รอยพระพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ของประเทศ ตามคติอินเดียถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังพุทธกาลไม่นานัก โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศต่อพระพุทธเจ้า เป็นของนับถือแทน พระพุทธรูป (สมัยก่อนชาวชมพูทวีป ไม่นิยมสร้างรูปเคารพ เพราะเป็นการไม่เคารพ เหมือนเป็นการดูหมิ่น ภายหลังพระเจ้ามิลินท์ หรือ เมนันเดอร์ ราชาชาติกรีก ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา จึงเริ่มสร้างพระพุทธรูป ซึ่งจะคล้ายเทวรูปของกรีกมาก ซึ่งเรียกว่าพระพุทธรูปสมัยคันธาระ) แต่ตามคติของลังกา เชื่อกันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ไว้ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น รอยพระพุทธบาทเป็นบริโภคเจดีย์อย่างหนึ่งด้วย คือ เป็นของเนื่องใน ตถาคตเจ้า เหมือนกับสังเวชนียสถาน 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานรอยพระพุทธบาท ซึ่งอ้างกันว่าเป็นรอยที่พระพุทธเจ้า ได้เสด็จไปเหยียบไว้ ด้ยพระองค์เอง มีอยู่ 5 แห่ง ซึ่งก็มีตำนานต่าง ๆ กัน คือ
- ขาสุวรรณมาลิก
- เขาสุมนกูฏ
- เมืองโยนก
- หาดทรายในลำน้ำนัมมทานที
- เขาสุวรรณบรรพต
รอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ประดิษฐานบนไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเรียกันว่า "เขาสัจจพันธคีรี" ปัจจุบันอยู่ในตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 140 กิโลเมตร รอยพระพุทธบาทนี้ มีขนาดกว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต และลึก 11 นิ้ว ค้นพบในรัชสมัยของ พระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163-2171) ประดิษฐานอยู่ในมณฑปน้อย อันมีพระมณฑปใหญ่สวมครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง |