สุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุ
รองศาสตราจารย์วารี ระกิติ
องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยาม (WHO 1976) ไว้ว่า สุขภาพจิตที่ดี หมายถึง อารมณ์ และสังคมที่เป็นสุข กล่าวคือ บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีย่อมสามารถปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับการดำรงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นและตอบสนองความต้องการของตนได้อย่างเหมาะสมโดยปราศจากข้อขัดแย้งในใจ
ผู้ดูแลผู้สูงอายุ
หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่คอยดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และ จิตวิญญาณแบ่งเป็นประเภท 2 ประเภท คือ ผู้ที่เป็นญาติ และผู้ที่รับจ้างดูแลผู้สูงอายุซึ่งประเภทหลังนี้อาจจะเลือกจากศูนย์บริการที่รับจัดหา อาจจะผ่านการสอนหรือฝึกอบรมก่อน หรืออาจจะเลือกจากชนบทซึ่งจะไม่ได้รับการสอนหรือฝึกอบรมมาก่อน
ญาติของผู้สูงอายุต้องการอะไรจากผู้ดูแล
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีสุขภาพเสื่อมถอยทั้งร่างกายและจิตใจ การตอบสนองทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญาณ จำเป็นจะต้องพึ่งพาจากผู้อื่น ทั้งที่เป็นญาติสนิทหรือลูกจ้าง ดังนั้น ความต้องการของญาติหรือผู้จ้างต้องการคาดหวังจากผู้ดูแลเบื้องต้น คือ
1) ความเป็นกัลยาณมิตร คอยห่วงใย เอาใส่ใจ คอยช่วยเหลือเสมอ
2) มีความเมตตา กรุณา เข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุว่าต้องการอะไร
3)ดูแลให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากภยันตรายจากอุบัติเหตุ และรู้แหล่งขอความช่วยเหลือเมื่อเผชิญกับปัญหา ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
4)มีวาจาสุภาพ รู้จักกาลเทศะ พูดในสิ่งที่ทำให้ผู้ฟังสบายใจ
5)ให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าผู้สูงอายุจะอยู่ในสภาพอย่างไร เช่น สมองเสื่อมช่วยเหลือตนเองได้น้อย เป็นต้น และ
6) ญาติวางใจได้ ซื่อสัตย์ ไม่ลักขโมยทรัพย์สินของเจ้าของบ้าน
การที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุจะตอบสนองความปรารถนาของญาติได้ครบหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการทั้งที่เป็นปัจจัยด้านคุณสมบัติส่วนตัวของผู้ดูแล และปัจจัยที่ญาติหยิบยื่นให้ รวมทั้งปัจจัยด้านตัวผู้สูงอายุ หากผู้ดูแลพึงพอใจในสิ่งตอบแทน รวมทั้งปัจจัยในตัวผู้สูงอายุ ผู้ดูแลก็มักจะให้การดูแลที่ตอบสนองต่อผู้สูงอายุได้เป็นที่พึงพอใจ
ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุ
ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุดังนี้
1. การพักผ่อนไม่เพียงพอ
ผู้ดูแลผู้สูงอายุมักได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ บางคนต้องทำงานบ้านขณะที่ผู้สูงอายุหลับหรือได้พักผ่อนแล้ว แม้เวลากลางคืนผู้ดูแลจำเป็นต้องให้การดูแลผู้สูงอายุอีก ทั้งที่ควรจะเป็นเวลาที่ได้รับการพักผ่อน จึงดูเหมือนว่าบริการผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ดูแล ดังนั้นการมีผู้ดูแลสับเปลี่ยนกันเป็นพลัด ๆ จะช่วยให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น
2. ความเครียดทางอารมณ์และจิตใจ
ผู้ดูแลผู้สูงอายุมักจะเกิดภาวะเครียดทางอารมณ์และจิตใจได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ดูแลที่ต้องดูแลญาติสนิทของตนเองจะวิตกกังวลมากกว่าผู้ดูแลที่ไม่ใช่ญาติของเขาเอง ความห่วงใยผู้สูงอายุของผู้ดูแลที่เป็นญาติสนิทนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะเกรงว่าจะให้การดูแลไม่ครอบคลุมหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอาจจะตำหนิตัวเองหรือเกรงกลัวว่าจะถูกญาติพี่น้องตำหนิได้
3. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ
ผู้ดูแลผู้สูงอายุจะขาดรายได้ หากเป็นญาติต้องรับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุ ถ้ามีรายได้น้อย การเงินฝืดเคือง ไม่เพียงพอกับรายจ่ายแต่ละวันซึ่งต้องแบกภาระรับอย่างเต็มที่ และถ้าผู้สูงอายุมีภาวะเจ็บป่วยด้วย ภาระด้านเศรษฐกิจก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มีผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจของผู้ดูแลได้
4. ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวและบุคคลอื่น
ผู้ดูแลอาจมีความขัดแย้งกับบุคคลในครอบครัวที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการดูแล โดยเฉพาะครอบครัวขนาดใหญ่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจำนวนมาก ผู้ดูแลจะรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ
5. ปัญหาขาดความเป็นอิสระ
