![]() |
|
---|---|
ฉบับที่ 2 ประจำเดือน มีนาคม 2548 การคลายเครียดโดยการใช้ยาการคลายเครียดโดยการใช้ยา เป็นวิธีการคลายเครียดที่ควรจะทำต่อเมื่อใช้วิธีการคลายเครียดด้วยตนเองแล้วยังไม่หายเครียด หรือยังคงมีความเครียด ความวิตกกังวลอยู่ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องคลายเครียดด้วยการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะไปซื้อหายาคลายเครียดมารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยาคลายเครียดหรือยากล่อมประสาทตามความเหมาะสมของพยาธิสภาพ ยากล่อมประสาทหรือยาคลายเครียดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยจะออกฤทธิ์ไปกระตุ้นหรือกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะอารมณ์และจิตใจ ยากลุ่มนี้จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของสมอง อารมณ์ และร่างกาย ทำให้จิตใจสงบคลายความวิตกกังวลได้ 1. ประเภทของยากล่อมประสาท ( ยาคลายเครียด ) มี 2 ประเภทคือ 1.1 ยากล่อมประสาทที่ออกฤทธิ์แรง (Major Tranquilizers) ยากล่อมประสาทประเภทนี้ ออกฤทธิ์ตั้งแต่ทำให้ร่างกายและสมองมีอาการซึมลงจนถึงหลับสนิท เช่น ยา Phenothiazines ยานี้มักใช้สำหรับผู้ที่มีอาการทางจิตชนิดที่มีอาการประสาทหลอน เนื่องจากยาประเภทนี้ออกฤทธิ์แรง การใช้จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น หากใช้ยากล่อมประสาทประเภทนี้เป็นเวลานาน จะเกิดความต้านทานยาและทำให้เกิดพิษข้างเคียงค่อนข้างมาก 1.2 ยากล่อมประสาทที่ออกฤทธิ์อ่อน (Minor Tranquilizers) ยากล่อมประสาทประเภทนี้จะออกฤทธิ์ช่วยระงับความวิตกกังวล และคลายความเครียดของสมองและอารมณ์ ทำให้นอนหลับง่าย การใช้ยาประเภทนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาได้ และเกิดการเสพติดได้ด้วย ตัวอย่างยาประเภทนี้ที่ใช้กันมากและรู้จักกันดี คือ Diazepam หรือ Valiam 2. อันตรายจากการใช้ยากล่อมประสาท ( ยาคลายเครียด ) การใช้ยากล่อมประสาทในปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจของผู้ใช้ได้ดังนี้ 2.1 ยากล่อมประสาทจะมีตัวยาที่ออกฤทธิ์กดสมอง กดการหายใจ ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง จึงทำให้หมดสติได้ 2.2 เมื่อใช้ยากล่อมประสาทเป็นระยะเวลานานและใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการเสพติดได้ 2.3 ผู้ใช้ยากล่อมประสาทบางราย อาจทำให้อ้วนขึ้นหรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยากล่อมประสาทจะออกฤทธิ์ ทำให้มีอาการอยากอาหารมากขึ้น จึงรับประทานอาหารได้มากขึ้น 2.4 ยากล่อมประสาทจะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่อยู่ในสภาพที่ตื่นตัว จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเกิดอุบัติเหตุในการขับรถได้ เอกสารอ้างอิงการป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เอกสารเผยแพร่เรื่อง ยากล่อมประสาท ( ยาคลายเครียด )
*****************
|