หน้าแรก
จิตสังคมผู้สูงอายุ
สิทธิผู้สูงอาย
ปกิณกะ-สาระ-บันเทิง
สุขภาพผู้สูงอายุ
การจัดการการเงินสำหรับผู้สูงอายุ
ธรรมสร้างสุข
 
 
  หน้าแรก จิตสังคมผู้สูงอายุ  
 
กดเล่น เพื่อฟังเสียง
 
 

เพศสัมพันธ์ในผู้สูงอายุ
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีนวล  สถิตวิทยานันท์
สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

   เมื่อกล่าวถึงเพศสัมพันธ์หลายคนอาจคิดว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่านำมาพูดถึงโดยเฉพาะใน       วัยสูงอายุเรื่องเหล่านี้ควรหมดไปได้แล้ว  แต่โดยความเป็นจริงเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต  เป็นวิถีธรรมชาติของคนเราทุกคน  มีความสัมพันธ์กับความสุขและความทุกข์ของทุกคน และเป็นเรื่องสำคัญของครอบครัวอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง  หลายคนมีความเชื่อว่า  การมีเพศสัมพันธ์เป็นยาอายุวัฒนะของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดความสุข สงบ และสันติในครอบครัว ทำให้มีชีวิตชีวาและประการสำคัญ คือ ช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้น  เห็นได้จากการวิจัยพบว่า อายุขัยของประชาชนชาวอเมริกันและยุโรปที่แต่งงานอยู่กินกันจนแก่เฒ่าอายุขัยเฉลี่ยจะยืนยาวมากกว่าคนโสดหรือเป็นหม้าย  ปัจจุบันจึงมีผู้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น  โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่อวัยวะทุกอย่างถดถอยลงทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่ลงตัวในเรื่องเพศสัมพันธ์กับคู่ชีวิต  ซึ่งถ้ามีความเข้าใจและแก้ไขปัญหาถูกทาง จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขได้

การเปลี่ยนแปลงทางเพศของผู้สูงอายุ
เมื่อคนเราอายุมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 45 ปี ฮอร์โมนเพศจะลดลงเรื่อยๆ ทั้งเพศชายและเพศหญิงจะมีความต้องการทางเพศลดลงตามลำดับเป็นส่วนใหญ่  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายและสภาพจิตใจของผู้นั้น  บางคนเมื่ออายุมากขึ้นแต่ความต้องการทางเพศกลับมากขึ้นได้ เนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจในระยะนั้นดีขึ้นโดยเฉพาะการไม่เคร่งเครียด รู้จักปล่อยวาง รู้สึกสบายใจ มีการออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ

เพศชาย
   โดยปกติเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุการเปลี่ยนแปลงของเพศชาย จะมีอวัยวะเพศแข็งตัวลดลง และอาจไม่แข็งตัวสม่ำเสมอ หรือแข็งตัวไม่เต็มที่ ขนาดของอวัยวะเพศจะเล็กลงกว่าวัยหนุ่ม  แต่การเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการทางจิตใจจะมีไม่มาก ทำให้ผู้ชายยังคงมีความต้องการทางเพศทางจิตใจเท่าเดิมหรือลดลงไม่มาก แต่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย  ผู้ชายบางคนมีความต้องการด้านจิตใจลดลงพร้อมกับสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย คือ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และบางคนมีปัญหาหลั่งเร็วหรือไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้ตามต้องการทำให้มีกิจกรรมทางเพศลดลง

ผู้ชายที่เริ่มเข้าสู่วัยทองถ้ามีความต้องการทางเพศลดลงมากผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) ลดลงเพียงใด  แพทย์จะให้คำแนะนำและรักษาอย่างเหมาะสม ถ้าตรวจพบว่าฮอร์โมนเพศชายไม่ได้ลดลง ควรต้องหาสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสริม ที่สำคัญคือ ความเครียด ควรทบทวนว่าท่านมีความเครียดเกี่ยวกับเรื่องอะไรอยู่ พร้อมทั้งหาทางลดความเครียด โดยการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น พักผ่อน ท่องเที่ยว ทำในสิ่งที่ตนเองชอบหรือเพลิดเพลิน เช่น ปลูกต้นไม้ พบปะเพื่อนฝูงที่ถูกใจ  และที่สำคัญคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น การนวดอวัยวะเพศเบา ๆ วันละ 3-5 นาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ช่วยป้องกันปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้

