ภาพรวมของสิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546
เรื่องที่ 1
ภาพรวมของสิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิของผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะซึ่งมีชื่อว่าพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 สาระของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความหมายของผู้สูงอายุว่า หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ได้รับรองให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย ซึ่งในกฎหมายใช้คำว่า สิทธิผู้สูงอายุ ให้มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้
1. สิทธิได้รับการบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นพิเศษ
2. สิทธิได้รับบริการด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
3. สิทธิได้รับบริการด้านการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม
4. สิทธิในการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน
5.สิทธิได้รับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือการบริการสาธารณะอื่น
6. สิทธิได้รับการช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม |
 |
7. สิทธิได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ
8. สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง
9. สิทธิในการได้รับคำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี หรือในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว
10. สิทธิได้รับบริการการจัดที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง
11. สิทธิได้รับการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพตามความจำเป็นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
12. สิทธิได้รับการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี
13. สิทธิประการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
3.สิทธิได้รับบริการด้านการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม
ปัจจุบันนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลด้านประชากรจากหลายแห่งรายงานสอดคล้องกันว่า (ผู้จัดการออนไลน์ 13 เมษายน 2551) สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 2523 เป็นร้อยละ 9 ในปี 2543 ร้อยละ 10 ในปี 2551 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ในปี 2563 ขณะที่สัดส่วนประชากรเด็กกลับลดลงเรื่อยๆ จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 25 และคาดว่าจะลดลงไปเหลือ ร้อยละ22 และร้อยละ 20ในช่วงเวลาดังกล่าว ตามลำดับ
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนเด็กลดลง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคมไทยที่จากเดิมผู้สูงอายุมีบุคคลในครอบครัวให้การดูแลช่วยเหลือ เลี้ยงดู ส่งเสียให้เงินทอง แต่ภาพดังกล่าวเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันและจะทวีขึ้นในอนาคตกล่าวคือทุกคนในครอบครัวรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุต้องหันมาประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเตรียมตลาดรองรับผู้สูงอายุเข้าทำงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ นอกจากนั้นการเตรียมผู้ดูแลผู้สูงอายุก็เพิ่มด้วย ดังพบว่า รัฐได้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาการดูแลผู้สูงอายุ (มฝร-04724006) ขึ้น ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อการรองรับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานจากวัยผู้ใหญ่ซึ่งเดิมเป็นวัยทำงานสู่กลุ่มทำงานวัยใหม่คือวัยสูงอายุ ดังรายงานการวิจัยในรัฐแคนซัส เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2549) ประเทศสหรัฐอเมริกามีแรงงานผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า ๖๒ ปี เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าสิ้นทศวรรษ (decade) นี้ (ค.ศ. 2010) ประชากรผู้สูงอายุที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะเพิ่มขึ้นจาก 64 ล้าน เป็น 76 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 40 ของตลาดแรงงานทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี จะลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งท้าทายผู้ว่าจ้างที่ต้องจัดเตรียมลักษณะของงานพร้อมสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ (Olsen, T 2008)
จากรายงานวิจัยดังกล่าวส่งผลให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องมีการสำรวจและมีมาตรการรองรับที่เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของแต่ละประเทศ
 |
