หน้าแรก
จิตสังคมผู้สูงอายุ
สิทธิผู้สูงอาย
ปกิณกะ-สาระ-บันเทิง
สุขภาพผู้สูงอายุ
การจัดการการเงินสำหรับผู้สูงอายุ
ธรรมสร้างสุข
 
 
  หน้าแรก จิตสังคมผู้สูงอายุ  
 
กดเล่น เพื่อฟังเสียง
 
 

การชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
อาจารย์เรณุการ์  ทองคำรอด
สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

   สมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยจำนวนอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วย โดยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม 1% อายุ 70-79 ปี มีความเสี่ยง 3% อายุ 80-89 ปี มีความเสี่ยง 10% และผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม 30% ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่สำคัญเนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุและบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ดูแล เนื่องจากอาการที่สำคัญของภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การเสื่อมลงของความทรงจำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น การดูแลในชีวิตประจำวัน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก

    อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากเหตุปัจจัยสำคัญ 2  กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง โรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ โรคอัลไซน์เมอร์  ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และกลุ่มสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุภายนอกที่มาทำให้เกิดการการตายของเซลล์สมองหรือการกดทับต่อเนื้อสมอง เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน เป็นโรคหลอดเลือดสมอง  การติดเชื้อต่างๆ ที่สมอง  ซึ่งหากสามารถรักษาสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ได้ ภาวะสมองเสื่อมก็จะกลับมาเป็นปกติ  ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง หรือโรคอัลไซน์เมอร์เป็นสำคัญ

   อาการเริ่มแรกของโรคอัลไซน์เมอร์ที่สามารถสังเกตได้และพบบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการหลงลืม โดยเฉพาะการลืเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานและไม่น่าลืมได้ เช่น รับประทานอาหารกลางวันไปแล้ว ก็บอกว่ายังไม่ได้รับประทาน เล่าเรื่องนี้ไปให้บุคคลหนึ่งฟังไปแล้ว ก็เล่าซ้ำให้บุคคลเดิมฟังอีก เพราะจำไม่ได้ว่าเคยเล่าไปแล้ว หรือหาของใช้ในบ้านไม่พบทั้งที่มีที่เก็บประจำ หรือเก็บของผิดที่แบบคาดไม่ถึง เช่น เอาแว่นตาไปไว้ในตู้เย็น เอานาฬิกาไว้ในขวดน้ำตาลทราย หรือเก็บกางเกงชั้นในไว้ในตู้เก็บรองเท้า ลืมสิ่งที่เคยเรียนรู้ หรือสิ่งที่เคยปฏิบัติได้ เช่น เคยเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์จนใช้เป็น เล่นอินเตอร์เน็ตได้ แต่ต่อมาเริ่มสับสนทำไม่ค่อยถูก ลืมคำศัพท์ที่จะใช้เรียกสิ่งต่างๆ หรืออาจคิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาใช้เรียกสิ่งนั้น ซึ่งผู้อื่นฟังแล้วไม่เข้าใจ เช่น เรียกโทรทัศน์ว่าตู้ฉายหนัง รวมทั้งจำขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ เช่น ทำกับข้าวแต่ไม่ทราบว่าต้องใส่อะไรก่อนหลัง ตำน้ำพริกแกงไม่ถูก ใส่เครื่องปรุงไม่ครบ กวาดบ้านแล้วเอาขยะไปซุกไว้ที่มุมห้อง ซักผ้าไม่ใส่ผงซักฟอก เปิดทีวีไม่ได้ ใช้รีโมทไม่เป็น ไม่รู้ว่ารีโมทเอาไว้ทำอะไร หรือนำสิ่งของไปใช้ผิดประเภท เช่น นำหวีไปหั่นของ เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาในเรื่องการขาดไหวพริบ แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ยากนัก เช่น นั่งมองฝนที่สาดเข้ามาในห้องโดยไม่ทำอะไรเลย  หมดความคิดริเริ่ม ไม่ทำอะไร นั่งเฉยๆ อยู่ทั้งวัน แยกตัวไม่เข้าสังคม ชวนไปไหนก็ปฏิเสธ หรือเฉยเมย ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม อาจมีอารมณ์แปรปรวนโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย โกรธรุนแรงในเรื่องเล็กน้อย เวลาโกรธอาจพูดจาหยาบคายมากๆ แบบคาดไม่ถึง หรืออาจมีปฏิกิริยาทำร้ายร่างกาย ทุบตี หรือกัดคนอื่น รวมทั้งไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น หรือสถานการณ์รอบตัวขณะนั้น รถติดไฟแดงก็ไม่เข้าใจว่าจะต้องจอด เร่งให้ไป ตามใจตน อยากได้อะไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น รอไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนั่งรอ

   อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป  และทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกอย่าง อาจมีเฉพาะบางอาการก็ได้ และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีดูเหมือนคงที่อยู่สักระยะหนึ่งแต่มักจะเลวลงต่อไป ในระยะต่อมาจะมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลไป เช่น ก้าวร้าว และความทรงจำความนึกคิด และการมีเหตุมีผลจะเสื่อมลงอย่างมาก เมื่ออาการถึงขั้นรุนแรง ความจำ การตัดสินใจ และการใช้เหตุผลสูญเสียไปทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ อาจนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง ไม่เคลื่อนไหว และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อที่ปอด เป็นต้น

   ปัจจัยเหตุของการเกิดโรคอัลไซน์เมอร์ นอกจากการมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นในวัยสูงอายุ แล้ว  มักพบว่าเกิดจาก พันธุกรรม หรือการมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคอัลไซน์เมอร์ หรือโรคดาวน์ซินโดรม มีการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์อย่างไม่สม่ำเสมอ สมองได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ เป็นโรคทางกายที่มีผลต่อสมอง มีการติดเชื้อที่สมอง หรือมีการสัมผัสกับสารสังกะสี หรือสารอลูมิเนียมจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่มีวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาท อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ดังนี้

1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย โดยลดการ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง (สัตว์บก กะทิ น้ำมันมะพร้าว) และเปลี่ยนมาเป็นการใช้น้ำมันที่สกัดจากถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ดอกคำฝอยรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรทที่มีกากใยสูง เน้นอาหารที่มีผัก ผลไม้มากเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

2.รับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงการทำงานของสมอง เช่น จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง ข้าวกล้อง มันฝรั่ง กล้วย กะหล่ำปลี นมสด ผักต่างๆ ควรรับประทานปลาทะเลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อเพิ่มกรดโอเมกา 3 หากเป็นไปได้ให้รับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินบี 100 % ของความต้องการในแต่ละวัน และวิตามินอีวันละ 100-400 ไอยู ร่วมด้วย

3.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด ของหมักดอง อาหารที่ใส่ผงชูรส เครื่องดื่มชา กาแฟ โคล่าซึ่งมีปริมาณสารคาเฟอีนสูง  เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้วิตามินแร่ธาตุที่สำคัญเช่น วิตามินบีรวม โปแตสเซียม สังกะสี ถูกทำลาย

4.อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวก สะอาด ไม่แออัด ไม่มีมลภาวะ ฝุ่นละออง สารเคมี หรือเสียงดังเกินไป

5. ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ โดยเลือกกิจกรรมที่ เหมาะกับสภาพร่างกาย เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ โยคะ หรือรำมวยจีน เป็นต้น

6.นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อมิให้สมองทำงานหนักหรือเหนื่อยล้ามากเกินไป

7.หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเครียดหรือรู้จักวิธีการผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากความเครียดที่รุนแรงหรือ ยาวนานเกินไปจะส่งผลให้สมองมีการทำงานผิดปกติ และควรงดการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

8.เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของสมองในการได้ทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ร้องเพลง เล่นเกม เต้นรำ ฯลฯ  การมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ  ได้ร่วมรำลึกความหลังด้วยกัน เป็นต้น

9.ฝึกฝนการใช้ความคิด หรือฝึกความจำอย่างสม่ำเสมอ เช่น คิดเลขเมื่อไปจ่ายตลาด บวกเลขทะเบียนรถ นับเลขถอยหลังจาก 500-1 เล่นเกมส์ต่อภาพ จับคู่ไพ่ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมอง

10.ควรจะเขียนวิธีการใช้งานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านเอาไว้ อาจแปะป้ายบนสิ่งของที่มักจะลืมอยู่ บ่อยๆ และเขียนโน้ตช่วยจำ เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น

11.จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะดวก ปลอดภัย ไม่มีพื้นที่เสี่ยงให้ลื่นล้มได้ เช่น อาจมีราวจับในห้องน้ำ พื้นแห้งไม่เปียกลื่น มีแสงสว่างพอเพียง ระมัดระวังของมีคม และไม่เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดวางสิ่งของบ่อยๆ

   กล่าวโดยสรุป ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมองตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นหรือที่เรียกว่าโรคอัลไซเมอร์นั้น เป็นโรคที่รักษาไม่หาย การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้น ให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามมีวิธีช่วยในการชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาทได้ โดยการรับประทานอาหารให้ครบมื้อครบหมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นฝึกปรือการทำงานของสมองอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง
กรมสุขภาพจิต “แนวปฏิบัติการบริการสุขภาพเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม” กระทรวงสาธารณสุข 2545


 
 
  © Copyright 2007-2008. All Rights Reserved.