การครองตนในครอบครัวอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุ
รองศาสตราจารย์ ดร.เจียรนัย ทรงชัยกุล
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพได้นั้น มีสาเหตุพื้นฐานที่สำคัญบางประการมาจากการที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ และจัดการด้าน ที่อยู่อาศัยของตนเองได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การที่ผู้สูงอายุจะดำเนินชีวิตร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวอย่างมีความสุขทางใจได้นั้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย คู่สมรส ลูก หลาน ญาติ มิตร และผู้ดูแล เป็นต้น
บทความนี้จึงมุ่งเน้นการนำเสนอวิธีการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวโดยนำหลักธรรมของพุทธศาสนามาใช้ เพื่อให้การครองตนในครอบครัวของผู้สูงอายุดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
การครองตนในครอบครัวของผู้สูงอายุอย่างมีความสุขโดยวิธีการ พ-อ-ส
พ-อ-ส ย่อมาจากอักษรตัวแรกจากหลักธรรม 3 หมวดของพุทธศาสนา ได้แก่ พรหมวิหาร 4 อธิษฐาน 4 และ สังคหวัตถุ 4 ซึ่งผู้เขียนได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นวิธีการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัว วิธีการ พ-อ-สมีสาระสำคัญพอสรุปได้ตามลำดับ ดังนี้
|
1. การมีธรรมประจำใจ 4 ประการของผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ (พรหมวิหาร 4)
การมีธรรมประจำใจ4ประการของผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ หรือพ4 ประกอบด้วย การมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขมอบให้เพื่อนมนุษย์-การมีความสงสาร-การมีความเบิกบานพลอยยินดี-การมีใจเป็นกลาง ซึ่งผู้สูงอายุสามารถนำไปประยุกต์ใช้สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องกับสมาชิกในครอบครัว มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
|
1.1การมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขมอบให้เพื่อนมนุษย์ (เมตตา) ผู้สูงอายุควรมีความปรารถนาดี การมองกันในแง่ดี ความเห็นใจ ความห่วงใย และการมีไมตรี มอบให้แก่สมาชิก ทุกคนในครอบครัวอยู่เสมอ เพราะการมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นรากฐานก่อให้เกิดความปรองดองและความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นผู้สูงอายุควรมีความเต็มใจช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวทำภารกิจต่าง ๆ ตามอัตภาพ และตามบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตน เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวได้ประโยชน์ และมีความสุข ความสบาย
1.2 การมีความสงสาร (กรุณา) ผู้สูงอายุควรพยายามช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวทุกคนให้ผ่านพ้นจากความทุกข์ยาก เดือดร้อน ผู้สูงอายุควรดูแลเอาใจใส่สมาชิกในครอบครัวที่มีประสบการณ์น้อยหรือด้อยโอกาส ซึ่งจะช่วยผ่อนปรน หรือหลีกเลี่ยงความยากลำบากที่สมาชิกในครอบครัวเผชิญอยู่ อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมความมั่นคงทางจิตใจ และสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถใช้รักษาตัวรอดได้ต่อไปในอนาคต หากสมาชิกในครอบครัวผู้ใดทำผิดพลาด ผู้สูงอายุก็ควรให้อภัยและให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น
1.3 การมีความเบิกบานพลอยยินดี (มุทิตา) ผู้สูงอายุควรประคับประคองจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบาน ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวพบความก้าวหน้าทางการศึกษา หรือมีความสำเร็จจากการประกอบสัมมาชีพ หรือมีครอบครัวที่มั่นคง หรือมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในครอบครัว ผู้สูงอายุควรแสดงความชื่นชมยินดีกับสมาชิกในครอบครัวผู้นั้นอย่างจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพื่อจูงใจให้เขามุ่งมั่นก้าวสู่เป้าหมายอื่น ๆ ต่อไปอีก จนพบกับความสำเร็จและมีความสุขเรื่อยไป ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ไม่ควรละเลยที่จะสนับสนุนอุปถัมภ์ค้ำชูสมาชิกในครอบครัวทุกคนให้พยายามก้าวสู่เป้าหมายที่ดีงามจนพบกับความสำเร็จและมีความสุขด้วยโดยถ้วนหน้า
1.4 การมีใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ผู้สูงอายุควรพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงและปราศจากอคติ แล้วปฏิบัติไปตามหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม โดยไม่หวั่นไหว เช่น ผู้สูงอายุควรยอมรับข้อดีและข้อด้อยของตนเองได้ตามความเป็นจริง และยอมรับข้อดีและข้อด้อยของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนได้ตามความเป็นจริงเช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุควรยอมรับและเคารพในความแตกต่างของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนได้ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิกในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกันด้วย
|
|
2. การมีหลักธรรม 4 ประการเป็นที่ยึดมั่นสำหรับปฏิบัติตาม (อธิษฐาน 4)
การมีหลักธรรม 4 ประการเป็นที่ยึดมั่นสำหรับปฏิบัติ หรือ อ4 ประกอบด้วย การใช้ปัญญา-การรักษาความสัตย์-ความยินดีเสียสละ-การหาความสุขสงบ มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
|