จากรายงานการวิจัยของประเทศไทยที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุในเขตชนบท (สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2547) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 51.7 ไม่มีรายได้ประจำ ร้อยละ 47.1 มีรายได้ประจำ กล่าวคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 24.4 มีรายได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 10.9 เดือนละ 1,001-2,000 บาท |
ร้อยละ 6.1 มีรายได้เดือนละ 2,001-3,000 บาท ร้อยละ 2.1 รายได้เดือนละ 3,001-4,000 บาท ร้อยละ 2.0 รายได้เดือนละ 4,001-5,000 บาท ร้อยละ 1.4 รายได้เดือนละ 5,001-7,000 บาท และร้อยละ 3.6 รายได้เดือนละ 7,001 ขึ้นไป นอกจากนั้นยังพบว่ามีผู้สูงอายุที่ช่วยครอบครัวทำงานโดยไม่มีรายได้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 15.9 เป็นการเฝ้าบ้าน รองลงมาร้อยละ 7.0 และ 1.6 ทำงานบ้านและเลี้ยงหลาน นอกนั้นผู้สูงอายุร้อยละ 1.1 เท่า ๆ กัน ทำกับข้าวและทำงานอื่น ๆ
 |
จากข้อมูลการทำงานและรายได้ของผู้สูงอายุดังกล่าว บ่งชี้ว่า ผู้สูงอายุประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีรายได้ และที่มีรายได้ส่วนใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในสังคมปัจจุบันแล้วนับว่าน้อยมาก จากการที่ผู้สูงอายุไม่มีรายได้เป็นของตนเอง หรือมีแล้วไม่เพียงพอนอกจากจะทำให้เป็นภาระของครอบครัว และสังคมแล้ว ที่สำคัญจะทำให้ความมีคุณค่าของผู้สูงอายุลดลง ทั้งๆ ที่ผู้สูงอายุเป็นผู้มีคุณค่าและมีประสบการณ์มามาก ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีประกอบอาชีพที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น |
 |
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการกำหนดสิทธิของผู้สูงอายุที่จะได้รับบริการด้านการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม เมื่อ 16 กันยายน 2547 โดยกำหนดไว้ 4 ประการ แต่ละประการมีรายละเอียด ดังนี้ |
1) การขอรับคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานและบริการจัดหางานที่ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุจากสำนักงานจัดหางานทุกแห่ง
2) การขอรับบริการอบรมทักษะอาชีพและฝึกอาชีพตามอัธยาศัย
3) การไปใช้บริการจากศูนย์กลางข้อมูลทางการอาชีพ และตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุ ณ สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง
4) การขอรับบริการจัดหาอาชีพที่เหมาะสมตามควรแก่อัตภาพ
ตามประกาศทั้ง 4 ประการดังกล่าว สำนักงานจัดหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในแต่ละจังหวัดได้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยที่การไปขอรับคำปรึกษา แนะนำ หรือขอรับบริการ ณ สำนักงานจัดหางานดังกล่าว ผู้สูงอายุสามารถไปพบด้วยตนเองเพื่อขอรับคำแนะนำตามอัธยาศัย หรือจัดรวมกลุ่มกันเพื่อขอรับการอบรมอาชีพตามที่กลุ่มต้องการ ซึ่งทางสำนักงานจัดหาจะรับดำเนินการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย |
 |
แต่จะต้องประสานล่วงหน้าและขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ทางจังหวัดได้รับมาในแต่ละปี ดังตัวอย่างสำนักงานจัดหางาน จ นนทบุรี ในปี พ.ศ. 2551 สำนักงานได้จัดอบรมประกอบอาชีพ ระยะสั้นให้กลุ่มผู้สูงอายุ 2 รุ่น รุ่นละ 2 วัน ปรากฏมีผู้สนใจในเขตนนทบุรีให้ความสนใจมาก สามารถสอบถามข้อมูลได้เพิ่มเติมที่ http://www.doe.go.th/nonthaburi/
 |
นอกจากนั้นที่สำนักงานจัดหางานจเชียงใหม่ ในต้นปี พ.ศ. 2551 ก็ได้จัดโครงการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้สูงอายุโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้ และได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพและมีงานทำ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อม สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และเป็นการลดภาระในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุของครอบครัว สามารถติดตามข้อมูลและสอบถามรายละเอียดได้จาก |
http://61.7.145.201/vgguide/freejob/project3.asp จากตัวอย่างดังกล่าว เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมที่ทางสำนักจัดหางานจังหวัดได้จัดเท่านั้น ผู้สูงอายุทุกท่านหรือครอบครัวสามารถไปติดต่อขอรับบริการด้านการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับท่านได้ที่สำนักงานจัดหางาน ทุกจังหวัด โดยสามารถติดต่อทางโทรศัพท์เบื้องต้น หรือติดตามทางเว็บไซต์ได้ ทั้งนี้ เพื่อเสริมคุณค่าแห่งตนแก่ผู้สูงอายุ และเพิ่มพูนคุณค่าของผู้สูงอายุแก่สังคมไทย
แหล่งอ้างอิง
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2547) ปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุในเขตชนบท: บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
Olsen, T (2008), Ageing work force offers challenges for employers retrieved on June 7, 2008 from <http://www.bizjournals.com/denver/stories/2008/05/19/focus3.html>.
