ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสมุนไพร
โดย อาจารย์กิตติ ลี้สยาม
การนำสมุนไพรมาใช้นั้นจะต้องใช้ให้ถูกต้อง ระวังอาการแพ้ที่เกิดจากการใช้สมุนไพรด้วย ทำความเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ใช้ยาสมุนไพรได้อย่างถูกต้อง และเทคนิกการเตรียมยาสมุนไพร
1. การใช้ยาสมุนไพรที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้
1.1 ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรที่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมาก และบางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน จึงต้องรู้จักสมุนไพร และใช้ให้ถูกต้น
1.2) ใช้ให้ถูกส่วน ส่วนประกอบของสมุนไพร ได้แก่ ราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางทีผลแก่และผลอ่อนก็มีฤทธิ์ต่างกันด้วย จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้
1.3) ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไปก็รักษาไม่ได้ผล แต่ถ้ามากไปก็อาจเป็นอันตรายหรือเกิดพิษต่อร่างกายได้
1.4 ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องปนกับเหล้า บางชนิดต้องใช้ต้ม จะต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
1.5 ใช้ให้ถูกโรค เช่น ท้องผูกต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์สมานจะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น
2. อาการที่เกิดจากการแพ้ยาสมุนไพร
การแพ้ยาสมุนไพรมีอาการ ดังนี้
2.1 ผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโต เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบนคล้ายลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปากเจ่อ (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
2.2 เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้ามีอยู่ก่อนกินยา อาจเป็นเพราะโรค
2.3 หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
2.4 ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็แสบหนังศีรษะ เป็นต้น
2.5 ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
2.6 ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองและเมื่อเขย่า จะเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรงต้องไปหาแพทย์ อาการเจ็บป่วยและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพรหรือซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง
หากผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน้ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรื้อน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม (ปอดอักเสบ) อาการบวม ไทฟอยด์ โรคตาทุกชนิด ไม่ควรใช้สมุนไพร
ถ้าผู้ป่วยมีอาการโรคและอาการเจ็บป่วยรุนแรง ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยารับประทานเองหรือใช้สมุนไพร อาการที่รุนแรง มีดังนี้
1) ไข้สูง (ตัวร้อนจี๊ด) ตาแดง ปวดเมื่อยมาก ซึม บางทีพูดเพ้อ (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้ป่าขึ้นสมอง)
2) ไข้สูงและดีซ่าน (ตัวเหลือง) อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บในแถวชายโครง (อาจเป็นโรคตับอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ)
3) ปวดแถวสะดือ เวลาเอามือกดเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง อาจท้องผูกมีไข้เล็กน้อยหรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรงหรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
4) เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมาก ท้องแข็ง อาจท้องผูก มีไข้เล็กน้อยหรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรงหรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
