มุมวิชาการด้านบริหารโรงพยาบาล รศ.ดร.พาณี  สีตกะลิน
 

ลดอัตตา สู่ความเป็นเลิศขององค์การ

โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.พาณี  สีตะกลิน

 

          การบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์การที่จะทำให้ผู้ร่วมงานทุกระดับอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ทำงานให้มีจิตสำนึกระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก่อนเสมอ แล้วจึงนึกประโยชน์ส่วนตนนั้น ในยุคสังคมออนไลน์  ผู้บริหารองค์การ ผู้ร่วมงาน ควรทำอย่างไร คำตอบนั้นมีหลากหลายประเด็น ในที่นี้จะนำเสนอหนึ่งประเด็นที่สำคัญ  สำหรับการสร้างสันติสุข และเกิดบรรยากาศที่น่าทำงานร่วมกัน ภายในองค์การที่เรียก “แรงงานสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ” โดยใช้หลักทางพุทธศาสนาพิจารณาปฏิบัติร่วมกันนั่น คือ “ต้องพยายามลดอัตตาให้เหลือน้อยที่สุดหรือให้หมดไปจากองค์การ”

          เมื่อต่างฝ่ายต่างลดราวาศอกหันหน้ามาปรึกษาหารือกันแล้ว  ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน หรือมีที่ท่าว่าจะกลายเป็นการแตกแยกได้นั้น จะทุเลาเบาบางลงไปได้ ประโยชน์ก็จะเกิดกับองค์การเป็นส่วนรวม เช่นเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็จะแนบแน่นยิ่งขึ้นด้วย  ปัจจุบันนี้การที่คนเราทำงานในที่เดียวกันแล้วไม่รักกัน เพราะต่างถือดีกันไป ทั้งที่การถือดีนั้น มันหนักแต่ก็ยังจะยังยึดถือ เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนเองยึดถือนั้นดีและแน่กว่า  เมื่อใดที่คนอื่นคิดต่างจากตนถือว่าผิดทั้งสิ้น  คนถือดีที่ไม่มีดีให้ถือ  จะรู้สึกหนักกับการถือนานๆ เพราะเป็นการลดบารมีและศรัทธาได้เหมือนกัน เนื่องจากทุกสิ่งในโลกปัจจุบันเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังที่กล่าวว่า “ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง”

          การยึดมั่นในตนเองที่เรียกว่า “อัตตา (Ego)”คือ การถือตนเองเป็นใหญ่ ถ้าเป็นระบอบการปกครองที่มีผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดและไม่จำกัด เป็นไปในลักษณะอัตตาธิปไตย (Autocracy) ที่เราคุ้นเคยกันในภาษาบอกเล่าว่า “ความเป็นตัวกูของกู” อันเป็นยึดมั่นถือมั่นจนเกินจำเป็น ไร้ความพอดี คงต่างจากคำว่า “จุดยืน”  เพราะจุดยืนนั้น หมายถึง สถานะอันเป็นตัวกำหนดการมองและท่าทีต่อปัญหา (Stand Point) จะแสดงความเชื่อมั่นที่ยึดหลักการอย่างสมเหตุสมผล แต่มีความประนีประนอมผ่อนคลายกว่า อ่อนโยนกว่า ไม่หยาบกระด้าง แบบเอาข้างเข้าถูอย่างคนมีอัตตา จุดยืนเมื่อถูกกำหนดเป็นเกณฑ์แล้ว จะต้องยึดถือและนำไปประพฤติปฎิบัติด้วย เมื่อใดที่ไม่ปฎิบัติตามจะถูกมองว่า “ไร้จุดยืน” เป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย

          คนที่มีอัตตานั้นถือว่าเป็นกับดักในการบริหารจัดการขององค์การหลายๆ เรื่องนี้ ทำให้กระบวนการพัฒนาองค์การและทรัพยากรมนุษย์ล่าช้า ถ้าเป็นองค์การระดับชาติจะต้องลดอัตตาให้มากทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฎิบัติการ กล่าวคือ ต้องหาทางร่วมปรองดองกัน คิดแก้ไขปัญหา ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวม คือ เป็นประโยชน์ของประชาชน เมื่อคิดว่าผลงานที่จะทำร่วมกันทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฎิบัติการเป็นผลงานของผู้บริหารฝ่ายเดียว จะเกิดอัตตา ทำให้อีกฝ่ายไม่อยากร่วมมือ เพราะถูกชุบมือเปิบ ถ้าเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองเสียใหม่ ให้เป็นคนไร้อัตตา องค์การของเราจะเจริญรุดหน้า ซึ่งทำไม่ยาก ถ้าคิดจะทำ โดยมองว่า ผลงานที่ออกมาเป็นผลงานของทุกฝ่ายที่ร่วมกัน และมองในลักษณะที่เป็นพันธมิตร จะได้ ไม่มีถ้อยคำที่เป็นด้านลบ คือ ฝ่ายตรงข้าม ให้กระทบกระเทือนใจ จนกลายเป็นฝ่ายแค้นตามมา การแยกฝักแยกฝ่าย เป็นการเพิ่มอัตตา มีทั้งฝ่ายเธอ ฝ่ายฉัน แต่ไม่รวมกันเป็นฝ่ายของเราสักทีนั่นเอง

          ในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศนั้น เป็นเลิศในแบบที่เรียกว่า “แนวปฎิบัติที่ดีที่สุด หรือเป็นเลิศ (The Best of Practice)” หมายถึง การดำเนินการเพื่อความเป็นผู้นำของความสามารถในกระบวนการ หรือผลผลิต หรือบริการ ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมใด หรือองค์การใดก็ได้ ภูมิภาคไหนก็ได้ นั่นคือ ความเป็นเลิศของแต่ละคน หรือมุมมองของแต่ละองค์การว่า” ดีที่สุด (Best)” เป็นอย่างไร วัตถุประสงค์ของคำๆ นี้ ต้องการเน้นเพื่อให้ใช้เป็นวลีที่ต้องการสื่อถึงแนวทางปฎิบัติด้านคุณภาพ ที่องค์การประสบความสำเร็จอย่างที่สุดแล้ว ในช่วงระยะเวลานั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้แสดงว่า สุดยอดแล้วแค่นั้น ไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรต่อไป แต่เป็นภาษาที่ให้กำลังใจต่อองค์การหรือคนที่พัฒนาคุณภาพได้ดีที่สุดขององค์การหรือของคนๆ นั้น เพราะในโลกใบนี้ไม่มีอะไรดีที่สุด ยังมีประเภทเหนือฟ้ายังมีฟ้านั่นเอง การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศได้นั้น ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายภายในองค์การ   ถ้าไม่ยอมทำ ก็ให้วางตัวเฉยๆ หรือมือไม่พายก็อย่าเอาเท้าราน้ำ  เป็นการลดอัตตาอย่างหนึ่ง จงหาส่วนร่วม สงวนส่วนต่างให้มากที่สุด องค์การจะเป็นเลิศได้ในที่สุด

          การลดอัตตาได้ จะช่วยสร้างขีดความสามารถขององค์การได้ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน คำว่า “ความสามารถ” ในที่นี้จะกล่าวถึงในแง่ศาสตร์และศิลป์คุณภาพ ที่ให้ทุกคนในองค์การนำสู่เป้าหมายเดียวกัน  ด้านคุณภาพนั้นทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ต้องการทฤษฎีอะไรมากมายในการอธิบาย  เพราะกว่านิยามคุณภาพเสร็จก็ไม่ทันการณ์แล้ว องค์การอื่นเขย่งก้าวกระโดดไปไหนต่อไหนแล้ว ยังจะมัวแต่นิยามและค้นหาคำนิยามที่ถูกต้อง  แต่ปฏิบัติไม่ได้  อย่างที่เน้นการนิยามมากจนเกินความพอดี เมื่อบุคลากรอื่นบอกว่าไม่ใช่ ก็ไม่ฟังกลายเป็นอัตตาเหมือนกัน เพราะการให้นิยามนั้นไม่ใช่ใครๆ ก็ให้กันได้เรื่อยเปื่อย แต่ก็ต้องยอมรับในความเห็นที่หลากหลายบ้าง การใช้ตำราต่างประเทศที่ถนัดในการอ้างอิง แล้วนำมาใช้ ก็เป็นอัตตาอย่างหนึ่ง  ที่ผู้ปฎิบัติเสมือนไก่อยู่ในเข่งที่สูงและแคบ ไม่สามารถบินออกจากเข่งได้ เพราะเขาให้คิดแค่นั้น คิดเกินกว่านั้นเป็นผิด เป็นไม่ได้เรื่องไปหมด ปัจจุบันจึงเชื่อการอ้างอิงจากต่างประเทศมากไป เข่งจึงกลายเป็นอัตตาไป

