การปฐมนิเทศชุดวิชา คอมพิวเตอร์กับการตลาด 


      สวัสดีนักศึกษาทุกท่านน่ะค่ะ
     สำหรับชุดวิชา 96403 คอมพิวเตอร์กับการตลาด จะมีอาจารย์มาปฐมนิเทศ 2 ท่านด้วยกัน คือ รองศาสตราจารย์สำรวย กมลายุตต์ และอาจารย์วรัญญา ตันบุรินทร์ทิพย์ค่ะ
     วัตถุประสงค์ของชุดวิชานี้ก็คือ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจหลักการบริหารงานเกี่ยวกับการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค ตัวแปรที่มีอิทธิพลซึ่งทำให้เกิดการผันแปรแก่ตลาด การใช้สารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานด้านการตลาด และเพื่อให้นักศึกษาสามารถประยุกต์คอมพิวเตอร์กับกิจกรรมทางการตลาดได้ค่ะ
     ชุดวิชาคอมพิวเตอร์กับการตลาดนี้ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานทางการตลาดและแนวทางในการประยุกต์คอมพิวเตอร์สำหรับงานการตลาดด้านต่าง ๆ โดยการปฐมนิเทศจะแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ส่วน คือ
     - ส่วนแรกเกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านการตลาด จะอยู่ในหน่วยที่ 1-4
     - ส่วนที่สองเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปใช้ในการตลาด จะอยู่ในหน่วยที่ 5-8 และ
     - ส่วนที่สามเกี่ยวกับการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศกับองค์ประกอบพื้นฐานทางการตลาด จะอยู่ในหน่วยที่ 9-12
     - และส่วนที่สี่เกี่ยวกับการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศกับการตลาดของธุรกิจประเภทต่าง ๆ จะอยู่ในหน่วยที่ 13-15
     ซึ่งส่วนที่ 1 และ 3 อาจารย์วรัญญาจะเป็นผู้สรุปประเด็นสาระสำคัญ และส่วนที่ 2 และ 4 รองศาสตราจารย์จะเป็นผู้สรุปประเด็นสาระสำคัญ ให้นักศึกษาทราบค่ะ

  หน่วยที่ 1

    เริ่มจากหน่วยที่ 1 จะกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า "ตลาด" และคำว่า "การตลาด" ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายความหมาย และกล่าวถึงส่วนประกอบของตลาด ประเภทของตลาด ความสำคัญของตลาดและการตลาด
     เนื่องจากการบริหารการตลาดเป็นงานที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และสร้างความพอใจให้กับตลาดเป้าหมาย ดังนั้น    แนวคิดทางการตลาด    จึงเป็นแนวทางสำหรับองค์การในการใช้ความพยายามทางการตลาดเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งมีด้วยกัน 5 แนวคิด คือ แนวคิดด้านการผลิต แนวคิดด้านผลิตภัณฑ์ แนวคิดด้านการขาย แนวคิดด้านการตลาด และแนวคิดด้านการตลาดเพื่อสังคม   หน้าที่ทางการตลาด   คือ กิจกรรมทางการตลาดที่ก่อให้เกิดอรรถประโยชน์และเอื้ออำนวยความสะดวกในกระบวนการแลกเปลี่ยน ซึ่งหน้าที่ทางการตลาด ประกอบด้วยหน้าที่ 3 ประการ คือ การแลกเปลี่ยน การดำเนินการเกี่ยวกับสินค้า และการอำนวยความสะดวก   สภาวะแวดล้อมทางการตลาด   เป็นตัวแปรที่นักการตลาดไม่สามารถควบคุมได้ แต่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของแผนการตลาดของกิจการ ซึ่งสภาวะแวดล้อมทางการตลาด จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ สภาวะแวดล้อมมหภาค และสภาวะแวดล้อมจุลภาค นักศึกษาก็อ่านและศึกษาว่าสภาวะแวดล้อมแต่ละประเภทมีลักษณะเช่นไร ประกอบด้วยสภาวะแวดล้อมย่อย ๆ ใดบ้าง และมีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง    การวิเคราะห์ตลาด    เพื่อให้ทราบถึงลักษณะต่าง ๆ ของลูกค้า แล้วกิจการจะได้นำไปปรับปรุงสินค้าและบริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งขั้นตอนการวิเคราะห์ตลาด จะประกอบด้วยงาน 5 ขั้นตอน คือ 1) การกำหนดลักษณะโครงสร้างตลาดและผลิตภัณฑ์ 2) การกำหนดลักษณะของตลาดที่เหมาะสม 3) การวิเคราะห์อุปสงค์เบื้องต้น 4) การวิเคราะห์อุปสงค์เลือกสรร และ 5) การกำหนดตลาดเป้าหมาย    ตลาด    จะมีอยู่ 2 แบบหลัก ๆ คือ ตลาดผู้บริโภคและตลาดองค์การ ซึ่งตลาดผู้บริโภค เป็นตลาดที่ประกอบด้วยผู้ซื้อรายบุคคลซื้อผลิตภัณฑ์ไปเพื่อการบริโภคหรือใช้สอยในครอบครัว ส่วนตลาดองค์การ จะแตกต่างไป เพราะเป็นตลาดที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ เพื่อไปขายต่อ หรือเพื่อไปใช้ในการดำเนินงาน ดังนั้น นักการตลาดจำเป็นต้องมีการศึกษา    พฤติกรรมการซื้อ    ของตลาดทั้งสองแบบ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการตลาดให้ชัดเจนมากขึ้น    การแบ่งส่วนตลาด    หมายถึง กระบวนการในการแบ่งตลาดออกเป็นส่วนตลาดย่อย โดยผู้บริโภคในส่วนตลาดเดียวกันจะมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และผู้บริโภคที่อยู่ในส่วนตลาดที่ต่างกันจะมีความแตกต่างกัน หลังจากทำการแบ่งส่วนตลาดแล้ว ควรเลือกส่วนตลาดที่กิจการต้องการตอบสนอง ซึ่งอาจจะเลือกเพียงส่วนตลาดเดียวหรือหลายส่วนตลาดก็ได้ ซึ่งเรียกว่า    การกำหนดตลาดเป้าหมาย    นั่นเอง เมื่อกำหนดตลาดเป้าหมายได้แล้ว กิจการควรกำหนดและปรับ    ส่วนประสมการตลาด    ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดเป้าหมายต่อไป ซึ่งส่วนประสมการตลาด มี 4 องค์ประกอบ คือ 1) ผลิตภัณฑ์ 2) ราคา 3) การจัดจำหน่าย และ4) การส่งเสริมทางการตลาด ในหนังสือพิมพ์ผิด หน้า 45 ประเด็นที่ 1. องค์ประกอบของส่วนประสมผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนเป็น องค์ประกอบของส่วนประสมการตลาดน่ะค่ะ