เมื่อผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องการให้การดูแลอย่างเต็มที่ ผู้ดูแลก็จะขาดความเป็นอิสระในตัวเอง การดำเนินชีวิตประจำวันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อปรับตนเองให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกประเด็นที่กล่าวมาเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าผู้ดูแลจะเป็นผู้ซึ่งญาติสนิทต้องการให้การดูแลชนิดกตัญญู กตเวทิตาคุณ ก็ตามย่อมมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้นนั่นคือ ความเป็นปุถุชนของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้รับผิดชอบต่อผู้ดูแลจำเป็นจะต้องประเมินความต้องการว่าผู้ดูแลต้องการตอบสนองในเรื่องใดบ้าง ควรตอบสนองอย่างเหมาะสม และส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ดังนี้
1. ให้ความรักเสมือนญาติ
เอ็นดูเขาเสมือนญาติ สิ่งใดที่เขาควรจะมี ญาติไม่ควรดูดาย แบ่งปันให้ก่อนที่เขาจะร้องขอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชมเชย แบ่งปันอาหารให้รับประทานมิใช่ให้ของเหลือจากนายจ้างรับประทานแล้ว
2. ให้เกียรติ
การให้เกียรตินั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์ปุถุชนทุกคนพึงได้รับ ไม่ดูถูก เหยียดหยาม ไม่ว่าจะด้วยกริยา ท่าทางที่แสดงต่อผู้ดูแล สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ดูแลเคารพ นับถือต่อครอบครัวผู้สูงอายุ
3. ไว้วางใจไม่จับผิด
ไม่จับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางครั้งจำต้องปล่อยวาง เอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง หากการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุไม่เป็นการเสี่ยงต่อชีวิต ไม่เกิดความเสียหาย แต่ควรหาวิธีพูดชนิดที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น สิ่งที่ญาติปฏิบัติจะมัดใจผู้ดูแลได้อย่างดี
4. ให้ความเป็นส่วนตัว
ผู้ดูแลต้องการความเป็นส่วนตัวเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว พึงให้ความเป็นส่วนตัวแก่เขา เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง หรือไปชมการแสดงนอกบ้าน หรือแม้แต่ห้องส่วนตัวหากจัดได้ควรจัดให้ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว เป็นต้น
5. ให้วันหยุด และมีผู้แบ่งเบาภาระชั่วคราว
การให้มีวันหยุดนั้นเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ดูแลได้เป็นอิสระ ปลดปล่อยภารกิจที่ปฏิบัติตลอดสัปดาห์ อาจจะอนุญาตให้หยุดเดือนละ 1-2 วัน หรือหยุดในเทศกาล โดยผลัดเปลี่ยนให้ญาติดูแลผู้สูงอายุแทน ทั้งนี้ไม่ควรหักเงินเดือนในกรณีนี้
6. ให้ขวัญกำลังใจ
ญาติผู้ดูแลคงจะมีโอกาสไปท่องเที่ยว ทัศนาจรนอกบ้าน สิ่งที่ไม่ลืม คือ ซื้อของฝากเล็กๆ น้อยๆ ให้ และในเทศกาลอาจจะให้เงินเพื่อซื้อของใช้ในเทศกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ ตรุษจีน เข้าพรรษา เป็นต้น
7. ให้โอกาสพัฒนาตนเอง
หากมีการฝึกอบรม ส่งเสริมให้ฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น
8. การแต่งกาย
ส่งเสริมให้แต่งกายที่สะอาด ดูดี ไม่ดูเป็นผู้รับใช้ แต่ดูเหมือนลูกหลานจะดูดีกว่า
9. เป็นที่ปรึกษา
ญาติควรสังเกตปัญหาและความต้องการของผู้ดูแล ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สอบถามความทุกข์สุขเสมอ แนะนำการเก็บออมเงินไว้เพื่อใช้เมื่อจำเป็น เช่น เปิดบัญชีออมทรัพย์ เป็นต้น
จากประเด็นที่ญาติพึงส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทที่มีความกตัญญูกตเวทิตา หรือผู้ดูแลที่เป็นลูกจ้าง
หากเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุก็จะเผชิญปัญหาความเครียดไม่แตกต่างกัน ดังนั้น หากต้องการให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุปฏิบัติต่อผู้สูงอายุตามที่ญาติต้องการ ญาติพึงให้ความรัก ความห่วงใย เอ็นดูเปรียบเสมือนญาติ ให้การดูแลผู้ดูแลมิให้เสมือนผู้รับใช้ทั่วไป มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาผลัดเปลี่ยนผู้ดูแลอยู่บ่อย ๆ พึงระลึกเสมอว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา ญาติต้องการเช่นไรผู้ดูแลผู้สูงอายุก็ต้องการให้ญาติปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้น เพื่อให้สุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ และผู้สูงอายุก็จะได้รับบริการที่พึงพอใจตามที่ต้องการ
เอกสารอ้างอิง
เจียมจิต แสงสุวรรณ พรรณงาม พรรณเชษฐ บรรณาธิการ (2544) คู่มือการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ขอนแก่น ขอนแก่นการพิมพ์
พรทิพย์ เกยุรานนท์ (2545) การพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรังและพิการในชุมชน ใน ประมวลสาระชุดวิชาการพยาบาลชุมชนและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น หน่วยที่ 13 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์
ยุพาพิน ศิรโพธินาม (2546) แนวคิดการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุแบบองค์รวม ใน ประมวลสาระชุดวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หน่วยที่ 1 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์
|