การนอนหลับอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุ
อาจารย์นิภาภัทร อยู่พุ่ม
สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การนอนหลับ หมายถึง สภาวะที่ไม่รับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการทางสรีรวิทยาที่ซับซ้อนสอดคล้องกับจังหวะการทำงานและการทำหน้าที่ของร่างกายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต มนุษย์ใช้เวลาหนึ่งในสามของเวลาทั้งหมดในชีวิตไปกับการนอนหลับซึ่งความต้องการการนอนหลับของแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากันเนื่องจากมนุษย์มีวงจรการนอนหลับหมุนเวียนเป็นวงจรในรอบ 24 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์กับความมืด ความสว่าง และ อุณหภูมิของร่างกายที่ถูกควบคุมโดยเซลล์ประสาทในสมอง โดยระยะเวลาของการนอนหลับจะแตกต่างกันตามวัยหรือช่วงอายุของบุคคลและลดน้อยลงตามวัยของอายุที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้สูงอายุมีความต้องการการนอนหลับประมาณ 6.5 ชั่วโมงต่อวัน จากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับพบว่าระยะเวลาของการนอนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการนอนหลับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยสูงอายุซึ่งมีรายงานการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนได้รับความทุกข์ทรมานจากการนอนไม่หลับและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวมากกว่าร้อยละ 50
การนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่งจากความเข้าใจดั้งเดิมที่ว่าผู้สูงอายุต้องการการนอนหลับน้อยกว่าบุคคลวัยอื่นๆนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะการที่ผู้สูงอายุนอนหลับได้น้อยเนื่องจากผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องแบบแผน การนอนที่เปลี่ยนไป เช่น เมื่อเข้านอน เดิมเดี๋ยวเดียวก็หลับเปลี่ยนเป็นกว่าจะหลับก็ใช้เวลานาน หรือ เมื่อหลับแล้วเดิมเคยหลับติดต่อกันรวดเดียว 7-8 ชั่วโมง จึงตื่นทีเดียวเปลี่ยนเป็นมีการตื่นคั่นระหว่าง 7-8 ชั่วโมงบางทีก็ครั้งหรือ สองครั้งแล้วจึงหลับต่อ เมื่อจะหลับต่อก็มักจะหลับยากหรือ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเวลาการตื่น เช่น เดิมตื่น 6 โมงเช้า ก็เปลี่ยนเป็นตื่นตี 5 แล้วนอนต่อแต่ไม่หลับ ต้องลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่แก้รำคาญ การนอนไม่หลับของผู้สูงอายุไม่ใช่มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่รู้สึกรำคาญตนเอง อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น แต่ยังส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัวของผู้สูงอายุอีกด้วย
ปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุเกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ได้แก่ สาเหตุด้านร่างกาย ด้านจิตใจอารมณ์ และด้านสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้
|
1. สาเหตุด้านร่างกาย
ได้แก่ ความสูงอายุ ซึ่งทำให้มีการเสื่อมสภาพและการลดลงของ
เซลล์ประสาทในสมอง ที่ควบคุมการนอนหลับ ความเจ็บปวดจากการผ่าตัด การอักเสบ อุบัติเหตุ และโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคข้อเสื่อม โรคเก๊าท์ โรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น ความไม่สุขสบาย จากท่านอน ลักษณะของเตียงและที่นอน การถ่ายปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การหายใจลำบากจากโรคอ้วน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษา โรคประจำตัวของผู้สูงอายุ เช่น ยาบาบิทูเรต ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดลม และยาต้านอาการเศร้า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เช่น สุรา ชา กาแฟ โคลา ช็อคโกแลต และ การสูบบุหรี่
2. สาเหตุด้านจิตใจและอารมณ์
ได้แก่ อารมณ์เศร้าจากการใช้ยารักษาโรคทางกายต่างๆเช่นโรคเบาหวาน โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจ เป็นต้น ความเครียดและความวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และสังคม ความรู้สึกสูญเสียความสามารถของตนเองจากการเคยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำให้กับคนอื่น การเป็นที่ยอมรับและยกย่องจากคนข้างเคียงเพื่อนฝูงหรือ สังคม การขาดที่พึ่ง เช่น บุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ใกล้ชิด เพื่อนสนิทถึงแก่กรรม เป็นต้น นอกจากนี้สุขภาพ ไม่แข็งแรงพอ ที่จะปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ ขาดการติดต่อไปมาหาสู่กับผู้อื่น บุตรหลานก็เติบโตมีครอบครัวแยกย้ายกันไปทำให้เกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เนื่องจากสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากระบบเกษตรกรรมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมทำให้เกิดภาวะที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น พึ่งพาอาศัยกันน้อยลงครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก กลายเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ลำพังพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับความสนใจและการดูแลจากลูกหลาน นอกจากนี้ ภาระหน้าที่ทางสังคมที่ผู้สูงอายุเคยกระทำมาก็ขาดหายไปเนื่องจากเกษียณอายุหรือจากบุตรหลานไม่อยากให้ทำงานต่อไปด้วยความหวังดีว่าทำงานหนักมานานแล้ว สมควรที่จะพักผ่อนให้สบายซึ่งการขาดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในสังคมนี้ อาจเป็นเหตุให้กระทบต่อความรู้สึกในคุณค่าของผู้สูงอายุเอง ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เบื่อหน่าย แยกตัวและอาจเกิดความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ที่รบกวนการนอนหลับได้
3. สาเหตุด้านสิ่งแวดล้อม
ได้แก่ ความถี่และระดับความดังที่มากกว่า 80 เดซิเบล ของเสียงจากการจราจร เสียงวิทยุ เสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม อุณหภูมิของห้องนอนที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ ความเข้มของแสงในธรรมชาติที่แตกต่างกัน เช่น แสงขมุกขมัว แสงจากหลอดไฟ แสงแดดจ้า กลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น กลิ่นขยะ กลิ่นน้ำเสีย กลิ่นอาหาร กลิ่นปัสสาวะ กลิ่นอุจจาระและกลิ่นสารเคมีต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้บุคคลร่วมห้องนอน เช่น สามีภรรยา บุตรหลานอาจรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุได้
|
|
การจัดการเพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
การนอนหลับอย่างเพียงพอทั้งระยะเวลาและคุณภาพจะเป็นปัจจัยส่งเสริมสุขภาพที่ดี การนอนหลับจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพผ่อนคลาย ดังนั้น เพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุควรจัดการ ดังนี้
|
1. การจัดการด้านร่างกาย สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
|
1.1ผู้สูงอายุควรนอนหลับและตื่นให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงเวลาใกล้เวลานอน
1.2 ผู้สูงอายุควรรับประทานยาเพื่อระงับหรือบรรเทาอาการ เช่น อาการปวด อาการหายใจลำบาก ไอ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดก่อนนอนประมาณ 30 นาที จะทำให้ผู้ที่มีอาการปวด นอนหลับได้
1.3 ผู้สูงอายุสามารถนวดตามร่างกายเพื่อลดอาการปวด และจะทำให้เกิดการผ่อนคลายนอนหลับได้
1.4 ผู้สูงอายุควรถ่ายปัสสาวะก่อนเข้านอนหรือจัดที่นอนให้อยู่อยู่ใกล้ห้องน้ำ หรือเตรียมกระโถนสำหรับปัสสาวะไว้ในห้องนอน
1.5 ผู้สูงอายุควรนอนในท่านอนที่เหมาะสม มีการเปลี่ยนท่านอนในท่าที่สุขสบายขึ้น เช่น เพิ่มหมอนหนุนศีรษะเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
1.6 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนตอนเย็นและก่อนนอน
1.7 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนนอน
1.8 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน
1.9 ผู้สูงอายุควรดื่มนมอุ่นๆ ก่อนเข้านอนเพราะนมมีกรดอะมิโนซึ่งเป็นยานอนหลับทางธรรมชาติ |
|
2 การจัดการด้านจิตใจและอารมณ์ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
|
2.3 ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมการผ่อนคลายโดย การนวดตามร่างกายเพราะพบว่าการนวดไทยประยุกต์สามารถลดอาการปวดศีรษะจากความเครียดได้
2.4 ผู้สูงอายุควรสวดมนต์ ทำสมาธิ อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียดก่อนนอน
2.3 ผู้สูงอายุควรฟังเพลงหรือเทปธรรมะก่อนนอน
2.4 ผู้สูงอายุควรใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกคลายกล้ามเนื้อ การใช้จินตภาพ การฝึกการหายใจ
2.5 ผู้สูงอายุควรใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยามีผลต่อการคงสภาวะอารมณ์ที่เป็นปกติ |
|
3 การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
|
3.3 ผู้สูงอายุ ควรจัดห้องนอนและเครื่องนอนให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก ปรับอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
3.4 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากเสียงรบกวนต่าง ๆ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรใช้ วัสดุอุดหูเพื่อลดเสียง
3.5 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากแสงสว่างที่มีระดับความเข้มของแสงมากเกินไป โดยการปิดไฟ ปิดม่าน |
|
|
|
จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตนเพื่อให้นอนหลับอย่างเพียงพอทั้งคุณภาพและปริมาณนั้นไม่ใช่สิ่ง ที่ยากหรือเป็นปัญหาไกลตัวสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับสามารถปฏิบัติตามวิธีการต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นได้แต่หากปัญหาการนอนหลับยังรบกวนและสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อค้นหาโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับซึ่งการค้นพบสาเหตุโดยเร็วจะทำให้การรักษาง่ายขึ้นมากกว่าการปล่อยปละละเลยจนอาการรุนแรงขึ้นเพราะจะทำให้การรักษายากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตนเพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของตนเอง
เอกสารอ้างอิง
กุสุมาลย์ รามศิริ (2543) คุณภาพการนอนหลับ ปัจจัยที่รบกวนและการจัดการกับปัญหาการนอนหลับของผู้สูงอายุ วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บรรลุ ศิริพาณิชย์ (2540) ผู้สูงอายุไทย กรุงเทพ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
วราภา แหลมเพชร (2544) การนอนหลับและปัจจัยรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแผนกอายุรกรรม วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาล ผู้ใหญ่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สุรชัย เกื้อศิริกุล (2542) ปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ หนังสือประกอบการอบรมเรื่องจิตเวชศาสตร์ ผู้สูงอายุสู่ทศวรรษใหม่ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน้า 55-63 |