ฉบับที่ 3 ประจำเดือน มิถุนายน 2548

ผักพื้นบ้าน

ผักพื้นบ้านของไทยเรานอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการเป็นสมุนไพร โดยมีสรรพคุณทางยา ซึ่งแพทย์แผนไทยได้ให้ความสำคัญต่อรสของผักพื้นบ้านอันแสดงถึงสรรพคุณต่าง ๆ ดังนี้

Ÿ ผักที่มีรสขม ช่วยบำรุงโลหิต เจริญอาหาร ระบายท้อง เช่น มะระขี้นก ใบยอ สะเดา ผักโขม เป็นต้น

Ÿ ผักที่มีรสหวาน ช่วยทำให้ชุ่มชื้น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เช่น เห็ด ผักหวาน บวบ น้ำเต้า เป็นต้น

Ÿ ผักที่มีรสเปรี้ยว ช่วยขับเสมหะ ช่วยระบาย เช่น ยอดมะขาม มะนาว มะดัน ยอดมะกอก ยอดผักติ้ว เป็นต้น

Ÿ ผักที่มีรสเผ็ดร้อน ช่วยแก้ท้องอืด แก้ลมจุกเสียด ขับลม บำรุงธาตุ เช่น กระเทียม ดีปลี พริกไทย ใบชะพลู ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย เป็นต้น

Ÿ ผักที่มีรสหอมเย็น ช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย เช่น บัว ผักบุ้งไทย เตยหอม ดอกขจร โสน เป็นต้น

Ÿ ผักที่มีรสฝาด ช่วยสมานแผล แก้ท้องร่วง บำรุงธาตุ เช่น ยอดมะม่วง ยอดมะกอก ยอดกระโดน เป็นต้น

Ÿ ผักที่มีรสมัน ช่วยบำรุงเส้นเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ เช่น สะตอ เนียง ขนุนอ่อน ถั่วพู ฟักทอง กระถิน ชะอม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผักพื้นบ้านยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นวิตามินซี ซึ่งมักพบในผักที่มีรสเปรี้ยว ผักพื้นบ้านมีสารแอนตีออกซิแดนท์ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เป็นต้น ผักพื้นบ้านที่มีสีเหลืองมักจะมีสารเบตาแคโรทีนสูง ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ เช่น ฟักทอง มะละกอสุก มะปราง เป็นต้น สารเบตาแคโรทีนยังพบมากในผักสีเขียว เช่น ใบยอ ใบย่านาง ใบชะพลู ใบตำลึง ใบบัวบก ใบแมงลัก ใบกะเพรา ใบขี้เหล็ก ผักแว่น ผักชีลาว เป็นต้น

 

 

ที่มา : ดัดแปลงจากคุณค่าของผักพื้นบ้านในหนังสือวิชาการในงานชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 วันที่ 17-31 มกราคม 2545 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข