ผู้สูงอายุกับการทำพินัยกรรม
ผู้สูงอายุกับการทำพินัยกรรม (1)
ตามกฎหมาย เมื่อผู้ใดเสียชีวิตลง มรดกของผู้นั้นย่อมจะตกเป็นของทายาท เช่น บิดา มารดา บุตร สามีหรือภรรยา เป็นต้น ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด แต่หากก่อนที่บุคคลนั้นจะเสียชีวิตเขาอาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้ใดก็ได้ โดยบุคคลที่ถูกระบุให้เป็นผู้รับมรดกอาจไม่ใช่ทายาทเสมอไป
การทำพินัยกรรม หมายถึง การแสดงความประสงค์ที่จะให้ทรัพย์สินของเราตกเป็นของบุคคลบางคนเมื่อเราตายไปแล้ว มิใช่การยกทรัพย์สินให้แก่ผู้อื่นในขณะที่เจ้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่ การทำพินัยกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
1. พินัยกรรมมีลักษณะอย่างไร
พินัยกรรม คือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในเรื่องต่าง ๆ ที่จะเป็นผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย พินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาที่ประสงค์ให้มีผลเมื่อตนเองตายไปแล้ว ซึ่งจะยกทรัพย์สินให้แก่ใครก็ได้ หรือให้ผู้ใดเข้ามาจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของตนก็ได้ แต่จะทำให้พินัยกรรมนั้นมีผลบังคับไปถึงทรัพย์สินของผู้อื่นที่มิใช่ของตนนั้นย่อมทำไม่ได้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง พินัยกรรมก็คือ กิจการต่าง ๆของผู้ทำพินัยกรรม เพื่อที่จะเกิดผลบังคับตามกฎหมายในเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย โดยทำแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกตัวย่อว่า ป.พ.พ. มาตรา 1646 1648)
เช่น นายแดงทำพินัยกรรมว่า เมื่อตนเองตายจะขอยกที่ดินของนายขาว ซึ่งเป็นพี่ชายตนให้แก่ นางเหลือง ซึ่งเป็นการยกทรัพย์สินของผู้อื่นให้แก่นางเหลือง กรณีเช่นนี้ทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของตน เอกสารที่มีข้อความเป็นพินัยกรรมแม้ไม่มีคำว่าเป็นพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็น
พินัยกรรมมีผลให้ได้ แต่ถ้ามีคำว่าพินัยกรรม แต่ไม่มีข้อความว่าพินัยกรรม ให้มีผลบังคับเมื่อตายไปแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม เช่น สมชายเขียนหนังสือไว้ว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปขอทำพินัยกรรมยกเงินสดให้แก่นายเจริญ 5,000 บาท ดังนี้ถือว่าไม่ใช่พินัยกรรม เพราะไม่ประสงค์จะให้นายเจริญได้รับเงินเมื่อหลังจากที่นาย สมชายตายไปแล้ว
ลักษณะสำคัญของพินัยกรรมคือ เอกสารนั้นต้องมีข้อความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายว่าให้ตกเป็นของใคร หรือให้จัดการอย่างไรเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายไปแล้ว หากมีข้อความดังกล่าวก็เป็นพินัยกรรมโดยไม่ต้องมีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมแต่อย่างใด
การทำพินัยกรรมอาจไม่ใช่เรื่องการยกทรัพย์สินให้ผู้ใดก็ได้ แต่อาจเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ให้มีผลตามกฎหมายก็ได้ เช่น การทำพินัยกรรมว่าเมื่อตนเองตายไปแล้วขอยกปอดให้แก่โรงพยาบาลราชวิถีหรือ ให้จัดงานศพของตนโดยการเผาภายใน 3 วัน ดังนี้ก็เป็นพินัยกรรมเช่นกัน
2. ใครที่ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมบ้าง
ผู้ที่ทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ จึงมีสิทธิตามกฏหมายในการทำพินัยกรรม
หากอายุต่ำกว่า 15 ปีทำพินัยกรรม ถือว่า พินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้ (พินัยกรรมนั้นไม่มีผล) หรือ ตามกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆะ นอกจากนั้น บุคคลใดที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถแล้ว ก็ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้เช่นกัน หากฝ่าฝืนทำพินัยกรรมขึ้นมาผลก็คือ พินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้หรือตามกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆะเช่นกัน
3. พินัยกรรมมีกี่แบบ
การทำพินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม
พินัยกรรมมีอยู่ 5 แบบด้วยกัน ได้แก่
- พินัยกรรมแบบธรรมดา (ป.พ.พ. มาตรา 1656)
- พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ (ป.พ.พ. มาตรา 1657)
- พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ. มาตรา 1658)
- พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ (ป.พ.พ. มาตรา 1660)
- พินัยกรรมทำด้วยวาจา (ป.พ.พ. มาตรา 1663)
อนึ่ง พินัยกรรมทั้ง 5 แบบดังกล่าว มี 3 แบบ ที่ผู้ทำจะต้องไปติดต่อกับทางอำเภอหรือเขต คือ แบบที่ 3 , 4และ 5 ส่วนแบบที่ 1และแบบที่ 2 ผู้ทำสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องติดต่อกับทางอำเภอหรือเขตแต่อย่างใด
พินัยกรรมแต่ละแบบมีลักษณะแตกต่างกัน ผู้ทำพินัยกรรมสามารถเลือกทำแบบใดก็ได้ ที่สำคัญคือข้อความในพินัยกร รมต้องมีสาระเป็นเรื่องกำหนดการเผื่อตายเอาไว้
ผู้สูงอายุกับการทำพินัยกรรม (2)
ผู้สูงอายุที่ประสงค์จะทำพินัยกรรมสามารถเลือกทำพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 5 แบบ หลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมในแต่ละแบบมีรายละเอียดดังนี้
1. พินัยกรรมแบบธรรมดา
การทำพินัยกรรมแบบธรรมดาถือว่าเป็นพินัยกรรมแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด บางรายจะว่าจ้างทนายความเป็นผู้จัดทำหรือร่างข้อความในพินัยกรรมให้ตามความประสงค์ของผู้ทำ
หลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมแบบธรรมดา
- ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ (จะเขียนหรือพิมพ์เป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้)
- ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของผู้ทำ
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับแทนการลงชื่อหรือเครื่องหมายแกงไดไม่ได้ และพยานที่จะลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือใช้ตราประทับ หรือลงแกงได หรือลงเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการ
ลงชื่อไม่ได้ จะต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียว
- การขูด ลบ ตกเติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ในขณะที่ขูด ลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ลงวัน เดือน ปี และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานอย่างน้อยสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น (ต้องเป็นพินัยกรรมแล้ว)
2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
หลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
- ต้องทำเป็นเอกสารที่เป็นหนังสือ โดยจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ จะพิมพ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เขียนหนังสือไม่ได้ย่อมไม่สามารถจะทำพินัยกรรมแบบนี้ได้ พินัยกรรมแบบนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ พินัยกรรมแบบนี้จึงมีความสะดวกตรงที่ไม่จำเป็นต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรม
- ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
- ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือหรือเครื่องหมายอื่นไม่ได้
- หากมีการแก้ไข ขูด ลบ ตก เติมพินัยกรรมผู้ทำพินัยกรรมจะต้องทำด้วยมือของตนเองจะให้ผู้อื่นทำไม่ได้ และจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ ณ จุดที่แก้ไข ขูดลบ ตก เติมด้วย หากมีการแก้ไข ขูด ลบ ตก เติมพินัยกรรม แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับถือว่าไม่ได้มีการแก้ไข ขูดลบ ตกเติมในจุดนั้นๆ
อนึ่งพินัยกรรมแบบธรรมดากับพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับมีส่วนคล้ายกันมาก มีข้อแตกต่างบางประการ คือ พินัยกรรมแบบธรรมดาผู้ทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเขียนเอง หรือพิมพ์เอง และจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ที่สำคัญพินัยกรรมแบบธรรมดาต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนด้วย และหากบุคคลอื่นเป็นผู้เขียนหรือพิมพ์ควรลงลายมือชื่อผู้เขียน และพยานด้วย โดยระบุชื่อผู้เขียน ผู้พิมพ์และพยาน ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ พินัยกรรมแบบธรรมดาผู้ทำพินัยกรรมสามารถพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อได้แต่ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือไว้สองคน
3. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
การขอทำพินัยกรรมเป็นเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ณ อำเภอหรือเขตใดก็ได้ ดำเนินการให้ตามความประสงค์
ขั้นตอนการทำพินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง เป็นดังนี้
- ผู้ทำพินัยกรรม แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
- นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจะจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบแล้วนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้น ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
- เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานรับทราบชัดเจนว่า ข้อความที่นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจดนั้นถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
- ข้อความที่นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจดไว้นั้น ให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี จดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นหลักฐาน
การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ไม่จำเป็นต้องทำในที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ/ ที่
ทำการเขตเสมอไป ถ้าผู้ทำร้องขอจะทำนอกที่ทำการดังกล่าวก็ได้
4. พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ
ขั้นตอนการทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นดังนี้
ผู้ที่ประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับ ให้ผู้นั้นแสดงความจำนงตามแบบของเจ้า
พนักงานยื่นต่อกรมการอำเภอ (นายอำเภอ) ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอแล้วปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ต้องมีข้อความเป็นพินัยกรรมและลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คนและให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดนั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
- เมื่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้ในซองพับและประทับตราประจำตำแหน่ง แล้วนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
อนึ่ง หากบุคคลผู้เป็นทั้งใบ้ และหูหนวก หรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับก็สามารถทำได้ โดยให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้านายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต และพยานอย่างน้อย 2 คน ว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตน แทนการให้ถ้อยคำ
ถ้าผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับประสงค์ขอรับไปทันที ก็ให้นายอำเภอมอบให้ไปได้ โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ประสงค์ขอรับไปทันที ก็ให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตมอบให้ไปได้ โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อรับในสมุดทะเบียน
5. พินัยกรรมทำด้วยวาจา
การทำพินัยกรรมด้วยวาจาเป็นกรณีเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม ซึ่งในพฤติการณ์เช่นนี้ ผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจหาเครื่องมือเครื่องเขียนได้ทันท่วงที หรือกว่าจะหาได้ก็ถึงตายเสียก่อน ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ ดังนี้
- ผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
- พยานทั้งหมดต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งให้นายอำเภอทราบถึงข้อความเหล่านี้
- ข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจา
- วัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม
- พฤติการณ์พิเศษที่ขัดขวางมิให้สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมาย
กำหนดไว้นั้นด้วย
- ให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจดข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานทั้งหมดนั้นต้องลงลายมือชื่อ ถ้าลงลายมือชื่อไม่ได้จะลงลายพิมพ์นิ้วมือ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนก็ได้
อนึ่ง ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมนี้ย่อมสิ้นไป เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลา
ผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้
ข้อพึงระวัง
พินัยกรรมเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ ดังนั้น ก่อนที่จะทำพินัยกรรมผู้ทำต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนว่าเจตนาจะยกทรัพย์สินให้ใครเพราะการทำพินัยกรรมเป็นการกำหนดการยกทรัพย์สินหรือความประสงค์ที่จะจัดการเรื่องบางเรื่องไว้ล่วงหน้าสำหรับการตายในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องยกทรัพย์สินให้ทายาทตามกฎหมายของเราเท่านั้น หากพินัยกรรมได้ทำไปแล้วและถูกต้องก็ต้องบังคับตามพินัยกรรม ทายาทอื่นจะมาอ้างขอแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่ทำยกให้ผู้อื่นไปแล้วมิได้ เพราะพินัยกรรมคือการแสดงเจตนาที่สำคัญของเจ้ามรดกที่กฎหมายยอมรับและบังคับให้
ผู้สูงอายุกับการทำพินัยกรรม (3)
พินัยกรรมแบบธรรมดากับพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนับว่าเป็นที่นิยมทำกันมาก ดังนั้น ในที่นี้จึงจะขอยกตัวย่างการเขียนและวิธีการเขียนพินัยกรรมในทั้ง 2 แบบดังกล่าว
* ตัวอย่าง พินัยกรรมแบบธรรมดา
พินัยกรรม
|
ทำที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 2 ต.กันตา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
วันที่ 1 มกราคม 2550 |
ข้าพเจ้า นางไข่มุก วาจาดี อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 ม. 3 ต.ยายชา อ.สามพรานจ.นครปฐม ขอทำพินัยกรรมไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมไปแล้ว ทรัพย์สินของข้าพเจ้าให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของบุคคลดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 123 เลขที่ดิน 456 ต.เขายายเที่ยง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 10ไร่พร้อมบ้านบนที่ดินให้ตกเป็นของนายประสงค์ สามารถ
ข้อที่ 2 ให้เงินสดในบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปากช่อง ทั้งหมดให้ตกเป็นของนางดวงใจ ใจเพชร
ข้อที่ 3 ให้ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากนี้ ให้ตกเป็นของ นางสาวรัศมี นาดี แต่เพียงผู้เดียว
พินัยกรรมฉบับนี้ข้าพเจ้าและพยานได้อยู่พร้อมกัน ข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกันและพยานทั้งสองคนได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน ขณะทำพินัยกรรมนี้ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ดี เพื่อเป็นหลักฐานจึงลงลายมือชื่อไว้
|
ลงชื่อ
. ผู้ทำพินัยกรรม
(ไข่มุก วาจาดี)
ลงชื่อ
..