2.1 การใช้ปัญญา ผู้สูงอายุควรอยู่ร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวโดยใช้ปัญญาเหนืออารมณ์ เช่น หากมีสิ่งใดที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว ผู้สูงอายุก็สามารถเป็นที่ปรึกษาอาวุโสที่ได้รับการเคารพนับถือของคนในครอบครัว มาช่วยเสนอแนะทางออกในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ได้ โดยแนะนำวิธีคิดอย่างมีเหตุผลและมีวิจารณญาณ การรู้จักนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาประกอบการตัดสินใจ การยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกันอย่างเพียงพอ และการมีวิธีการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เป็นต้น
2.2 การรักษาความสัตย์ ผู้สูงอายุควรดำรงตนให้มั่นคงอยู่ในความจริงและรักษาความจริงกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน เช่น ผู้สูงอายุจะปฏิบัติกับสมาชิกในครอบครัวทุกคนด้วยความจริงใจ ซื่อตรง รักษาคำพูด มีการปฏิบัติหรือการกระทำที่สอดคล้องกันกับการพูด มีความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้ ผู้สูงอายุก็จะเป็นตัวแบบที่ดีให้สมาชิกในครอบครัวได้เห็น ศรัทธา และอยากทำตาม
2.3 ความยินดีเสียสละ ผู้สูงอายุควรยินดีเสียสละความสุขสบายเฉพาะของตนเองได้ เพื่อความสุขสบายของสมาชิกในครอบครัวส่วนรวม ผู้สูงอายุควรมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการให้ การเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพราะการเสียสละจะช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดปีติ มีเสน่ห์ และมีสุขภาพจิตดีขึ้น
2.4 การหาความสุขสงบ ผู้สูงอายุควรหาความสุขสงบทางจิตใจ รู้รสของความสงบและสันติสุข รู้จักทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่หลงใหลในวัตถุ ลาบ ยศ สรรเสริญ หมั่นอบรมขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วยการศึกษาหลักธรรมคำสอนของศาสนา หรือการสวดมนต์ การทำสมาธิ การคิดในเชิงบวก และการปล่อยวาง เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุมีความสุขสงบทางจิตใจ ย่อมเป็นการลดละความเครียดและความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว
|
|
3. การมีธรรมยึดเหนี่ยวใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี
(สังคหวัตถุ 4)
การมีธรรมยึดเหนี่ยวใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี หรือ ส4 ประกอบด้วย การแบ่งปัน-การพูดอย่างรักกัน-การทำประโยชน์แก่เขา-การเอาตัวเข้าสมาน มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
|
3.1 การแบ่งปัน (ทาน) ผู้สูงอายุควรแบ่งปันลาภผลที่ได้มาหรือสะสมไว้ให้แก่สมาชิกในครอบครัวทุกคนอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ควรช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วยการให้ทรัพย์ สิ่งของ รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มีประโยชน์ให้ตามความเหมาะสม
3.2 การพูดอย่างรักกัน (ปิยวาจา) ผู้สูงอายุควรพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ ไพเราะ ชวนฟัง ในการสนทนากับสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งผู้สูงอายุควรชี้แจงแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ชักจูงสิ่งที่ดีงามให้แก่สมาชิกในครอบครัว ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยการพูดให้กำลังใจ พูดให้เกิดความสบายใจและเกิดไมตรีที่ดีต่อกัน ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีในระหว่างการสนทนากับสมาชิกในครอบครัวด้วย
3.3 การทำประโยชน์แก่เขา (อัตถจริยา) ผู้สูงอายุควรขวนขวายช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวเท่าที่จะทำได้ เช่น ช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านที่ไม่หนักหรือซับซ้อน ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนของครอบครัว ช่วยฝึกฝนอบรมจริยธรรมให้สมาชิก ผู้เยาว์วัยในครอบครัว ช่วยดูแลต้นไม้ สัตว์เลี้ยง และช่วยรับโทรศัพท์ให้สมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
3.4 การเอาตัวเข้าสมาน (สมานัตตตา) ผู้สูงอายุควรปรับตัวให้เข้ากับสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ดี ไม่ปล่อยให้มีช่องว่างระหว่างวัย ให้ความร่วมมือกับผู้อื่นได้ เคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน ไม่เอาเปรียบ ไม่เรียกร้องความสนใจ ความเห็นใจจากสมาชิกในครอบครัวจนเกิดความพอดีพองาม ผู้สูงอายุควรร่วมสุข ร่วมทุกข์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวโดยไม่ย่อท้อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งผู้สูงอายุควรวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติตัวสม่ำเสมอ และให้ความเสมอภาคในครอบครัว |
|
|
|
สรุปได้ว่า การวางตนในครอบครัวอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุโดยวิธี พ-อ-ส ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัว จะเกิดประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุแต่ละคนมาก-น้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้สูงอายุแต่ละคนจะนำวิธีการ พ-อ-ส ทั้ง 12 ประการ ไปใช้ปฏิบัติจริงกับตนเองในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลสำเร็จที่พึงปรารถนา ความสุขในครอบครัวย่อมจะเกิดขึ้นกับตัวผู้สูงอายุเอง และสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยถ้วนหน้ากัน
เอกสารอ้างอิง
บรรลุ ศิริพานิช (2544) คู่มือผู้สูงอายุฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งที่ 16 กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุต.โต) (2542) ทศวรรษธรรมทัศน์พระธรรมปิฎก: หมวดพุทธศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร ธรรมสภา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุต.โต) (2547) ธรรมนูญชีวิต พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์การศาสนา
|