5) อาเจียนเป็นโลหิตหรือไอเป็นโลหิต (อาจเป็นโรคร้ายแรงของกระเพาะอาหารหรือปอด) ต้องให้คนไข้นอนพักนิ่งๆ ก่อน ถ้าแพทย์อยู่ใกล้บ้าน ควรเชิญมาตรวจที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องไปพบแพทย์ ควรรอให้เลือดหยุดก่อน และควรพาไปโดยมีการกระเทือนกระแทกน้อยที่สุด
6) ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีมีลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว บางทีถ่ายพุ่ง ถ่ายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว คนไข้อ่อนเพลียมาด ตาลึก หนังแห้ง (อาจเป็นโรคอหิวาตกโรค) ต้องพาไปพบแพทย์ด่วน ถ้าไปไม่ไหวต้องแจ้งแพทย์หรืออนามัยที่ใกล้ที่สุด
7) ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อยมาก อาจจะมากถึงสิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง คนไข้เพลียจะมาก (อาจเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง)
8) สำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุไม่เกินสิบสองปี มีอาการไข้สูง ไอมากหายใจมีเสียงผิดปกติ คล้ายๆ มีอะไรติดในคอ บางทีมีอาการหน้าเขียวด้วย (อาจเป็นโรคคอตีบ) ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
9) อาการตกเลือด เป็นเลือดสด ๆ จากทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะช่องคลอด ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
3. ความหมายของคำที่ควรทราบเพื่อการใช้ยาสมุนไพรอย่างถูกต้อง
คำที่ควรทราบเพื่อการใช้ยาสมุนไพรอย่างถูกต้อง ได้แก่
1) ใบเพสลาด หมายถึง ใบไม้ที่จวนแก่
2) ทั้งห้า หมายถึง ส่วนของ ราก ลำต้น ใบ ผล ดอก
3) เหล้า หมายถึง เหล้าโรง (28 ดีกรี)
4) แอลกอฮอล์ หมายถึง แอลกอฮอล์ชนิดสีขาวสำหรับผสมยา (เอทานอล) ห้ามใช้แอลกอฮอล์ชนิดติดไฟ (เมทานอล)
5) น้ำปูนใส หมายถึง น้ำยาที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่รับประทานกับหมากมาละลายน้ำสะอาดตั้งทิ้งไว้ แล้วรินน้ำใสมาใช้
6) ต้มเอาน้ำดื่ม หมายถึง ต้มสมุนไพรด้วยการใส่น้ำพอประมาณ หรือสามเท่าของปริมาณที่ต้องการใช้ ต้มพอเดือดอ่อน ๆ ให้เหลือ 1 ส่วนจาก 3 ส่วนข้างต้น รินเอาน้ำดื่มตามขนาด
7) ชงเอาน้ำดื่ม หมายถึง ใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัดลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะปิดฝาทิ้งไว้สักครู่จึงใช้ดื่ม
8) 1 กำมือ มีปริมาณเท่าสี่หยิบมือ หรือหมายถึง ปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือเพียงข้างเดียวกำ โดยให้ปลายนิ้วจรดอุ้งมือโหย่งๆ
9) 1 กอบมือ มีปริมาณเท่าสองฝ่ามือ หรือหมายถึง ปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือทั้งสองข้างกอบเข้าหากันให้ส่วนของปลายนิ้วแตะกัน
10) 1 ถ้วยแก้ว มีปริมาตรเท่ากับ 250 มิลลิลิตร
11) 1 ถ้วยชา มีปริมาตรเท่ากับ 75 มิลลิลิตร
12) 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาตรเท่ากับ 15 มิลลิลิตร
13) 1 ช้อนคาว มีปริมาตรเท่ากับ 8 มิลลิลิตร
14) 1 ช้อนชา มีปริมาตรเท่ากับ 5 มิลลิลิตร
4. เทคนิกการเตรียมยาสมุนไพร
เมื่อได้ส่วนประกอบของสมุนไพรที่พร้อมเป็นยาแล้ว เราควรทราบวิธีการเตรียมยาสมุนไพร เพื่อเป็นการเตรียมยาสมุนไพรให้มีรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค ใช้ได้สะดวก มีรสและกลิ่นชวนรับประทาน รูปแบบยาสมุนไพรบางอย่าง เช่น ยาลูกกลอน ยาดอง เป็นต้น ยังเป็นวิธีการช่วยให้เก็บสมุนไพรไว้เป็นยาได้เป็นเวลานาน
