มุมสบายๆ โดย รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์
 

การเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบกับผลกระทบทางสุขภาพ

โดย รองศาสตราจารย์สมโภช รติโอฬาร

          การเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบ (Urban Sprawl) อาจจะเป็นคำใหม่ที่นักสาธารณสุขและผู้ที่อยู่ในวงการทางสุขภาพไม่คุ้นเคย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมทางสุขภาพที่ควรให้ความสนใจ องค์การสหประชาชาติระบุว่าในปี 2550 ประชากรโลกครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และในปี 2560 ประเทศที่ยากจนที่สุดชาวเมืองและชาวชนบทจะมีสัดส่วนเท่ากัน ซึ่งบ่งชี้ว่าความเป็นเมืองจะเพิ่มมากขึ้นในทั่วโลก แต่ความเป็นเมืองที่มีการเติบโตแบบไร้ระเบียบย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ฟรัมคิน (Frumkin, 2002) ให้ความหมายการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบไว้ว่า เป็นการขยายตัวของพื้นที่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้พื้นที่ดิน การคมนาคม และการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเมืองจะมีการขยายออกไปสู่พื้นที่ชานเมืองหรือพื้นที่ชายขอบ พื้นที่นั้นมีการพัฒนาคล้ายกับการเหยียดขาของกบ เกิดเป็นรูปแบบความหนาแน่นของประชากรต่ำ  มีความแตกต่างของการใช้พื้นที่ดินในการสร้างที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะถูกแยกออกไปอยู่ในที่อื่น  การสร้าง และขยายถนนมักเป็นไปเพื่อรองรับต่อการเดินทางทางรถยนต์ เป็นผลจากการออกแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือเมืองมีการเติบโตที่ขาดการควบคุม ขาดการวางแผนที่ดี ทำให้มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของบุคคล กระทบต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนี้

          การเคลื่อนไหวร่างกาย การที่ประชากรไปอยู่อาศัยในชานเมืองและต้องเข้าไปทำงานในเมืองที่มีการเชื่อมต่อของถนนน้อย ระบบการขนส่งมีไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอ จะพบว่าประชาชนต้องถูกบังคับเลือกการเดินทางด้วยรถยนต์ที่มากกว่า ต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน ส่งผลต่อระดับการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต่ำซึ่งเป็นภาวะคุกคามสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม การมีวิถีชีวิตที่ต้องนั่งนานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจหลอดเลือด การหยุดหายใจ และสาเหตุการตายอื่นๆ ผู้ชายในกลุ่มควินไทล์ของการเคลื่อนไหวร่างกายต่ำสุดพบว่ามีความเสี่ยงต่อการตายมากกว่า 2-3 เท่าของการตายทั้งหมด และ 3-5 เท่าของการตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่แข็งแรงมากกว่า ในผู้หญิงที่มีการเดินประมาณ 1 กิโลเมตร/วัน หรือมากกว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดเพียงร้อยละ 33 ความเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การมีความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลสูง เบาหวาน และการสูบบุหรี่ การขาดการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน วิถีชีวิตที่นั่งนานทำให้มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น

          มลพิษทางอากาศ การมีและใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น เกิดปัญหาการจราจรติดขัด รถยนต์ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงปล่อยมลพิษต่างๆ สู่อากาศ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และไฮโดรคาร์บอน ผลกระทบของสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ เช่น โอโซนทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ  คาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และยังมีสารอื่นๆ เช่น มีเทน ไนโตรเจนออกไซด์ และสารระเหย ซึ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เป็นต้น

          ปริมาณและคุณภาพน้ำ การเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบอาจเป็นภาวะคุกคามที่ทำให้มีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำ เพราะพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตรถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้างดังนั้นการดูดซึมของน้ำฝนจึงขาดประสิทธิภาพในการซึมผ่านสู่พื้นดิน แต่ต้องไหลลงไปสู่แม่น้ำ ลำคลอง

