หน้าแรก
จิตสังคมผู้สูงอายุ
สิทธิผู้สูงอาย
ปกิณกะ-สาระ-บันเทิง
สุขภาพผู้สูงอายุ
การจัดการการเงินสำหรับผู้สูงอายุ
ธรรมสร้างสุข
 
 
  หน้าแรก จิตสังคมผู้สูงอายุ  
 
กดเล่น เพื่อฟังเสียง
 
 

การรับมือของผู้สูงอายุเมื่อเผชิญกับภาวะสูญเสีย
รองศาสตราจารย์อำไพรัตน์  อักษรพรหม
สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์   มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผู้สูงอายุกับภาวะสูญเสีย
   ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ผ่านชีวิตมามาก และมีประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งประสบการณ์การสูญเสีย   กระนั้นก็ตาม การสูญเสียก็เป็นภาวะที่ผู้สูงอายุทุกท่านไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่เป็นไปตามธรรมชาติที่คาดการณ์ได้ เช่น การเสียชีวิตของคู่สมรส เป็นต้น หรือการสูญเสียอย่างเฉียบพลันโดยไม่คาดคิด เช่น การประสบภัยต่างๆ ที่ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน เป็นต้น
   เมื่อเกิดภาวะสูญเสียทั้งแบบที่คาดการณ์และแบบที่ไม่คาดคิดล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะสูญเสียส่วนใหญ่มีภาวะโศกเศร้า เรียกว่า ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เป็นผลมาจากการสูญเสีย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่มีลำดับขั้นตอน ดังนี้

 
1.  ตกใจ ภาวะตกใจเป็นปฏิกริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อทราบว่าสูญเสีย บางคนอาจจะตกใจช่วงสั้น ๆ แต่บางคนอาจจะติดอยู่ในภาวะตกใจเป็นระยะเวลายาวนาน ในภาวะตกใจผู้สูงอายุจะแสดงพฤติกรรม ไม่เชื่อ งุนงง ไม่รับรู้ ปวดร้าวใจ สงบเงียบ เฉยเมย เซื่องซึม รู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ หรืออาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้กำลังอยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นภาวะที่รู้สึกว่าตัวเองหยุดความรู้สึกนึกคิดไว้ชั่วขณะ


2.  ระส่ำระสาย ในภาวะระส่ำระสาย ผู้สูงอายุจะแสดงพฤติกรรมได้หลากหลายตั้งแต่มืดแปดด้าน ทำอะไรไม่ถูกไปชั่วขณะ สมาธิกระจัดกระจาย หลงลืม และรุนแรงขึ้นไปจนกระทั่งพยายามดิ้นรนทำสิ่งที่นอกเหนือความสามารถของตนเอง ซึ่งจะรุนแรงมากเท่าไรขึ้นอยู่กับความรู้สึกสับสนต่อภาวะสูญเสียของผู้สูงอายุ


3.  ปฏิเสธ   ผู้สูงอายุใช้การปฏิเสธเพื่อปกป้องตนเองจากความปวดร้าวใจที่จะรับรู้และยอมรับถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นในทันที จึงพยายามถ่วงเวลาการรับรู้และยอมรับความจริงด้วยการปฏิเสธ อาจอยู่ในภาวะปฏิเสธเพียงชั่วขณะ หรือปฏิเสธเป็นเวลายาวนาน อาจจะสามารถค่อย ๆ รับรู้ความสูญเสียที่ตนเองได้รับ จนเกือบจะยอมรับได้แต่กลับรู้สึกปวดร้าวใจจนทนไม่ได้ ยิ่งรับรู้ความสูญเสียมากยิ่งปวดร้าวใจก็อาจกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของภาวะปฏิเสธอีกได้   ผู้สูงอายุบางรายอาจพยายามจะเผชิญความจริง แต่ยังไม่สามารถจะยอมรับได้ จะแสดงความวิตกกังวล พฤติกรรมฉุนเฉียว ก้าวร้าว


4.  ซึมเศร้า  ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าอาจแสดงออกอย่างชัดเจนหรือแสดงออกเพียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออก ส่วนใหญ่ จะแสดงออก 2 ลักษณะ คือ (1) แยกตัวโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว โศกสลด เดียวดาย โหยให้ เงียบเหงา และว่างเปล่า ร่วมกับความรู้สึกเจ็บปวดตามร่างกาย (2) สิ้นหวัง ซึ่งเป็นความรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยหน่าย มืดมน หมดหวัง


5.  รู้สึกผิด ความรู้สึกผิดมักจะเกิดขึ้นควบคู่กับภาวะซึมเศร้า จะแสดงพฤติกรรมคิดตำหนิตนเองหรือคิดว่าตนเองควรรับผิดชอบกับเหตุการณ์สูญเสีย ส่งผลให้รู้สึกทุกข์ทรมานใจ   หากก่อนเหตุการณ์สูญเสีย ผู้สูงอายุเคยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับผู้ที่จากไป จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีปมติดค้างในใจ หรือหากผู้ที่เสียชีวิตจากไปนั้นยังไม่อยู่ในวัยที่สมควรตายจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถจะช่วยบุคคลนั้นได้


6.  วิตกกังวล  ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะสูญเสียส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกวิตกกังวลที่รุนแรงและค่อนข้างยาวนาน มักจะมีความรู้สึกหวาดกลัวร่วมด้วย มักเป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิตเมื่อคู่สมรสเสียชีวิตจากไป วิตกกังวลอย่างรุนแรงต่อความไม่มั่นคงในชีวิต และหวาดกลัวความไม่แน่นอนในชีวิต ตื่นตระหนกว่าความตายอาจจะมาถึงเมื่อไรก็ได้