  หน่วยที่ 2 


     สำหรับ หน่วยที่ 2 จะกล่าวถึง    พัฒนาการของการบริหารงานการตลาด    ซึ่งเริ่มต้นมาจากระบบซื้อขายในอดีตที่เป็นระบบแลกเปลี่ยน ต่อมาพัฒนาเป็นระบบการตลาด และปัจจุบันระบบซื้อขายหรือระบบแลกเปลี่ยนสินค้ามีกิจกรรมที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น จึงต้องคิดค้นและพัฒนาวิธีการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละกิจกรรม การสร้างแต่ละกิจกรรมให้เป็นกระบวนการสอดคล้องต่อเนื่องกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์รวมขององค์การได้ เรียกว่า "การบริหารงานการตลาด" ส่วนประสมการตลาดทั้ง 4 องค์ประกอบจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป จึงควรพิจารณา    ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการบริหารงานการตลาด    ซึ่งมี 6 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1)ประเภทธุรกิจ 2)วัตถุประสงค์ 3)ขนาดและศักยภาพ 4)ตลาดเป้าหมายและสภาพการแข่งขัน 5)แนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และ 6) ปัจจัยสุดท้ายคือ ปัจจัยและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ภายในองค์การ    กระบวนการในการบริหารงานการตลาด    จำแนกได้เป็น 4 กระบวนการย่อย คือ 1)การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด 2)การวางแผนงานการตลาด 3)การปฏิบัติการทางการตลาด และ 4)การควบคุมงานการตลาด
     
      เนื่องจากคอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างสูงในการบริหารงานการตลาดในปัจจุบัน ทั้งในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด การวางแผนการตลาด การดำเนินงานและการควบคุมการตลาด ซึ่ง   ประโยชน์ที่ได้จากการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารงานการตลาด    มีอยู่ด้วยกันหลายประการ คือ 1) อำนวยความสะดวกในการทำงานเกี่ยวกับสารสนเทศการตลาด 2) เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและดำเนินการทางการตลาด 3) ช่วยเพิ่มทางเลือกในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด และ 4)ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทางการตลาด

  หน่วยที่ 3

     
      หน่วยที่ 3 จะกล่าวถึง นิยามหนึ่งของการวิจัยการตลาดคือ "การวิจัยการตลาด" หมายถึง ระบบที่มีวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ เกี่ยวกับปัญหาและโอกาสทางการตลาด" ซึ่งมีความสำคัญในหลายส่วนงาน เพื่อจัดหาข้อมูลและสารสนเทศให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ เพื่อลดความผิดพลาดในการดำเนินการทางด้านการตลาด การกำหนด   ขอบเขตของการวิจัยการตลาด    นั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันขอบเขตของการวิจัยการตลาดได้ขยายขอบเขตครอบคลุมด้านต่าง ๆ 5 ด้านด้วยกัน คือ 1)การวิจัยตลาด 2)การวิจัยผลิตภัณฑ์ 3)การวิจัยการจัดจำหน่าย 4)การวิจัยเพื่อการวิเคราะห์ต้นทุนและการกำหนดราคา และ 5)การวิจัยส่งเสริมการตลาด    กระบวนการวิจัยการตลาด    จะมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานเป็นขั้นตอนตามลำดับ เพื่อให้ผลการทำวิจัยมีหลักเกณฑ์ มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริหารสามารถนำผลไปช่วยในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาหรือวางแผนการตลาดได้ ซึ่งกระบวนการวิจัยการตลาดจะมีด้วยกัน 6 ขั้นตอน คือ 1) การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์และสมมติฐานของการวิจัย 2) การออกแบบการวิจัยและกำหนดแหล่งข้อมูล 3) การกำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือในการเก็บข้อมูล 4) การกำหนดตัวอย่างและการเก็บรวบรวมข้อมูล 5) การจัดเตรียมข้อมูล การประมวลผล การวิเคราะห์และแปลความหมาย และ 6)การทำรายงานผลการวิจัย    การใช้ประโยชน์การวิจัยการตลาดเพื่อการวางแผนการตลาด    ก็คือการใช้ประโยชน์จากการวิจัยการตลาดที่มีต่อส่วนประสมการตลาดทั้ง 4 อย่าง ได้แก่ 1)เพื่อการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2)เพื่อการวางแผนการกำหนดราคา 3)เพื่อการวางแผนการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า และ4)เพื่อการส่งเสริมการตลาด

  หน่วยที่ 4

     ส่วนหน่วยที่ 4 จะกล่าวถึง    กระบวนการตัดสินใจซื้อ   ของผู้บริโภค ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1)ผู้บริโภครับรู้ถึงความต้องการของตน 2)การค้นหาข้อมูล 3)การวิเคราะห์หาทางเลือกที่ดีที่สุด 4)การตัดสินใจซื้อ และ 5)การสรุปผลที่เกิดขึ้นจากการซื้อ
     การทำความเข้าใจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการวางแผนการตลาดที่ดี ซึ่ง      ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค1 จำแนกได้ 5 ปัจจัยหลัก คือ 1)ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม 2)ปัจจัยทางด้านระดับชนชั้นของสังคม 3)ปัจจัยทางด้านสังคม 4)ปัจจัยเฉพาะบุคคล และ 5)ปัจจัยด้านจิตวิทยา นอกจากนั้นนักการตลาดต้องเข้าใจปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการซื้อด้วย ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และเทคโนโลยี ดังนั้น ลักษณะการค้าปลีก คือ 1) การค้าปลีกเป็นการขายสินค้าโดยตรงให้กับผู้บริโภค และ 2) ร้านค้าปลีกมีลักษณะของการซื้อซ้ำตลอดเวลา
     ดังนั้น การวางแผนการตลาดของการค้าปลีกจึงมีความสำคัญต่อนักการตลาด โดยควรให้ความสำคัญใน 7 เรื่องหลัก คือ 1) การเน้นการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ค้าปลีก 2) การตรงต่อเวลาในการเยี่ยมร้านและส่งมอบสินค้า 3) การช่วยจัดระบบสินค้าคงเหลือ 4) การให้ความสนใจด้านความสามารถในการซื้อ 5) การจัดให้มีการส่งเสริมการขาย 6) การให้ผลกำไรที่ดี และ 7) การหาข้อมูลของคู่แข่งขัน สภาพตลาด สภาพเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในการวางแผนการตลาด
     ประเด็นอื่น ๆ ที่นักศึกษาจะได้อ่านเพิ่มเติมในตอนนี้ คือ หลักทั่วไปในการแบ่งส่วนตลาด ปัจจัยที่ใช้ในการแบ่งส่วนตลาด และปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมการตลาดระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดขององค์การย่อมส่งผลกระทบใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและการเมือง และด้านเทคโนโลยี
     สำหรับอาจารย์ก็จะกล่าวถึงหน่วยที่ 1-4 ไว้ในช่วงแรกเท่านี้ก่อน ต่อไปในส่วนที่ 2 จะเป็นหน่วยที่ 5-8 ขอเรียนเชิญรศ.สำรวยเป็นผู้สรุปประเด็นสำคัญ ๆ ให้นักศึกษาฟังค่ะ