กลับหน้าแรก มสธ.
Regional Distance Education Center-Udonthani

| หน้าแรก | ความเป็นมา | การแบ่งส่วนราชการ | ข้อมูลบุคลากร | วิชาการสู่สังคม | บริการต่างๆของศูนย์ | ข่าวและสาระน่ารู้ | รายการวิทยุ | ภาพกิจกรรม | กระดานสนทนา | 


 :--วิชาการสู่สังคม--:

 เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์

เดือนมีนาคม - เมษายน

เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน

 เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

เดือนกันยายน - ตุลาคม

เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม

 :--****************************--:


การตัดสินใจ
(Decision Making)

 

เทพ สงวนกิตติพันธุ์นักวิชาการศึกษา
ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ.
อุดรธานี

1. ความสำคัญของการตัดสินใจ 2. ความขัดแย้งใจของบุคคลในการตัดสินใจ
3. ความสำคัญของข้อมูลในการตัดสินใจ 4. กระบวนการของการตัดสินใจที่ดี
5. สาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด

 

 

1. ความสำคัญของการตัดสินใจ

                ความสามารถในการทำงานหรือการบริหารงาน นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในงานที่ปฏิบัติแล้วสิ่งสำคัญประการหนึ่งของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้างานหรือผู้บริหารก็คือ การตัดสินใจ (Decision Making) การตัดสินใจเปรียบเสมือนหัวใจของการปฏิบัติงานและบริหารงาน ทั้งนี้เพราะการตัดสินใจจะมีอยู่ในแทบทุกขั้นตอนและทุกกระบวนการของการทำงาน แม้แต่บุคคลทั่วไปก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องการตัดสินใจได้ นับตั้งแต่บุคคลตื่นขึ้นมาก็จะมีการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชุดที่จะใส่ เวลาที่จะออกจากบ้าน เส้นทางที่จะใช้เดินทาง เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าการตัดสินใจในเรื่องทั่ว ๆ ไปเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพิจารณาอะไรมากมายนัก แม้ตัดสินใจแล้วผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก แต่ถ้าเรื่องที่ตัดสินใจนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งหมายถึง เรื่องที่หากตัดสินใจแล้วผิดพลาดจะเกิดความเสียหายมากหรือแก้ไขได้ยาก การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ เหล่านี้ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจลงไป ทั้งนี้การตัดสินใจในบางเรื่องของบุคคลอาจหมายถึงชีวิตหรืออนาคตของบุคคลนั้น ทำนองเดียวกันกับการตัดสินใจในบางเรื่องของผู้นำหรือผู้บริหารอาจหมายถึงความอยู่รอดหรือไม่ ของกลุ่ม ของหน่วยงาน หรือขององค์การ เป็นต้น

Top

 

2. ความขัดแย้งใจของบุคคลในการตัดสินใจ

                      เนื่องจากความต้องการของบุคคลหลาย ๆ อย่างอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งใจเมื่อต้องเลือกตัดสินใจ ซึ่งปรากฏได้ 3 ลักษณะ คือ

2.1   Approach and Approach Conflict เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากต้องตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ เพียงอย่างเดียวจากสิ่งที่ต้องการหรือชอบทั้งคู่หรือทั้งหมด เช่น ต้องการทั้งรถยนต์และบ้านแต่ต้องเลือกเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

2.2    Avoidance and Avoidance Conflict เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากต้องตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ เพียงอย่างเดียวจากสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่ชอบทั้งคู่หรือทั้งหมด เช่น ไม่ต้องการถูกลดขั้นเงินเดือน หรือตัดเงินเดือน  แต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น

2.3  Approach and Avoidance Conflict เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากต้องตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ จากสิ่งที่มีทั้งความต้องการหรือชอบและไม่ต้องการหรือไม่ชอบอยู่ในของแต่ละสิ่งนั้น ๆ เช่น ทางลัดแต่ถนนไม่ดีกับทางอ้อมแต่ถนนดี ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง หรือ ชอบของหวานแต่กลัวอ้วน ต้องเลือกว่า  จะกินของหวานหรือไม่กิน เป็นต้น

        ภาวะความขัดแย้งใจของบุคคลดังกล่าวจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเสมอ ก่อให้เกิดปัญหาแก่บุคคลในการตัดสินใจ ดังนั้นบุคคลจึงควรอาศัยประสบการณ์ และข้อมูล    ต่าง ๆ  ตลอดจนควรจะมีกระบวนการที่ดีในการตัดสินใจจึงจะช่วยลดปัญหาความผิดพลาดในการตัดสินใจลงได้

Top

 