.
พิมพ์หรือเขียน,พยาน
(สดศรี ดวงเลิศ)
ลงชื่อ
พยาน
(ดวงฤดี มีชัย) |
* วิธีการเขียนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ทำได้ดังนี้
1.ให้เริ่มเขียนกลางหน้ากระดาษว่า พินัยกรรม
2. บรรทัดถัดลงมาให้ระบุสถานที่ที่ทำพินัยกรรม คือ เขียนข้อความว่า พินัยกรรมนี้ได้ทำขึ้นที่ไหน
3.บรรทัดถัดลงไปให้ระบุว่า ทำเมื่อวันที่ / เดือน / ปีอะไร ต่อจากนั้นย่อหน้าถัดไปต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทำพินัยกรรมประกอบด้วย ชื่อ นามสกุล อายุ อยู่บ้านเลขที่ ถนน หมู่ ตำบล อำเภอ จังหวัด การระบุรายละเอียดดังกล่าวเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นผู้ทำพินัยกรรม และผู้ทำพินัยกรรมมีอายุเกินกว่า 15 ปี ขณะที่ทำพินัยกรรมตามที่กฎหมายหรือไม่
4.ข้อความต่อไปให้ระบุว่า จะให้ทรัพย์สินของเราตกทอดแก่บุคคลใดเมื่อเราเสียชีวิตไปแล้ว
ตัวอย่าง เช่น "ข้าพเจ้าขอทำพินัยกรรมว่าเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว ให้ทรัพย์สินของข้าพเจ้าตกเป็นของบุคคลดังต่อไปนี้" จากนั้นให้ระบุรายการทรัพย์สินทั้งหลายที่ตั้งใจจะยกให้ โดยอาจระบุเป็นข้อๆเช่น
ข้อ 1 ให้เงินข้าพเจ้าจำนวน 2,000,000 บาท ที่ฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย สาขา
สุพรรณบุรี ให้ตกเป็นของนายอนุมาน สมดี
ข้อ 2 ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2345 ตำบลวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมสิ่งปลูก
สร้างบนที่ดินดังกล่าว ให้ตกเป็นของนางดวงใจ ใจดี
ข้อ 3 ให้รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า 1 คัน หมายเลขทะเบียน จส1188 กรุงเทพมหานคร ให้ตกเป็นของนางสาวทองดี มงคล
อนึ่ง หากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ใครคนใดคนหนึ่งก็อาจเขียนว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมไปแล้วให้ทรัพย์สินทั้งหมดของข้าพเจ้าตกได้แก่ นายใจ ไชโย
แต่เพียงผู้เดียว
5. ย่อหน้าต่อไปควรระบุว่า ขณะทำพินัยกรรมฉบับนี้ ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะปกติบริบูรณ์ดีตอนท้ายของพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อหรือลายเซ็นของผู้ทำพินัยกรรม และควรวงเล็บชื่อและนามสกุลด้วยตัวบรรจงไว้ด้วย แต่จะพิมพ์ลายมือแทนการลงลายมือชื่อไม่ได้
6. เมื่อเขียนพินัยกรรมเสร็จแล้ว ก็เป็นอันว่าหนังสือฉบับนี้เป็นพินัยกรรมไปแล้ว แต่หากผู้ทำพินัยกรรมต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรมที่ทำไว้แล้วนั้น ก็สามารถทำได้แต่จะต้องลงลายมือชื่อของตนตรงที่ได้แก้ไข ขูด ลบ ตก เติมนั้นไว้ด้วย
เมื่อได้ทำขึ้นแล้วนั้นผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ สามารถยกเลิกได้โดยแก้ไขฉีกทำลายพินัยกรรมเสียก็ได้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ซึ่งหากมีการทำใหม่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับเก่าถูกเพิกถอนไปแล้ว
|