7.  โกรธก้าวร้าว  เป็นภาวะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะสูญเสียต้องการจะระบายความหงุดหงิด ฉุนเฉียวที่ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของตนเอง ต้องการแสดงความไม่ ตลอดจนเป็นภาวะที่ต้องการจะระบายความทุกข์ยากลำบากที่ไม่สามารถพูดเป็นคำพูดได้ หรือความทุกข์ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้


8.  ทำใจให้ยอมรับ เมื่อปฏิกริยาทางจิตใจทั้ง 7 ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว เกิดขึ้นและรุนแรงจนถึงที่สุดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นระยะเวลาทิ้งห่างจากการเกิดเหตุการณ์สูญเสียประมาณ 6 เดือน และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะสูญเสียจะต้องไม่กลับไปสู่ภาวะเริ่มปฏิเสธอีก ก็จะเริ่มทำใจยอมรับการสูญเสียอย่างแท้จริง และยอมรับว่าถึงเวลาจะต้องตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง


9.  เริ่มต้นชีวิตใหม่      แม้ว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะสูญเสียจะคิดเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่มักจะหวนกลับไปคิดถึงชีวิตในอดีตขณะที่ยังไม่สูญเสีย เช่น คิดถึงการใช้ชีวิตอยู่กับสมาชิกในครอบครัวที่ตายจากไปแล้ว ไปสู่การยอมรับว่าต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังในปัจจุบัน ภาวะเช่นนี้จะย้อนกลับไปกลับมา เป็นระยะเวลายาวนานกว่าจะผ่านพ้น กระบวนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะสูญเสียมักจะหวนกลับมาโศกเศร้าเพราะระลึกถึงผู้ตายจากไปในโอกาสต่าง ๆ เช่น ครบรอบวันแต่งงานสำหรับคู่สมรสที่ตายจากไป ครบรอบวันเกิดของผู้ที่ตายจากไป เทศกาลที่มีการรวมญาติอย่างสงกรานต์ เป็นต้น
 

   แต่ละขั้นตอนจะเริ่มเกิดขึ้นทีละน้อยแล้วค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนกระทั่งรุนแรงเต็มที่แล้วจะค่อย ๆ ลดลง ขั้นตอนอื่นก็จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นมาแทนที่ อย่างไรก็ตามปฏิกริยาทางจิตใจนี้อาจไม่เป็นลำดับ 1 แล้ว 2 แล้ว 3 เรื่อยไป อาจมีการย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ขั้นตอนแรก ๆ เมื่อขั้นตอนช่วงกลาง ๆ ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลงได้ เช่น ในขณะที่ขั้นตอนโกรธก้าวร้าวค่อย ๆ ลดลง แทนที่จะค่อย ๆ เริ่มทำใจให้ยอมรับได้ อาจจะกลับไปปฏิเสธอีกครั้งก็ได้ เป็นต้น

ควรทำอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุเผชิญกับภาวะสูญเสีย
   เมื่อต้องเผชิญกับภาวะสูญเสียผู้สูงอายุควรดูแลตนเองเพื่อผ่อนคลายจากภาวะสูญเสีย ที่สำคัญควรจะเริ่มจากการตั้งสติ ทำความเข้าใจว่าภาวะสูญเสียเป็นวิกฤติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เป็นส่วนหนึ่งในวงจรของชีวิตมนุษย์    หันมาให้ความสนใจกับสุขภาพร่างกาย การรับประทานอาหาร การนอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามอัตภาพอย่างสม่ำเสมอ   นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังควรให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อม พยายามพูดคุยหรือมีกิจกรรมร่วมกับบุตรหลาน แทนการเก็บตัวอยู่กับตัวเอง และอาจออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม เช่น การทำบุญที่วัด ร่วมงานประเพณีตามเทศกาลสำคัญๆ เป็นต้น

   สำหรับบุตรหลานหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุควรให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษจากปกติ ด้วยการอยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ ไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังเป็นเวลานานๆ หมั่นชวนพูดคุย หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสามารถของผู้สูงอายุ   พาผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสนใจในสิ่งแวดล้อม แทนการเก็บตัวโดดเดี่ยว คิดหมกมุ่นกับเหตุการณ์สูญเสีย ดูแลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารให้เพียงพอจัดหาอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของผู้สูงอายุโดยต้องคำนึงถึงความน่ารับประทานของอาหารที่จัดให้ผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุเบื่ออาหารต้องจัดหาอาหารให้รับประทานบ่อย ๆ   รวมทั้งดูแลให้ผู้สูงอายุได้พักผ่อนนอนหลับ และออกกำลังกายอย่างเพียงพอ

   หากพบว่าผู้สูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายหรือจิตใจที่ผิดปกติ   ควรรีบพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง
อรพรรณ ทองแตง (2550) รายงานการวิจัย “การวิจัยเพื่อพัฒนาคู่มือสำรวจอารมณ์เศร้าด้วยตัวเองในผู้สูงอายุไทย” Aguilera D.C. (1994) Crisis Intervention: Theory and Methodology. 7th ed, St.Louis: Mosby,1994.Lindemann, E. Symptomatogy and Management of Acute Grief. Ammerican Journal of Psychiatry, p.101 1994.

 
 
  © Copyright 2007-2008. All Rights Reserved.