3. ความสำคัญของข้อมูลในการตัดสินใจ

                      การตัดสินใจที่จะให้เกิดความผิดพลาดน้อยนั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ เรื่องข้อมูล การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หากผู้ตัดสินใจมีการหาข้อมูลและได้ข้อมูลที่ดีในการตัดสินใจ ก็จะทำให้การตัดสินใจนั้นมีโอกาสของความผิดพลาดเกิดขึ้นได้น้อย ในทางตรงกันข้ามาหากผู้ที่จะตัดสินใจละเลยการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจแล้ว โอกาสของความผิดพลาดก็ย่อมเกิดขึ้นได้มากในทำนองเดียวกัน

                                ไม่แน่นอน             เสี่ยง            แน่นอน

 

                                          
 

 
                                                 
                                     
มืด
                  สลัว              สว่าง

3.1    การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจแบบต่าง ๆ

              การใช้ข้อมูลของบุคคลในการตัดสินใจ อาจจัดได้เป็น  3  ลักษณะ ดังนี้

1)     การตัดสินใจที่อยู่ในบริเวณที่มืด (Dark area) หมายถึงการตัดสินใจที่ไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลน้อย ทำให้ผลของการตัดสินใจไม่แน่นอน (Uncertainty) เกิดความผิดพลาดได้ง่าย

2)    การตัดสินใจที่อยู่ในบริเวณที่สลัว (Gray area) หมายถึงการตัดสินใจที่มีข้อมูลอยู่บ้างแต่อาจไม่เพียงพอผลของการตัดสินใจจึงต้องเสี่ยง (Risk)  ซึ่งความผิดพลาดยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้

3)     การตัดสินใจที่อยู่ในบริเวณที่สว่าง (Light area) หมายถึงการตัดสินใจที่มีข้อมูลมากและเป็นข้อมูลที่ดี ผลของการตัดสินใจจะมีความแน่นอน (Certainty) มากขึ้น ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก

3.2     ลักษณะของข้อมูลที่ดีในการตัดสินใจ

        1)   ต้องมาจากแหล่งเชื่อถือได้           4)  มีมากพอ

        2)   มีความถูกต้อง                             5)  เป็นปัจจุบัน

        3)   มีความชัดเจน

Top

 

4.  กระบวนการของการตัดสินใจที่ดี

               การตัดสินใจของบุคคลจะมีตั้งแต่เรื่องที่ง่าย ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ซับซ้อนยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายน้อยไปจนถึงเสียค่าใช้จ่ายมาก มีเวลาในการตัดสินใจมากไปจนถึงมีเวลาน้อย เป็นต้น ดังนั้นการตัดสินใจที่ดีจึงควรมีกระบวนการที่ดีในการตัดสินใจจึงจะช่วยให้การตัดสินใจมีความผิดพลาดน้อยที่สุดและเกิดผลดีมากที่สุด โดยทั่วไปแล้วกระบวนการตัดสินใจประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้

4.1       กำหนดเรื่องที่จะตัดสินใจ (Decision Statement)

4.2      กำหนดเกณฑ์ที่ต้องการ (Criteria)

4.3      ตัวเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดมีกี่ตัว (Alternatives)

4.4       วิเคราะห์ส่วนดีของตัวเลือกแต่ละตัว (Benefit Analysis)

4.5       วิเคราะห์ส่วนเสียของตัวเลือกแต่ละตัว (Risk Analysis)

4.6       เปรียบเทียบส่วนดีและส่วนเสียของตัวเลือกทุกตัวและตัดสินใจ (Decision)

 

 

Top

 

5.      สาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด

                      การตัดสินใจของบุคคลที่มักจะเกิดความผิดพลาดอาจเกิดสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายสาเหตุ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญ ๆ ที่พอจะยกมากล่าวได้ คือ

5.1       การตัดสินใจโดยอาศัยนิสัยและความเคยชิน

5.2      การตัดสินใจที่ขาดข้อมูลหรือมีข้อมูลที่ไม่ดี

5.3       การตัดสินใจที่มีเวลาจำกัดหรือรีบร้อน ขาดความระมัดระวัง

5.4       การตัดสินใจที่ถูกอิทธิพลบางอย่างครอบงำ ทำให้เกิดอคติหรือเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

5.5       การตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนกิเลส ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง
                                               ฯลฯ

สรุป
       
การตัดสินใจนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและการทำงานของบุคคล และถือเป็นบทบาทที่สำคัญของผู้นำหรือผู้บริหารในการจัดการหรือบริหารงานซึ่งจะนำพาให้เกิดความอยู่รอดหรือไม่ ของกลุ่ม หน่วยงาน หรือองค์การ การตัดสินใจที่ดีนั้นจะก่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ดังนั้นผู้ที่จะตัดสินใจจึงควรหาข้อมูลหรือมีข้อมูลที่ดีและมีกระบวนการที่ดีให้การตัดสินใจ ตลอดจนตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดอีกด้วยแล้ว การตัดสินใจก็จะเกิดผลดีมากที่สุดและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

 

พบกันใหม่เดือนหน้าครับ
สวัสดี


  Top