ฮีตสิบสองครองสิบสี่ กับวิถีสุขภาพ : เดือนอ้าย-เดือนหก (ตอนที่ 1 )
โดย อาจารย์พวงผกา ตันกิจจานนท์
ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน บ่งบอกชาติพันธ์ วิถีชีวิตของชาวอีสาน เกี่ยวข้องวัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อ “ฮีตสิบสอง” มาจากคำสองคำ คือ ฮีต และ สิบสอง “ฮีต” มาจากคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ที่ชาวอีสานถือปฎิบัติ “สิบสอง” มาจาคำว่า สิบสองเดือน ฮีตสิบสอง จึงหมายถึง วัฒนธรรมประเพณีที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี คำสั่งสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอีสานมักตักเตือนลูกหลานให้”ถือฮีต ถือครอง” เป็นมงคลชีวิต
ฮีตแต่ละอย่างกำหนดให้ปฏิบัติในแต่ละเดือนครบทั้ง 12 เดือน เดือนใดมีจารีตประเพณีอะไรประจำเดือน โบราณได้วางฮีต 12 ไว้ ดังนี้

1. เดือนอ้าย ประเพณีที่ต้องทำคือ ทำบุญเข้ากรรม
บุญเข้ากรรมเป็นกิจกรรมของสงฆ์ เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆาทิเสสได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน ในบริเวณวัด โดยมีกุฏิชั่วคราวเป็นหลัง ๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่ง ๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม เรียกว่า สวดอัพภาณ แปลว่า รับกลับเข้าพวก พิธีทำบุญเข้ากรรมไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป แต่เป็นการปวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก ส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมนั้นคือ การหาข้าวของเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระ เชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในเดือนอ้าย คือสุขภาพจิต การมองตนเองนำสิ่งที่ผิดพลาดมาปรับปรุงทำให้จิตสงบเป็นสุขสุขภาพกายจึงสัมพันธ์กับสุขภาพจิต ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตสบาย กายเป็นสุข”

2. เดือนยี่ บุญคูณลาน การทำบุญคูณลาน
ทำเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จแล้ว ในพิธีนี้จะมีการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ชาวบ้าน ลานข้าว ที่นาและตอข้าวบริเวณใกล้ลานข้าวถือว่าเป็นศิริมงคล ทำให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ เจ้าของนาจะอยู่เป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีทำบุญคูณลานข้าวแล้ว ชาวบ้านจึงจะขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าว คือ พระแม่โพสพไปยังยุ้งข้าวและทำพิธีสู่ขวัญกับสู่ข้าวเล้า (ยุ้ง) ข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป ในพิธีนี้จะเห็นภาพของวิถีสุขภาพตั้งแต่การลงแขกเกี่ยวข้าว อาหารการกินซึ่งชาวอีสานจะหาอาหารจากท้องไร่ท้องนา หาปลาได้ก็ทำบ่นหาผักตามท้องนา เช่นผักบุ้งแดง ผักกระถิน มะเขือ ผักกระโดน ซึ่งผักและอาหารเหล่านี้ล้วนแต่ปลอดสารพิษ หาหน่อไม้มาได้ก็ทำแกงหน่อไม้ หาขี้เหล็กได้ก็ทำแกงขี้เหล็ก ชาวอีสานสมัยก่อนจึงมีคำกล่าวที่ว่า “ กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น” “กินผักกินปลาเป็นยารักษาโรค”

3. เดือนสาม บุญข้าวจี่
เป็นการทำบุญในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้าแต่ละครอบครัวจะเตรียมข้าจี่ของตนเองไปเพื่อถวายพระ วิธีการทำข้าวจี่ จะนำจ้าวเหนี่ยวนึ่งมาปั้นเป็นก้อนกลมบ้างหรือก้อนรีบ้าง นำเกลือมาโรยให้ทั่วแล้วนำเป็นย่างไฟซึ่งชาวอีสานเรียกว่า จี่ เมื่อจี่ข้าวแห้งนิดหน่อยแล้วจึงนำข้าวจี่มาทาไข่(ไข่ต้องตีให้ขึ้นฟอง) นำไปจี่ต่อจนกระทั่งไข่สุกหอมจึงนำไปทำบุญตักบาตรตอนเช้า ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ

4. เดือนสี่ บุญพระเวส
บุญพระเวส ออกเสียงว่า ผะเหวด เป็นสำเนียงของชาวอีสานที่มาจากคำว่า พระเวส ซึ่งหมายถึงพระเวสสันดร หรือเรียกว่าบุญมหาชาติ การทำบุญผะเหวด เป็นการทำบุญและฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือเทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า บุญพระเวสเป็นงานบุญใหญ่ของชาวอีสาน มีความเชื่อว่าหากได้ฝังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว อานิสสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นยุคแห่งความสุข ความสมบูรณ์ตามพุทธคติที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล

5. เดือนห้า บุญสงกรานต์
การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ นิยมทำในเดือนห้าเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนถึงวันที่ 15 เมษายน คำว่า สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้ หมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศรีหนึ่ง เป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ การทำบุญสงกรานต์จะมีตั้งแต่เตรียม วันเนาว์หรือวันสงกรานต์ นำทรายไปวัดก่อเจดีย์ทราย เอาพระลงเพื่อทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ นอกจากนี้ ชาวอีสานจะถือปฏิบัติทำบุญสังฑทานให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว ลูกๆหลานช่วยกันไปทำความสะอาดธาตุ(ที่เก็บกระดูกของพ่อแม่ปูย่าตายาย) ล้างทำความสะอาด ดายหญ้าจัดตกแต่งให้สวยงาม ลูกหลานที่ทำงานไกลบ้านก็จะกลับบ้านไปหาพ่อแม่

6. เดือนหก บุญบั้งไฟ
บุญบั้งไฟชาวอีสานจะทำบุญนี้ก่อนลงมือทำนา เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการขอฝนจากพญาแถน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ มีการแห่บั้งไฟ และจุดบั้งไฟ เพราะเชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณขึ้นไปบอกพญาแถน ให้ส่งน้ำฝนลงมา ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะมีการเซิ้งการฟ้อนรำดนตรีเสียงพิณแคนสนุกสนาน การ หากมองด้านสุขภาพเองได้ทั้งสุขภาพกายและจิต เป็นการออกกำลังกายด้วยท่วงท่าฟ้อนรำที่สนุกเร้าใจ
------------------------------------------------------
ที่มา: http://www.gotoknow.org/posts/42273
ภาพประกอบจาก http://www.heedisarn.com/ |