POKA – YOKE : ระบบกันพลาดกับการบริหารโรงพยาบาล

               บางคนอาจเคยได้ยินคำ “Poka– Yoke” นี้มาแล้ว และหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน ดังนั้น จะขอกล่าวถึงประวัติ “Poka– Yoke” ก่อน คำนี้มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 2 คำ คือ คำว่า “POKA” ( อ่านว่า โพ - คา ) แปลว่า การผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือพลั้งเผลอ แล้วคำว่า “Yoke” ( อ่านว่า โย - เกะ ) แปลว่า การป้องกัน ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า การป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ผู้ที่ตั้งปรัชญานี้ คือ Dr.Shigeo Shingo วิศวกรชาวญี่ปุ่น

          ในการป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจนั้น ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นจากคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องจักร และกระบวนการด้วย ในธุรกิจอุตสาหกรรมมีการใช้ Poka –Yoke เพื่อป้องกันความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุด คือ เกิดจาก “ คน ” Dr.Shigeo Shingo กล่าวว่า “ สาเหตุของความเสียหายอยู่ที่ความผิดพลาดของพนักงาน และความเสียหายนั้น คือ ผลจากไม่เอาใจใส่ความผิดพลาดเหล่านั้น ความผิดพลาดนั้นจะไม่เกิดความเสียหายได้ ถ้าพนักงานพบความเสียหายและขจัด / กำจัดความเสียหายนั้นก่อน ”

ในการบริหารโรงพยาบาลสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) สำหรับการให้บริการสุขภาพได้เช่นกัน ขั้นตอนการทำ Poka –Yoke ให้สำเร็จ มีดังนี้

1. สรุปข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นแม้จะมีวิธีการ / การทำในการป้องกันความผิดพลาด

ในขั้นตอนนี้มีคำถามง่ายๆ ว่า “ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เกิดจากคนหรือเครื่องมือในขั้นตอนนี้หรือไม่ เช่น การใส่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ผิด การจ่ายยาผิด เป็นต้น ”

2. การตรวจจับความผิดพลาดหรือการทำงานผิดพลาด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาด

ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องมีการใช้วิธีการต่างๆ เข้ามาช่วยหาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 1 เช่น ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน แต่ใช้ในเครื่องมือที่แตกต่างกัน หรือน้ำยาที่มีสีใกล้เคียงกัน แต่ใช้คนละวัตถุประสงค์ เป็นต้น

3. ระบุและเลือกการปฏิบัติที่จะนำมาใช้เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น

ในขั้นตอนนี้ของระบบ Poka –Yoke มีการปฏิบัติพื้นฐาน 3 อย่างที่นำมาใช้ คือ

3.1 การควบคุม (Control) คือ การควบคุมความผิดพลาดหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดนั้นไม่ให้เกิดหรือกระทบต่อกระบวนการ / ขั้นตอนต่อไป

3.2 หยุดการทำงานทันที (Shut down) คือ เมื่อพบว่าเกิดความผิดพลาดหรือกำลังจะเกิดความผิดพลาดขึ้นให้หยุดการทำงานทันที

3.3 มีระบบการเตือน / Warning System คือ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะต้องมีระบบการเตือน เช่น มีเสียงเตือน หรือวิธีการเตือนในขั้นตอน / กระบวนการหรือเครื่องมือนั้นๆ

 

ลักษณะของอุปกรณ์ / วิธีการ Poka –Yoke ที่ดี คือ

1. ไม่แพง การใช้งาน และการติดตั้งไม่ยุ่งยาก

2. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน

3. อยู่ ณ จุดหรือบริเวณที่จะเกิดความผิดพลาด

 

จะเห็นได้ว่า Poka –Yoke มีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับการใช้ PDCA และการใช้ Root – Couse effect เพื่อหาสาเหตุของผล และนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือการพัฒนางานต่อไป

 

แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้าค่ะ

 

**************************************