กรรมวิธีปรุงยาแผนโบราณที่ปรากฏในตำราแพทย์ศาสตรสงเคราะห์ และตำราเวชศึกษาอันเป็นตำราสำคัญของการแพทย์แผนไทย มีวิธีปรุงยาทั้งหมด 23 วิธี และเมื่อ พ.ศ. 2510 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดวิธีปรุงยาแผนโบราณเพิ่มขึ้นอีก 1 วิธี รวมเป็น 24 วิธี ตัวอย่างเช่น ยาตำเป็นผงแล้วปั้นเป็นลูกกลอน ยาตำเป็นผงแล้วบดให้ละเอียด ละลายน้ำกระสายต่างๆ กัน ยากัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ละลายน้ำกิน เป็นต้น กรรมวิธีเหล่านี้บางทีใช้ในการเตรียมและการปรุงยาแผนปัจจุบันเช่นกัน วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการง่าย สามารถปรุงใช้ด้วยตนเองได้ ในที่นี้ขอแนะนำวิธีปรุงยาสมุนไพรที่ใช้บ่อย 5 วิธี คือ
4.1 ยาชง เป็นรูปแบบที่มีการเตรียมคล้ายชงชา โดยใช้น้ำเดือดใส่ลงในสมุนไพร โดยทั่วไปมักใช้สมุนไพรตากแห้งทำเป็นยาชง ส่วนของสมุนไพรที่ใช้เป็นยา อาจเป็นใบ กิ่ง ผล หรือเมล็ด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ หรือบดเป็นผงหยาบ ผึ่งแดดให้แห้ง บางชนิดมีการนำไปอบกลิ่นหอมก่อน ภาชนะที่ใช้ชงควรเป็นกระเบื้อง แก้ว หรือภาชนะเคลือบ ไม่ใช้ภาชนะโลหะ วิธีการชงทำได้โดยใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำเดือดประมาณ 10 ส่วน หรือตามปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับยา บางตำรับอาจเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งในการปรุงรส ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ยาชงเป็นรูปแบบยาที่มีกลิ่นหอม ชวนดื่ม ดื่มง่าย ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชงโดยการบรรจุในถุงกระดาษสา ปิดสนิท 1 ซอง ใช้ 1 ครั้ง พืชสมุนไพรที่ใช้รูปแบบยาชงมักเป็นพืชที่มีสรรพคุณไม่รุนแรง ใช้ดื่มตลอดเวลาแทนน้ำ ยาชงนิยมปรุงและดื่มทันที ไม่ทิ้งไว้นาน สมุนไพรที่ใช้เป็นยาชง เช่น ยาชงหญ้าหนวดแมว ยาชงชุมเห็ดเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องดื่มสมุนไพรหลายชนิด เช่น ขิง มะตูม เก๊กฮวย เป็นต้น ก็ปรุงด้วยการชงเช่นเดียวกัน ยาชงเป็นวิธีการง่ายสะดวก และเป็นที่นิยมทั่วไป
4.2 ยาต้ม เป็นการปรุงยาสมุนไพร โดยใช้ยาสมุนไพรแห้งหรือสด ต้มรวมกันกับน้ำ ส่วนของสมุนไพรมีทั้งใบ ลำต้น แก่น เมล็ดและราก วิธีการเตรียมทำได้โดยการหั่นหรือสับสมุนไพรเป็นชิ้นพอดี ใส่ลงในหม้อดิน กระเบื้อง หรือภาชนะที่มิใช่โลหะ และใส่น้ำลงไปพอท่วมยาเล็กน้อย หากเป็นสมุนไพรแห้งให้แช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ สมุนไพรสดไม่ต้องแช่น้ำ ใช้ไฟขนาดกลางต้มให้เดือด หลังจากเดือดแล้วให้ใช้ไฟอ่อน ควรคนยาสม่ำเสมอมิให้ยาไหม้ (การต้มยาไทยมักจะต้มแบบ 3 เอา 1 คือ ใส่น้ำ 3 ส่วนของปริมาณที่ใช้ และต้มให้เหลือ 1 ส่วน) ระยะเวลาของการต้มขึ้นอยู่กับส่วนของพืชสมุนไพร หากเป็นส่วนของใบ ดอก หรือกิ่ง ขนาดเล็ก ใช้เวลาต้ม 3-4 นาที หากเป็นส่วนที่แข็ง เช่น รากหรือแก่นของลำต้น ใช้เวลาต้ม 10 ยาต้มต้องไม่ทิ้งไว้ค้างคืน ต้มและรับประทานให้หมดภายในวันเดียว โดยทั่วไปมักแบ่งรับประทานเป็น 3 ครั้งก่อนอาหาร และวันรุ่งขึ้นค่อยเติมน้ำและต้มใหม่อีกครั้ง ยาไทยสมัยก่อนนิยมต้มในหม้อดิน และปากหม้อใช้ใบตองสด หรือผ้าขาวบางปิดหม้อยาประมาณครึ่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการรินยา และหม้อยาจะมี “เฉลว” ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่จัดเป็นตอก และสานเป็นรูปคล้ายดาว เพื่อป้องกันของร้ายไม่ให้เข้ามารบกวน บางทีก็มีผูกเหรียญสลึงไว้ที่ปากหม้อ เมื่อคนไข้กินหายแล้วก็จะนำเงินนี้มาซื้อของทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของตำรานั้น