          ถ้าทุกคนต่างลดอัตตากันหมดทั้งผู้บริหารและทุกฝ่าย โดยใช้การแลกเปลี่ยนความเห็นและมองในสิ่งเดียวกันแบบชนะด้วยกันทั้งคู่ (Win-Win) และมีการติดตามผลภายหลัง จะพบว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี แต่คาดว่าจะดำรงคงอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ จึงต้องมีการประเมินทุกไตรมาส การทำงานลดความขัดแย้ง โดยเมื่อใดที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็มาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ทำนองที่ว่าความเห็นเธอก็ดี ความเห็นฉันก็ดี ไม่มีใครเสีย (โดยพยายามลดความขัดแย้งก่อน) สุดท้ายรวบรวมความเห็นที่ดีๆ ทั้งหมดมาสรุปรวบว่า ถ้าให้มองในมุมมองขององค์การ ทำให้เกิดความคิดอย่างมีส่วนร่วม โดยผู้บริหารจะสรุปความเห็นที่ดีๆ ทั้งหลายที่ระดมสมองออกมาให้เป็นความเห็นขององค์การ ปรากฏว่าทุกคนคิดได้ คิดเป็นและคิดบนพื้นฐานการลดราวาศอกเพื่อส่วนรวม การสร้างบรรยากาศ จึงมีความสำคัญ เราต้องสร้างบรรยากาศไม่ให้มีใครในกลุ่มที่ระดมความเห็นมีความรู้สึกว่า เขาเสียหน้า หรือถูกท้าทาย  เพราะถ้าเสียหน้าจะทำให้เกิดหน้ามืด ไม่เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ แต่จะคิดแบบจ้องทำลายในเชิงรุกราน ทำนองทีใครทีมัน สุดท้ายองค์การเจ็บปวด จะสร้างขีดความสามารถไม่ได้ การพยายามลดอัตตา พบว่าผลสัมฤทธิ์ขององค์การและงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ถ้าผู้บริหารทำการเปรียบเทียบก่อนและหลังเมื่อลดอัตตาในลักษณะเชิงวิจัย ดัชนีชี้วัดนี้บ่งบอกว่า เป็นผลสำเร็จของทุกคน ไม่ใช่ของผู้บริหารหรือหัวหน้าเท่านั้น ทุกคนรู้สึกได้ว่ามีส่วนร่วม ในการบริหารองค์การ องค์การรับฟังความเห็นของผู้ร่วมงานทุกระดับ ขีดความสามารถจะตามมาเอง ไม่ต้องการนิยามที่วุ่นวายใดๆ อีก โดยเริ่มต้นจากการลดอัตตา คือ การเคารพในความเป็นคนของบุคลากรทุกๆ คนในองค์การ ความสามารถในแง่คุณภาพ จึงหมายถึง การทำอย่างไรให้ได้องค์การ บุคลากร ผลผลิต และบริการที่มีคุณภาพครบองค์ประกอบคุณภาพ ซึ่งการจะนำองค์การให้มีคุณภาพต้องเริ่มจากตัวเองก่อน จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี สะท้อนถึงความสามารถที่ดีตามมาด้วย ต้องลดอัตตาให้ได้ เพราะอัตตาเป็นอุปสรรคขวางกั้นความสำเร็จ ทำให้เรามองอะไรไม่ชัดเจน มีความเชื่อมั่นตนเองสูงมากไป ทำให้เกิดการตัดสินใจที่เราคิดหาคำตอบไว้ก่อนล่วงหน้า ต้องได้รับการผลักดันให้ได้อย่างนั้น ใครมาขวางไม่ได้ ไม่ฟัง คำทัดทานที่มีเหตุมีผลจากใครๆ เมื่อเกิดสภาการณ์แบบนี้ ท่านจะโดดเดี่ยว เพราะจะไม่มีใครกล้าให้คำแนะนำดีๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์การอีกต่อไป ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็ท่านเก่งแล้ว ก็แสดงบทพระเอกให้ตลอดรอดฝั่งก็แล้วกัน เมื่อไหร่ที่พลาด ท่านจะถูกสมน้ำหน้าเท่านั้นเอง บรรยากาศแบบนี้หากเกิดในองค์การใดแล้ว ยากที่จะพัฒนาต่อไปได้ คลื่นใต้น้ำเยอะแยะไปหมด อันตราย การลดอัตตาได้จะช่วยสร้างบรรยากาศองค์การที่ดีๆ เสมือนรูดม่านออกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เราจะมองเห็นภาพอะไรต่อมิอะไรเต็มตาและชัดเจนขึ้นด้วย

          ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะประเสริฐมากทีเดียว ถ้าทำไม่ได้พยายามปรับตัวดู ไม่ลำบาก แต่อาจฝืนความรู้สึกช่วงแรกๆ แต่ถ้าทำเป็นกิจวัตร จะมีความสุขดีทีเดียว อย่าไปแบกความถือดี ตัวกูของกูอีกเลย ถ้าทำไม่ได้ก็แนะนำว่า อย่าอยู่ร่วมกับองค์การ เป็นตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้า ต้องพิจารณาตัวเอง ลองหากระจกมาส่องดูตนเอง ถือว่าทำ การประเมินตนเอง (Self-Assessment) ถ้าลดอัตตาได้ จะทำให้กระบวนการบริหารจัดการและผลิตผลถูกขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น จนเป็นองค์การที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากทำงานด้วย ลูกค้าจะพึงพอใจในสินค้าและบริการที่ผ่านกระบวนการผลิตและบริการ ที่คนในองค์การทำด้วยใจที่เป็นธรรม ลด-ละ-เลิก เพราะอัตตาเป็นภัยต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

10 ข้อ ในการช่วยลดอัตตา

  1. ต้องฝึกหัดใจให้กว้าง ยอมรับความเห็นที่ต่างจากเราให้ได้ ทุกความเห็นก่อนนำมาคัดกรองต่อไป
  2. ต้องอดกลั้น อดทน ไม่โกรธใครง่ายๆ หมั่นควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติ มีสติตลอดเวลา
  3. ต้องขยันสอบถามความเห็นผู้คนรอบข้าง รอบด้าน ก่อนสรุปตัดสินใจ หรือกระทำสิ่งใดลงไป
  4. ต้องยุติปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์หรือความเห็นเฉพาะตนเอง
  5. ต้องนำหลักกาลามสูตร ว่าด้วยเรื่องความเชื่อที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พิสูจน์ก่อน อย่าปฎิเสธก่อนทั้งที่ยังไม่รู้จริง
  6. ต้องทำลายกำแพงขวางกั้นระหว่างหน่วยงาน ไม่มีฝ่ายใดๆ มีแต่ฝ่ายของเรา การขยันสร้างหน่วยงานมากมายให้ปรากฎในผังโครงสร้างองค์การ (Organization Structure) ทำให้เห็นอาณาจักรใครอาณาจักรมันมากขึ้น จะเป็นปัญหาในการพัฒนาและลดอัตตา เพราะหน่วยงานต่างๆ ย่อมมีหัวหน้าครอบครองหรือมีอาณาจักร ถ้าใครล่วงล้ำเข้ามาจะถูกกำจัดออกไป เป็นการแยกเขาแยกเรา จำเป็นต้องหาและนำกิจกรรมการมีส่วนร่วมมาทะลายอาณาจักร
  7. ไม่โต้แย้งความเห็นคนอื่น ถ้าจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่เลวลง จนไม่อยากมีใครแสดงความเห็นอีกแล้ว
  8. ท่องคาถาในใจว่า “...เราอาจไม่ถูกต้อง...” ก็ได้ อย่าเชื่อมั่นตนเองสูงเกินไป
  9. สิ่งที่เราคิดเราทำเพื่อองค์การ เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่สนอง Needs เราหรือใครคนใดคนหนึ่ง
  10. ไม่มีแพ้-ชนะในความเห็นที่สรุป อย่าคิดว่าเป็นเรื่องอับอาย ถ้าความเห็นเราไม่ได้รับการยอมรับ

…………………………………………………

เอกสารอ้างอิง

R. and Butcher A. (2000),  Medical workforce planning.  New York  :  IBM/Towers Perrin
www.psstainlessthailand.com, ค้นคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 จาก www.psstainlessthailand.com/11/11/2012
www.budhadasa.com. ค้นคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 จาก www.budhadasa.com/10/11/2012