          ปัญหาความร้อน ปกติในช่วงกลางวันจะพบว่าพื้นที่ในเมืองจะมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่รอบๆ 6-8 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ประสิทธิภาพของพื้นผิวถนน หลังคาซึ่งมีประสิทธิภาพในการดูดซับความร้อนจากพระอาทิตย์ ปัจจัยที่ 2 พื้นที่เมืองมีความขาดแคลนต้นไม้ซึ่งมีบทบาทในการป้องกันแสงแดด ให้ร่มเงาและให้ความเย็น และความร้อนจะยิ่งเพิ่มขึ้นหากยังมีรูปแบบของการพัฒนาที่ตัดต้นไม้แล้วสร้างถนน ความร้อนอาจเกิดจากการขยายพื้นผิวถนน การเดินทางโดยใช้รถยนต์ ซึ่งก่อให้มีการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น เกิดผลที่ตามมาคือ คาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จึงมีผลทำให้พื้นที่ในเขตเมืองมีความร้อนและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มการใช้ยานยนต์ ผลกระทบของความร้อนกับสุขภาพ เช่น การเป็นลมจากความร้อน หน้ามืด การบวมที่ขา การกระตุก การเหนื่อยหอบ การเป็นตะคริวจากความร้อน คลื่นไส้ อาเจียน การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ รวมทั้งอาการที่เป็นอันตรายคือภาวะหมดสติจากความร้อนซึ่งอาจเป็นสาเหตุการตายได้ เป็นต้น
ผลทางสังคม ภาวะสุขภาพจิต โดยทั่วไปไม่ว่ามนุษย์ หรือสัตว์ย่อมต้องการและสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งการสัมผัสกับธรรมชาติก่อประโยชน์ทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต การเดินทางโดยรถยนต์ที่ใช้ระยะเวลานาน การจราจรติดขัดก่อให้เกิดความเครียด และภาวะสุขภาพที่สัมพันธ์กับความเครียด เช่น ปวดหลัง โรคหัวใจหลอดเลือด ภาวะเครียดจากสภาพการจราจรจะทำให้ผู้ขับขี่มีความโกรธ ความบีบคั้นและแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การตะโกนด่า การมีอารมณขุ่นมัวกับเพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัว เป็นต้น

          ทุนทางสังคม ปัจจัยในด้านนี้ พัทนัมกล่าวไว้ในหนังสือ Bowling alone ว่าผู้ขับขี่รถยนต์ต้องใช้เวลานานในการขับขี่จึงทำให้มีเวลาน้อยลงที่จะอยู่กับครอบครัวและเพื่อน รวมทั้งในชุมชน พัทนัมประมาณว่าหากใช้เวลาในการขับรถนาน 10 นาทีก็จะทำให้ลดการพบปะกับชุมชนไปร้อยละ 10 สัมพันธภาพในสังคมทั้งในปริมาณและคุณภาพย่อมมีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพ เป็นต้น

          ข้อค้นพบจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบมีความสัมพันธ์กับสภาวะสุขภาพในมิติทางกาย ซึ่งส่งผลต่อโรคไร้เชื้อที่เป็นโรคเรื้อรังที่มีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ภาวะอ้วน นอกจากนี้ยังพบว่าการมีนโยบายของเมือง การจัดการเมือง การวางแผนเพื่อการสร้างสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายของประชาชนในการมีกิจกรรมทางกาย เช่น

          McCann and Ewing (2003) ศึกษาเปรียบเทียบดัชนีการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบกับลักษณะด้านสุขภาพของประชาชนมากกว่า 2 แสนคนใน 448 เคาน์ตี้ พบว่าประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีลักษณะการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบมากขึ้น ดัชนีมวลกายจะเพิ่มตามขึ้น และพบว่าการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบมีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง มีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกิน และการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย (physical inactivity)  เป็นต้น

          Ewing, Schieber, และ Zegeer (2003) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบกับการตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผลการศึกษาพบว่า ทุกๆร้อยละ 1 ที่เพิ่มขึ้นของดัชนีการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบ (Sprawl ต่ำ) อัตราการตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จะลดลงร้อยละ 1.49 และอัตราการตายจากผู้ใช้ทางเท้าลดลงร้อยละ 1.47-3.56
Sturm และ Cohen (2004) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบในแถบชานเมืองกับสภาวะโรคเรื้อรังและสุขภาพจิตในสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบกับโรคเรื้อรังทางกายแต่ไม่สัมพันธ์กับสภาวะทางสุขภาพจิต

          Aytur (2005) ศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ที่ดินกับนโยบายการขนส่งต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย และภาวะอ้วนใน North Carolina ระหว่างปี 2000-2003 เก็บข้อมูลจากการสำรวจการวางแผนของเมือง และใช้ Active Community Environment (ACE) Score ซึ่งพบว่าค่าคะแนน ACE มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกาย การคมนาคมขนส่งสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกาย การเดิน การขี่จักรยาน ภายหลังปรับปัจจัยทางด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม นอกจากนี้พบว่าเมืองที่มีการกำหนดนโยบายและมีโปรแกรมการจัดการการเติบโตมีความสัมพันธ์กับระดับการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยมีระยะเวลาการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพิ่มขึ้น มีสัดส่วนความสัมพันธ์กับ การเดิน การขี่จักรยานไปทำงานเพิ่มสูงขึ้น ความเกี่ยวข้องของรัฐในการจัดการการเติบโตมีความสัมพันธ์กับระดับภาวะความอ้วนที่ลดลง

          Garden และ Jalaludin (2008) ศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบในซิดนีย์กับภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะอ้วนและระดับการเคลื่อนไหวร่างกาย  ผลการศึกษาหลังจากควบคุมตัวแปรส่วนบุคคล พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายและภาวะอ้วน คือ การสร้างสิ่งแวดล้อม ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มพื้นผิวการเดิน ความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัย การเข้าถึงการบริการขนส่งสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ และการผสมผสานการใช้ที่ดินมีความสัมพันธ์กับอัตราการเดินเพื่อการพักผ่อนและการเดินทาง ย่านที่อยู่อาศัยที่มีคะแนนความสามารถของการเดินสูงมีความสัมพันธ์กับการเดินที่เพิ่มขึ้น การรับประทานอาหารนอกบ้านและราคาอาหารมีผลต่อภาวะอ้วน สถานะทางเศรษฐกิจสังคมมีผลต่อทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายและภาวะอ้วน

          จากการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพถ้าพิจารณาจากสุขภาวะองค์รวมจะพบว่าผลกระทบนั้นมีความเกี่ยวข้องทั้งที่เป็นผลสืบเนื่องและผลกระทบโดยตรงทั้งมิติทางกาย มิติทางใจและมิติทางสังคม ดังนั้นกระแสการตื่นตัวที่จะได้รับความสนใจนั่นคือการจัดการพื้นที่ และการคมนาคมให้สามารถคงการดำรงอยู่ของสุขภาพในชุมชน การออกแบบเมือง ย่านชุมชน และสิ่งก่อสร้างให้สามารถจุดประกายหรือเป็นแรงผลักดันให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกแบบย่านชุมชนให้สามารถลดการพึ่งพายานพาหนะ การออกแบบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่คำนึงถึงความสามารถของบุคคลในการเคลื่อนไหวร่างกาย และการเชื่อมโยงสังคมในชุมชน ภาวะสุขภาพจิตของแต่ละบุคคลรวมทั้งทุนทางสังคมในชุมชน (Dannenberg, and others., 2003) ซึ่งการออกแบบเมืองที่ดีย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันหากไม่เป็นเช่นนั้นนักสาธารณสุขก็สมควรเรียนรู้ต่อผลต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอหรือจัดการสุขภาพอย่างเหมาะสมกับพื้นที่และท้องถิ่นต่อไป

...........................................................

บรรณานุกรม

Aytur, S. (2005). “Relationships of Land Use and Transportation Policies to Physical Activity and Obesity”. Dissertation Doctor Philosophy, School of Public Health (Epidemiology), University of North Carolina.
Ewing, R; Schieber, R.A.; and Zegeer, C.V. (2003). “Urban Sprawl as a Rik Factor in Motor Vehicle Occupant and Pedestrian Fatalities”. Am J Public Health. 93: 1541-1545.
Dannenberg, A. L and others. (2003). The Impact of community Design and Land –Use Choices on Public Health: A Scientific Research Agenda. American Journal of Public Health. 93, 9,1500-1508.
Frumkin, Howard. (2002). “Urban Sprawl and Public Health”. Public Health Report. Vol.117. May-June.
Garden, F.L. and Jalaludin, B.B. (2008). “Impact of Urban Sprawl on Overweight, Obesity, and Physical Activity in Sydney, Australia”. J of Urban Health: Bulletin of the New York Academy of Medicine. Dec, 04.
McCann, B.A. and Ewing, R. (2003). Measuring the Health Effects of Sprawl: A National Analysis of Physical Activity, Obesity and Chronic Disease. Smart Growth America: Surface Transportation Policy Project.
Sturm, R., Cohen, D.A. (2004).“Suburban sprawl and physical and mental health”. J of the Royal Institute of Public Health. 118, 488-496.
Ye, Lin.(2006). “Urban Sprawl, Amenities and Quality of Life”. Doctor of Philosophy Faculty of the Graduate School of the University of Louisville.