*5. สิทธิได้รับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือการบริการสาธารณะอื่น
ผู้สูงอายุจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐในลักษณะของการกำหนดลักษณะอาคารสถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะที่ต้องมีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่ผู้สูงอายุ เช่น ราวบันได ลิฟต์ ทางเดินเท้า รวมถึงการจัดมุมสุขภาพในสวนสาธารณะ ซึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ด้านอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือการบริการสาธารณะอื่น ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติ และกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา โดยมีรายละเอียดที่ผู้สูงอายุจะได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว มีดังนี้
1. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์จังหวัด ได้แก่
1) การจัดสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุไว้เป็นสัดส่วนในสำนักงาน
2) การให้บริการแก่ผู้สูงอายุเป็นลำดับต้นหรือเป็นกรณีพิเศษ โดยเน้นบริการแบบเบ็ดเสร็จ
3) การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น รถเข็นนั่ง ไม้เท้า ราว อุปกรณ์ในห้องน้ำ
4) การจัดทำแผนผังช่องทางการให้บริการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
5) การเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน
ในจังหวัดให้ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ
6) การจัดทำโครงการหรือกิจกรรมเชิงรุกเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการ
ให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ เช่น การออกหน่วยเคลื่อนที่
 |
สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในระดับหมู่บ้าน จะได้รับบริการจากอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจนและประสบปัญหาในการเดินทางไปขอรับบริการ โดยอาสาสมัครจะทำหน้าที่รับเรื่อง สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และประสานงานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประสานการจัดหาพาหนะเดินทางนำผู้สูงอายุไปรับบริการหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ |
2. การเคหะแห่งชาติ คือ การจัดสถานที่และให้มีอุปกรณ์สำหรับบริการผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในพื้นที่ของชุมชนการเคหะแห่งชาติ
3. กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ได้ออกประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกและให้สิทธิสำหรับผู้สูงอายุทุกคนในสถานที่ท่องเที่ยว หรือสนามกีฬา หรือสถานออกกำลังกายอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการอำนวยความปลอดภัยและลดค่าเข้าชม หรือการเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในสถานที่ดังกล่าวด้วย(ประกาศกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในการจัดบริการด้านกรท่องเที่ยว กีฬา และนันทนาการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547)
ในการนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ได้กำหนดแนวทางในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในการบริการสาธารณะอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆในสังกัด ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และสนับสนุนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในการบริการสาธารณะอื่น วันที่ 23 ธันวาคม 2547
สิทธิผู้สูงอายุพึงได้รับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในด้านการบริการสาธารณะที่จำเป็น ซึ่งต้องมุ่งเน้นด้านความปลอดภัย (Safety) มากที่สุด โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ในเรื่องของห้องน้ำ ห้องส้วมซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุและทุกคน ดังนั้นในการออกแบบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ดังผลการศึกษาของ ไตรรัตน์ จารุทัศน์ (2549) พบว่ามาตรฐานและแนวทางในการออกแบบห้องน้ำ-ห้องส้วมสาธารณะที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุรวมถึงทุกกลุ่มจะต้องมุ่งเน้นด้านความปลอดภัย มากที่สุด โดยมีส่วนประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอโดยมีแสงสว่างอย่างต่ำ 150 Lux
2. ห้องน้ำถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งของผู้สูงอายุ จึงควรมีลักษณะ ดังนี้
- ใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น พื้นระหว่างห้องน้ำต้องมีระดับเสมอกัน ถ้าเป็นพื้นต่างระดับต้องมีลักษณะเป็นทางลาด และไม่มีธรณีประตู หรืออาจใช้พื้นกระเบื้องเคลือบชนิดกันลื่น พื้นห้องน้ำต้องมีความลาดเอียงเพียงพอไปยังช่องระบายน้ำทิ้ง เพื่อที่จะไม่ให้มีน้ำขังบนพื้น เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ควรมีราวจับยึดกันหกล้มและช่วยในการพยุงตัว ติดบริเวณด้านชิดผนังเป็นราวจับในแนวนอนและแนวดิ่ง ราวจับในแนวนอนมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 90 เซนติเมตร โดยราวจับที่ติดตั้งทำด้วยวัสดุผิวเรียบ มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายในการจับไม่ลื่น โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-45 มิลลิเมตร ประตูของห้องที่ตั้งโถส้วมเป็นแบบบานเปิดออกสู่ภายนอก โดยต้องเปิดค้างได้ไม่น้อยกว่า 90 องศาหรือเป็นแบบบานเลื่อน
- ที่อาบน้ำควรใช้แบบฝักบัว จะปลอดภัยกว่าแบบอ่างอาบน้ำ หรือจะจัดไว้ทั้ง 2 แบบก็ได้โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ ที่อาบน้ำแบบฝักบัวมีขนาดความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 110 เซนติเมตร และความยาวสุทธิไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำที่มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 50 เซนติเมตร ฝักบัวควรเป็นแบบที่ปรับระดับและถอดได้ และติดตั้งไว้ที่ความสูงจากพื้นไม่เกิน 160 เซนติเมตร สิ่งของเครื่องใช้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 120 เซนติเมตร
- มีอ่างล้างมือโดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือใต้อ่างล้างมือไปจนถึงขอบอ่างเป็นที่ว่าง และขอบอ่างต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุเข้าประชิดได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง มีความสูงจากพื้นถึงขอบบนของอ่างไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 80 เซนติเมตร และมีราวจับในแนวนอน ทั้งสองข้างของอ่าง ก๊อกน้ำเป็นชนิดก้านโยกหรือก้านกด หรือระบบอัตโนมัติ
- มีโถส้วมชนิดนั่งราบ สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 50 เซนติเมตร มีพนักพิงหลังและที่ปล่อยน้ำเป็นชนิดคันโยก ปุ่มกดขนาดใหญ่หรือชนิดอื่นที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้อย่างสะดวก มีด้านข้างด้านหนึ่งของโถส้วมอยู่ชิดผนังโดยมีระยะห่างวัดจากกึ่งกลางโถส้วมถึงผนังไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 50 เซนติเมตร
- ติดตั้งระบบสัญญาณแสงและสัญญาณเสียง ให้ผู้ที่อยู่ภายนอกแจ้งภัยแก่ผู้ทุพพลภาพ คนพิการและผู้สูงอายุ ระบบสัญญาณแสงและสัญญาณเสียง ให้ผู้สูงอายุแจ้งเหตุหรือเรียกหาผู้ช่วยในกรณีที่เกิดเหตุ ฉุกเฉินไว้ในห้องน้ำ โดยมีปุ่มกดหรือปุ่มสัมผัสให้สัญญาณทำงาน ซึ่งติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้สะดวก
 |
ในการสร้างห้องน้ำในบ้านเรือนอาศัยจึงควรสร้างให้เหมาะสม และห้องน้ำ และห้องส้วมสาธารณะ ที่กล่าวมาก็สามารถปรับให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานในแต่ละอาคารได้
นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยยังได้ทำการพัฒนาส้วมสาธารณะในประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน โดยได้กำหนดส้วมสาธารณะต้นแบบสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ |
เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อและเพื่อความพึงพอใจของประชาชนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ส้วมสาธารณะ โดยการพัฒนาสุขาสาธารณะในประเทศ โดยเน้น 3 เรื่อง คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ให้ได้มาตรฐาน หรือ Healthy Accessibility Safety (HAS)
ผศ.ดร.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ และคณะนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยออกแบบห้องน้ำ-ห้องส้วมสาธารณะ ที่มีความสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ และเหมาะสมกับผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ทุพพลภาพและคนพิการ โดยได้มีพิธีการส่งมอบแบบส้วมสาธารณะ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบ และส่งแบบให้วัด สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ มูลนิธิ สถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำนวน 52 แห่ง ได้นำไปขยายผล ปรับปรุงและจัดสร้างส้วมตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป
อ้างอิง
ไตรรัตน์ จารุทัศน์ (2549)
|