|
|
|
|
|
หน้าแรก สิทธิผู้สูงอายุ |
|
|
|
|
|
|
|
|
สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตราย
จากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง
ในกรณีที่ผู้สูงอายุได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง กฎหมายกำหนดให้รัฐต้องเข้าไปคุ้มครอง ช่วยเหลือ ลักษณะของอันตรายดังกล่าวแยกพิจารณา (ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และการให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว วันที่ 2 พฤษภาคม 2547) ได้ดังนี้
คำว่า การทารุณกรรม หมายถึง การกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดๆจนเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเสื่อมเสียเสรีภาพ หรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือการกระทำความผิดทางเพศต่อผู้สูงอายุ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพจิต หรือพฤติกรรมของผู้สูงอายุ สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ว่าผู้สูงอายุนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
คำว่า แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง
1) การหลอกลวง การกล่าวเท็จ หรือให้ผู้สูงอายุกระทำการใดๆเพื่อให้ได้ประโยชน์จากผู้สูงอายุ หรือ
2) การใช้ให้ผู้สูงอายุกระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้สูงอายุจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
คำว่า ทอดทิ้ง หมายถึง ละเลยไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่ดูแลเป็นระยะเวลานานอันอาจจะเกิดอันตรายต่อกายหรือจิตใจของผู้สูงอายุ
หากผู้สูงอายุได้รับอันตรายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ผู้สูงอายุมีสิทธิแจ้งเพื่อขอรับการคุ้มครอง ช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ กล่าวคือ ในกรุงเทพมหานครให้แจ้งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในต่างจังหวัดให้แจ้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลตามแต่กรณี ดังนี้
8.1 กรณีผู้สูงอายุถูกทารุณกรรม มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ดังนี้
8.1.1 ผู้สูงอายุจะได้รับการแยกไปพักอาศัยในสถานที่อื่นซึ่งมีความปลอดภัย ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสมัครใจของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ
8.1.2 การนำผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิต
8.1.3 การสอบถามผู้สูงอายุเกี่ยวกับข้อเท็จจริง พฤติการณ์ของการถูกทารุณกรรม
8.1.4 กรณีที่ผู้สูงอายุถูกทารุณกรรมโดยบุคคลภายนอกครอบครัว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานอันเกิดจากการตรวจร่างกายหรือจากการสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนด้วย
8.1.5 กรณีที่ผู้สูงอายุถูกทารุณกรรมโดยบุคคลภายในครอบครัวหรือบุคคลที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยและเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง นักสังคมสงเคราะห์จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ครอบครัว หรือบุคคลที่ผู้สูงอายุอยู่ด้วย เพื่อทำความเข้าใจให้สามารถดูแลผู้สูงอายุมิให้ถูกทารุณกรรมอีก แต่ถ้าเป็นกรณีที่การทารุณกรรมที่ร้ายแรง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามข้อ 8.1.4
8.1.6 ผู้สูงอายุจะได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย สภาพจิตใจให้กลับสู่ภาวะปกติ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุ ครอบครัว หรือบุคคลที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยได้ หรือผู้สูงอายุอาจได้รับการส่งไปเข้ารับการอุปการะในสถานสงเคราะห์คนชรา เว้นแต่ผู้สูงอายุไม่ยินยอม
8.2 กรณีผู้สูงอายุถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ดังนี้
8.2.1 ผู้สูงอายุจะได้รับการนำไปพักอาศัยในสถานที่ปลอดภัยตามความเหมาะสม
8.2.2 เจ้าหน้าที่จะสอบข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ของการถูกแสวงหาประโยชน์ หรือหากจำเป็นผู้สูงอายุอาจได้รับการตรวจสุขภาพกาย และสุขภาพจิต อนึ่งในการสอบข้อเท็จจริงจะรวมถึงการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นตัวการหรือเป็นนายหน้าในการนำผู้สูงอายุมาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีที่ผู้สูงอายุถูกบุคคลแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่จะแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด
8.2.3 ผู้สูงอายุจะได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ หรือฝึกอาชีพให้ผู้สูงอายุตามความต้องการและตามความเหมาะสม
8.2.4 กรณีที่ผู้สูงอายุประสงค์จะกลับไปอยู่กับครอบครัวหรือบุคคลซึ่งผู้สูงอายุมีความประสงค์จะไปอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเตรียมความพร้อมของครบครัว
8.3 กรณีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ดังนี้
8.3.1 ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ผู้สูงอายุจะได้รับการนำส่งบ้านพักฉุกเฉินของศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุดินแดงสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริง สืบหาญาติ หรือให้ความช่วยเหลือตามควรแก่กรณีต่อไป
8.3.2 ในต่างจังหวัด ผู้สูงอายุจะได้รับการนำส่งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริง สืบหาญาติ หรือให้ความช่วยเหลือตามควรแก่กรณีต่อไป
อนึ่ง เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับอันตรายในทั้ง 3 กรณีข้างต้นในรูปแบบของการช่วยเป็นเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นค่าพาหนะเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเครื่องนุ่งห่ม หรือค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นได้เท่าที่จ่ายจริงครั้งละไม่เกินห้าร้อยบาท
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้สูงอายุ กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วม และความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว ชุมชน และบุคคลที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัว ชุมชน หรือบุคคลซึ่งผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ
|
|
|
|
|
|
|
|