4.3 ยาดอง เป็นยาที่ใช้สารละลายหลายชนิด เช่น เหล้า น้ำมะกรูด น้ำส้ม เป็นต้น แช่สมุนไพรแบบเย็น ในที่นี้จะแนะนำเฉพาะยาดองเหล้าซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้บ่อยเท่านั้น การปรุงยาทำได้โดยนำส่วนของสมุนไพรที่ใช้เป็นยามาบดเป็นผงยา และห่อด้วยผ้าขาวบางหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ ถ้าหากเป็นรากหรือแก่นของต้นไม้ให้ฝานเป็นชิ้นบางๆ เท่าๆ กัน เพื่อให้น้ำเหล้าซึมเข้าสู่ยาได้อย่างทั่วถึง ภาชนะที่ใช้สำหรับเตรียมยาดองเหล้า ควรใช้โถกระเบื้องหรือขวดโหลแก้วที่มีฝาปิดสนิท เมื่อใส่ยาลงในภาชนะเรียบร้อยแล้ว ให้เทน้ำเหล้าให้ท่วมยา ตั้งทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ และคนยาให้ทั่ววันละ 1 ครั้ง ยาดองเหล้าเป็นยาที่ค่อนข้างแรง ปริมาณที่ใช้มักน้อยกว่ายาต้ม และห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หญิงมีครรภ์ และผู้ที่แพ้เหล้า
4.4 ยาผง เป็นยาที่ปรุงจากส่วนของสมุนไพรบดละเอียดเป็นผง ชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกัน ยาสมุนไพรหลายตำรับปรุงเป็นยาผง เช่น ยาหอม ยาเขียว เป็นต้น เวลารับประทานมักใช้กับน้ำกระสายยา ซึ่งน้ำกระสายยาอาจเป็นน้ำสุก น้ำดอกมะลิ น้ำซาวข้าว น้ำมะนาว น้ำมันมะกอก เป็นต้น
4.5 ยาลูกกลอน การปรุงยาลูกกลอนทำได้โดยเอาส่วนของสมุนไพรมาหั่นเป็นแว่นบางๆ ผึ่งแดดให้แห้ง บดเป็นผงละเอียด และนำผงมาผสมกับน้ำผึ้ง (น้ำผึ้งที่ใช้ปั้นลูกกลอนมักต้มให้ร้อนเพื่อขจัดสิ่งสกปรกก่อน) อัตราส่วนผสม ระหว่างผงสมุนไพรต่อน้ำผึ้งเท่ากับ1-2 ส่วน : 1 ส่วน ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของผงสมุนไพร เคล้าผงยาให้กลมกลืนประมาณว่าผงสมุนไพรที่ผสมน้ำผึ้งไม่ติดมือก็ใช้ได้ จากนั้นปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8) หรืออาจใช้รางไม้ปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้ จากนั้นจึงเอาไปอบแห้งหรือตากแดดจัด 1-2 วัน และบรรจุภาชนะที่ปิดมิดชิดและสะอาด
นอกจากกรรมวิธีปรุงยาดังกล่าวแล้ว ยาสมุนไพรยังปรุงได้อีกหลายวิธี เช่น การรม การพอก การเตรียมเป็นยาประคบ การหุงด้วยน้ำมัน เป็นต้น การเลือกกรรมวิธีปรุงยาได้เหมาะสมจะทำให้สมุนไพรออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ส่งผลต่อการรักษาความเจ็บป่วยได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
…………………………………….
บรรณานุกรม
กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. (2542). สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2540). ยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
เต็ม สมิตินันท์. (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.
พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. (2537). สมุนไพรก้าวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: เมดิคัล มีเดีย.
ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2551). สมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: จ.เจริญการพิมพ์.
มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์). (2535). ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับอนุรักษ์). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามเจริญพานิช.
ร.ร แพทย์โบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร. (2528). ตำราประมวลหลักเภสัช. กรุงเทพฯ .
สมาคมแพทย์แผนโบราณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ. (2531). ตำราเภสัชกรรมแผนโบราณ กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
สะอาด บุญเกิด จเร สดกร และทิพย์พรรณ สดากร. (2543). ชื่อพรรณไม้ในเมืองไทย: กรุงเทพฯ.
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. (2522). ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์กรุงธน.
ค้นคืนจาก www: http//dtam.go.th
ภาพประกอบ banner จาก http://www.thaihof.org/knowledge/article/detail/1683
|