามัญสำนึก ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ในเอกสารการสอน ซึ่งทำให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาคลาดเคลื่อนไป
การหาข้อมูลในขั้นนี้ จึงเป็นการอ่านเพื่อให้เข้าใจ ตามที่ผู้เขียนได้เขียนอธิบาย และมีเหตุผลอะไร ตามกรอบแนวคิดของตอนนั้น ๆ โดยพยายามเลี่ยงการคิดโต้แย้ง หรือการทำความเข้าใจโดยสามัญสำนึก
ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการนำข้อมูลในส่วนเนื้อหาสาระ มาพิจารณาว่าเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ กล่าวคือ คำตอบที่คาดคะเนล่วงหน้ากับข้อมูลที่ได้มาเป็นอย่างไร แล้ววิเคราะห์เพื่อหาคำตอบที่แท้จริงที่ควรเป็น โดยการใคร่ครวญ ไตร่ตรองดูว่า ข้อมูลที่ได้มา คือเนื้อหาสาระที่ได้อ่าน มีสาระอย่างไร มีเหตุผลอะไร มีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาเดิมอย่างไร มีความน่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน มีการอ้างอิงสนับสนุนหรือไม่ และนำมาพิจารณาร่วมกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นสนับสนุนหรือขัดแย้งกับสมมติฐาน ถ้าเนื้อหาที่ได้อ่านมา รวมทั้งเหตุผลมีความสอดคล้องกับแนวคำตอบที่ตั้งไว้ นักศึกษาก็ยืนยันสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ถ้าข้อมูลที่ได้ขัดแย้งกับสมมติฐานที่ ตั้งไว้ แสดงว่า สมมติฐานที่ตั้งไว้เป็นอันตกไป เป็นอันต้องยอมรับในสาระและเหตุผลที่อาจารย์ผู้สอนได้เขียนไว้ในเอกสารการสอน
ขั้นตอนที่ 5 การสรุปผล
การสรุปผล เป็นการย้ำยืนยันในผลที่ได้ศึกษาอย่างใคร่ครวญมาว่า ข้อเท็จจริงที่ได้คืออะไร สอดคล้องกับแนวคิด และ วัตถุประสงค์ในแผนการสอนหรือไม่ นักศึกษาควรสรุปด้วยความคิดของนักศึกษาเอง และ จดบันทึกเป็นสาระสำคัญด้วยสำนวนของนักศึกษาเองลงในแบบฝึกปฏิบัติ
สรุป วิธีการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ดังกล่าว จะช่วยให้นักศึกษา ฝึกทักษะการคิดอย่างมีระบบ สามารถวิเคราะห์และตัดสินข้อมูลที่ได้จาก การอ่านเอกสารการสอนอย่างมีเหตุมีผล ตลอดจนสามารถสรุปสาระที่ได้มาอย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การศึกษาหาความรู้ในระดับสูง ให้เกิดความรอบรู้จริงได้ต่อไป
(จาก เรียนรู้ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ ข่าว มสธ. มกราคม 2541)