เพศหญิง
  เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงลดน้อยลง  เมื่ออายุมากขึ้นตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป  ช่องคลอดจะแคบลง        น้ำหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง เมื่อมีเพสสัมพันธ์จะเจ็บปวดทำให้ไม่มีความสุขทางเพศ ความสนใจทางเพศก็ลดน้อยลง บางคนเจ็บป่วยมีโรคประจำตัวจะยิ่งทำให้สนใจกิจกรรมทางเพศลดลง แต่ในบางคนยังคงมีความต้องการทางเพศอยู่ เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงลดลงฮอร์โมนเพศชายในตัวผู้หญิงจะออกฤทธิ์มากขึ้น ทำให้มีความตื่นตัวทางเพศ และมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นได้

โดยทั่วไปผู้สูงอายุที่เป็นหญิงมักจะเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าผู้ชาย  อารมณ์และความต้องการจะลดลงก่อนผู้ชาย  ทำให้ผู้ชายมักถือเป็นข้ออ้างไปมีคู่นอนใหม่  ซึ่งโดยแท้จริงปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ไม่ยาก  ในกรณีที่มีปัญหาด้านความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์  แก้ไขได้โดยครีมหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำ  ทาบริเวณอวัยวะเพศก่อนมีเพศสัมพันธ์เป็นการหล่อลื่น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์  หรือไปพบแพทย์  ซึ่งแพทย์อาจจะให้ฮอร์โมนที่เหมาะสม  โดยการรับประทาน ทาที่ผิวหนัง หรือฉีด หรือสอดใส่ในช่องคลอด  จะช่วยลดปัญหาช่องคลอดแห้งและช่วยให้มีความตื่นตัวทางเพศเพิ่มขึ้น                 

การมีเพศสัมพันธ์ของผู้สูงอายุจะมีมากหรือน้อยขึ้นกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย  โดยทั่วไปผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยจะมีเพศสัมพันธ์ประมาณเดือนละ 4 ครั้ง  และผู้ที่มีอายุ   70 ปีขึ้นไป ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยา  ควรมีหลักปฏิบัติ คือ     
1) ร่างกายควรมีความสมบูรณ์พอสมควร   2) ต้องมีความเห็นอกเห็นใจกัน ถ้ามีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย ๆ ทั้งสองฝ่ายหรือเฉพาะฝ่ายหญิงจะไม่มีความรู้สึกทางเพศ  และ 3) การร่วมเพศในผู้สูงอายุซึ่งมีร่างกายอ่อนแอลง ความรู้สึกช้าลงโดยเฉพาะฝ่ายหญิงจะช้าลงไปมาก รวมทั้งช่องคลอดก็แคบลงและแห้งลง ควรป้องกันความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นโดยใช้ครีมหล่อลื่น การร่วมเพศควรปฏิบัติในท่าธรรมดา และเมื่อการร่วมเพศสิ้นสุดแล้ว ฝ่ายชายมักจะเป็นฝ่ายสำเร็จก่อน ควรช่วยให้ฝ่ายหญิงสำเร็จด้วย เพื่อให้ฝ่ายหญิงมีความสุขด้วยเช่นกัน

การรับประทานยาหรือสมุนไพรเพื่อเพิ่มพลังหรือกระตุ้นทางเพศ เช่น หอยนางรม โสม รังนก ยาบำรุงบางชนิด  น่าจะเป็นผลทางจิตใจมากกว่า  ผู้ชายบางคนนิยมใช้ยากระตุ้นการมีเพศสัมพันธ์เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีสมรรถภาพทางเพศเสื่อม  จะต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยแพทย์เป็นผู้สั่งให้เท่านั้น  เพราะยาเหล่านี้จะมีผลเสียต่อร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สิ่งสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์ คือ การมีอารมณ์ร่วมทั้งสองฝ่าย ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติแห่งวัยซึ่งกันและกันแล้วปรับใจให้เข้ากับความต้องการของทั้งคู่ ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางช่วยเหลือโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน หรือใช้วิธีอื่น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอทั้งสองฝ่าย จะช่วยป้องกันปัญหาความเสื่อมทางเพศได้มากที่สุด

เอกสารอ้างอิง
บรรลุ  ศิริพาณิช  (2543) 20 ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ  กรุงเทพฯ  สำนักพิมพ์ไว้ลาย

ศรินยา  (2544)  คู่มือวัยทอง  กรุงเทพฯ  สำนักพิมพ์สิปประภา

อนันต์  สุรบท  (2539) สุขภาพแจ่มใสในวัยสูงอายุ  กรุงเทพฯ  ซีเอ็ดยูเคชั่น


 
 
  © Copyright 2007-2008. All Rights Reserved.