หน้าแรก
จิตสังคมผู้สูงอายุ
สิทธิผู้สูงอายุ
ปกิณกะ-สาระ-บันเทิง
สุขภาพผู้สูงอายุ
การจัดการการเงินสำหรับผู้สูงอายุ
ธรรมสร้างสุข
 
 
  หน้าแรก สิทธิผู้สูงอายุ  
 
   
กดเล่น เพื่อฟังเสียง
 
     
 

สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุในกองทุนชราภาพ

   ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติรับรองสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ  สำหรับผู้สูงอายุที่เคยทำงานในสถานประกอบการภาคเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไปและมีฐานะเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 อาจได้รับสิทธิบางประการในกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ หากมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

  ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมที่ตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มีการแบ่งออกเป็นกองทุนย่อยหลายกองทุน ซึ่งแต่ละกองทุนมีการให้สิทธิประโยชน์ในกรณีที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของกองทุนนั้นๆ โดยสำนักงานประกันสังคมได้เก็บเงินเข้ากองทุนประเภทต่าง ๆ โดยมีกฎระเบียบภายใต้ พระราชบัญญัติของแต่ละกองทุนที่ระบุอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุน สำหรับผู้สูงอายุที่เคยเป็นผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนกรณีชราภาพ

   กองทุนประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2537 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎหมาย แต่ต้องไม่เกินอัตราเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว  

   ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนกรณีชราภาพเมื่อส่งเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าจะว่างเว้นจากการส่งเงินสะสมเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ก็ตาม โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ แบ่งเป็น
            1) เงินบำนาญชราภาพ (รายเดือน)
            2) เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายครั้งเดียว)

- กรณีจ่ายเงินบำนาญ ให้จ่ายเป็นรายเดือนในอัตรา 15% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพขึ้นอีก 1% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน เช่น ทำงาน 20 ปี ได้ 20% ของค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

- กรณีจ่ายเงินบำเหน็จ จะบังคับจ่ายให้กับผู้ประกันตน
กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเท่ากับจำนวนสะสมที่ผู้ประกันตนจ่ายสะสมในกองทุนชราภาพ แต่ถ้าหากจ่ายเงินสะสมตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตอบที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด สำหรับกรณีผู้รับเงินบำเหน็จบำนาญเสียชีวิตก่อนจะได้รับเงินชราภาพ กองทุนจะจ่ายเป็นเงินบำเหน็จชราภาพแก่ทายาท แต่ถ้าหากผู้รับเงินบำนาญตายภายใน 60 เดือนหลังจากได้สิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ กองทุนฯ จ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 12 เท่า ของบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับให้กับทายาท ดังรายละเอียดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสิทธิการได้รับบำนาญชราภาพและบำเหน็จชราภาพ พร้อมประโยชน์ทดแทนได้ดังนี้

สิทธิในบำนาญชราภาพ

ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพในกรณีต่อไปนี้
1. ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือนไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
2. ผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
3. ความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงแล้ว

ประโยชน์ทดแทนที่จ่ายให้ในกรณีบำนาญชราภาพ

การจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นการจ่ายให้ผู้มีสิทธิที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรายเดือน ซึ่งมีรายละเอียดการใช้ดังนี้

  1. กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

  2. กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน

สิทธิในบำเหน็จชราภาพ
ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพ ในกรณีต่อไปนี้
1. ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
2. ผู้นั้นมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
3. ความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลง

ประโยชน์ทดแทนกรณีที่จ่ายให้ในกรณีบำเหน็จชราภาพ

การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นการจ่ายให้ผู้มีสิทธิที่กล่าวมาข้างต้นโดยจ่ายเป็นครั้งเดียว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
2. กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ทดแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศ
3. กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

กำหนดเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน
ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน

 
     
  © Copyright 2007-2008. All Rights Reserved.